ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
จัมเปยยขันธกะ
เรื่องพระกัสสปโคตร
[๑๗๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ริมฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา เขตจัมปานคร ครั้งนั้น บ้านวาสภคามตั้งอยู่ในกาสีชนบท พระชื่อกัสสปโคตรเป็นเจ้าอาวาส ในวาสภคามนั้นฝักใฝ่ในการก่อสร้าง ถึงความขวนขวายว่า ทำไฉน ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ที่ยังไม่มา พึงมา ที่มาแล้วพึงอยู่เป็นผาสุก และอาวาสนี้พึงถึงความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ สมัยต่อมา ภิกษุ หลายรูป เที่ยวจาริกในกาสีชนบท ได้ไปถึงวาสภคาม พระกัสสปโคตรได้เห็นภิกษุเหล่านั้นมา แต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ลุกไปรับบาตรจีวร นิมนต์ให้ฉันน้ำ ได้จัดแจงการสรงน้ำ ได้จัดแจงกระทั่งยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร จึง พระอาคันตุกะเหล่านั้น ได้หารือกันดังนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเจ้าอาวาสรูปนี้ดีมาก ได้จัดแจง การสรงน้ำ ได้จัดแจงกระทั่งยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร ผิฉะนั้น พวกเราจงพักอยู่ใน วาสภคามนี้แหละ ครั้นแล้วได้พักอยู่ในวาสภคามนั้นนั่นเอง จึงพระกัสสปโคตรได้มีความปริวิตก ความลำบากโดยฐานเป็นอาคันตุกะ ของพระอาคันตุกะเหล่านี้ สงบหายแล้ว พระอาคันตุกะ ที่ไม่ชำนาญในที่โคจรเหล่านี้ บัดนี้ชำนาญในที่โคจรแล้ว อันการทำความขวนขวายในสกุลคนอื่น จนตลอดชีวิต ทำได้ยากมาก และการขอก็ไม่เป็นที่พอใจของคนทั้งหลาย ถ้ากระไรเราพึงเลิก ทำความขวนขวายในยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร ดังนี้ แล้วได้เลิกทำความขวนขวายในยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร จึงพระอาคันตุกะเหล่านั้นได้หารือกันดังนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อก่อนแล พระเจ้าอาวาส รูปนี้ จัดแจงการสรงน้ำ จัดแจงกระทั่งยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร บัดนี้เธอเลิกทำความ ขวนขวายในยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร อาวุโสทั้งหลาย เดี๋ยวนี้พระเจ้าอาวาสรูปนี้ชั่วเสียแล้ว ผิฉะนั้นพวกเราจงยกพระเจ้าอาวาสนี้เสีย ต่อมาพระอาคันตุกะเหล่านั้นประชุมกันแล้ว ได้กล่าว คำนี้ต่อพระกัสสปโคตรว่า อาวุโส เมื่อก่อนแล ท่านได้จัดแจงการสรงน้ำ ได้จัดแจงกระทั่งยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร บัดนี้ ท่านนั้นเลิกจัดแจงยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหารเสียแล้ว ท่านต้องอาบัติแล้ว ท่านเห็นอาบัตินั้นไหม? พระกัสสปโคตรกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น. พระอาคันตุกะเหล่านั้น จึงได้ยกพระกัสสปโคตรเสียฐานไม่เห็นอาบัติทันที จึงพระ- *กัสสปโคตรได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราไม่รู้ข้อนั้นว่า นั่นอาบัติหรือมิใช่อาบัติ เราต้องอาบัติแล้ว หรือไม่ต้อง ถูกยกเสียแล้วหรือไม่ถูกยกเสีย โดยธรรมหรือไม่เป็นธรรม กำเริบหรือไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะหรือไม่ควรแก่ฐานะ ถ้ากระไร เราพึงไปจัมปานครแล้วทูลถามเรื่องนั้นแด่พระผู้มี- *พระภาค. ครั้นแล้วเก็บเสนาสนะถือบาตรจีวรเดินทางไปจัมปานคร บทจรไปโดยลำดับถึงจัมปานคร เข้าไปในพระพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พุทธประเพณี
ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็น พุทธประเพณี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสปฏิสันถารต่อพระกัสสปโคตรว่า ภิกษุเธอยังพอทนได้ หรือ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ เธอเดินทางมามีความลำบากน้อยหรือ และเธอมาจากไหน? พระกัสสปโคตรกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนอยู่ได้ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า และข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาไม่สู้ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า วาสภคามตั้งอยู่ใน กาสีชนบท ข้าพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าอาวาสในวาสภคามนั้น ฝักใฝ่ในการก่อสร้าง ถึงความขวนขวาย ว่า ทำไฉน ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ที่ยังไม่มา พึงมา ที่มาแล้วพึงอยู่เป็นผาสุก และอาวาสนี้ พึงถึงความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปเที่ยวจาริกในกาสีชนบทได้ไปถึงวาสภคาม ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังมาแต่ไกลเทียว จึงปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ได้ลุกไปรับบาตรจีวร นิมนต์ให้ฉันน้ำ ได้จัดแจงการสรงน้ำ ได้จัดแจงกระทั่ง ยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร จึงพระอาคันตุกะเหล่านั้นได้หารือกันดังนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเจ้าอาวาสรูปนี้ดีมาก ได้จัดแจงการสรงน้ำ ได้จัดแจงกระทั่งยาคูของควรเคี้ยว ภัตตาหาร ผิฉะนั้น พวกเราจงพักอยู่ในวาสภคามนี้แหละ ครั้นแล้วได้พักอยู่ในวาสภคามนั้นนั่นเอง ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า ความลำบากโดยฐานะเป็นอาคันตุกะของพระอาคันตุกะ เหล่านี้ สงบหายแล้ว ท่านพระอาคันตุกะที่ไม่ชำนาญในที่โคจรเหล่านี้ บัดนี้เป็นผู้ชำนาญในที่ โคจรแล้ว อันการทำความขวนขวายในสกุลคนอื่นจนตลอดชีวิต ทำได้ยากมาก และการขอก็ไม่ เป็นที่พอใจของคนทั้งหลาย ถ้ากระไร เราพึงเลิกทำความขวนขวายในยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้เลิกทำความขวนขวายในยาคูของควรเคี้ยว ภัตตาหารแล้ว จึงพระอาคันตุกะ เหล่านั้น ได้หารือกันดังนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อก่อนแลพระเจ้าอาวาสรูปนี้จัดแจงการสรงน้ำ จัดแจงกระทั่งยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร บัดนี้ เธอเลิกจัดแจงยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร อาวุโสทั้งหลาย เดี๋ยวนี้พระเจ้าอาวาสรูปนี้ชั่วเสียแล้ว ผิฉะนั้น พวกเราจงยกพระเจ้าอาวาสรูปนี้ เสีย ต่อมาจึงประชุมกัน ได้กล่าวคำนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า เมื่อก่อนแล ท่านได้จัดแจงการสรงน้ำ ได้จัดแจงกระทั่งยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหาร บัดนี้ ท่านนั้นเลิกจัดแจงยาคู ของควรเคี้ยว ภัตตาหารเสียแล้ว อาวุโส ท่านต้องอาบัติแล้ว ท่านเห็นอาบัตินั้นไหม ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น พระอาคันตุกะเหล่านั้นจึงยกข้าพระพุทธเจ้าเสียฐาน ไม่เห็นอาบัติทันที ข้าพระพุทธเจ้าได้มีความปริวิตกว่า เราไม่รู้ข้อนั้นว่า นั่นอาบัติหรือมิใช่อาบัติ เราต้องอาบัติแล้วหรือไม่ต้อง ถูกยกเสียแล้วหรือไม่ถูกยกเสีย โดยธรรมหรือไม่เป็นธรรม กำเริบหรือไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะหรือไม่ควรแก่ฐานะ ถ้ากระไร เราพึงไปจัมปานคร แล้วทูลถาม เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้ามาจากวาสภคามนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุ นั้นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ เธอไม่ต้องอาบัติ เธอต้องอาบัติหามิได้ เธอไม่ถูกยกเสีย เธอถูกยกเสียหามิได้ เธอถูกยกเสียโดยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ไปเถิด ภิกษุ เธอจงอาศัยอยู่ในวาสภคามนั้นแหละ. พระกัสสปโคตรทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า แล้วลุกจาก ที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไปวาสภคาม. ครั้งนั้น ความรำคาญ ความเดือดร้อน ได้มีแก่พระอาคันตุกะเหล่านั้นว่า มิใช่ลาภ ของพวกเราหนอ ลาภของพวกเราไม่มีหนอ พวกเราได้ชั่วแล้วหนอ พวกเราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะพวกเรายกภิกษุผู้บริสุทธิ์หาอาบัติมิได้เสีย เพราะเรื่องไม่ควร เพราะเหตุไม่ควร อาวุโส ทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราจงไปจัมปานครแล้ว แสดงโทษที่ล่วงเกิน โดยความเป็นโทษล่วงเกิน ในสำนักพระผู้มีพระภาค. ต่อมาพระอาคันตุกะเหล่านั้น เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตร จีวรเดินไป ทางจัมปานคร บทจรไปโดยลำดับ ถึงจัมปานคร เข้าไปในพระพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มี- *พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พุทธประเพณี
ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็น พุทธประเพณี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสปฏิสันถารแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ ยังพอทนได้หรือ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ พวกเธอเดินทางมามีความลำบากน้อยหรือ และพวกเธอมาแต่ไหน? อา. พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า และ พวกข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาไม่สู้ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า วาสภคามตั้งอยู่ในกาสีชนบท พวก ข้าพระพุทธเจ้ามาแต่วาสภคามนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอใช่ไหมที่ยกภิกษุเจ้าอาวาสเสีย? อา. ใช่ พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยกภิกษุเจ้าอาวาสเสีย เพราะเรื่องอะไร เพราะเหตุอะไร? อา. เพราะเรื่องไม่สมควร เพราะเหตุไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติห้าม
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่สมควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนพวกเธอจึงได้ยก ภิกษุผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติเสีย เพราะเรื่องไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควรเล่า การกระทำของ พวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ อันภิกษุไม่พึงยกเสีย เพราะเรื่องไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควร รูปใดยกเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ. ทันใดภิกษุเหล่านั้นลุกจากที่นั่ง ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าซบเศียรลงที่พระยุคลบาทของ พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษที่ล่วงเกินได้ล่วง พวกข้าพระพุทธเจ้าผู้เขลา ผู้หลง ไม่ฉลาด เพราะพวกข้าพระพุทธเจ้าได้ยกภิกษุที่บริสุทธิ์หาอาบัติ มิได้เสีย เพราะเรื่องไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควร ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณารับโทษ ที่ล่วงเกิน เพื่อความสำรวมต่อไป พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เอาเถิด โทษที่ล่วงเกินได้ล่วงพวกเธอผู้เขลา ผู้หลง ไม่ฉลาด เพราะพวกเธอได้ยกภิกษุที่บริสุทธิ์ หาอาบัติมิได้เสีย เพราะเรื่องไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควร แต่เพราะพวกเธอเห็นโทษล่วงเกิน โดยความเป็นโทษล่วงเกิน แล้วทำ คืนตามธรรม เรารับโทษนั้นของพวกเธอละ แท้จริง ข้อที่ภิกษุเห็นโทษล่วงเกิน โดยความเป็น โทษล่วงเกิน แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย.
อุกเขปนียกรรม
[๑๗๕] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายในเมืองจัมปา ทำกรรมเห็นปานนี้ คือ ทำกรรมเป็น วรรคโดยไม่เป็นธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียง โดยไม่เป็นธรรม ทำกรรมเป็นวรรคโดยธรรม ทำ กรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม ภิกษุรูปเดียวยกภิกษุรูปเดียว เสียบ้าง รูปเดียวยกภิกษุ ๒ รูปเสียบ้าง รูปเดียวยกภิกษุหลายรูปเสียบ้าง รูปเดียวยกสงฆ์เสีย บ้าง สองรูปยกภิกษุรูปเดียวเสียบ้าง สองรูปยกภิกษุสองรูปเสียบ้าง สองรูปยกภิกษุหลายรูป เสียบ้าง สองรูปยกสงฆ์เสียบ้าง หลายรูปยกภิกษุรูปเดียวเสียบ้าง หลายรูปยกภิกษุสองรูปเสีย บ้าง หลายรูปยกภิกษุหลายรูปเสียบ้าง หลายรูปยกสงฆ์เสียบ้าง สงฆ์ต่อสงฆ์ยกกันเสียบ้าง บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายในเมือง จัมปา จึงได้กระทำกรรมเห็นปานนี้เล่า คือ ทำกรรมเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม .... สงฆ์ต่อสงฆ์ยก กันเสียบ้าง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลาย ในเมืองจัมปาทำกรรมเห็นปานนี้ คือทำกรรมเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม .... สงฆ์ต่อสงฆ์ยกกันเสีย บ้าง จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน .... ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
กรรมที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้
[๑๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมเป็นวรรคโดยธรรมใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมพร้อมเพรียงโดยไม่เป็นธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมเป็นวรรคโดยธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุรูปเดียวยกภิกษุรูปเดียวเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุรูปเดียวยกภิกษุสองรูปเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุรูปเดียวยกภิกษุหลายรูปเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุรูปเดียวยกสงฆ์เสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุสองรูปยกภิกษุรูปเดียวเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุสองรูปยกภิกษุสองรูปเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุสองรูปยกภิกษุหลายรูปเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุสองรูปยกสงฆ์เสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปยกภิกษุรูปเดียวเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปยกภิกษุสองรูปเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปยกภิกษุหลายรูปเสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปยกสงฆ์เสียบ้าง ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ สงฆ์ต่อสงฆ์ยกกันเสียบ้าง ก็ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ.
กรรม ๔ ประเภท
[๑๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมนี้มี ๔ ประเภท คือกรรมเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม ๑ กรรมพร้อมเพรียงโดยไม่เป็นธรรม ๑ กรรมเป็นวรรคโดยธรรม ๑ กรรมพร้อมเพรียงโดยธรรม ๑
อธิบายกรรม ๔ ประเภท
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่เป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรมนี้ ชื่อว่า กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ เพราะไม่เป็นธรรม เพราะเป็นวรรค กรรมเห็นปานนี้ไม่ควรทำ และ เราก็ไม่อนุญาต. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่พร้อมเพรียงโดยไม่เป็นธรรมนี้ ชื่อ ว่ากำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ เพราะไม่เป็นธรรม กรรมเห็นปานนี้ไม่ควรทำและเราก็ไม่อนุญาต. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่เป็นวรรคโดยธรรมนี้ ชื่อว่ากำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ เพราะเป็นวรรค กรรมเห็นปานนี้ไม่ควรทำ และเราก็ไม่อนุญาต. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่พร้อมเพรียงโดยธรรมนี้ ชื่อว่าไม่ กำเริบ ควรแก่ฐานะ เพราะเป็นธรรม เพราะพร้อมเพรียง กรรมเห็นปานนี้ควรทำ และเราก็ อนุญาต. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุดังกล่าวนั้นแล พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แหละว่า พวกเราจักทำกรรมที่พร้อมเพรียงโดยธรรม.
พระฉัพพัคคีย์ทำกรรมหลายอย่าง
[๑๗๘] โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทำกรรมเห็นปานนี้ คือ ทำกรรมเป็นวรรคโดย ไม่เป็นธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียงโดยไม่เป็นธรรม ทำกรรมเป็นวรรคโดยธรรม ทำกรรมเป็น วรรคโดยเทียมธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม ทำกรรมบกพร่องด้วยญัตติแต่สมบูรณ์ ด้วยอนุสาวนาบ้าง ทำกรรมบกพร่องด้วยอนุสาวนาแต่สมบูรณ์ด้วยญัตติบ้าง ทำกรรมบกพร่อง ทั้งญัตติบกพร่องทั้งอนุสาวนาบ้าง ทำกรรมเว้นจากธรรมบ้าง ทำกรรมเว้นจากวินัยบ้าง ทำกรรม เว้นจากสัตถุศาสน์บ้าง ทำกรรมที่ถูกค้านแล้วและขืนทำ ไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะบ้าง บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์ จึง ได้ทำกรรมเห็นปานนี้ คือ ทำกรรมเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม .... ทำกรรมที่ถูกคัดค้านแล้วและ ขืนทำ ไม่เป็นธรรมกำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะบ้างเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุฉัพพัคคีย์ ทำกรรมเห็นปานนี้ คือ ทำกรรมเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม .... ทำกรรมที่ถูกคัดค้านแล้วและขืนทำ ไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะบ้างจริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
กรรมที่ใช้ไม่ได้
[๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมเป็นวรรคโดยไม่เป็นธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมพร้อมเพรียงโดยไม่เป็นธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมเป็นวรรคโดยธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมบกพร่องด้วยญัตติ สมบูรณ์ด้วยอนุสาวนา ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมบกพร่องด้วยอนุสาวนาสมบูรณ์ด้วยญัตติ ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมบกพร่องทั้งญัตติ บกพร่องทั้งอนุสาวนา ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ กรรมแม้แผกจากธรรม ก็ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ กรรมแม้แผกจากวินัย ก็ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ กรรมแม้แผกจากสัตถุศาสน์ ก็ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ ถ้ากรรมที่ถูกคัดค้านแล้วและขืนทำ ไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ก็ใช้ไม่ได้ และไม่ควรทำ.
กรรม ๖ ประเภท
[๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมนี้มี ๖ ประเภท คือ กรรมไม่เป็นธรรม ๑ กรรมเป็น วรรค ๑ กรรมพร้อมเพรียง ๑ กรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ๑ กรรมพร้อมเพรียงโดยเทียม ธรรม ๑ กรรมพร้อมเพรียงโดยธรรม ๑.
อธิบายกรรมไม่เป็นธรรม
[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่เป็นธรรม เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ภิกษุทำกรรมด้วยตั้งญัตติอย่างเดียว และไม่สวด กรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่เป็นธรรม ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุทำกรรมด้วยญัตติสองครั้ง และไม่สวดกรรมวาจา ชื่อว่า กรรมไม่เป็นธรรม ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุทำกรรมด้วยสวดกรรมวาจาอย่างเดียว และไม่ตั้งญัตติ ชื่อว่า กรรมไม่เป็นธรรม ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุทำกรรมด้วยสวดกรรมวาจาสองครั้ง และไม่ตั้งญัตติ ชื่อว่า กรรมไม่เป็นธรรม ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุทำกรรมด้วยตั้งญัตติอย่างเดียว และไม่สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่เป็นธรรม ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุทำกรรมด้วยตั้งญัตติสองครั้ง ด้วยตั้งญัตติ ๓ ครั้ง ด้วย ตั้งญัตติ ๔ ครั้ง และไม่สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่เป็นธรรม ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุทำกรรมด้วยสวดกรรมวาจาอย่างเดียว และไม่ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่เป็นธรรม ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุทำกรรมด้วยสวดกรรมวาจาสองครั้ง ด้วยสวดกรรมวาจา ๓ ครั้ง ด้วยสวดกรรมวาจา ๔ ครั้ง และไม่ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่เป็นธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมไม่เป็นธรรม.
อธิบายกรรมเป็นวรรค
[๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง กรรมเป็นวรรค เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้น ไม่มาประชุม ไม่นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรค ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม แต่ไม่นำ ฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรค ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะ ของภิกษุผู้ควรฉันทะมา แต่อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรค ในญัตติจตุตถกรรม ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นไม่มาประชุม ไม่นำ ฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรค ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม แต่ไม่ นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรค ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำ ฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา แต่อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรค ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมเป็นวรรค.
อธิบายกรรมพร้อมเพรียง
[๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง กรรมพร้อมเพรียง เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้น มาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียง ในญัตติจตุตถกรรม ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะ ของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมพร้อมเพรียง.
อธิบายกรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม
[๑๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง กรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นไม่มาประชุม ไม่นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติทีหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวน เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม แต่ไม่นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติทีหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวน เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา แต่อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติทีหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวน เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา แต่อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติทีหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวน เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นไม่มาประชุม ไม่นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติทีหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวน เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา แต่อยู่พร้อมหน้ากันคัดค้าน ชื่อว่ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมเป็นวรรคโดยเทียมธรรม.
อธิบายกรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม
[๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง กรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติทีหลัง ภิกษุ ผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อม หน้ากันไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติทีหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวน เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมพร้อมเพรียงโดยเทียมธรรม.
อธิบายกรรมพร้อมเพรียงโดยธรรม
[๑๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง กรรมพร้อมเพรียงโดยธรรม เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุตั้งญัตติก่อน ทำกรรมด้วยสวดกรรมวาจา หนเดียวทีหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควร ฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียงโดยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุตั้งญัตติก่อน ทำกรรมด้วยสวดกรรมวาจา สามครั้งทีหลัง ภิกษุเข้ากรรมมีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาประชุม นำฉันทะของภิกษุผู้ควร ฉันทะมา อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียงโดยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมพร้อมเพรียงโดยธรรม.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๔๖๙๔-๔๙๖๓ หน้าที่ ๑๙๓-๒๐๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=4694&Z=4963&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=5&A=4694&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=50              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=174              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=5054              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=5395              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=5054              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=5395              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd9/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-kd9/en/horner-brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]