บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๕. อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๖ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร [๕๔๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของ ท่านพระอุปนันทศากยบุตร นิมนต์ท่านฉันภัตตาหาร แม้ภิกษุเหล่าอื่นเขาก็นิมนต์ด้วย เวลานั้น เป็นเวลาก่อนอาหาร ท่านพระอุปนันทศากยบุตรยังกำลังเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายอยู่ จึงภิกษุเหล่า นั้นได้บอกทายกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงถวายภัตตาหารเถิด พวกทายกกล่าวว่า นิมนต์รออยู่ จนกว่าพระคุณเจ้าอุปนันทะจะมา ขอรับ. แม้ครั้งที่สอง ภิกษุเหล่านั้นก็ได้บอกทายกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงถวายภัตตาหาร เถิด พวกทายกกล่าวว่า นิมนต์รออยู่จนกว่าพระคุณเจ้าอุปนันทะจะมา ขอรับ. แม้ครั้งที่สาม ภิกษุเหล่านั้นก็ได้บอกทายกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงถวายภัตตาหาร เถิด เวลาก่อนเที่ยงจะล่วงเลยแล้ว ทายกอ้อนวอนว่า พวกกระผมตกแต่งภัตตาหารก็เพราะเหตุ แห่งพระคุณเจ้าอุปนันทะ นิมนต์รออยู่จนกว่าพระคุณเจ้าอุปนันทะจะมา ขอรับ. คราวนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้เข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉัน มาถึงเวลา บ่าย ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ฉันตามประสงค์ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรรับนิมนต์เขาแล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว ไฉนจึงได้ถึงความ เป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอรับนิมนต์เขา แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉัน จริงหรือ? ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรับนิมนต์เขาแล้ว มี ภัตตาหารอยู่แล้ว ไฉนจึงได้ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนฉันเล่า การกระทำของ เธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๙๕. ๖. ก. อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตอยู่แล้ว ถึงความเป็นผู้ เที่ยวไป ในตระกูลทั้งหลายก่อนฉัน เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ. ----------------------------------------------------- เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร (ต่อ) [๕๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ส่งของ เคี้ยวไปถวายแก่สงฆ์ สั่งว่า ต้องมอบให้พระคุณเจ้าอุปนันทะถวายแก่สงฆ์ แต่เวลานั้นท่านพระ อุปนันทศากยบุตรกำลังเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเหล่านั้นไปถึงอารามแล้วถามภิกษุ ทั้งหลายว่า พระคุณเจ้าอุปนันทะไปไหน เจ้าข้า? ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้น เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านแล้วจ้ะ. ชาวบ้านสั่งว่า ท่านขอรับ ของเคี้ยวนี้ต้องมอบให้พระคุณเจ้าอุปนันทะถวายแก่สงฆ์. ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงรับประเคนแล้วเก็บไว้จนกว่าอุปนันทะจะกลับมา. ส่วนท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้คิดว่า การถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนเวลาฉัน พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว จึงเข้าไปยังตระกูลทั้งหลายหลังเวลาฉันแล้ว บ่ายจึง กลับ ของเคี้ยวได้ถูกส่งคืนกลับไป. บรรดาภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุปนันท- *ศากยบุตร จึงได้ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายหลังเวลาฉันเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค ...ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอถึงความ เป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายหลังเวลาฉัน จริงหรือ? ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้ถึงความเป็นผู้เที่ยว ไปในตระกูลทั้งหลายหลังเวลาฉันเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๑ ๙๕. ๖. ข. อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตอยู่แล้ว ถึงความเป็นผู้ เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ. ทรงอนุญาตให้เข้าสู่ตระกูลในคราวถวายจีวร [๕๔๙] โดยสมัยต่อมา ถึงคราวถวายจีวรกัน ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่เข้าไปสู่ ตระกูล จีวรจึงเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ถวายจีวร เราอนุญาตให้เข้าไปสู่ตระกูลได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๒ ๙๕. ๖. ค. อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตอยู่แล้ว ถึงความเป็นผู้เที่ยว ไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์. นี้สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวที่ถวายจีวร นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้เข้าสู่ตระกูลในคราวถวายจีวร จบ. ทรงอนุญาตให้เข้าสู่ตระกูลในคราวทำจีวร [๕๕๐] โดยสมัยต่อมาอีก ภิกษุทั้งหลายทำจีวรกันอยู่ ต้องการเข็มบ้าง ด้ายบ้าง มีดบ้าง. ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจไม่เข้าไปสู่ตระกูล จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ทำจีวร เราอนุญาตให้เข้าไปสู่ตระกูลได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๓ ๙๕. ๖. ฆ. อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตรอยู่แล้ว ถึงความเป็นผู้ เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์. นี้สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องทรงอนุญาตให้เข้าสู่ตระกูลในคราวทำจีวร จบ. ทรงอนุญาตให้บอกลาก่อนเข้าสู่ตระกูล [๕๕๑] โดยสมัยต่อจากนั้นมา ภิกษุทั้งหลายอาพาธ และมีความต้องการเภสัช ภิกษุ ทั้งหลายพากันรังเกียจไม่เข้าไปสู่ตระกูล จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้วเข้าไปสู่ตระกูลได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๔ ๙๕. ๖. ง. อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตรอยู่แล้วไม่บอกลาภิกษุซึ่งมี อยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่ สมัย เป็นปาจิตตีย์. นี้สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร, นี้สมัย ในเรื่องนั้น.เรื่องทรงอนุญาตให้บอกลาก่อนเข้าสู่ตระกูล จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๕๕๒] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า รับนิมนต์แล้ว คือ รับนิมนต์ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง. ที่ชื่อว่า มีภัตรอยู่แล้ว คือ มีอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้ว. ภิกษุที่ชื่อว่า ซึ่งมีอยู่ คือ อาจที่จะบอกลาก่อนเข้าไป. ภิกษุที่ชื่อว่า ซึ่งไม่มีอยู่ คือ ไม่อาจที่จะบอกลาก่อนเข้าไป. ที่ชื่อว่า ก่อนฉัน คือ ภิกษุยังไม่ได้ฉันอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้. ที่ชื่อว่า ทีหลังฉัน คือ ภิกษุฉันอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้วโดยที่สุด แม้ด้วยปลาย หญ้าคา. ที่ชื่อว่า ตระกูล ได้แก่ตระกูล ๔ คือ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูล แพศย์ ตระกูลศูทร. คำว่า ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย นั้น ความว่า ภิกษุก้าวลงสู่ อุปจารเรือนของผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ. ก้าวเท้าที่ ๑ ล่วงธรณีประตู ต้องอาบัติทุกกฏ. ก้าวเท้า ที่ ๒ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นแต่มีสมัย. ที่ชื่อว่า คราวที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน ๑ เดือน ท้ายฤดูฝน เมื่อ กรานกฐินแล้ว ๕ เดือน ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อคราวกำลังทำจีวรกันอยู่.บทภาชนีย์ ติกะปาจิตตีย์ [๕๕๓] รับนิมนต์แล้ว ภิกษุสำคัญว่ารับนิมนต์แล้ว ไม่บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่ ถึงความ เป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุสงสัย ไม่บอกภิกษุซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้ง หลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุสำคัญว่ามิได้รับนิมนต์ ไม่บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้ เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกะทุกกฏ ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุสำคัญว่ารับนิมนต์แล้ว ... ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับนิมนต์ ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๕๕๔] ภิกษุฉันในสมัย ๑ ภิกษุบอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้วจึงเข้าไป ๑ ไม่ได้บอกลาภิกษุ ซึ่งไม่มีอยู่ แล้วเข้าไป ๑ เดินทางผ่านเรือนผู้อื่น ๑ เดินทางผ่านอุปจารเรือน ๑ ไปอารามอื่น ๑ ไปสู่สำนักภิกษุณี ๑ ไปสู่สำนักเดียรถีย์ ๑ ไปโรงฉัน ๑ ไปเรือนที่เขานิมนต์ฉัน ๑ ไปเพราะมีอันตราย ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๑๔๘๓-๑๑๖๒๑ หน้าที่ ๔๘๕-๔๙๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=11483&Z=11621&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=11483&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=82 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=547 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=6493 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9429 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=6493 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9429 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc46/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]