ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
             [๘] 	สมัยต่อมาจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตมีพระสัมพุทธเจ้าพระ-
                          นามว่าอโนมทัสสี ทรงพระยศนับไม่ได้ มีพระเดชยากที่จะล่วงได้
                          พระองค์ทรงตัดเครื่องผูกทุกอย่าง ทรงทำลายภพ ๓ แล้ว ทรงแสดง
                          ทางที่ไปไม่กลับ ในหมู่เทวดาและมนุษย์ พระองค์ทรงพระคุณนับ
                          ไม่ได้ดังมหาสมุทร ยากที่จะให้จมลงเหมือนภูเขา ไม่มีที่สุดดุจ
                          อากาศ พระคุณบานเต็มที่เช่นพญารัง สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีแม้
                          ด้วยการเห็นพระองค์สัตว์เหล่านั้นได้ฟังพระสุรเสียงที่ทรงเปล่ง
                          ย่อมบรรลุอมตธรรม ในกาลนั้น ธรรมาภิสมัยของพระองค์เจริญ-
                          รุ่งเรืองในพระธรรมเทศนาครั้งที่ ๑ สัตว์ร้อยโกฏิได้ตรัสรู้ สมัยต่อ
                          แต่นั้นมา เมื่อพระองค์ทรงยังฝนคือธรรมให้ตก ในพระธรรม
                          เทศนาครั้งที่ ๒ สัตว์แปดสิบโกฏิได้ตรัสรู้ และสมัยต่อมาเมื่อ
                          พระองค์ทรงยังฝนคือธรรมให้ตกให้สัตว์ทั้งหลายอิ่มหนำสำราญ
                          ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์ ๗๘ โกฏิ พระบรมศาสดา ได้ทรง
                          ประชุมพระภิกษุผู้บรรลุอภิญญาและพลธรรม ผู้บานแล้วด้วยการ
                          หลุดพ้น ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ พระภิกษุขีณาสพผู้ละความมัวเมา และ
                          ความหลง มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ มาประชุมแปดแสน ครั้งที่ ๒
                          พระภิกษุขีณาสพผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากธุลี สงบระงับ
                          คงที่ มาประชุมเจ็ดแสน ครั้งที่ ๓ พระภิกษุขีณาสพผู้บรรลุอภิญญา
                          และพลธรรมผู้ดับสนิท มีตบะ มาประชุมหกแสน สมัยนั้น เราเป็น
                          ยักษ์มีฤทธิ์มาก เป็นใหญ่ ปกครองยักษ์หลายโกฏิให้อยู่ในอำนาจ
                          แม้ครั้งนั้น เราก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้ทรงแสวงหา
                          คุณใหญ่หลวงพระองค์นั้นแล้วได้ถวายข้าวและน้ำให้พระองค์เสวย
                          พร้อมด้วยพระสงฆ์จนเพียงพอ แม้พระมุนีผู้มีพระนัยนาบริสุทธิ์
                          พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์เราว่าผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ...
                          ... ข้ามแม่น้ำใหญ่ฉะนั้นเราได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็
                          ยินดีมีใจปราโมทย์ อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมีให้ยิ่งขึ้น
                          พระนครชื่อว่าจันทวดี พระบรมกษัตริย์พระนามว่ายสวา เป็น
                          พระชนกของพระอโนมทัสสีศาสดา พระชนนีพระนามว่ายโสธรา
                          พระองค์ทรงครอบครองอาคารสถานอยู่หมื่นปี มีปราสาทอันประเสริฐ
                          ๓ ปราสาท ชื่อศิริ อุปศิริ และวัฑฒะ ทรงมีพระสนมนารีกำนัลใน
                          สองหมื่นสามพันนาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสี
                          พระนามว่าสิริมา พระราชโอรสพระนามว่าอุปสาละ พระองค์
                          ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกผนวชด้วยวอทองทรงบำเพ็ญ
                          เพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม พระมหามุนีอโนทัสสีมหาวีรเจ้าอันพรหม
                          ทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ สุทัสนราชอุทยาน
                          อันประเสริฐ ทรงมีพระนิสภเถระและพระอโนมเถระเป็นพระอัคร-
                          สาวกพระเถระชื่อว่าวรุณเป็นพุทธุปัฏฐาก พระสุนทราเถรีและพระ
                          สุมนาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ไม้โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคนั้น
                          เรียกว่าต้นกุ่ม นันทิวัฑฒอุบาสกและสิริวัฑฒอุบาสกเป็นอัคร-
                          อุปัฏฐากอุปลาอุบาสิกาและปทุมาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิภา พระ
                          มหามุนีมีพระองค์สูง ๕๘ ศอก มีพระรัศมีซ่านออกสว่างไสวดัง
                          พระอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น ในครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุแสนปี
                          พระองค์ดำรงพระชนมายุอยู่เพียงนั้น ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้น
                          วัฏสงสารได้เป็นอันมาก พระศาสนาของพระองค์บานสะพรั่ง
                          งดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลายผู้คงที่ผู้ปราศจากราคะและมลทิน
                          พระศาสดาผู้ทรงยศนับไม่ได้และคู่พระสาวกผู้ไม่มีใครแม้นเสมือน
                          หายไปหมดสิ้นแล้วสังขารทั้งปวงว่างเปล่าหนอ พระอโนมทัสสี
                          พระบรมศาสดาชินเจ้า เสด็จนิพพาน ณ ธรรมาราม พระสถูปของ
                          พระองค์สูง ๒๐ โยชน์ ประดิษฐานอยู่ ณ ธรรมารามนั้น ฉะนี้แล.
จบอโนมทัสสีพุทธวงศ์ที่ ๗
ปทุมพุทธวงศ์ที่ ๘
ว่าด้วยพระประวัติพระปทุมพุทธเจ้า


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ บรรทัดที่ ๗๕๕๕-๗๖๐๖ หน้าที่ ๓๒๓-๓๒๕. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=7555&Z=7606&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=33&item=188&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=33&item=188&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=33&item=188&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=33&item=188&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=188              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_33

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :