ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง
[๑๓๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรโรคผอมเหลือง นายแพทย์ที่ใหญ่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน มารักษา ก็ไม่อาจทำให้โรคหาย ได้ขนเงินไป เป็นอันมาก ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชตได้ส่งราชทูตถือพระราชสาส์น ไปในพระราชสำนักพระเจ้า พิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีใจความว่า หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นอย่างนั้น ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดสั่งหมอชีวก เขาจักรักษาหม่อมฉัน จึงพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช ได้ดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี รักษาพระเจ้าปัชโชต ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าไปใน พระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต ได้ตรวจอาการที่ผิดแปลกของพระเจ้าปัชโชต แล้วได้ กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจักหุงเนยใส พระองค์จักเสวยเนยใสนั้น พระเจ้าปัชโชตรับสั่งห้ามว่า อย่าเลย พ่อนายชีวก ท่านเว้นเนยใสเสีย อาจรักษาเรา ให้หายโรคได้ด้วยวิธีใด ท่านจงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน สำหรับฉัน ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล ทรงประชวร เช่นนี้ เราเว้นเนยใสเสีย ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้ เอาละเราควรหุงเนยใสให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด ดังนี้ แล้วได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิด ให้มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด ครั้นแล้วฉุกคิดได้ว่า เนยใสที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เสวยแล้ว เมื่อย่อย จักทำให้เรอ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ ถ้ากระไร เราพึงทูลลาไว้ก่อน วันต่อมาจึงไปในพระราชสำนัก เข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะ ฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นนายแพทย์ จักถอนรากไม้มาผสมยาชั่ว เวลาครู่หนึ่งเช่นที่ประสงค์นั้น ขอประทานพระบรมราชวโรกาส ขอฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงมี พระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลายว่า หมอชีวกต้องการ ไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการ ไปเวลาใด จงไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามาเวลาใด จงเข้ามาเวลานั้น จึงพระเจ้าปัชโชตได้มี พระราชดำรัสสั่งเจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลาย ตามที่หมอชีวกกราบทูลขอ บรมราชานุญาตไว้ทุกประการ ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์ จึงหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทูลถวายเนยใสนั้นแด่พระเจ้าปัชโชตด้วยกราบทูลว่า ขอใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาทจงเสวยน้ำฝาด ครั้นให้พระเจ้าปัชโชตเสวยเนยใสแล้วก็ไปโรงช้างหนีออกจากพระนคร ไปโดยช้างพังภัททวดี ขณะเดียวกันนั้น เนยใสที่พระเจ้าปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้น จึงพระเจ้าปัชโชตได้รับสั่งแก่พวกมหาดเล็กว่า พนายทั้งหลาย เราถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่ม เนยใส พวกเจ้าจงค้นจับหมอชีวกมาเร็วไว พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า หมอชีวกหนีออกจากพระนครไปโดยช้างพังภัททวดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีมหาดเล็กชื่อกากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทาง ได้วันละ ๖๐ โยชน์ จึงพระเจ้าปัชโชตดำรัสสั่งกากะมหาดเล็กว่า พ่อนายกากะ เจ้าจงไปเชิญ หมอชีวกกลับมา ด้วยอ้างว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป ขึ้นชื่อว่า หมอเหล่านี้แลมีมารยามาก เจ้าอย่ารับวัตถุอะไรๆ ของเขา ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เดินไปทันชีวกโกมารภัจจ์ ผู้กำลังรับประทานอาหารมื้อเช้า ในระหว่างทางเขตพระนครโกสัมพี จึงได้เรียนแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้เชิญท่านกลับไป ชี. พ่อนายกากะ ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่านรับประทาน อาหารด้วยกันเถิด ก. ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า พ่อนายกากะ ขึ้นชื่อว่า หมอเหล่านี้มีมารยามาก อย่ารับวัตถุอะไร ของเขา ทันใดนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้แทรกยาทางเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำ รับประทาน แล้วได้ร้องเชื้อเชิญกากะมหาดเล็กว่า เชิญพ่อนายกากะมาเคี้ยวมะขามป้อมและ ดื่มน้ำรับประทานด้วยกัน จึงกากะมหาดเล็กคิดว่า หมอคนนี้แลกำลังเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ รับประทาน คงไม่มีอะไรจะให้โทษ แล้วเคี้ยวมะขามป้อมครึ่งผล และดื่มน้ำรับประทาน มะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้นได้ระบายอุจจาระออกมาในที่นั้นเอง ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เรียนถามชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ชีวิตของข้าพเจ้า จะรอดไปได้หรือ? ชีวกโกมารภัจจ์ตอบว่า อย่ากลัวเลย พ่อนายกากะ ท่านจักไม่มีอันตราย แต่พระเจ้า- *อยู่หัวทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราไม่กลับละ แล้วมอบ ช้างพังภัททวดีแก่นายกากะ เดินทางไปพระนครราชคฤห์ รอนแรมไปโดยลำดับ ถึงพระนคร ราชคฤห์แล้วเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า พ่อนายชีวก เจ้าไม่กลับไปนั้นชื่อว่าได้ทำถูกแล้ว เพราะ พระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด จะพึงสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้ ครั้นพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวร ทรงส่งราชทูตไปที่สำนักชีวกโกมารภัจจ์ว่า เชิญหมอ ชีวกมา เราจักให้พร ชีวกกราบทูลตอบไปว่า ไม่ต้องไปก็ได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงโปรดอนุสรณ์ถึงความดีของข้าพระพุทธเจ้า.
พระราชทานผ้าสิไวยกะ
ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าสิไวยกะคู่หนึ่งบังเกิดแก่พระเจ้าปัชโชต เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ ครั้นนั้น พระเจ้าปัชโชต ทรงส่งผ้าสิไวยกะคู่นั้นไปพระราชทานแก่ชีวกโกมารภัจจ์ จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความดำริว่าผ้าสิไวยกะคู่นี้ พระเจ้าปัชโชตส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อ ดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชแล้ว ใครอื่นไม่ควรอย่างยิ่งเพื่อใช้ผ้าสิไวยกะ คู่นี้.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๓๕๑๔-๓๕๘๖ หน้าที่ ๑๔๔-๑๔๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=3514&Z=3586&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=5&A=3514&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=33              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=134              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=3789              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4606              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=3789              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4606              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:1.23.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#Kd.8.1.23

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]