ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๓๒๐] พึงทราบอธิบายในคำว่า ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาชื่อโธนา
ท่านไม่อาจเพื่อเทียมทันได้เลย ดังต่อไปนี้ ปัญญา เรียกว่าโธนา ได้แก่ ความรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ
ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ. เพราะเหตุไร ปัญญาจึงเรียกว่าโธนา. เพราะ
ปัญญานั้น เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งกายทุจริต ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง.
อีกอย่างหนึ่ง สัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาวิมุติ
เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาวิมุติ. อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็น
เครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งอกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง
ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคเข้าถึง
เข้าถึงพร้อมแล้ว เข้าไป เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าชิด เข้าชิดพร้อมแล้ว ประกอบแล้วด้วยธรรมทั้ง
หลายอันเป็นเครื่องกำจัดนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด.
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงกำจัดราคะ บาป กิเลส ความเร่าร้อนเสียแล้ว เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด.
             คำว่า ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาชื่อโธนา ท่านไม่อาจเพื่อเทียมทันได้เลย
ความว่า ปสูรปริพาชก ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่ เพื่อสนทนาปราศรัยโต้ตอบกับ
ด้วยพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาชื่อโธนา. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร. เพราะ
ปสูรปริพาชกเป็นคนเลว ทราม ต่ำช้า ลามก สกปรก ต่ำต้อย. ส่วนพระผู้มีพระภาคพระ
องค์นั้น เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธาน บวร. ปสูรปริพาชกไม่อาจมาแข่งคู่ คือ
มาเพื่อถือคู่ เพื่อสนทนาปราศรัยโต้ตอบกับด้วยพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีปัญญา
ชื่อโธนา เปรียบเหมือนกระต่ายไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยช้างใหญ่ซับมัน
เหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่ ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยสีหะผู้เป็นมฤคราช เหมือนลูก
โคตัวเล็กยังดื่มน้ำนม ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยโคใหญ่ผู้มีกำลังมาก เหมือนกา ไม่
อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยพวกครุฑเวนไตยโคตร เหมือนคนจัณฑาล ไม่อาจมาแข่งคู่
คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ และเหมือนปีศาจเล่นฝุ่น ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือ
คู่กับด้วยพระอินทร์ผู้เทวราชา ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะปสูรปริพาชก มีปัญญาเลว
มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำช้า มีปัญญาลามก มีปัญญาสกปรก มีปัญญาต่ำต้อย. เพราะพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น มีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มีปัญญารื่นเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญา
เฉียบแหลม มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้ฉลาดในประเภทปัญญา มีญาณแตกฉาน ทรงบรรลุ
ปฏิสัมภิทาแล้ว ถึงแล้วซึ่งเวสารัชชญาณ ๔ ทรงทศพลญาณ เป็นบุรุษผู้องอาจ เป็นบุรุษสีหะ เป็น
บุรุษนาค เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นบุรุษนำธุระไปเป็นปกติ มีญาณหาที่สุดมิได้ มีเดชหาที่สุดมิได้
มียศหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีปัญญาเป็นทรัพย์ เป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปวิเศษ
เป็นผู้นำไปเนื่องๆ ให้รู้จักประโยชน์ ให้เพ่งพินิจ เป็นผู้เห็นประโยชน์ ให้แล่นไปด้วย
ปสาทะ. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ให้มรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ผู้ให้มรรคที่ยังไม่เกิด
พร้อมให้เกิดพร้อม ผู้ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงรู้ซึ่งมรรค ทรงทราบซึ่งมรรค ทรง
ฉลาดในมรรค. ก็แหละในบัดนี้ พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ดำเนิน
ตามมรรคอยู่ เป็นผู้ประกอบด้วยสีลาทิคุณ ในภายหลัง. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้
ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรมเป็นพรหม เป็นผู้
ตรัสบอก เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้นำออกซึ่งอรรถ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็น
พระตถาคต. สิ่งที่ไม่รู้ สิ่งที่ไม่เห็น สิ่งที่ไม่ทราบชัด สิ่งที่ไม่ทำให้แจ้ง สิ่งที่มิได้ถูกต้องด้วย
ปัญญา ย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น. ธรรมทั้งปวง รวมทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองในมุขะคือพระญาณของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้วโดยอาการทั้งปวง.
ชื่อว่าประโยชน์ที่ควรแนะนำทุกๆ อย่าง อันชนควรรู้มีอยู่ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น
ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก
ประโยชน์ที่ลี้ลับ ประโยชน์ปกปิด ประโยชน์ที่ควรแนะนำ ประโยชน์ที่บัณฑิตแนะนำแล้ว
ประโยชน์ที่ไม่มีโทษ ประโยชน์ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์อันผ่องแผ้ว ประโยชน์อย่างยิ่ง
ประโยชน์ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ. กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมด
ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว. พระญาณของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัส
รู้แล้ว มิได้ขัดข้องในอดีต อนาคต ปัจจุบัน. บทธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น
พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณมีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควร
แนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระญาณ. พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบท
ธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มิได้เกินพระญาณไป. ธรรมทั้งหลายนั้น
มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน. เมื่อชั้นผะอบ ๒ ชั้น ปิดสนิทพอดีกัน ชั้นผะอบ
ข้างล่างก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างบน ชั้นผะอบข้างบนก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างล่าง ชั้นผะอบทั้ง ๒
มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็ดี พระญาณก็ดี
ของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน บทธรรมที่ควร
แนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณมี
ส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระญาณ พระ
ญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มิได้เกินพระญาณไป
ธรรมเหล่านั้น มีความตั้งอยู่ในที่สุดรอบของกันและกัน ฉันนั้น. พระญาณของพระผู้มีพระภาค
ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งสิ้น. ธรรมทั้งสิ้น เนื่องด้วยความนึก เนื่องด้วยความหวัง
เนื่องด้วยมนสิการ เนื่องด้วยจิตตุบาท แห่งพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว. พระญาณของพระผู้
มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบอัธยาศัย อนุสัย
จริต อธิมุติ แห่งสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงทราบซึ่งเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักขุ มีกิเลส
ธุลีมากในญาณจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ควรแนะนำ
ได้โดยง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์. โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ. ปลา
และเต่าทุกชนิด รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละ และปลาติมิติมิงคละ โดยที่สุด ย่อมเป็นไปใน
ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ ฉันนั้น. นกทุกชนิด
รวมทั้งครุฑเวนไตยโคตร โดยที่สุด ย่อมเป็นไปในประเทศอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวก
ผู้เสมอด้วยพระสารีบุตรเถระโดยปัญญา ย่อมเป็นไปในประเทศแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้น.
พระพุทธญาณ ย่อมแผ่คลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่. พวกบัณฑิต ผู้เป็นกษัตริย์
พราหมณ์ คหบดี สมณะ มีปัญญาละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูยิงขนหางสัตว์แม่น
เที่ยวไปดุจทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้น ปรุงแต่งปัญหาแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระตถาคต ทูลถามปัญหา. ปัญหาเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามและตรัสแก้แล้ว
เป็นปัญหามีเหตุที่ทรงแสดงออกและทรงสลัดออก. บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเลื่อมใสต่อพระผู้มี
พระภาค. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงไพโรจน์ยิ่งด้วยพระปัญญาในที่นั้นโดยแท้แล เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาชื่อโธนา ท่านไม่อาจเทียมทันได้เลย. เพราะ
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          ก็ท่านตรึกคิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจมาแล้ว ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธ
                          เจ้า ผู้มีปัญญาชื่อโธนา ท่านไม่อาจเพื่อเทียมทันได้เลย.
จบ ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘.
-----------------------------------------------------


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๓๙๔๑-๔๐๒๒ หน้าที่ ๑๖๕-๑๖๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=3941&Z=4022&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=29&item=320&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=29&item=320&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=320&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=29&item=320&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=320              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :