ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
พระพุทธานุญาตให้มอบปวารณา
[๒๒๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักปวารณา. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ยังมีภิกษุอาพาธอยู่ เธอมาไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธมอบปวารณา.
วิธีมอบปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงมอบอย่างนี้:- ภิกษุอาพาธนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคอง อัญชลีแล้วกล่าวคำมอบปวารณาอย่างนี้ว่า:- ข้าพเจ้าขอมอบปวารณา ขอท่านจงนำปวารณาของข้าพเจ้าไป ขอท่านจงปวารณา แทนข้าพเจ้า ภิกษุรับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยกายด้วยวาจาก็ได้ เป็นอันภิกษุอาพาธมอบปวารณา แล้ว. ไม่รับด้วยกาย ไม่รับด้วยวาจา ไม่รับด้วยกายด้วยวาจา ไม่เป็นอันภิกษุอาพาธมอบ ปวารณา. หากได้ภิกษุผู้รับอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย พึงใช้เตียงหรือตั่ง หามภิกษุอาพาธนั้นมาในท่ามกลางสงฆ์แล้วปวารณา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากพวกภิกษุผู้พยาบาลไข้ มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า หากพวกเรา จักย้ายภิกษุอาพาธ อาพาธจักกำเริบหนัก หรือมิฉะนั้นจักถึงมรณภาพ ดังนี้ ไม่พึงย้ายภิกษุอาพาธ สงฆ์พึงไปปวารณาในสำนักภิกษุอาพาธนั้น แต่สงฆ์เป็นวรรคไม่พึงปวารณา หากขืนปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาหลบไป เสียจากที่นั้นแล ภิกษุอาพาธพึงมอบปวารณาแก่รูปอื่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาสึกเสีย ณ ที่นั้นแหละ .... ถึงมรณภาพ ปฏิญาณเป็นสามเณร ปฏิญาณเป็นผู้บอกลาสิกขา ปฏิญาณเป็นผู้ต้อง อันติมวัตถุ ปฏิญาณเป็นผู้วิกลจริต ปฏิญาณเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญาณเป็นผู้กระสับกระส่าย เพราะเวทนา ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐาน ไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญาณเป็นผู้ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่สละคืนทิฏฐิอันลามก ปฏิญาณเป็นบัณเฑาะก์ ปฏิญาณเป็นไถยสังวาส ปฏิญาณเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ปฏิญาณเป็นดิรัจฉาน ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่า มารดา ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าบิดา ปฏิญาณเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ปฏิญาณเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ปฏิญาณเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ปฏิญาณเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ปฏิญาณเป็น อุภโตพยัญชนก ภิกษุอาพาธจึงมอบปวารณาแก่รูปอื่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาหลบไปเสีย ในระหว่างทาง ปวารณาไม่เป็นอันนำมา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาสึกเสีย ในระหว่างทาง ถึงมรณภาพ .... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปวารณาไม่เป็นอันนำมา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์ แล้ว หลบไปเสีย ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์ แล้ว สึกเสีย ถึงมรณภาพ .... ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์ แล้ว หลับเสียมิได้บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา ไม่ต้องอาบัติ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์ แล้ว เข้าสมาบัติ มิได้บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา ไม่ต้องอาบัติ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์ แล้ว เผลอไปไม่ได้บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา ไม่ต้องอาบัติ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธมอบปวารณาแล้ว หากภิกษุผู้นำปวารณาเข้าประชุมสงฆ์ แล้ว แกล้งไม่บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณา เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มอบปวารณา มอบฉันทะด้วย เผื่อสงฆ์จะมีกรณียกิจ.
หมู่ญาติเป็นต้นจับภิกษุ
[๒๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ถึงวันปวารณา หมู่ญาติได้จับภิกษุรูปหนึ่งไว้. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในวันปวารณา พวกญาติจับภิกษุในศาสนานี้ไว้. หมู่ญาติเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านกรุณาปล่อยภิกษุรูปนี้สักครู่หนึ่ง พอภิกษุรูปนี้ปวารณาเสร็จ. หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ หมู่ญาติเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายขอพวกท่านกรุณารออยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งสักครู่ก่อน พอภิกษุรูปนี้ มอบปวารณาเสร็จ. หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านกรุณานำภิกษุนี้ไปนอกสีมาสักครู่หนึ่ง พอสงฆ์ปวารณาเสร็จ. ถ้าได้ การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ สงฆ์เป็นวรรค ไม่พึงปวารณา หากขืนปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในวันปวารณา พระราชาทั้งหลายได้จับภิกษุในศาสนานี้ไว้ .... พวกโจรได้จับ .... พวกนักเลงได้จับ .... พวกภิกษุที่เป็นข้าศึกได้จับภิกษุในศาสนานี้ไว้. พวกนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านกรุณาปล่อยภิกษุนี้สักครู่หนึ่ง พอภิกษุรูปนี้ปวารณาเสร็จ. หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ พวกนั้นอัน ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านกรุณารออยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สักครู่ก่อน พอภิกษุนี้มอบปวารณาเสร็จ. หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ พวกนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านกรุณาพาภิกษุรูปนี้ ไปนอกสีมาสักครู่หนึ่ง พอสงฆ์ปวารณาเสร็จ. หากได้การขอร้องอย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ได้ สงฆ์เป็นวรรคไม่พึงปวารณา หากขืนปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ.
ปวารณาเป็นการสงฆ์
[๒๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันปวารณา มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๕ รูป จึงภิกษุเหล่านั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า พึงปวารณาเป็นการสงฆ์ ก็พวกเรามีอยู่เพียง ๕ รูป จะพึงปวารณากันอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์.
ปวารณาเป็นการคณะ
สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันปวารณา มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป จึงภิกษุเหล่านั้น ได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์ ก็พวกเรา มีอยู่เพียง ๔ รูป จะพึงปวารณากันอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป ปวารณา ต่อกัน.
วิธีทำคณะปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุทั้งหลายพึงปวารณาอย่างนี้:- ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ญัตติกรรมวาจา
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณา ถ้าความพร้อมพรั่งของท่าน ทั้งหลายถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณากันเถิด. ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำปวารณา ต่อภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า
คำปวารณา
เธอ ฉันปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย เธอ ฉันปวารณาต่อท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย เธอ ฉันปวารณาต่อท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่สาม ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย ภิกษุผู้นวกะพึงห่มผ้าอุตราสงฆ์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำ ปวารณาต่อภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ผมปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัย ก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวผม ผมเห็นอยู่จักทำคืนเสีย. ท่านเจ้าข้า ผมปวารณาต่อท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟัง ก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวผม ผมเห็นอยู่จักทำคืนเสีย. ท่านเจ้าข้า ผมปวารณาต่อท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่สาม ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟัง ก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวผม ผมเห็นอยู่จักทำคืนเสีย.
คณะปวารณา (พระ ๓ รูป)
สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันปวารณามีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป จึงภิกษุเหล่านั้น ได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์ ให้ภิกษุ ๔ รูป ปวารณาต่อกัน ก็พวกเรามีอยู่ด้วยกัน ๓ รูป จะพึงปวารณากันอย่างไรหนอ แล้วกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ปวารณาต่อกัน
วิธีทำคณะปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุทั้งหลายพึงปวารณาอย่างนี้:- ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ญัตติกรรมวาจา
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณา ถ้าความพร้อมพรั่งของท่าน ทั้งหลายถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณากันเถิด. ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้ว กล่าวคำ ปวารณาต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
คำปวารณา
เธอ ฉันปวารณาต่อเธอทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย เธอ ฉันปวารณาต่อเธอทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย เธอ ฉันปวารณาต่อเธอทั้งหลาย แม้ครั้งที่สาม ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย. ภิกษุผู้นวกะพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้ว กล่าวคำ ปวารณาต่อภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วย สงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นอยู่จักทำคืนเสีย. ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าปวารณาต่อท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่สอง ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วย ได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็น อยู่จักทำคืนเสีย. ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าปวารณาต่อท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่สาม ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วย ได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็น อยู่จักทำคืนเสีย.
คณะปวารณา (พระ ๒ รูป)
สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันปวารณา มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป จึงภิกษุทั้งสอง นั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์ ให้ ภิกษุ ๔ รูป ปวารณาต่อกัน ให้ภิกษุ ๓ รูป ปวารณาต่อกัน ก็เรามีอยู่ด้วยกันสองรูป จะพึง ปวารณากันอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูป ปวารณาต่อกัน.
วิธีทำคณะปวารณา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุทั้งสองพึงปวารณาอย่างนี้:- ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำปวารณา ต่อภิกษุผู้นวกอย่างนี้ ว่าดังนี้:- เธอ ฉันปวารณาต่อเธอ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอ จงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย เธอ ฉันปวารณาต่อเธอ แม้ครั้งที่สอง ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัย ก็ดี ขอเธอจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย เธอ ฉันปวารณาต่อเธอ แม้ครั้งที่สาม ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัย ก็ดี ขอเธอจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย. ภิกษุผู้นวกะพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำ ปวารณาต่อภิกษุผู้เถระอย่างนี้ ว่าดังนี้:- ท่าน ผมปวารณาต่อท่าน ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านจง อาศัยความกรุณาว่ากล่าวผม ผมเห็นอยู่จักทำคืนเสีย ท่าน ผมปวารณาต่อท่าน แม้ครั้งที่สอง ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัย ก็ดี ขอท่านจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวผม ผมเห็นอยู่จักทำคืนเสีย ท่าน ผมปวารณาต่อท่าน แม้ครั้งที่สาม ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัย ก็ดี ขอท่านจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวผม ผมเห็นอยู่จักทำคืนเสีย.
อธิษฐานปวารณา
สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่งถึงวันปวารณา มีภิกษุอยู่รูปเดียว จึงภิกษุนั้นได้มีความ ปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์ ให้ภิกษุ ๔ รูป ปวารณาต่อกัน ให้ภิกษุ ๓ รูป ปวารณาต่อกัน ให้ภิกษุ ๒ รูป ปวารณาต่อกัน ก็เรามีอยู่รูปเดียว จะพึงปวารณากันได้อย่างไรหนอ. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันปวารณา มีภิกษุใน ศาสนานี้อยู่รูปเดียว. ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่เป็นที่ไปมาแห่งภิกษุทั้งหลาย คือ จะเป็นโรงฉัน มณฑปหรือโคนต้นไม้ ก็ตาม แล้วจัดตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ไว้ ปูอาสนะ ตามประทีป แล้วนั่งรออยู่. หากมีภิกษุเหล่าอื่นมา พึงปวารณาร่วมกับพวกเธอ หากไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า ปวารณาของเรา วันนี้ หากไม่อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๕ รูป จะนำปวารณาของภิกษุรูปหนึ่ง มาแล้ว ๔ รูปปวารณาเป็นการสงฆ์ไม่ได้ หากขืนปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป จะนำปวารณาของภิกษุรูปหนึ่งมา แล้ว ๓ รูปปวารณาต่อกันไม่ได้ หากขืนปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป จะนำปวารณาของภิกษุรูปหนึ่ง มาแล้ว ๒ รูปปวารณาต่อกันไม่ได้ หากขืนปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป จะนำปวารณาของภิกษุรูปหนึ่ง มาแล้ว อีกรูปหนึ่งอธิษฐานไม่ได้ หากขืนอธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๖๔๓๓-๖๖๐๘ หน้าที่ ๒๖๓-๒๗๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=6433&Z=6608&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=4&A=6433&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=71              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=-229              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=4&A=6549              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=4&A=6549              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i224-e.php#topic3.3 https://suttacentral.net/pli-tv-kd4/en/brahmali#pli-tv-kd4:3.3.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd4/en/horner-brahmali#Kd.4.3.2

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]