ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
             [๓๘๒] 	ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้มีไตรวิชชา
                          อันอาจารย์ยกย่องและรับรอง ข้าพระองค์เป็นศิษย์ผู้ใหญ่
                          ของโปกขรสาติพราหมณ์ ภารทวาชมาณพนี้ เป็นศิษย์ผู้ใหญ่
                          ของตารุกขพราหมณ์ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ถึงความสำเร็จ
                          ในเวทที่อาจารย์ผู้มีไตรวิชชาบอกแล้ว เป็นผู้เข้าใจตัวบท
                          และเป็นผู้ชำนาญไวยากรณ์ ในเวท เช่นกับอาจารย์ ข้าแต่
                          พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองมีการโต้เถียงกันเพราะการอ้าง
                          ถึงชาติ  ภารทวาชมาณพกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะ
                          ชาติ ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะ
                          กรรม ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์จงทรงทราบ
                          อย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถจะให้กันและกัน
                          ยินยอมได้ จึงพากันมาเพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้ปรากฏว่า เป็น
                          พระสัมพุทธะ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสอง ประนม
                          อัญชลีเข้ามาถวายนมัสการพระองค์ผู้ปรากฏว่า เป็นพระ
                          สัมพุทธะในโลก เหมือนชนทั้งหลาย ประนมอัญชลีเข้ามา
                          ไหว้นมัสการพระจันทร์อันเต็มดวง ฉะนั้น ข้าพระองค์ทั้งสอง
                          ขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ ผู้อุบัติขึ้นดีแล้วในโลกว่า
                          บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติหรือเพราะกรรม ขอพระองค์
                          จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งสองผู้ไม่รู้ ด้วยอาการที่ข้า
                          พระองค์ทั้งสองจะพึงรู้จักพราหมณ์เถิด ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะ
                          เราจักพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายตามลำดับตามสมควร สัตว์
                          ทั้งหลายมีความแตกต่างกันโดยชาติ เพราะชาติของสัตว์
                          เหล่านั้น มีประการต่างๆ กัน ท่านทั้งหลายย่อมรู้จัก
                          หญ้าและต้นไม้  แต่หญ้าและต้นไม้ ก็ไม่ยอมรับว่าเป็น
                          หญ้าเป็นต้นไม้ หญ้าและต้นไม้เหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จ
                          มาแต่ชาติ เพราะชาติของมันต่างๆ กัน แต่นั้นท่าน
                          ทั้งหลายจงรู้จัก หนอน ตั๊กแตน มดดำ และมดแดง สัตว์
                          เหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ เพราะชาติของมัน
                          ต่างๆ กัน ท่านทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ ๔ เท้า ทั้งตัวเล็ก
                          ตัวใหญ่ สัตว์เหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ เพราะ
                          ชาติของมันต่างๆ กัน ต่อแต่นั้น ท่านทั้งหลายจงรู้จัก
                          ปลาที่เกิดในน้ำเที่ยวไปในน้ำ ปลาเหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จ
                          มาแต่ชาติ เพราะชาติของมันมีต่างๆ กัน ถัดจากนั้น
                          ท่านทั้งหลายจงรู้จักนกที่บินไปในเวหา นกเหล่านั้นมีสัณฐาน
                          สำเร็จมาแต่ชาติ เพราะชาติของมันต่างๆ กัน เพศที่
                          สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมาก ไม่มีในมนุษย์ทั้งหลาย เหมือน
                          อย่างสัณฐานที่สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมากในชาติเหล่านี้
                          ฉะนั้น การกำหนดด้วยผม ศีรษะ หู  นัยน์ตา ปาก
                          จมูก ริมฝีปาก คิ้ว คอ บ่า ท้อง หลัง ตะโพก อก
                          ที่แคบ เมถุน มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขา วรรณะ
                          หรือเสียง ว่าผมเป็นต้น ของพราหมณ์เป็นเช่นนี้ ของกษัตริย์
                          เป็นเช่นนี้ย่อมไม่มีเลย เพศที่สำเร็จมาแต่ชาติไม่มีใน
                          มนุษย์ทั้งหลายเลย เหมือนอย่างสัณฐานที่สำเร็จมาแต่
                          ชาติในชาติเหล่าอื่น ฉะนั้น ความแตกต่างกันแห่งสัณฐาน
                          มีผมเป็นต้นนี้ ที่สำเร็จมาแต่กำเนิด ย่อมไม่มีในสรีระ
                          ของตนๆ เฉพาะในตัวมนุษย์ทั้งหลายเลย แต่ความต่าง
                          กันในมนุษย์ทั้งหลาย บัณฑิตกล่าวไว้โดยสมัญญา ดูกร
                          วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง
                          อาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่
                          พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ใน
                          หมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยศิลปะเป็นอันมาก ผู้
                          นั้นเป็นศิลปิน มิใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจง
                          รู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยการค้า
                          ขายเลี้ยงชีพ  ผู้นั้นเป็นพ่อค้ามิใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ
                          ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีวิต
                          ด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นผู้รับใช้ มิใช่พราหมณ์
                          ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้
                          ใดผู้หนึ่งอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่
                          พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ใน
                          หมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยลูกศรและศาตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้น
                          เป็นนักรบอาชีพ มิใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่าน
                          จงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยความ
                          เป็นปุโรหิต ผู้นั้นเป็นผู้ยังบุคคลให้บูชา มิใช่เป็นพราหมณ์
                          ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใด
                          ผู้หนึ่งปกครองบ้านและแว่นแคว้น ผู้นั้นเป็นพระราชา
                          มิใช่พราหมณ์ ก็เราหากล่าวผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดา
                          ว่าเป็นพราหมณ์ไม่ ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่าโภวาที ผู้นั้นแล
                          ยังเป็นผู้มีเครื่องกังวล เรากล่าวบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
                          ผู้ไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ตัดสังโยชน์ได้ทั้ง
                          หมด ไม่สะดุ้งเลย ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องแล้ว พราก
                          โยคะทั้ง ๔ ได้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ตัด
                          ชะเนาะคือความโกรธ เชือก คือ ตัณหา หัวเงื่อน คือ
                          ทิฐิ ๖๒ พร้อมทั้งสายโยง คือ อนุสัยเสียได้ ผู้มีลิ่ม
                          สลักอันถอดแล้ว ผู้ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรา
                          กล่าวผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นได้ซึ่งคำด่าว่า การทุบตีและ
                          การจองจำ ผู้มีกำลังคือขันติ ผู้มีหมู่พลคือขันตี ว่าเป็น
                          พราหมณ์  เรากล่าวผู้ไม่โกรธ มีวัตร มีศีล ไม่มีกิเลส
                          อันฟูขึ้น ฝึกตนแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด ว่าเป็น
                          พราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย ดุจน้ำไม่
                          ติดอยู่ในใบบัว ดุจเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลาย
                          เหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้รู้ชัดความสิ้นไป
                          แห่งทุกข์ของตน ในศาสนานี้แล ผู้ปลงภาระแล้ว
                          พรากกิเลสได้หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้มีปัญญา
                          ลึกซึ้ง มีเมธา ผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทาง ผู้บรรลุถึง
                          ประโยชน์อันสูงสุด ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่เกี่ยวข้อง
                          ด้วยคน ๒ พวก คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต ไม่มีความ
                          อาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย ว่าเป็นพราหมณ์
                          เรากล่าวผู้วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งผู้ที่สะดุ้งและ
                          มั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ว่าเป็นพราหมณ์ เรา
                          กล่าวผู้ไม่ปองร้าย ผู้ดับเสียได้ในผู้ที่มีอาชญาในตน ผู้ไม่
                          ยึดถือในผู้ที่มีความยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์  เรากล่าวผู้ที่ทำ
                          ราคะ โทสะ มานะ และมักขะ ให้ตกไปแล้ว ดุจเมล็ด
                          พันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์
                          เรากล่าวผู้เปล่งถ้อยคำไม่หยาบ ให้รู้ความกันได้ เป็นคำจริง
                          ซึ่งไม่เป็นเหตุทำใครๆ ให้ข้องอยู่ ว่าเป็นพราหมณ์ ก็เรา
                          กล่าวผู้ไม่ถือเอาสิ่งของยาวหรือสั้น น้อยหรือใหญ่ งาม
                          และไม่งาม ซึ่งเจ้าของมิได้ให้แล้วในโลก ว่าเป็นพราหมณ์
                          เรากล่าวผู้ไม่มีความหวังทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ผู้สิ้น
                          หวัง พรากกิเลสได้หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าว
                          ผู้ไม่มีความอาลัย รู้แล้วทั่วถึง ไม่มีความสงสัย หยั่งลงสู่
                          นิพพาน ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ ว่าเป็นพราหมณ์ เรา
                          กล่าวผู้ละทิ้งบุญและบาปทั้ง ๒ ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้
                          แล้ว ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลี บริสุทธิ์แล้ว
                          ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้มีความยินดีในภพหมดสิ้นแล้ว
                          ผู้บริสุทธิ์ มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัวดุจพระจันทร์ที่ปราศจาก
                          มลทิน ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ล่วงทางอ้อม หล่ม
                          สงสาร โมหะเสียได้ เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง เพ่งฌาน ไม่หวั่น
                          ไหว ไม่มีความสงสัย ดับกิเลสได้แล้วเพราะไม่ถือมั่น
                          ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละกามในโลกนี้ได้เด็ดขาด
                          เป็นผู้ไม่มีเรือน บวชเสียได้ มีกามราคะหมดสิ้นแล้ว ว่า
                          เป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละตัณหาในโลกนี้ได้เด็ดขาด เป็น
                          ผู้ไม่มีเรือน งดเว้น มีตัณหาและภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็น
                          พราหมณ์ เรากล่าวผู้ละโยคะที่เป็นของมนุษย์ แล้วล่วง
                          โยคะที่เป็นของทิพย์เสียได้ ผู้พรากแล้วจากโยคะทั้งปวง
                          ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละความยินดีและความไม่ยินดี
                          เป็นผู้เยือกเย็น หาอุปธิมิได้ ผู้ครอบงำโลกทั้งปวง มีความ
                          เพียร ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้รู้จุติและอุปบัติของสัตว์
                          ทั้งหลาย โดยอาการทั้งปวง ผู้ไม่ข้อง ไปดี ตรัสรู้แล้ว
                          ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์รู้
                          คติไม่ได้ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์
                          เรากล่าวผู้ไม่มีเครื่องกังวลในขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต
                          และปัจจุบัน ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์
                          เรากล่าวผู้องอาจ ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ แสวงหาคุณ
                          ใหญ่ชนะมาร ไม่มีความหวั่นไหว ล้างกิเลสหมด ตรัสรู้
                          แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ระลึกชาติก่อนๆ ได้
                          เห็นสวรรค์และอบาย และถึงความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ว่า
                          เป็นพราหมณ์ นามและโคตรที่เขากำหนดกัน เป็นบัญญัติใน
                          โลก นามและโคตรมาแล้วเพราะการรู้ตามกันมา ญาติ
                          สาโลหิตทั้งหลาย กำหนดไว้ในกาลที่บุคคลเกิดแล้วนั้นๆ
                          นามและโคตรที่กำหนดกันแล้วนี้ เป็นความเห็นของพวก
                          คนผู้ไม่รู้ ซึ่งสืบเนื่องกันมาสิ้นกาลนาน พวกคนผู้ไม่รู้
                          ย่อมกล่าวว่าบุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่บุคคลเป็น
                          พราหมณ์เพราะชาติก็หามิได้ แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม
                          ไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม
                          เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นผู้รับใช้ เป็นโจร เป็นนักรบ
                          อาชีพ เป็นปุโรหิต และแม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม
                          บัณฑิตทั้งหลายผู้มีปรกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรม
                          และวิบาก ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ โลก
                          ย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม
                          สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน เปรียบเหมือนหมุด
                          แห่งรถที่แล่นไปอยู่ ฉะนั้น บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
                          อันประเสริฐนี้ คือ ตบะ สัญญมะ พรหมจรรย์ และ
                          ทมะ กรรมนี้ นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้ บุคคล
                          ผู้ถึงพร้อมด้วยไตรวิชชา เป็นคนสงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว
                          เป็นพราหมณ์ผู้องอาจของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่ ท่านจง
                          รู้อย่างนี้เถิดวาเสฏฐะ ฯ


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๙๒๘๓-๙๔๒๙ หน้าที่ ๔๐๓-๔๐๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=9283&Z=9429&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=25&item=382&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=25&item=382&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=25&item=382&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=25&item=382&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=382              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_25

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :