อหิสูตร
[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ
รูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัด ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งใน
เมืองสาวัตถีนี้ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่
เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ตระกูลพญางู ๔
เป็นไฉน คือ ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักขะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ ๑ ตระกูล
พญางูชื่อฉัพยาปุตตะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางู ๔ จำพวกนี้เป็นแน่ ก็ถ้าเธอ
พึงแผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู ๔ จำพวกนี้
เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน ฯ
ความเป็นมิตร ของเรา จงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อวิรูปักขะ
ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อเอราปถะ
ความเป็นมิตร ของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อฉัพยา-
ปุตตะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสกุลพญางูทั้งหลายชื่อ
กัณหาโคตมกะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่
ไม่มีเท้า ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๒ เท้า
ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๔ เท้า ความเป็น
มิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก สัตว์ไม่มีเท้าอย่า
เบียดเบียนเรา สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๔ เท้า
อย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา ขอ
สรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีลมปราณ มีชีวิตเป็นอยู่ จงได้พบ
เห็นความเจริญเถิด อย่าได้มาถึงโทษอันลามกน้อยหนึ่งเลย ฯ
พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมลงป่อง
จะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู ล้วนมีประมาณ ความรักษาอันเรากระทำแล้ว
ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย เรานั้น
กำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่ กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗
พระองค์อยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๙๓๗-๑๙๗๐ หน้าที่ ๘๓-๘๔.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1937&Z=1970&pagebreak=0
http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=21&item=67&items=1
อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=21&item=67&items=1&mode=bracket
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=21&item=67&items=1
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :-
http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=21&item=67&items=1
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=67
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑
http://84000.org/tipitaka/read/?index_21
บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com