ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
ไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

หน้าที่ ๑.

พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. มัคคสังยุต
อวิชชาวรรคที่ ๑
อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า. [๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วม กับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบ ด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิด มีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจมั่นผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด. [๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิด ร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒.

วิชชา ความดำริชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายาม ชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจมั่นชอบย่อมเกิด มีแก่ผู้ระลึกชอบ แล.
จบ สูตรที่ ๑
อุปัฑฒสูตร
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวศักยะชื่อสักระ ในแคว้น สักกะของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์ เทียวนะ พระเจ้าข้า. [๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้ กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูกร อานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบ ด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘. [๖] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบ ด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรอานนท์ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ... สัมมาวาจา ... สัมมากัมมันตะ ... สัมมาอาชีวะ ... สัมมาวายามะ ... สัมมาสติ ... สัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกร อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อม กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล. [๗] ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจาก

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓.

ชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูกรอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มี มิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล.
จบ สูตรที่ ๒
สารีปุตตสูตร
ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
[๘] สาวัตถีนิทาน ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น เทียวนะ พระเจ้าข้า. [๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกละ ถูกละ สารีบุตร ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวัง ข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๐] ดูกรสารีบุตร ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกร สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมเจริญอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล. [๑๑] ดูกรสารีบุตร ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหม- *จรรย์ทั้งสิ้น นั้นพึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจาก ชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔.

โทมนัส อุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูกรสารีบุตร ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล.
จบ สูตรที่ ๓
พราหมณสูตร
อริยมรรคเรียกชื่อได้ ๓ อย่าง
[๑๒] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ได้เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ออกจากพระนครสาวัตถี ด้วยรถ เทียมด้วยม้าขาวล้วน ได้ยินว่า ม้าที่เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว ประทุนรถ ขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่ ด้ามพัดก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้ว พูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูป ของยานประเสริฐหนอ ดังนี้. [๑๓] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน พระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ข้าพระองค์เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ออกจากพระนครสาวัตถี ด้วยรถม้าขาวล้วน ได้ยินว่า ม้าที่ เทียมเป็นม้าขาว เครื่องประดับขาว ตัวรถขาว ประทุนรถขาว เชือกขาว ด้ามประตักขาว ร่มขาว ผ้าโพกขาว ผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว พัดวาลวิชนีที่ด้ามก็ขาว ชนเห็นท่านผู้นี้แล้ว พูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยานประเสริฐหนอ รูปของยานประเสริฐหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจทรงบัญญัติยานอันประเสริฐในธรรมวินัยนี้ได้ไหมหนอ? [๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ อาจบัญญัติได้ คำว่ายานอันประเสริฐ เป็นชื่อของอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้เอง เรียกกันว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถ พิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง. [๑๕] ดูกรอานนท์ สัมมาทิฏฐิบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะ เป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕.

[๑๖] ดูกรอานนท์ สัมมาสังกัปปะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. [๑๗] ดูกรอานนท์ สัมมาวาจาที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. [๑๘] ดูกรอานนท์ สัมมากัมมันตะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. [๑๙] ดูกรอานนท์ สัมมาอาชีวะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. [๒๐] ดูกรอานนท์ สัมมาวายามะที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. [๒๑] ดูกรอานนท์ สัมมาสติที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะ เป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. [๒๒] ดูกรอานนท์ สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัด ราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. [๒๓] ดูกรอานนท์ ข้อว่า ยานอันประเสริฐ เป็นชื่อของอริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ นี้เอง เรียกกันว่า พรหมยานบ้าง ธรรมยานบ้าง รถพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมบ้าง นั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๒๔] อริยมรรคญาณนั้นมีธรรม คือ ศรัทธากับปัญญาเป็นแอก มีศรัทธา เป็นทูบ มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือกชัก มีสติเป็นสารถีผู้ควบคุม รถนี้มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ มีอุเบกขากับสมาธิเป็นทูบ ความไม่อยากได้เป็นประทุน กุลบุตร ใดมีความไม่พยาบาท ความไม่เบียดเบียน และวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะหนัง กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษม จากโยคะ พรหมยานอันยอดเยี่ยมนี้ เกิดแล้วในตนของบุคคล

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖.

เหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมออกไปจากโลกโดย ความแน่ใจว่า มีชัยชนะโดยแท้.
จบ สูตรที่ ๔
กิมัตถิยสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกำหนดรู้ทุกข์
[๒๕] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ถามพวกข้าพระองค์ อย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อประโยชน์ อะไร? พวกข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว จึงพยากรณ์แก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนด รู้ทุกข์ พวกข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวตามพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคตรัสไว้แล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้ง การคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนพึงติเตียนได้ละหรือ. [๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างเถิด พวกเธอถูกถามอย่างนั้น แล้ว พยากรณ์อย่างนั้น ชื่อว่ากล่าวตามคำที่เรากล่าวไว้แล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนพึงติเตียนได้ เพราะพวกเธออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อกำหนดรู้ทุกข์. [๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็หนทางมีอยู่หรือ ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้นมีอยู่หรือ? พวกเธอถูกถาม อย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย หนทางมีอยู่ ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้นมีอยู่. [๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็หนทางเป็นไฉน ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์เป็นไฉน. อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เป็นหนทาง นี้เป็น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗.

ปฏิปทาเพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอถูกถามอย่างนั้นแล้ว พึงพยากรณ์แก่ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้.
จบ สูตรที่ ๕
ภิกขุสูตรที่ ๑
ว่าด้วยพรหมจรรย์และที่สุดพรหมจรรย์
[๒๙] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ๆ ดังนี้ ก็พรหมจรรย์เป็นไฉน ที่สุดแห่ง พรหมจรรย์เป็นไฉน? [๓๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมา ทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นพรหมจรรย์ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์.
จบ สูตรที่ ๖
ภิกขุสูตรที่ ๒
ความกำจัดราคะ เป็นชื่อนิพพานธาตุ
[๓๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ ดังนี้ คำว่า ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งอะไรหนอ? พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ คำว่า ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อ แห่งนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ.
ความสิ้นราคะ ชื่อว่าอมตะ
[๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อมตะๆ ดังนี้ อมตะเป็นไฉน? ทางที่จะให้ถึงอมตะเป็นไฉน?

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘.

พ. ดูกรภิกษุ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่าอมตะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเรียกว่าทางที่จะให้ถึง อมตะ.
จบ สูตรที่ ๗
วิภังคสูตร
อริยมรรค ๘
[๓๓] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง อริยมรรคนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุพวกนั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. [๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน? ความรู้ในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ. [๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน? ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ. [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา. [๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณา- *ติบาต อทินนาทาน จากอพรหมจรรย์ นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ. [๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการ เลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จชีวิตอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ. [๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะ ให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามก ที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙.

[๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสติเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา เห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสใน โลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึง กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มี สัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม เนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย นี้ เรียกว่า สัมมาสติ. [๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติย- *ฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ.
จบ สูตรที่ ๘
สุกสูตร
มรรคภาวนาที่ตั้งไว้ผิดและตั้งไว้ถูก
[๔๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าว ยวะที่บุคคลตั้งไว้ผิด มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจักให้ห้อเลือด ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเดือยบุคคลตั้งไว้ผิด ฉันใดก็ดี ภิกษุนั้นแล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็น ที่ตั้งไว้ผิด ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ผิด ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะ ความเห็นตั้งไว้ผิด. [๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าวยวะที่บุคคลตั้ง ไว้ถูก มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจักให้ห้อเลือด ข้อนี้เป็นฐานะที่มี

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐.

ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเดือยบุคคลตั้งไว้ถูก ฉันใดก็ดี ภิกษุนั้นแล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ถูก ด้วยการ เจริญมรรคที่ตั้งไว้ถูก ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความเห็นตั้งไว้ถูก. [๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุจักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพาน ให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ถูก ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ถูกอย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อม เจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุจักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ ถูก ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ถูก อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๙
นันทิยสูตร
ธรรม ๘ ประการ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน
[๔๕] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล นันทิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ธรรมเท่าไรหนอแล ที่บุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพาน เป็นที่สุด? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด ธรรม ๘ ประการ เป็นไฉน? คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูกรนันทิยะ ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญ แล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด. [๔๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นันทิยปริพาชกได้กราบทูล พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ใน ที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดม กับทั้งพระธรรม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑.

และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกถึงสรณะ จนตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบ สูตรที่ ๑๐
จบ อวิชชาวรรค
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อวิชชาสูตร ๒. อุปัฑฒสูตร ๓. สาริปุตตสูตร ๔. พราหมณสูตร ๕. กิมัต- *ถิยสูตร ๖. ภิกขุสูตรที่ ๑ ๗. ภิกขุสูตรที่ ๒ ๘. วิภังคสูตร ๙. สุกสูตร ๑๐. นันทิยสูตร
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๒.

วิหารวรรคที่ ๒
วิหารสูตรที่ ๑
ว่าด้วยปัจจัยแห่งเวทนา
[๔๗] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาต ไปให้รูปเดียว ภิกษุทั้งหลายรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ในกึ่งเดือนนี้ไม่มีใครเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตไปถวายรูปเดียว. [๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่หลีกเร้นโดยล่วงไปกึ่งเดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราแรกตรัสรู้ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรม อันใด เราอยู่แล้วโดยส่วนแห่งวิหารธรรมอันนั้น เรารู้ชัดอย่างนี้ว่า เวทนาย่อมมี เพราะความ เห็นผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความดำริผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะ ความดำริชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะเจรจาผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะเจรจาชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะ การงานผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะการงานชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะเลี้ยงชีพผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะ เลี้ยงชีพชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะพยายามผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะพยายามชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความระลึกผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความระลึกชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความตั้งใจมั่นผิดเป็น ปัจจัยบ้าง เพราะความตั้งใจมั่นชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะฉันทะเป็นปัจจัยบ้าง เพราะวิตกเป็นปัจจัย บ้าง เพราะสัญญาเป็นปัจจัยบ้าง เพราะฉันทวิตกและสัญญายังไม่สงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะฉันท- *วิตกและสัญญาสงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะมีความพยายามเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง และเมื่อถึงฐานะ นั้นแล้วเป็นปัจจัยบ้าง.
จบ สูตรที่ ๑
วิหารสูตรที่ ๒
ว่าด้วยปัจจัยแห่งเวทนา
[๔๙] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า เราปรารถนาจะหลีกเร้น อยู่ตลอด ๓ เดือน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตไปให้รูปเดียว ภิกษุ ทั้งหลายรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วใน ๓ เดือนนี้ ไม่มีใครเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตไปถวายรูปเดียว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓.

[๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่หลีกเร้นโดยล่วงไป ๓ เดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราแรกตรัสรู้ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรม อันใด เราอยู่แล้วโดยส่วนแห่งวิหารธรรมอันนั้น เรารู้ชัดอย่างนี้ว่า เวทนาย่อมมีเพราะความเห็น ผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความเห็นผิดสงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความเห็นชอบสงบเป็นปัจจัยบ้าง ฯลฯ เพราะความตั้งใจมั่นผิดเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความ ตั้งใจมั่นผิดสงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความตั้งใจมั่นชอบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะความตั้งใจมั่นชอบสงบเป็น ปัจจัยบ้าง เพราะฉันทะเป็นปัจจัยบ้าง เพราะฉันทะสงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะวิตกเป็นปัจจัยบ้าง เพราะวิตกสงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะสัญญาเป็นปัจจัยบ้าง เพราะสัญญาสงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะ ฉันทวิตกและสัญญายังไม่สงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะฉันทวิตกและสัญญาสงบเป็นปัจจัยบ้าง เพราะ มีความพยายามเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง และเมื่อถึงฐานะนั้นแล้วเป็นปัจจัยบ้าง.
จบ สูตรที่ ๒
เสขสูตร
องคคุณ ๘ ของพระเสขะ
[๕๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า พระเสขะๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ? จึงจะชื่อว่าเป็นพระเสขะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิอันเป็นของพระเสขะ ฯลฯ ประกอบด้วยสัมมาสมาธิอัน เป็นของพระเสขะ ดูกรภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล จึงจะชื่อว่าเป็นพระเสขะ.
จบ สูตรที่ ๓
อุปปาทสูตรที่ ๑
ธรรม ๘ ประการ ย่อมมีเพราะการปรากฏแห่งพระตถาคต
[๕๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นนอกจากความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน? คือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิด ขึ้นนอกจากความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
จบ สูตรที่ ๔

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๔.

อุปปาทสูตรที่ ๒
ธรรม ๘ ประการ ย่อมมีเพราะพระวินัยของพระสุคต
[๕๓] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นนอกจากวินัยของพระสุคต ธรรม ๘ ประการ เป็นไฉน คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แล อัน บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นนอกจากวินัยของพระสุคต.
จบ สูตรที่ ๕
ปริสุทธิสูตรที่ ๑
ธรรม ๘ ประการ ย่อมเกิดเพราะความปรากฏแห่งพระตถาคต
[๕๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มี กิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นนอกจากความปรากฏ แห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน? คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แล บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นนอกจากความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า.
จบ สูตรที่ ๖
ปริสุทธิสูตรที่ ๒
ธรรม ๘ ประการ ย่อมบริสุทธิ์เพราะวินัยของพระสุคต
[๕๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มี กิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นนอกจากวินัยของ พระสุคต ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน? คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้แล บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นนอกจากวินัยของพระสุคต.
จบ สูตรที่ ๗

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๕.

กุกกุฏารามสูตรที่ ๑
มิจฉามรรค ว่าด้วยอพรหมจรรย์
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระภัททะอยู่ ณ กุกกุฏาราม ใกล้นครปาฏลีบุตร ครั้งนั้น ท่านพระภัททะออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ได้ปราศรัยกับท่าน พระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า อพรหมจรรย์ๆ ดังนี้ อพรหมจรรย์เป็นไฉน หนอ? ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างหลักแหลม ช่างไต่ถาม ก็ท่านถามอย่างนี้หรือว่า ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า อพรหมจรรย์ๆ ดังนี้ อพรหมจรรย์เป็นไฉนหนอ? ภ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ? อา. มิจฉามรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาสมาธิ นี้แล เป็นอพรหมจรรย์.
จบ สูตรที่ ๘
กุกกุฏารามสูตรที่ ๒
ว่าด้วยพรหมจรรย์
[๕๗] ปาฏลิปุตตนิทาน. ภ. ท่านอานนท์ ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ๆ ดังนี้ พรหมจรรย์ เป็นไฉนหนอ? ที่สุดของพรหมจรรย์เป็นไฉน? อา. ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างหลักแหลม ช่างไต่ถาม ก็ท่านถามอย่างนี้ หรือว่า ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า พรหมจรรย์ๆ ดังนี้ พรหมจรรย์เป็นไฉนหนอ? ที่สุดของ พรหมจรรย์เป็นไฉน? ภ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. อา. อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็น พรหมจรรย์ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ นี้เป็นที่สุดของพรหมจรรย์.
จบ สูตรที่ ๙

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๖.

กุกกุฏารามสูตรที่ ๓
ว่าด้วยพรหมจรรย์และพรหมจารี
[๕๘] ปาฏลิปุตตนิทาน. ภ. ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า พรหมจรรย์ๆ ดังนี้ พรหมจรรย์ เป็นไฉนหนอ? พรหมจารีเป็นไฉน? ที่สุดของพรหมจรรย์เป็นไฉน? อา. ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างหลักแหลม ช่างไต่ถาม ก็ท่านถามอย่างนี้ หรือว่า ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า พรหมจรรย์ๆ ดังนี้ พรหมจรรย์เป็นไฉนหนอ? พรหมจารี เป็นไฉน? ที่สุดของพรหมจรรย์เป็นไฉน? ภ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ อา. อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แล เป็นพรหมจรรย์ บุคคลผู้ประกอบด้วยอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้เรียกว่าเป็นพรหมจารี ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ นี้เป็นที่สุดของพรหมจรรย์.
จบ สูตรที่ ๑๐
จบ วิหารวรรคที่ ๒
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. วิหารสูตรที่ ๑ ๒. วิหารสูตรที่ ๒ ๓. เสขสูตร ๔. อุปปาทสูตรที่ ๑ ๕. อุปปาทสูตรที่ ๒ ๖. ปริสุทธิสูตรที่ ๑ ๗. ปริสุทธิสูตรที่ ๒ ๘. กุกกุฏารามสูตรที่ ๑ ๙. กุกกุฏารามสูตรที่ ๒ ๑๐. กุกกุฏารามสูตรที่ ๓
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๗.

มิจฉัตตวรรคที่ ๓
มิจฉัตตสูตร
ความเห็นผิด-ความเห็นถูก
[๕๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงมิจฉัตตะ (ความผิด) และ สัมมัตตะ (ความถูก) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉัตตะเป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ ความตั้งใจมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉัตตะ. [๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมัตตะเป็นไฉน? ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้ง ใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า สัมมัตตะ.
จบ สูตรที่ ๑
อกุศลธรรมสูตร
อกุศลธรรม-กุศลธรรม
[๖๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอกุศลธรรมและกุศลธรรมแก่ เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อกุศลธรรมเป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ ความตั้งใจมั่น ผิด นี้เรียกว่า อกุศลธรรม. [๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กุศลธรรมเป็นไฉน? ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่น ชอบ นี้เรียกว่า กุศลธรรม.
จบ สูตรที่ ๒
ปฏิปทาสูตรที่ ๑
มิจฉาปฏิปทา-สัมมาปฏิปทา
[๖๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉาปฏิปทาและสัมมาปฏิปทา แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘.

[๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ ความ ตั้งใจมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา. [๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน? ความเห็นชอบ ฯลฯ ความ ตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๓
ปฏิปทาสูตรที่ ๒
ว่าด้วยญายธรรม
[๖๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติผิดเป็นตัวเหตุ ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ ความตั้งใจมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติ ผิดเป็นตัวเหตุ. [๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญสัมมาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติชอบเป็น ตัวเหตุ ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน? ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า สัมมา ปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญสัมมาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือ บรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติชอบเป็น ตัวเหตุ.
จบ สูตรที่ ๔
อสัปปุริสสูตรที่ ๑
ว่าด้วยอสัตบุรุษ-สัตบุรุษ
[๗๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีความ เห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจมั่นผิด บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙.

[๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มี ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ.
จบ สูตรที่ ๕
อสัปปุริสสูตรที่ ๒
ว่าด้วยอสัตบุรุษและสัตบุรุษที่ยิ่งกว่า
[๗๓] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่า อสัตบุรุษ แก่เธอทั้งหลาย จักแสดงสัตบุรุษและสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษ แก่เธอทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มี ความเห็นผิด ฯลฯ ตั้งใจมั่นผิด บุคคลเหล่านี้เรียกว่า อสัตบุรุษ. [๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าอสัตบุรุษเป็นไฉน? บุคคลบางคนใน โลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นผิด ฯลฯ ตั้งใจมั่นผิด รู้ผิด พ้นผิด บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่า อสัตบุรุษ. [๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความ เห็นชอบ ฯลฯ ตั้งใจมั่นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ. [๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษเป็นไฉน? บุคคลบางคนใน โลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ฯลฯ ตั้งใจมั่นชอบ รู้ชอบ พ้นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษผู้ยิ่ง กว่าสัตบุรุษ.
จบ สูตรที่ ๖
กุมภสูตร
ธรรมเครื่องรองรับจิต
[๗๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อม กลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีเครื่อง รองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐.

[๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเครื่องรองรับจิต อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เป็นเครื่องรองรับจิต. [๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อม กลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก.
จบ สูตรที่ ๗
สมาธิสูตร
ว่าด้วยสัมมาสมาธิอันประเสริฐ
[๘๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิอันประเสริฐ พร้อม ทั้งเหตุ พร้อมทั้งเครื่องประกอบแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิอันประเสริฐ พร้อมทั้งเหตุ พร้อมทั้งเครื่อง ประกอบเป็นไฉน? คือความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ. [๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ความที่จิตมีเครื่องประกอบ ด้วยองค์ ๗ ประการเหล่านี้นั้น เรียกว่าสัมมาสมาธิอันประเสริฐ พร้อมทั้งเหตุบ้าง พร้อมทั้ง เครื่องประกอบบ้าง.
จบ สูตรที่ ๘
เวทนาสูตร
เจริญอริยมรรคเพื่อกำหนดรู้เวทนา
[๘๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ เวทนา ๓ ประการนี้แล. [๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ บุคคลพึงเจริญ เพื่อ กำหนดรู้เวทนา ๓ ประการนี้ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ บุคคลพึงเจริญ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ ประการนี้แล.
จบ สูตรที่ ๙

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๑.

อุตติยสูตร
เจริญอริยมรรคเพื่อละกามคุณ ๕
[๘๖] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ท่านพระอุตติยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้า พระองค์หลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า กามคุณ ๕ พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้แล้ว กามคุณ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเป็นไฉนหนอ? [๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ อุตติยะ กามคุณ ๕ เหล่านี้ เรากล่าวไว้แล้ว กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก ... รสที่พึงรู้แจ้ง ด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด ดูกรอุตติยะ กามคุณ ๕ เหล่านี้แล เรากล่าวไว้แล้ว. [๘๘] ดูกรอุตติยะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ บุคคลพึงเจริญ เพื่อละกามคุณ ๕ เหล่านี้แล อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่น ชอบ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ บุคคลพึงเจริญ เพื่อละกามคุณ ๕ เหล่านี้แล.
จบ สูตรที่ ๑๐
จบ มิจฉัตตวรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มิจฉัตตสูตร ๒. อกุศลธรรมสูตร ๓. ปฏิปทาสูตรที่ ๑ ๔. ปฏิปทาสูตรที่ ๒ ๕. อสัปปุริสสูตรที่ ๑ ๖. อสัปปุริสสูตรที่ ๒ ๗. กุมภสูตร ๘. สมาธิสูตร ๙. เวทนาสูตร ๑๐. อุตติยสูตร.
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒.

ปฏิปัตติวรรคที่ ๔
ปฏิปัตติสูตร
ว่าด้วยมิจฉาปฏิบัติ-สัมมาปฏิบัติ
[๘๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉาปฏิบัติ และสัมมาปฏิบัติ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิบัติเป็นไฉน? คือ ความเห็นผิด ฯลฯ ความ ตั้งใจมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิบัติ. [๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิบัติเป็นไฉน? คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความ ตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า สัมมาปฏิบัติ.
จบ สูตรที่ ๑
ปฏิปันนสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ปฏิบัติผิด-ปฏิบัติชอบ
[๙๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงบุคคลผู้ปฏิบัติผิด และบุคคล ผู้ปฏิบัติชอบ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ปฏิบัติผิดเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็น ผู้มีความเห็นผิด ฯลฯ มีความตั้งใจมั่นผิด บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ปฏิบัติผิด. [๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ปฏิบัติชอบเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ฯลฯ มีความตั้งใจมั่นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ปฏิบัติชอบ.
จบ สูตรที่ ๒
วิรัทธสูตร
ผลของผู้พลาดและผู้ปรารภอริยมรรค
[๙๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันบุคคล เหล่าใดเหล่าหนึ่งพลาดแล้ว อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แห่งบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ให้ถึง ความสิ้นทุกข์โดยชอบ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แห่งบุคคลเหล่านั้น ย่อมให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓.

[๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? คือ ความ เห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พลาดแล้ว อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แห่งบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยชอบ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว อริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ แห่งบุคคลเหล่านั้น ย่อมให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ.
จบ สูตรที่ ๓
ปารสูตร
ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง (นิพพาน)
[๙๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง (นิพพาน) จากที่มิใช่ฝั่ง (วัฏฏะ) ธรรม ๘ ประการ เป็นไฉน? คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ ธรรม ๘ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ต่อไปอีกว่า [๙๘] ในพวกมนุษย์ ชนที่ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อม วิ่งไปตามฝั่งนั่นเอง ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามในธรรมที่พระผู้มี พระภาคตรัสดีแล้ว ชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะข้ามไปถึง ฝั่งได้ บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำเสียเจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความ อาลัย อาศัยธรรมอันไม่มีความอาลัยแล้ว พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มี กิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวก ที่สัตว์ยินดีได้ยาก บัณฑิตพึงยังตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิต ชนเหล่าใดอบรม จิตดีแล้วโดยชอบในองค์เป็นเหตุให้ตรัสรู้ ไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในความ สละคืนความถือมั่น ชนเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้วในโลกนี้.
จบ สูตรที่ ๔

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔.

สามัญญสูตรที่ ๑
ว่าด้วยสามัญญะและสามัญญผล
[๙๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสามัญญะ (ความเป็นสมณะ) และสามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๑๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญะเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า สามัญญะ. [๑๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญผลเป็นไฉน? คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล นี้เรียกว่า สามัญญผล.
จบ สูตรที่ ๕
สามัญญสูตรที่ ๒
ว่าด้วยสามัญญะและประโยชน์แห่งสามัญญะ
[๑๐๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสามัญญะ และประโยชน์แห่ง สามัญญะแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๑๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญะเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า สามัญญะ. [๑๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ประโยชน์แห่งสามัญญะเป็นไฉน? ความสิ้นราคะ ความ สิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งสามัญญะ.
จบ สูตรที่ ๖
พรหมัญญสูตรที่ ๑
ความเป็นพรหมและเป็นพรหมัญญผล
[๑๐๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมัญญะ (ความเป็นพรหม) และพรหมัญญผล (ผลแห่งความเป็นพรหม) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๑๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมัญญะเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า พรหมัญญะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕.

[๑๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมัญญผลเป็นไฉน? คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล นี้เรียกว่า พรหมัญญผล.
จบ สูตรที่ ๗
พรหมัญญสูตรที่ ๒
ความเป็นพรหมและประโยชน์แห่งความเป็นพรหม
[๑๐๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมัญญะ และประโยชน์ แห่งพรหมัญญะแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๑๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมัญญะเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า พรหมัญญะ. [๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ประโยชน์แห่งพรหมัญญะเป็นไฉน? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งพรหมัญญะ.
จบ สูตรที่ ๘
พรหมจริยสูตรที่ ๑
พรหมจรรย์และผลแห่งพรหมจรรย์
[๑๑๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมจรรย์ และผลแห่งพรหม จรรย์ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น. [๑๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์เป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า พรหมจรรย์. [๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผลแห่งพรหมจรรย์เป็นไฉน? คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล นี้เรียกว่า ผลแห่งพรหมจรรย์.
จบ สูตรที่ ๙
พรหมจริยสูตรที่ ๒
พรหมจรรย์และประโยชน์แห่งพรหมจรรย์
[๑๑๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพรหมจรรย์ และประโยชน์ แห่งพรหมจรรย์ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖.

[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์เป็นไฉน. อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า พรหมจรรย์. [๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ประโยชน์แห่งพรหมจรรย์เป็นไฉน? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า ประโยชน์แห่งพรหมจรรย์.
จบ สูตรที่ ๑๐
จบ ปฏิปัตติวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปฏิปัตติสูตร ๒. ปฏิปันนสูตร ๓. วิรัทธสูตร ๔. ปารสูตร ๕. สามัญญสูตรที่ ๑ ๖. สามัญญสูตรที่ ๒ ๗. พรหมัญญสูตรที่ ๑ ๘. พรหมัญญ สูตรที่ ๒ ๙. พรหมจริยสูตรที่ ๑ ๑๐. พรหมจริยสูตรที่ ๒
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๗.

อัญญติตถิยวรรคที่ ๕
วิราคสูตร
ข้อปฏิบัติเพื่อสำรอกราคะ
[๑๑๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามเธอ ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไร? เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อ สำรอกราคะ. [๑๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามเธอทั้งหลายอย่าง นี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทางมีอยู่หรือ? ข้อปฏิบัติเพื่อสำรอกราคะมีอยู่หรือ? เธอทั้งหลาย ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุ ทั้งหลาย ทางมีอยู่ ข้อปฏิบัติเพื่อสำรอกราคะมีอยู่. [๑๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทางเป็นไฉน? ข้อปฏิบัติเพื่อสำรอกราคะ เป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เป็นทาง นี้ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อสำรอกราคะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น อย่างนี้.
จบ สูตรที่ ๑
สังโยชนสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละสังโยชน์
[๑๒๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถาม เธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ในพระสมณ- *โคดมเพื่อประโยชน์อะไร? เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค เพื่อละสังโยชน์.
จบ สูตรที่ ๒

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘.

อนุสยสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อถอนอนุสัย
[๑๒๑] ... ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อถอนอนุสัย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓
อัทธานสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏ
[๑๒๒] ... ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏอันยืดยาว ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔
อาสวสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อสิ้นอาสวะ
[๑๒๓] ... ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อความสิ้นอาสวะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕
วิชชาวิมุตติสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติผล
[๑๒๔] ... ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลแห่งวิชชา และวิมุตติผล ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๖
ญาณทัสสนสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อญาณทัสสนะ
[๑๒๕] ... ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๗

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๙.

อนุปาทาปรินิพพานสูตร
ข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
[๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์ อะไร เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน. [๑๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทางมีอยู่หรือ? ข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทาปรินิพพานมีอยู่หรือ? เธอ ทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุ ทั้งหลาย ทางมีอยู่ ข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทาปรินิพพานมีอยู่. [๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทางเป็นไฉน? ข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทาปรินิพพานเป็น ไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึง ชี้แจงแก่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้.
จบ สูตรที่ ๘
จบ อัญญติตถิยวรรคที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. วิราคสูตร ๒. สังโยชนสูตร ๓. อนุสยสูตร ๔. อัทธานสูตร ๕. อาสวสูตร ๖. วิชชาวิมุตติสูตร ๗. ญาณทัสสนสูตร ๘. อนุปาทาปรินิพพานสูตร
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐.

สุริยเปยยาลที่ ๖
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑
มิตรดีเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๒๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่ง ที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิด แห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปใน การสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้ มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑
สีลสัมปทาสูตรที่ ๑
สีลสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่ เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิด แห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งศีล ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล พึงหวังข้อนี้ได้ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๒
ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑
ฉันทสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๒] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๑.

อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑
อัตตสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๓] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งตน (ความถึงพร้อมแห่งจิต) ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔
ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑
ทิฏฐิสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๔] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕
อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๑
ความไม่ประมาทเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๕] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๖
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑
โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความ บังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่ง อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อม เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่าง ไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป ในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปใน การสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๗

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๒.

กัลยาณมิตรสูตรที่ ๒
มิตรดีเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่ เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิด แห่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จัก กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ สัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็น ที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้ มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๘
สีลสัมปทาสูตรที่ ๒
สีลสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๔๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่ง ที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความเกิด แห่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมด้วยศีล ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๙
ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๒
ฉันทสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๔๑] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๐

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๓.

อัตตสัมปทาสูตรที่ ๒
อัตตสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๔๒] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งตน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๑
ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๒
ทิฏฐิสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๔๓] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๒
อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๒
ความไม่ประมาทเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๔๔] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๓
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๒
โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๔๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความเกิดแห่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อม เจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไร เล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิมีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๔.

ที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอัน กำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำ ไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑๔
จบ สุริยเปยยาลที่ ๖
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในเปยยาลนี้
๑. กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ ๒. สีลสัมปทาสูตรที่ ๑ ๓. ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑ ๔. อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑ ๕. ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑ ๖. อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๑ ๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑ ๘. กัลยาณมิตตสูตรที่ ๒ ๙. สีลสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๐. ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๑. อัตตสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๒. ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๓. อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๒
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕.

เอกธัมมเปยยาลที่ ๗
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑
กัลยาณมิตรมีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๔๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความ เกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑
สีลสัมปทาสูตรที่ ๑
สีลสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๔๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความเกิด ขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความถึงพร้อมแห่งศีล ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๒
ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑
ฉันทสัมปทามีอุปการมากแก่อริยมรรค
[๑๕๐] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๖.

อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑
อัตตสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๕๑] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งตน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔
ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑
ทิฏฐิสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๕๒] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕
อัปปมาทสูตรที่ ๑
ความไม่ประมาทมีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๕๓] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๖
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑
โยนิโสมนสิการมีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๕๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความเกิด ขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความถึงพร้อมแห่งการ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดย แยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่ง อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อม เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่าง ไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดย แยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๗

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๗.

กัลยาณมิตตสูตรที่ ๒
กัลยาณมิตรมีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๕๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความ เกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็น ที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอัน กำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๘
สีลสัมปทาสูตรที่ ๒
สีลสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๕๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความเกิด ขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความถึงพร้อมแห่งศีล ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๙
ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๒
ฉันทสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๕๙] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๐
อัตตสัมปทาสูตรที่ ๒
อัตตสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๖๐] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งตน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๑

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘.

ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๒
ทิฏฐิสัมปทามีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๖๑] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๒
อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๒
ความไม่ประมาทมีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๖๒] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๓
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๒
โยนิโสมนสิการมีอุปการะมากแก่อริยมรรค
[๑๖๓] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งมีอุปการะมาก เพื่อความ เกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน? คือ ความถึงพร้อมแห่งการ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดย แยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่ง อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อม เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็น ที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอัน กำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑๔
จบ เอกธัมมเปยยาลที่ ๗
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๙.

รวมพระสูตรที่มีในเปยยาลนี้ คือ
๑. กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ ๒. สีลสัมปทาสูตรที่ ๑ ๓. ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑ ๔. อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑ ๕. ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑ ๖. อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๑ ๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑ ๘. กัลยาณมิตตสูตรที่ ๒ ๙. สีลสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๐. ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๑. อัตตสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๒. ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๓. อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๒
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๐.

นาหันตเอกธัมมเปยยาลที่ ๘
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑
กัลยาณมิตรเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๖๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่าง หนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้น แล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑
สีลสัมปทาสูตรที่ ๑
สีลสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๖๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่าง หนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้น แล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความถึงพร้อมแห่งศีลเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๒
ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑
ฉันทสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๖๘] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งฉันทะเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๑.

อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑
อัตตสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๖๙] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งตนเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔
ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑
ทิฏฐิสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๐] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕
อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๑
อัปปมาทสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๑] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาทเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๖
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑
โยนิโสมนสิการเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่าง หนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อม เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ใน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๒.

ใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๗
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๒
กัลยาณมิตรเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่าง หนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้น แล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มี มิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘. [๑๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอัน กำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะ เป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วย องค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๘
สีลสัมปทาสูตรที่ ๒
สีลสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่าง หนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้น แล้ว ย่อมถึงความบริบูรณ์ เหมือนความถึงพร้อมแห่งศีลเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๙

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๓.

ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๒
ฉันทสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๗] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งฉันทะเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๐
อัตตสัมปทาสูตรที่ ๒
อัตตสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๘] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งตนเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๑
ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๒
ทิฏฐิสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๗๙] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๒
อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๒
อัปปมาทสัมปทาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๘๐] ... เหมือนความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาทเลย ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๓
โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๒
โยนิโสมนสิการเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค
[๑๘๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่าง หนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความบริบูรณ์ เหมือนความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคายเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึง หวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบ ด้วยองค์ ๘.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๔.

[๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อม เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่าง ไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะ เป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึง พร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อม กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑๔
จบ นาหันตเอกธัมมเปยยาลที่ ๘
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในเปยยาลนี้ คือ
๑. กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ ๒. สีลสัมปทาสูตรที่ ๑ ๓. ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑ ๔. อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑ ๕. ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑ ๖. อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๑ ๗. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑ ๘. กัลยาณมิตตสูตรที่ ๒ ๙. สีลสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๐. ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๑. อัตตสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๒. ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๓. อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๒ ๑๔. โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๒
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๕.

คังคาเปยยาลที่ ๙
คังคาปาจีนนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรคเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน
เหมือนแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน
[๑๘๓] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน. [๑๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้ม ไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อัน อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึง เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฯ
จบ สูตรที่ ๑
ยมุนาปาจีนนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำยมุนาไหลไปสู่ทิศปราจีน
[๑๘๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำยมุนาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไป สู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๒

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๖.

อจิรวตีปาจีนนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำอจิรวดีไหลไปสู่ทิศปราจีน
[๑๘๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำอจิรวดีไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไป สู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓
สรภูปาจีนนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำสรภูไหลไปสู่ทิศปราจีน
[๑๘๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำสรภูไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉัน นั้นเหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔
มหีปาจีนนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำมหีไหลไปสู่ทิศปราจีน
[๑๘๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำมหีไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉัน นั้นเหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕
มหานทีปาจีนนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรคเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน
เหมือนแม่น้ำใหญ่ไหลไปสู่ทิศปราจีน
[๑๘๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำใหญ่ๆ สายใดสายหนึ่งนี้ คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหีทั้งหมดนั้นไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๗.

๘ เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่ นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน. [๑๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้ม ไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสัมมาทิฏฐิ อัน อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัย วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ โน้มไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงเป็น ผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.
จบ สูตรที่ ๖
คังคาสมุทนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สมุทร
[๑๙๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่สมุทร หลั่งไปสู่สมุทร บ่าไปสู่สมุทร แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริย- *มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน. [๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้ม ไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสัมมาทิฏฐิ อัน อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัย วิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงเป็น ผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.
จบ สูตรที่ ๗

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๘.

ยมุนาสมุทนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำยมุนาไหลไปสู่สมุทร
[๑๙๓] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำยมุนาไหลไปสู่สมุทร หลั่งไปสู่ สมุทร บ่าไปสู่สมุทร แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉันนั้น เหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๘
อจิรวตีสมุทนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำอจิรวดีไหลไปสู่สมุทร
[๑๙๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำอจิรวดีไหลไปสู่สมุทร หลั่งไปสู่ สมุทร บ่าไปสู่สมุทร แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉันนั้น เหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๙
สรภูสมุทนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำสรภูไหลไปสู่สมุทร
[๑๙๕] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำสรภูไหลไปสู่สมุทร หลั่งไปสู่สมุทร บ่าไปสู่สมุทร แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๐
มหีสมุทนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำมหีไหลไปสู่สมุทร
[๑๙๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำมหีไหลไปสู่สมุทร หลั่งไปสู่สมุทร บ่าไปสู่สมุทร แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ... ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๑๑

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๙.

มหานทีสมุทนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรคน้อมไปสู่นิพพานเหมือนแม่น้ำใหญ่ไหลไปสู่สมุทร
[๑๙๗] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำใหญ่ๆ สายใด สายหนึ่งนี้ คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี ทั้งหมดนั้นไหลไปสู่สมุทร หลั่งไปสู่สมุทร บ่าไปสู่สมุทร แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน. [๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้ม ไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อัน อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน. วาระแห่งคังคาเปยยาลที่เขียนไว้โดยย่อ พึงให้พิสดารในเปยยาล. หมวดที่ ๑ ว่าด้วยการอาศัยวิเวก (เป็นต้น) รวมเป็น ๑๒ สูตร ๖ สูตรแรกอุปมา ด้วยแม่น้ำไหลไปสู่ทิศปราจีน ๖ สูตรหลังอุปมาด้วยแม่น้ำไหลไปสู่สมุทร.
คังคาปาจีนนินนสูตร
ผู้เจริญอริยมรรค ฯลฯ เหมือนแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน
[๑๙๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน. [๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้ม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๐.

ไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญ สัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่ นิพพาน.
จบ สูตรที่ ๑


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๑-๑๑๔๓ หน้าที่ ๑-๕๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=1&Z=1143&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=19&item=1&items=1803&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=19&item=1&items=1803&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=1&items=1803&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=19&item=1&items=1803&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_19

ไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :