บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๒. โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ [๑๐๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถ บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะ มีประการ- *ต่างๆ ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึง ได้ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า?. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาผู้ที่เป็นผู้ มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพน- *ทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้ถึงการซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เล่า? แล้วกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอถึงการซื้อ ขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ จริงหรือ?. พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน พวกเธอจึงได้ถึงการซื้อ ขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เล่า การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำ ของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่าง อื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.ทรงบัญญัติสิกขาบท ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยาย ดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษแห่ง ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำ- *นาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๓๘. ๙. อนึ่ง ภิกษุใดถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ, เป็น นิสสัคคิยปาจิตตีย์.เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๑๑๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว. ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา. ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียง กันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์ พร้อมเพรียงกันอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า มีประการต่างๆ คือ เป็นรูปพรรณบ้าง ไม่เป็นรูปพรรณบ้าง เป็นทั้งรูปพรรณ และมิใช่รูปพรรณบ้าง. ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณ ได้แก่เครื่องประดับศีรษะ เครื่องประดับคอ เครื่องประดับมือ เครื่องประดับเท้า เครื่องประดับสะเอว. ที่ชื่อว่า ไม่เป็นรูปพรรณ คือที่เรียกกันว่าเป็นแท่ง. ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ ได้แก่ของ ๒ อย่างนั้น. ที่ชื่อว่า รูปิยะ ได้แก่ทองคำ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้. บทว่า ถึงความซื้อขาย คือ เอาของที่เป็นรูปพรรณซื้อขายของที่เป็นรูปพรรณ, เป็นนิสสัคคีย์. เอาของที่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ, เป็นนิสสัคคีย์. เอาของที่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ, เป็นนิสสัคคีย์. เอาของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่เป็นรูปพรรณ, เป็นนิสสัคคีย์. เอาของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ, เป็นนิสสัคคีย์. เอาของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ เป็น นิสสัคคีย์. เอาของที่เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ ซื้อของที่เป็นรูปพรรณ, เป็นนิสสัคคีย์. เอาของที่เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ ซื้อของที่มิใช่รูปพรรณ. เป็นนิสสัคคีย์. เอาของที่เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ ซื้อของที่เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ, เป็นนิสสัคคีย์. ของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะ ซึ่งเป็นนิสสัคคีย์นั้น, ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละของนั้น อย่างนี้:-วิธีเสียสละของที่ซื้อขายด้วยรูปิยกะ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ, ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละสิ่งของนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ. ถ้าคนทำการวัด หรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั่น, พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้ ถ้าเขาถามว่า จะให้ ผมนำสิ่งนี้ไปหาอะไรมาอย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา; ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่นเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย. ถ้าเขานำของสิ่งนั้นไป แลกของ ที่เป็นกัปปิยะมาถวาย; เว้นภิกษุผู้ซื้อขายด้วยรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป. ถ้าได้อย่างนี้, นั่นเป็นการดี; ถ้าไม่ได้ พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของสิ่งนี้, ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี; ถ้าเขาไม่ทิ้งให้, พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ.องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ องค์ ๕ นั้น คือ ๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ, ๒. ไม่ถึงความลำเอียง เพราะความเกลียดชัง, ๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย, ๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว, และ ๕. รู้จักว่าทำอย่างไรเป็นอันทิ้ง หรือไม่เป็นอันทิ้ง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติภิกษุนั้น อย่างนี้:-วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ พึงขอภิกษุให้รับตกลงก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-คำสมมติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงสมมติ ภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ, การสมมติ ภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ชอบแก่ท่านผู้ใด, ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง. ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด, ท่านผู้นั้นพึงพูด. ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะแล้ว ชอบแก่สงฆ์. เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรง ความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น พึงทิ้งอย่าหมายที่ตก, ถ้าทิ้งหมายที่ตก; ต้องอาบัติทุกกฏ.บทภาชนีย์ ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์ [๑๑๑] รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ, ซื้อขายรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์ มิใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. มิใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกกฏ มิใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ มิใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่รูปิยะ ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๑๑๒] ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๖๘๕-๒๘๐๖ หน้าที่ ๑๑๓-๑๑๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=2685&Z=2806&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=2685&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=19 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=109 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=1643 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4909 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=1643 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4909 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np19/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]