ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
             [๒๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษา
อยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบท. เมื่อพวกเธอพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่
ย่อมบรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  จึงพวกเธอได้มีความปริวิตกว่า  เมื่อพวกเรา
พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว.
ถ้าพวกเราจักปวารณากันเสียในบัดนี้  บางทีพวกภิกษุปวารณากันแล้วจะพึงหลีกไปสู่จาริกก็จะ
มีบ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธานุญาตให้เลื่อนปวารณา
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้มากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยเห็นร่วมคบหากันมา จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง. เมื่อพวกเธอพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ย่อมบรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง. หากภิกษุทั้งหลายในสังฆสันนิบาตนั้นคิดกันอย่างนี้ว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๒.

พวกเราพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้ว ถ้าพวกเราจักปวารณากันเสียในบัดนี้ บางทีพวกภิกษุปวารณากันแล้วจะพึงหลีกไปสู่จาริก ก็จะมีบ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทำการเลื่อนปวารณาออกไป.
วิธีเลื่อนปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงทำการเลื่อนปวารณาอย่างนี้. ภิกษุทุกๆ รูปต้องประชุมพร้อมกัน. ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาเลื่อนปวารณา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว. หากพวกเราจักปวารณา เสียในบัดนี้ บางทีภิกษุทั้งหลายปวารณากันแล้ว พึงหลีกไปสู่จาริกก็จะมีบ้าง เมื่อเป็น เช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำการเลื่อนปวารณาออกไป บัดนี้พึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ พึงปวารณา ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง. นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว. หากพวกเราจักปวารณาเสีย ในบัดนี้ บางทีภิกษุทั้งหลายปวารณากันแล้ว พึงหลีกไปสู่จาริกก็จะมีบ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราก็จักเหินห่างจากผาสุวิหารธรรมนี้. สงฆ์ทำการเลื่อนปวารณาออกไป บัดนี้สงฆ์ จักทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ จักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะ มาถึง การกระทำซึ่งการเลื่อนปวารณาออกไป เดี๋ยวนี้สงฆ์จักทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ จักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๓.

การเลื่อนปวารณาอันสงฆ์ทำแล้ว บัดนี้สงฆ์จักทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ จัก ปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือนที่จะมาถึง ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
ไม่เป็นใหญ่ในปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้นทำการเลื่อนปวารณาออกไปแล้ว หากจะมีภิกษุ สักรูปหนึ่งพูดอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมปรารถนาจะหลีกไปสู่จาริกตามชนบท เพราะผม มีกิจจำเป็นที่ชนบท. ภิกษุรูปนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดีแล้ว อาวุโส ท่านปวารณา แล้วจึงค่อยไป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุรูปนั้นอันสงฆ์ปวารณาอยู่ งดปวารณาของภิกษุรูปหนึ่ง เสีย ภิกษุผู้งดปวารณา อันภิกษุผู้ถูกห้ามปวารณาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านไม่เป็นใหญ่ ในการปวารณาของผมๆ จักยังไม่ปวารณาก่อน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นปวารณาอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งห้ามปวารณาของภิกษุรูปนั้น สงฆ์พึงสอบสวนสืบสวนทั้ง ๒ ฝ่าย แล้วปรับอาบัติ ตามธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุรูปนั้นทำกรณียกิจนั้นในชนบทเสร็จแล้วกลับมาสู่อาวาสนั้น ภายในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่ครบ ๔ เดือน หากเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ภิกษุอีกรูปหนึ่ง งดปวารณาของภิกษุรูปนั้น ภิกษุผู้งดปวารณา อันภิกษุผู้ถูกงดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่าน ไม่เป็นใหญ่ในปวารณาของผม เพราะผมปวารณาเสร็จแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากเมื่อภิกษุ เหล่านั้นปวารณาอยู่ ภิกษุนั้นงดปวารณาของภิกษุอีกรูปหนึ่ง. ทั้ง ๒ ฝ่ายสงฆ์พึงสอบสวน สืบสวนเป็นการสงฆ์ ปรับอาบัติตามธรรมแล้วจึงปวารณาเถิด.
ปวารณาขันธกะที่ ๔ จบ.
เรื่องในขันธกะนี้มี ๔๖ เรื่อง
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๔.

หัวข้อประจำขันธกะ


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๗๓๗๒-๗๔๒๘ หน้าที่ ๓๐๑-๓๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=7372&Z=7428&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=4&item=251&items=1&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=4&item=251&items=1&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=4&item=251&items=1&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=4&item=251&items=1&pagebreak=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=251              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_4

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :