บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๒. ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๕ เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ [๓๗๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระสัตตรสวัคคีย์มีพวก ๑๗ รูปเป็นสหาย กัน เมื่ออยู่ก็อยู่พร้อมกัน เมื่อหลีกไปก็หลีกไปพร้อมกัน. พวกเธอปูที่นอนในวิหารเป็นของสงฆ์ แห่งหนึ่งแล้ว เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บซึ่งที่นอนนั้น ไม่ได้บอกมอบหมาย หลีกไป เสนาสนะถูกปลวกกัด. บรรดาภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสัตตรสวัคคีย์ ปูที่นอนในวิหารเป็นของสงฆ์แล้ว เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ให้ คนอื่นเก็บ ซึ่งที่นอนนั้น ไม่ได้บอกมอบหมาย หลีกไปแล้ว? เสนาสนะจึงได้ถูกปลวกกัด. แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุสัตตรสวัคคีย์ ปูที่นอนในวิหารอันเป็นของสงฆ์แล้ว เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ซึ่งที่นอนนั้น ไม่บอกมอบหมาย หลีกไปแล้ว. เสนาสนะถูกปลวกกัด จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านั้น ปูที่นอนไว้ใน วิหารเป็นของสงฆ์แล้ว เมื่อหลีกไป ไฉน จึงไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ไม่บอกมอบหมาย หลีกไปเสีย. เสนาสนะจึงได้ถูกปลวกกัด. การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๖๔. ๕. อนึ่ง ภิกษุใด ปูแล้วก็ดี ให้ปูแล้วก็ดี ซึ่งที่นอนในวิหารเป็น ของสงฆ์, เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้เก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่ บอกมอบหมาย ไปเสีย, เป็นปาจิตตีย์.เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๓๘๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า เป็นของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์. ที่ชื่อว่า ที่นอน ได้แก่ ฟูก เครื่องลาดรักษาผิวพื้น เครื่องลาดเตียง เครื่องลาดพื้น เสื่ออ่อน ท่อนหนัง ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน เครื่องลาดทำด้วยหญ้า เครื่องลาดทำด้วยใบไม้. บทว่า ปู คือ ปูเอง. บทว่า ให้ปู คือ ให้คนอื่นปู. คำว่า เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น คือไม่เก็บด้วยตนเอง. คำว่า ไม่ให้เก็บ คือ ไม่ให้คนอื่นเก็บ. คำว่า หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ความว่า ภิกษุไม่บอกมอบหมายภิกษุ สามเณร หรือคนทำการวัด เดินเลยเครื่องล้อมแห่งอารามที่เขาล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินเลยอุปจาร แห่งอารามที่เขาไม่ได้ล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์.บทภาชนีย์ ติกะปาจิตตีย์ [๓๘๑] วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่ง ที่นอน. เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอก มอบหมาย ไปเสีย, ต้องอาบัติปาจิตตีย์. วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุสงสัย ปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน, เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย, ต้องอาบัติปาจิตตีย์. วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของบุคคล ปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน, เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย, ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกกฏ ภิกษุปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารวิหารก็ดี ในโรงฉันก็ดี ในมณฑป ก็ดี ใต้ต้นไม้ก็ดี, เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุตั้งไว้เองก็ดี ให้คนอื่นตั้งไว้ก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ในวิหารก็ดี ในอุปจารวิหาร ก็ดี ในโรงฉันก็ดี ในมณฑปก็ดี ใต้ต้นไม้ก็ดี เมื่อหลีกไปไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี ซึ่งเตียงตั่งอันตั้งไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย, ต้องอาบัติทุกกฏ. วิหารของบุคคล ภิกษุสำคัญว่าของสงฆ์ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ. วิหารของบุคคล ภิกษุสำคัญว่าของบุคคล ... ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะเป็นของส่วนตัว ของผู้อื่น. วิหารเป็นของส่วนตัวของตน ..., ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๓๘๒] ภิกษุเก็บเองแล้วไป ๑ ภิกษุให้คนอื่นเก็บแล้วไป ๑ ภิกษุบอกมอบหมาย แล้วไป ๑ เสนาสนะมีเหตุบางอย่างขัดขวาง ๑ ภิกษุยังห่วงไปยืนอยู่ ณ ที่นั้นบอกมอบหมาย มา ๑ ภิกษุมีเหตุบางอย่างขัดขวาง ๑ ภิกษุมีอันตราย ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๘๘๘๒-๘๙๕๑ หน้าที่ ๓๖๓-๓๖๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=8882&Z=8951&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=8882&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=51 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=379 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=4443 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7131 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=4443 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7131 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc15/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]