ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๔๙๒] คำว่า มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ในอุเทศว่า น เม พฺยากาสิ จกฺขุมา
ความว่า มิได้ตรัสบอก ... มิได้ทรงประกาศ แก่ข้าพระองค์.
             คำว่า พระจักษุ ความว่า พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยจักษุ ๕ ประการ คือ ด้วย
มังสจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ สมันตจักษุ.
             พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุอย่างไร? สี ๕ อย่าง คือ สีเขียว สีเหลือง
สีแดง สีดำและสีขาว ย่อมปรากฏแก่พระผู้มีพระภาคในมังสจักษุ. ขนพระเนตรตั้งอยู่เฉพาะใน
ที่ใด ที่นั้นมีสีเขียว เขียวดี น่าดู น่าชม เหมือนสีดอกผักตบ. ที่ถัดนั้นเข้าไปมีสีเหลือง
เหลืองดี เหมือนสีทองคำ น่าดู น่าชม เหมือนดอกกรรณิการ์เหลือง. เบ้าพระเนตรทั้ง ๒ ข้าง
ของพระผู้มีพระภาค มีสีแดง แดงดี น่าดู น่าชม เหมือนสีปีกแมลงทับทิมทอง. ที่ท่ามกลาง
มีสีดำ ดำดี ไม่มัวหมอง ดำสนิท น่าดู น่าชม เหมือนสีอิฐแก่ไฟ. ที่ถัดนั้นเข้าไปมีสีขาว
ขาวดี ขาวล้วน ขาวผ่อง น่าดู น่าชม เหมือนสีดาวประกายพฤกษ์. พระผู้มีพระภาคมีพระ-
*มังสจักษุเป็นปกตินั้น เนื่องในพระอัตภาพ อันเกิดขึ้นเพราะสุจริตกรรมในภพก่อน ย่อมทอด
พระเนตรเห็นตลอดที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน. แม้ในเวลาใดมีความมืด
ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ๑ คืนวันอุโบสถข้างแรม ๑ แนวป่าทึบ ๑
อกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ๑ ในความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ เห็นปานนี้ ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นตลอดที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ. หลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้
หรือเถาวัลย์ ไม่เป็นเครื่องกันในการทอดพระเนตรเห็นรูปทั้งหลายเลย. หากว่าบุคคลพึงเอา
เมล็ดงาเมล็ดหนึ่งเป็นเครื่องหมาย ใส่ลงในเกวียนสำหรับบรรทุกงา บุคคลนั้นพึงเอาเมล็ดงานั้น
ขึ้น. มังสจักษุเป็นปกติของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วย
มังสจักษุอย่างนี้.
             พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคย่อมทรงพิจารณา
เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทรง
ทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์จะดูโลกธาตุ
หนึ่งก็ดี สองก็ดี สามก็ดี สี่ก็ดี ห้าก็ดี สิบก็ดี ยี่สิบก็ดี สามสิบก็ดี สี่สิบก็ดี ห้าสิบก็ดี
ร้อยก็ดี พันหนึ่งเป็นส่วนน้อยก็ดี สองพันเป็นส่วนปานกลางก็ดี สามพันก็ดี สี่พันเป็นส่วน
ใหญ่ก็ดี หรือว่าทรงประสงค์เพื่อจะทรงดูโลกธาตุเท่าใด ก็ทรงเห็นโลกธาตุเท่านั้น. ทิพยจักษุ
ของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างนี้.
             พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคมีพระปัญญาใหญ่
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาไว มีพระปัญญาคมกล้า มีพระปัญญา
ทำลายกิเลส ทรงฉลาดในประเภทปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทาแล้ว ทรง
ถึงแล้วซึ่งเวสารัชชญาณ ๔ ทรงพลญาณ ๑๐ ทรงเป็นบุรุษผู้องอาจ ทรงเป็นบุรุษสีหะ ทรงเป็น
บุรุษนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษนำธุระไป มีญาณไม่มีที่สุด มีเดชไม่มีที่สุด มี
ยศไม่มีที่สุด เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ เป็นผู้นำ นำไปให้วิเศษ นำเนืองๆ
ให้เข้าใจ ให้เพ่งพินิจ เป็นผู้ตรวจ ให้เลื่อมใส. พระผู้มีพระภาคนั้นทรงยังมรรค ที่ยังไม่เกิด
ให้เกิดขึ้น ทรงยังประชาชนให้เข้าใจมรรคที่ยังไม่เข้าใจ ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรง
รู้มรรค ทรงรู้แจ้งมรรค ฉลาดในมรรค. ก็แหละในบัดนี้ พระสาวกทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินตาม
มรรค ประกอบในภายหลังอยู่. พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงรู้อยู่ ชื่อว่าทรงรู้ ทรงเห็นอยู่ ชื่อว่า
ทรงเห็น เป็นผู้มีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีคุณอันประเสริฐ เป็นผู้ตรัสบอกธรรม ตรัสบอกทั่วไป
ทรงแนะนำประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามีเสด็จไปอย่างนั้น. บทธรรมที่
พระองค์มิได้ทรงรู้ มิได้ทรงเห็น มิได้ทรงทราบ มิได้ทรงทำให้แจ่มแจ้ง มิได้ทรงถูกต้อง ด้วย
ปัญญา ไม่มีเลย.
             ธรรมทั้งหมดรวมทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองในมุข คือ พระญาณ ของ
พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว โดยอาการทั้งปวง. ขึ้นชื่อว่าบทธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรแนะนำ
ควรรู้ มีอยู่. ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์
ในภพหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ประโยชน์เปิดเผย ประโยชน์ลี้ลับ ประโยชน์ที่ควร
แนะนำ ประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ไม่มีโทษ ประโยชน์ไม่มีกิเลส ประโยชน์ขาวหรือ
ประโยชน์อย่างยิ่ง. ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ.
             กายกรรมทั้งหมด วจีกรรมทั้งหมด มโนกรรมทั้งหมด ย่อมเป็นไปตามพระญาณของ
พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีพระญาณมิได้ขัดข้องในอดีต อนาคต
ปัจจุบัน. บทธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำ
ก็เท่านั้น พระญาณมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นที่สุด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีพระญาณเป็นที่สุด
พระญาณไม่เป็นไปล่วงบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่ล่วงพระญาณ
ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกันและกัน. ลิ้นผอบ ๒ ลิ้นสนิทกัน ลิ้นผอบข้างล่าง ไม่เกิน
ลิ้นผอบข้างบน ลิ้นผอบข้างบน ก็ไม่เกินลิ้นผอบข้างล่าง ลิ้นผอบทั้ง ๒ นั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกัน
ฉันใด พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีบทธรรมที่ควรแนะนำและพระญาณตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกัน
และกัน ฉันนั้นเหมือนกัน. บทธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณก็เท่าใด
บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นที่สุด บทธรรมที่ควรแนะนำ
ก็มีพระญาณเป็นที่สุด พระญาณไม่เป็นไปล่วงบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควร
แนะนำก็ไม่เป็นไปล่วงพระญาณ ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกันและกัน. พระญาณของ
พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง. ธรรมทั้งปวงเนื่องด้วยอาวัชชนะ
เนื่องด้วยอากังขา เนื่องด้วยมนสิการ เนื่องด้วยจิตตุบาท ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว.
พระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคย่อมทรง
ทราบฉันทะเป็นที่มานอน อนุสัย จริต อธิมุติ ของสัตว์ทั้งปวง. ทรงทราบชัดซึ่งสัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญาน้อย ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญามาก ที่มี
อินทรีย์แก่กล้า ที่มีอินทรีย์อ่อน ที่มีอาการดี ที่มีอาการชั่ว ที่ให้รู้ง่าย ที่ให้รู้ยาก ที่เป็นภัพพสัตว์
ที่เป็นอภัพพสัตว์ โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ย่อมเป็นไปในภายในแห่งพระพุทธญาณ.
             ปลาและเต่าทุกชนิด โดยที่สุดรวมถึงปลาติมิติมิงคละ ย่อมเป็นไปในภายในมหาสมุทร
ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. นกทุกชนิดโดยที่สุดรวม
ถึงครุฑสกุลเวนเตยยะ ย่อมบินไปในประเทศอากาศ ฉันใด พระสาวกทั้งหลายเสมอด้วย
พระสารีบุตรโดยปัญญา ย่อมเป็นไปในประเทศแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระพุทธ-
*ญาณย่อมแผ่ปกคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ
ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียด มีวาทะโต้ตอบกับผู้อื่น เป็นดังนายขมังธนูยิงขนทรายแม่น
บัณฑิตเหล่านั้นเป็นประหนึ่งว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิเขาด้วยปัญญาของตน. บัณฑิตเหล่านั้นปรุงแต่ง
ปัญหาเข้ามาเฝ้าพระตถาคตแล้ว ทูลถามปัญหาเหล่านั้น. พระผู้มีพระภาคตรัสบอกและตรัสแก้
แล้ว ทรงแสดงเหตุและอ้างผลแล้ว. บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค. ในลำดับ
นั้นแล พระผู้มีพระภาคย่อมไพโรจน์ยิ่งขึ้นไปด้วยพระปัญญาในสถานที่นั้น. เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่า มีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างนี้.
             พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูโลก
ด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญาน้อย ผู้มีกิเลสเพียง
ดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการชั่ว
ผู้แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้มีปกติเห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่. ใน
กออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบลบัวเขียว ดอกปทุมบัวหลวง หรือ ดอกบุณฑริก
บัวขาว บางชนิดเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ไปตามน้ำ จมอยู่ในน้ำอันน้ำเลี้ยงไว้ บางชนิดเกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางชนิดเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่พ้นจากน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
แม้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้มีกิเลสเพียง
ดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญาน้อย ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการชั่ว ผู้แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวก
มีปกติเห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคล
นี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้
เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต. พระผู้มีพระภาคตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต.
ตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ใน
เพราะอุเทศและปริปุจฉา ในการฟังธรรมโดยกาล ในการสนทนาธรรมโดยกาล ในการอยู่ร่วม
กับครู. ตรัสบอกอนาปานัสสติแก่บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต ตรัสบอกความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า
ความที่ธรรมเป็นธรรมดี ความที่สงฆ์ปฏิบัติดี และศีลทั้งหลายของตน ซึ่งเป็นนิมิต เป็นที่ตั้ง
แห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ตรัสบอกอาการไม่เที่ยง อาการเป็นทุกข์ อาการ
เป็นอนัตตา อันเป็นวิปัสสนานิมิตแก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต.
                          บุคคลยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลา พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ แม้
                          ฉันใด ข้าแต่พระสุเมธผู้มีพระสมันตจักษุ พระองค์เสด็จ
                          ขึ้นแล้วสู่ปราสาทอันสำเร็จด้วยธรรม ปราศจากความโศก
                          ก็ทรงเห็นหมู่ชนที่อาเกียรณ์ด้วยความโศก ผู้อันชาติและชรา
                          ครอบงำ เปรียบฉันนั้น.
             พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างนี้
             พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างไร? สัพพัญญุตญาณ ท่านกล่าวว่า
สมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคทรงเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม
ประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณ.
                          บทธรรมอะไรๆ อันพระผู้มีพระภาคนั้นไม่ทรงเห็น ไม่ทรง
                          รู้แจ้ง หรือไม่พึงทรงทราบ มิได้มีเลย. พระผู้มีพระภาค
                          ทรงรู้เฉพาะซึ่งบทธรรมทั้งปวง. เนยยบทใดมีอยู่ พระผู้มี-
                          พระภาคทรงทราบซึ่งเนยยบทนั้น. เพราะเหตุนั้น พระตถาคต
                          จึงเป็นพระสมันตจักษุ.
             พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มี-
*พระภาคมีพระจักษุ ไม่ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์.


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๔๕๔๘-๔๖๖๑ หน้าที่ ๑๘๕-๑๘๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=4548&Z=4661&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=30&item=492&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=30&item=492&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=30&item=492&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=30&item=492&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=492              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :