[๑๑๖๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย
บังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามปัญหาว่า ดังนี้:-
องค์ของภิกษุผู้ต้องถือนิสัย
พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล จะไม่ถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต
ไม่ได้?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ จะไม่ถือนิสัยอยู่ตลอด
ชีวิตไม่ได้. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:-
๑. ไม่รู้อุโบสถ
๒. ไม่รู้อุโบสถกรรม
๓. ไม่รู้ปาติโมกข์
๔. ไม่รู้ปาติโมกขุทเทศ
๕. มีพรรษาหย่อนห้า
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิตไม่ได้.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. รู้อุโบสถ
๒. รู้อุโบสถกรรม
๓. รู้ปาติโมกข์
๔. รู้ปาติโมกขุทเทศ
๕. มีพรรษาได้ห้าหรือเกินห้า
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสสัยอยู่ตลอดชีวิต.
องค์ของภิกษุผู้ต้องถือนิสัยอีกนัยหนึ่ง
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ จะไม่ถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิตไม่ได้. องค์
๕ อะไรบ้าง? คือ:-
๑. ไม่รู้ปวารณา
๒. ไม่รู้ปวารณากรรม
๓. ไม่รู้ปาติโมกข์
๔. ไม่รู้ปาติโมกขุทเทศ
๕. มีพรรษาหย่อนห้า
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิตไม่ได้.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. รู้ปวารณา
๒. รู้ปวารณากรรม
๓. รู้ปาติโมกข์
๔. รู้ปาติโมกขุทเทศ
๕. มีพรรษาได้ห้า หรือเกินห้า
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต.
องค์ของภิกษุผู้ต้องถือนิสัยอีกนัยหนึ่ง
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์แม้อื่นอีก ๕ จะไม่ถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิตไม่ได้.
องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:-
๑. ไม่รู้อาบัติและมิใช่อาบัติ
๒. ไม่รู้อาบัติเบาและอาบัติหนัก
๓. ไม่รู้อาบัติมีส่วนเหลือและอาบัติไม่มีส่วนเหลือ
๔. ไม่รู้อาบัติชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ
๕. มีพรรษาหย่อนห้า
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิตไม่ได้.
องค์ของภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสัย
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. รู้อาบัติและมิใช่อาบัติ
๒. รู้อาบัติเบาและอาบัติหนัก
๓. รู้อาบัติมิส่วนเหลือและอาบัติไม่มีส่วนเหลือ
๔. รู้อาบัติชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ
๕. มีพรรษาได้ห้า หรือเกินห้า
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ต้องถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต.
ภิกษุผู้ที่ไม่ให้ควรอุปสมบทเป็นต้น
[๑๑๖๒] อุ. พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอแล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสัย ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก?
พ. ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้นิสัย ไม่พึง
ให้สามเณรอุปัฏฐาก. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:-
๑. ไม่อาจพยาบาลเองหรือสั่งผู้อื่นให้พยาบาลอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกผู้อาพาธ
๒. ไม่อาจระงับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. ไม่อาจบรรเทาเองหรือให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่าย อันเกิดขึ้นโดยธรรม
๔. ไม่อาจแนะนำในธรรมอันยิ่งขึ้นไป
๕. ไม่อาจแนะนำในวินัยอันยิ่งขึ้นไป.
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้นิสัย ไม่
พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก.
ภิกษุผู้ควรให้อุปสมบทเป็นต้น
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสัย พึงให้สามเณร
อุปัฏฐาก. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:-
๑. อาจพยาบาลเองหรือสั่งผู้อื่นให้พยาบาลอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกผู้อาพาธ
๒. อาจระงับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. อาจบรรเทาเองหรือให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่าย อันเกิดขึ้นโดยธรรม
๔. อาจแนะนำในธรรมอันยิ่งขึ้นไป
๕. อาจแนะนำในวินัยอันยิ่งขึ้นไป
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสัย พึงให้
สามเณรอุปัฏฐาก.
ภิกษุผู้ไม่ควรให้อุปสมบทเป็นต้นอีกนัยหนึ่ง
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ แม้อื่นอีก ๕ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้นิสัย
ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:-
๑. ไม่อาจฝึกปรืออันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริก ในสิกขาเป็นส่วนอภิสมาจาร
๒. ไม่อาจแนะนำอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริก ในสิกขาเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหม
จรรย์
๓. ไม่แนะนำในศีลอันยิ่งขึ้นไป
๔. ไม่อาจแนะนำในจิตอันยิ่งขึ้นไป
๕. ไม่อาจแนะนำในปัญญาอันยิ่งขึ้นไป
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้นิสัย ไม่พึง
ให้สามเณรอุปัฏฐาก.
ภิกษุผู้ควรให้อุปสมบทเป็นต้น
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสัย พึงให้สามเณร
อุปัฏฐาก. องค์ ๕ อะไรบ้าง? คือ:-
๑. อาจฝึกปรืออันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริก ในสิกขาเป็นส่วนอภิสมาจาร
๒. อาจแนะนำอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริก ในสิกขาเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหม-
*จรรย์
๓. อาจแนะนำในศีลอันยิ่งขึ้นไป
๔. อาจแนะนำในจิตอันยิ่งขึ้นไป
๕. อาจแนะนำในปัญญาอันยิ่งขึ้นไป
ดูกรอุบาลี ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสัย พึงให้
สามเณรอุปัฏฐาก.
องค์ ๕ ของภิกษุผู้ถูกลงโทษ
[๑๑๖๓] อุ. พระพุทธเจ้าข้า สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไรหนอ
แล?
พ. ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕. องค์ ๕ อะไรบ้าง?
คือ:-
๑. เป็นอลัชชี
๒. เป็นพาล
๓. ไม่ใช่เป็นปกตัตตะ
๔. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๕. มีอาชีววิบัติ
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. เป็นผู้มีศีลวิบัติ ในอธิศีล
๒. เป็นผู้มีอาจารวิบัติ ในอัธยาจาร
๓. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ ในอติทิฏฐิ
๔. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๕. มีอาชีววิบัติ
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยความคะนองกาย
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยความคะนองวาจา
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยความคะนองกายและวาจา
๔. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๕. มีอาชีววิบัติ
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. เป็นผู้ประพฤติอนาจารทางกาย
๒. เป็นผู้ประพฤติอนาจารทางกาย
๓. เป็นผู้ประพฤติอนาจารทางกายและทางวาจา
๔. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๕. มีอาชีววิบัติ
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยความลบล้างทางกาย
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยความลบล้างทางวาจา
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยความลบล้างทางกายและทางวาจา
๔. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๕. มีอาชีววิบัติ
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยมิจฉาชีพทางกาย
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยมิจฉาชีพทางวาจา
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยมิจฉาชีพทางกายและวาจา
๔. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๕. มีอาชีววิบัติ
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. ต้องอาบัติแล้วถูกลงโทษ แต่ยังให้อุปสมบท
๒. ให้นิสัย
๓. ให้สามเณรอุปัฏฐาก
๔. ยินดีการสมมติให้เป็นผู้สอนภิกษุณี
๕. แม้ได้รับสมมติแล้ว ยังสอนภิกษุณี
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. ถูกสงฆ์ลงโทษเพราะอาบัติใด ต้องอาบัตินั้น
๒. ต้องอาบัติอื่นอันเช่นกัน
๓. ต้องอาบัติที่เลวกว่านั้น
๔. ติเตียนกรรม
๕. ติเตียนภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล.
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก. องค์ ๕ อะไร
บ้าง? คือ:-
๑. พูดติพระพุทธเจ้า
๒. พูดติพระธรรม
๓. พูดติพระสงฆ์
๔. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๕. มีอาชีววิบัติ
ดูกรอุบาลี สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แลฯ
อนิสสิตวรรค ที่ ๑ จบ
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำวรรค
[๑๑๖๔] อุโบสถ ๑ ปวารณา ๑ อาบัติ ๑ อาพาธ ๑ อภิสมาจาร ๑ อลัชชี
อธิศีล ๑ คะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้าง ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑ อาบัติ ๑ เพราะอาบัติใด ๑ ติพระ-
*พุทธเจ้า ๑ รวมเป็นวรรคที่ ๑ แลฯ
นัปปฏิปัสสัมภนวรรคที่ ๒
องค์ของภิกษุที่ไม่ควรระงับกรรม
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๑๐๔๗๙-๑๐๖๖๔ หน้าที่ ๔๐๒-๔๐๙.
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=10479&Z=10664&pagebreak=0
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=1161&items=4&mode=bracket
อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=1161&items=4
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :-
https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=8&item=1161&items=4&mode=bracket
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :-
https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=8&item=1161&items=4&mode=bracket
ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1161
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘
https://84000.org/tipitaka/read/?index_8
https://84000.org/tipitaka/english/?index_8
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]