บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๒ เรื่องภิกษุณีหลายรูป [๔๐๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายพากันบวชสามเณรีมีอายุครบ ๒๐ ปี ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี เธอเหล่านั้นจึงเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้ สิ่งที่ควรหรือไม่ควร. บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลาย จึงได้พากันบวชสามเณรีมีอายุครบ ๒๐ ปี ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปี เล่า ...ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีทั้งหลาย พากันบวชสามเณรีมีอายุครบ ๒๐ ปี ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปี จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงได้พากัน บวชสามเณรีมีอายุครบ ๒๐ ปี ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปีเล่า การกระ- *ทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำ ธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปี แก่สามเณรี ผู้ยังเป็นกุมารี มีอายุ ๑๘ ปี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสิกขาสมมตินั้น ภิกษุณีพึงให้อย่างนี้:-วิธีให้สิกขาสมมติแก่สามเณรีอายุ ๑๘ ปี อันสามเณรีผู้มีอายุ ๑๘ ปีนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุณี ทั้งหลายแล้ว นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้ เป็นสามเณรีของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุ ๑๘ ปี ขอสิกขาสมมติใน ธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี ต่อสงฆ์. พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม. ภิกษุณีผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-กรรมวาจา แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรีนี้ชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุ ๑๘ ปี ขอ สิกขาสมมติในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี ต่อสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี แก่สามเณรีชื่อนี้ผู้มีอายุ ๑๘ ปี นี่เป็นญัตติ. แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรีนี้ชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุ ๑๘ ปี ขอ- *สิกขาสมมติในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปี ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปีแก่สามเณรีชื่อนี้ ผู้มีอายุ ๑๘ ปี การให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปี แก่สามเณรีชื่อนี้ ผู้มีอายุ ๑๘ ปี ชอบแก่แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงพูด. สิกขาสมมติในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปี สงฆ์ให้แล้วแก่สามเณรีชื่อนี้ ผู้มีอายุ ๑๘ ปี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. ภิกษุณีผู้ฉลาด ผู้สามารถนั้น พึงกล่าวกะสามเณรีผู้มีอายุ ๑๘ ปีนั้นว่า เธอจงกล่าวอย่างนี้ แล้วพึงกล่าว ว่าดังนี้:- ๑. ข้าพเจ้าสมาทานสิกขา คือเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป มั่น ไม่ล่วงละเมิด ตลอด ๒ ปี ๒. ข้าพเจ้าสมาทานสิกขา คือเว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้ มั่น ไม่ล่วงละเมิด ตลอด ๒ ปี ๓. ข้าพเจ้าสมาทานสิกขา คือเว้นจากประพฤติผิดมิใช่กิจพรหมจรรย์ มั่น ไม่ล่วงละ- *เมิดตลอด ๒ ปี ๔. ข้าพเจ้าสมาทานสิกขา คือเว้นจากพูดเท็จ มั่น ไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี ๕. ข้าพเจ้าสมาทานสิกขา คือเว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัย อันเป็นฐานแห่งความประมาท มั่น ไม่ล่วงละเมิด ตลอด ๒ ปี ๖. ข้าพเจ้าสมาทานสิกขา คือเว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล มั่น ไม่ล่วงละเมิด ตลอด ๒ ปี. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุณีเหล่านั้น โดยอเนกปริยายดังนี้ แล้วตรัส โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๑๒๗. ๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสตรีผู้เป็นกุมารี มีอายุครบ ยี่สิบ ปีแล้ว ผู้ยังมิได้ ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอดสองฝน ให้บวช เป็นปาจิตตีย์.เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๔๐๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า มีอายุครบยี่สิบปีแล้ว คือ มีอายุถึง ๒๐ ฝนแล้ว. ที่ชื่อว่า สตรีผู้เป็นกุมารี ได้แก่ สตรีที่เรียกกันว่าสามเณรี. บทว่า ตลอดสองฝน คือ ตลอด ๒ ปี. ที่ชื่อว่า ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขา คือ สงฆ์ยังไม่ได้ให้สิกขา หรือให้แล้วแต่เธอทำขาดเสีย. บทว่า ให้บวช คือ ให้อุปสมบท. ตั้งใจว่าจักให้บวช แล้วแสวงหาคณะก็ดี อาจารย์ก็ดี บาตรก็ดี จีวรก็ดี สมมติสีมาก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุด ภิกษุณีผู้อุปัชฌาย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ.บทภาชนีย์ ติกะปาจิตตีย์ [๔๐๗] กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ติกะทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.อนาปัตติวาร [๔๐๘] บวชสามเณรีมีอายุครบ ๒๐ ปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ บรรทัดที่ ๕๔๙๓-๕๕๗๖ หน้าที่ ๒๔๗-๒๕๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=3&A=5493&Z=5576&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=3&A=5493&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=3&siri=100 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=405 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=3&A=4447 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=3&A=4447 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_3 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/03i001-e.php#3.405 https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pc72/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pc72/en/horner
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]