บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ [๑๖๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ในพระนครสาวัตถี มีชาวบ้านหมู่หนึ่ง จัดภัตตาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายสงฆ์ ด้วยตั้งใจว่าจักให้ฉันแล้วจึงให้ครองจีวร ณ เวลาเดียวกัน นั้นแล. พระฉัพพัคคีย์ได้เข้าไปหาชาวบ้านหมู่นั้น ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะชาวบ้านหมู่นั้นว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้จีวรเหล่านี้แก่พวกอาตมา. ชาวบ้านหมู่นั้นกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า พวกกระผมจะถวายไม่ได้ เพราะพวกกระผม จัด ภิกษาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายพระสงฆ์ทุกปี. พระฉัพพัคคีย์กล่าวว่า ดูกรท่านทั้งหลาย ทายก ของสงฆ์มีมาก, ภัตตาหารของสงฆ์ก็มีมาก, พวกอาตมาอาศัยพวกท่าน เห็นอยู่แต่พวกท่าน จึง อยู่ในที่นี้. ถ้าพวกท่านไม่ให้แก่พวกอาตมา, เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักให้แก่พวกอาตมา, ขอ พวกท่านจงให้จีวรเหล่านี้ แก่พวกอาตมาเถิด. เมื่อชาวบ้านหมู่นั้น ถูกพระฉัพพัคคีย์แค่นไค้ จึงได้ถวายจีวรตามที่ได้จัดไว้แก่ พระฉัพพัคคีย์แล้วอังคาสพระสงฆ์เฉพาะภัตตาหาร. บรรดาภิกษุที่ทราบว่า เขาจัดภัตตาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายพระสงฆ์, แต่ไม่ทราบว่า เขาได้ถวายจีวรแก่พระฉัพพัคคีย์ไปแล้ว จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านจงน้อม ถวายจีวรแก่พระสงฆ์เถิด. ชาวบ้านหมู่นั้นกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า จีวรตามที่ได้จัดไว้ไม่มี, เพราะพระคุณเจ้าเหล่า พระฉัพพัคคีย์น้อมไปเพื่อตนแล้ว. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่าง เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์รู้อยู่ จึงได้น้อมลาภที่เข้าน้อมไว้เป็นของ จะถวายสงฆ์มาเพื่อตนเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอรู้ อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน พวกเธอรู้อยู่ จึงได้ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตนเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.ทรงบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความจำกัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความ เพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่ง พระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๔๙. ๑๐. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มา เพื่อตน, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๑๗๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด เป็น เถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด. บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ อรรถว่าประพฤติภิกขาจริยวัตร. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว. ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา. ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นเอหิภิกขุ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้เจริญ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระอเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบท ให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียง กันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอกเธอ หรือเจ้าตัวบอก. ที่ชื่อว่า เป็นของจะถวายสงฆ์ ได้แก่ ของที่เขาถวายแล้ว บริจาคแล้ว แก่สงฆ์. ที่ชื่อว่า ลาภ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยของภิกษุ ไข้ โดยที่สุด แม้ก้อนแห่งจุรณ ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า. ที่ชื่อว่า ที่เขาน้อมไว้ คือเขาได้เปล่งวาจาไว้ว่า จักถวาย จักกระทำ, ภิกษุน้อมมา เพื่อตนในประโยคที่ทำ. เป็นทุกกฏ. ได้มา. เป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละ แก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละลาภนั้น อย่างนี้:-วิธีเสียสละ เสียสละแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ลาภนี้เขาน้อมไปเป็นของจะถวายสงฆ์. ข้าพเจ้ารู้อยู่ น้อมมา เพื่อตน เป็นของจำจะสละ. ข้าพเจ้าสละลาภนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนลาภที่เสีย- สละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ลาภนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. สงฆ์พึงให้ลาภนี้แก่ภิกษุ มีชื่อนี้.เสียสละแก่คณะ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ลาภนี้เขาน้อมไปเป็นของจะถวายสงฆ์. ข้าพเจ้ารู้อยู่ น้อมมา เพื่อตน เป็นของจำจะสละ. ข้าพเจ้าสละลาภนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนลาภที่เสีย สละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. ลาภนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว. ท่าน ทั้งหลายพึงให้ลาภนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่บุคคล ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน ลาภนี้เขาน้อมไปเป็นของจะถวายสงฆ์. ข้าพเจ้ารู้อยู่ น้อมมาเพื่อตน เป็นของจำจะสละ. ข้าพเจ้าสละลาภนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนลาภที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้ลาภนี้แก่ท่าน ดังนี้.บทภาชนีย์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ลาภที่เขาน้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเขาน้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์.ทุกกฏ ลาภที่เขาน้อมไว้ ภิกษุสงสัย น้อมมาเพื่อตน, ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ ลาภที่เขาน้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเขาไม่ได้น้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน, ไม่ต้องอาบัติ.ทุกกฏ ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อสงฆ์ ภิกษุน้อมมาเพื่อสงฆ์หมู่อื่นก็ดี เพื่อเจดีย์ก็ดี, ต้องอาบัติ ทุกกฏ. ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อเจดีย์ ภิกษุน้อมมาเพื่อเจดีย์อื่นก็ดี เพื่อสงฆ์ก็ดี เพื่อคณะก็ดี เพื่อบุคคลก็ดี. ต้องอาบัติทุกกฏ. ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อบุคคล ภิกษุน้อมมาเพื่อบุคคลอื่นก็ดี เพื่อสงฆ์ก็ดี เพื่อคณะก็ดี เพื่อเจดีย์ก็ดี, ต้องอาบัติทุกกฏ. ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเขาน้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน, ต้องอาบัติทุกกฏ. ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสงสัย ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสำคัญว่า เขาไม่ได้น้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน, ไม่ต้องอาบัติอนาปัตติวาร [๑๗๑] ภิกษุอันพวกทายกถามว่า จะถวายที่ไหน ดังนี้ บอกแนะนำว่า ไทยธรรมของ พวกท่าน พึงได้รับการใช้สอย พึงได้รับการปฏิสังขรณ์ หรือพึงตั้งอยู่ได้นาน ในที่ใด ก็หรือ จิตของพวกท่านเลื่อมใสในภิกษุรูปใด ก็จงถวายในที่นั้น หรือภิกษุรูปนั้นเถิดดั่งนี้ ๑, ภิกษุ วิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ. นิสสัคคิยปาจิตตีย์ วรรคที่ ๓ จบ. หัวข้อประจำเรื่อง ๑. ปัตตสิกขาบท ว่าด้วยบาตร ๒. อูนปัญจพันธนสิกขาบท ว่าด้วยบาตรมีแผลหย่อนห้า ๓. เภสัชชสิกขาบท ว่าด้วยเภสัช ๔. วัสสิกสาฏิกสิกขาบท ว่าด้วยผ้าอาบน้ำฝน ๕. จีวรอัจฉินทนสิกขาบท ว่าด้วยการให้จีวรแล้วชิงเอามา ๖. สุตตวิญญัตติสิกขาบท ว่าด้วยการขอด้ายมาเอง ๗. เปสการสิกขาบท ว่าด้วยการสั่งช่างหูก ให้ทอจีวร ๘. อัจเจกจีวรสิกขาบท ว่าด้วยอัจเจกจีวร ๙. สาสังกสิกขาบท ว่าด้วยเสนาสนะป่าเป็นที่มีรังเกียจ และ ๑๐. ปริณตสิกขาบท ว่าด้วยการน้อมลาภ ที่เขาจะถวายเป็นของสงฆ์ รวม ๑๐ สิกขาบทเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วดังนี้แล.เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๔๒๘-๔๕๖๖ หน้าที่ ๑๘๕-๑๙๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=4428&Z=4566&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=4428&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=30 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=169 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=2634 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5897 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=2634 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5897 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np30/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]