ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
             [๒๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
เรื่องทีฆาวุกุมาร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครพาราณสี ได้มีพระเจ้ากาสีพระนามว่า พรหมทัต ทรงเป็นกษัตริย์มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก มี พระราชพาหนะมาก มีพระราชอาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร บริบูรณ์ ส่วนพระเจ้าโกศลพระนามทีฆีติ ทรงเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อย มี พระราชสมบัติน้อย มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราชอาณาจักรเล็ก มีคลังศัสตราวุธ- *ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์ ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เสด็จกรีธาจาตุรงคเสนาไปโจมตีพระเจ้าทีฆีติ- *โกศลราช พระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ทรงสดับข่าวว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเสด็จกรีธา- *จาตุรงคเสนามาโจมตีพระองค์ จึงทราบพระราชดำริว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชทรงเป็นกษัตริย์ มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก มีพระราชพาหนะมาก มีพระราช อาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารบริบูรณ์ ส่วนเราเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อย มีพระราชสมบัติน้อย มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราช อาณาจักรเล็ก มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์ เราไม่สามารถจะต่อ ยุทธกับพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช แม้แต่เพียงศึกเดียว ถ้ากระไร เราพึงรีบหนีออกจากพระนคร ไปเสียก่อนดีกว่า ครั้นแล้วทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจากพระนครไปเสียก่อน ฝ่ายพระเจ้า พรหมทัตกาสิกราชทรงยึดรี้พลพาหนะ ชนบท คลังศัตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหาร ของ พระเจ้าทีฆีติโกศลราชไว้ได้แล้วเสด็จเข้าครอบครองแทน. ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราช พร้อมกับพระมเหสีได้เสด็จหนีไปทางพระนครพาราณสี เสด็จบทจรโดยลำดับมรรคถึงพระนครพาราณสีแล้ว ข่าวว่าท้าวเธอพร้อมกับมเหสี ทรงปลอม แปลงพระองค์มิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก เสด็จอาศัยอยู่ในบ้านของช่างหม้อ ซึ่ง ตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งเขตพระนครพาราณสีนั้น ครั้นต่อมาไม่นานเท่าไรนัก พระมเหสีของ พระเจ้าทีฆีติโกศลทรงตั้งพระครรภ์ พระนางเธอนั้นทรงแพ้พระครรภ์เห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ ทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจะทรง เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์ จึงกราบทูลคำนี้แด่พระสวามีในทันทีว่า ขอเดชะ หม่อมฉันมีครรภ์ ได้แพ้ครรภ์เห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ หม่อมฉันปรารถนาจะดูจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวม เกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจะดื่มน้ำล้างพระแสงขรรค์ พระพุทธเจ้าข้า พระราชารับสั่งว่า แม่เทวี เราทั้งสองกำลังตกยาก จะได้จตุรงคเสนาผู้ผูกสอดสรวม เกราะยืนอยู่ในสนามรบ และน้ำล้างพระแสงขรรค์มาแต่ไหน พระราชเทวีกราบทูลว่า ถ้าหม่อมฉันไม่ได้ คงตายแน่ พระพุทธเจ้าข้า. ก็สมัยนั้น พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเป็นสหายของพระเจ้าทีฆีติ- *โกศลราช จึงพระเจ้าทีฆีติโกศลราช เสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ครั้นถึงแล้วได้ตรัสคำนี้แก่ท่านพราหมณ์ว่า เกลอเอ๋ย เพื่อนหญิงของเพื่อนมีครรภ์ นางแพ้ท้อง มีอาการเห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ นางปรารถนาจะดูจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืน อยู่ในสนามรบ และจะดื่มน้ำล้างพระแสงขรรค์ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ถ้ากระนั้น หม่อมฉันจะขอเฝ้าพระเทวีก่อน ลำดับนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้เสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของ เจ้าพรหมทัตกาสิกราช พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ได้แลเห็นพระมเหสี ของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช กำลังเสด็จมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช แล้วเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า ท่านผู้เจริญ พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว พระเจ้า โกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว เพราะฉะนั้น พระเทวีอย่าได้เสียพระทัย เมื่อยามรุ่งอรุณ จักได้ทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจักได้ทรงเสวย น้ำล้างพระแสงขรรค์เป็นแน่ จึงพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เข้าไปในพระราชสำนัก ครั้งถึงแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า ขอเดชะ นิมิตทั้งหลายปรากฏตามกำหนดวิธีการ คือ ในเวลารุ่งอรุณพรุ่งนี้ จตุรงคเสนาจะผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และเจ้าพนักงานจะ เอาน้ำล้างพระแสงขรรค์ด้วย พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชจึงมีพระบรมราชโองการสั่งเจ้าพนักงานทั้งหลายว่า ดูกรพนาย พราหมณ์ปุโรหิตสั่งการอย่างใด พวกเจ้าจงทำอย่างนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะ ยืนอยู่ในสนามรบ และได้เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์ในเวลารุ่งอรุณ สมความปรารถนา ครั้นต่อมา ทรงอาศัยความแก่แห่งพระครรภ์นั้น ได้ประสูติพระราชโอรส พระชนกชนนีได้ขนานพระนาม พระราชโอรสนั้นว่า ทีฆาวุ และต่อมาไม่ช้านานเท่าไร ทีฆาวุราชกุมารก็ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราชดำริว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชนี้ ก่อความพินาศให้แก่พวกเรา มากมาย ได้ช่วงชิงเอารี้พล พาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร ของพวกเราไป ถ้าท้าวเธอจักสืบทราบถึงพวกเรา คงสั่งให้ประหารชีวิตหมดทั้งสามคน ถ้ากระไร เราพึงให้พ่อทีฆาวุกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ครั้นแล้วได้ให้ทีฆาวุราชกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ครั้นทีฆาวุราชกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ไม่นานเท่าไรนัก ก็ได้ศึกษาศิลปะสำเร็จทุกสาขา.
พระเจ้าโกศลและพระมเหสีถูกจับ
[๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยนั้น นายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ สวามิภักดิ์อยู่ในพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เขาได้เห็นพระเจ้าทีฆีติโกศลราช พร้อมกับมเหสี ทรงปลอมแปลงพระกายมิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก เสด็จอาศัยอยู่ในบ้านของช่างหม้อ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชายแดนแห่งหนึ่ง เขตพระนครพาราณสี ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต- *กาสิกราชได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับมเหสีทรงปลอมแปลงพระกาย มิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก เสด็จอาศัยอยู่ในบ้านของช่างหม้อ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชายแดน แห่งหนึ่ง เขตพระนครพาราณสี พระพุทธเจ้าข้า ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช จึงมีพระบรมราชโองการสั่งเจ้าพนักงานทั้งหลายว่า ดูกรพนาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสี พวกเขาทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า ดังนั้น แล้วไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมพระมเหสีมาถวาย พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช จึงพระบรมราชโองการสั่งเจ้าพนักงานทั้งหลายว่า ดูกรพนาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงเอาเชือกที่เหนียวๆ มัดพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสี มัด ให้แน่น ให้มีพระพาหาไพล่หลัง กล้อนพระเศียร แล้วนำตระเวนไปตามถนน ตามตรอกทุกแห่ง ด้วยวัชฌเภรีมีสำเนียงอันคมคาย แล้วให้ออกไปทางประตูด้านทักษิณ บั่นตัวออกเป็น ๔ ท่อน วางเรียงไว้ในหลุม ๔ ทิศ ทางด้านทักษิณแห่งพระนคร พวกเขาทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า ดังนั้นแล้ว ได้เอาเชือกอย่างเหนียวมัดพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับมเหสี มัดให้แน่นให้มี พระพาหาไพล่หลัง กล้อนพระเศียรแล้วนำตระเวนไปตามถนน ตามตรอกทั่วทุกแห่งด้วยวัชฌเภรี มีสำเนียงคมคาย ครั้งนั้น ทีฆาวุราชกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า นานมาแล้วที่เราได้เยี่ยมพระชนกชนนี ถ้ากระไร เราพึงไปเฝ้าเยี่ยมพระชนกชนนี ครั้นแล้วเข้าไปสู่พระนครพาราณสี ได้ทอดพระเนตร เห็นเจ้าพนักงานทั้งหลาย เอาเชือกอย่างเหนียวๆ มัดพระชนกชนนีจนแน่น ให้มีพระพาหา ไพล่หลัง กล้อนพระเศียรแล้ว นำตระเวนไปตามตรอก ด้วยวัชฌเภรีมีสำเนียงอันคมคาย ครั้นแล้วเสด็จพระดำเนินเข้าไปใกล้พระชนกชนนี.
พระราโชวาทของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช
พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้ทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารเสด็จพระดำเนินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ตรัสพระบรมราชโอวาทนี้แก่ทีฆาวุกุมารว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่า เห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร เมื่อท้าวเธอตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าพนักงานเหล่านั้นได้ทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า พระเจ้า ทีฆีติโกศลราชนี้เป็นผู้วิกลจริตจึงบ่นเพ้ออยู่ ทีฆาวุของพระองค์คือใคร พระองค์ตรัสอย่างนี้ กะใครว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะ เวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร พระเจ้าทีฆีติโกศลราชตรัสว่า พนาย เราไม่ได้เสียจริตบ่นเพ้ออยู่ แต่ผู้ใดรู้เรื่อง ผู้นั้น จักเข้าใจ พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้ตรัสพระบรมราโชวาทนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารเป็นคำรบสองว่า .... พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้ตรัสพระบรมราโชวาทนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารเป็นคำรบที่สามว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร เจ้าพนักงานเหล่านั้น ได้ทูลคำนี้แด่พระเจ้าทีฆีติโกศลราชเป็นคำรบสามว่า เจ้าทีฆีติ โกศลราชนี้เป็นผู้วิกลจริต จึงบ่นเพ้ออยู่ ทีฆาวุของพระองค์คือใคร พระองค์ตรัสกะใครอย่าง นี้ว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อม ระงับได้เพราะไม่จองเวร พระเจ้าทีฆีติโกศลราชตรัสว่า พนาย เราไม่ได้เสียจริตบ่นเพ้ออยู่ แต่ผู้ใดรู้เรื่อง ผู้นั้นจักเข้าใจ จึงพนักงานเหล่านั้น ได้นำพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสีไปตามถนน ตามตรอกทั่วทุกแห่ง แล้วให้ออกไปทางประตูด้านทักษิณ บั่นพระกายเป็น ๔ ท่อน วางเรียง ไว้ในหลุม ๔ ทิศ ด้านทักษิณแห่งพระนคร วางยามคอยระวังเหตุการณ์ไว้แล้วกลับไป ครั้งนั้น ทีฆาวุราชกุมาร เข้าไปสู่พระนครพาราณสี นำสุรามาเลี้ยงพวกเจ้าหน้าที่อยู่ยาม เมื่อเวลาที่คน เหล่านั้นเมาฟุบลง ทีฆาวุราชกุมารจึงจัดหาฟืนมาวางเรียงกันไว้ ยกพระบรมศพของพระชนกชนนี ขึ้นสู่พระจิตกาธาร ถวายพระเพลิง แล้วประนมพระหัตถ์ทำประทักษิณพระจิตกาธาร ๓ รอบ ขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ประทับอยู่ชั้นบนแห่งปราสาทอันประเสริฐได้ทอดพระเนตร เห็นทีฆาวุราชกุมาร กำลังทรงประนมพระหัตถ์ทำประทักษิณพระจิตกาธาร ๓ รอบ ครั้นแล้ว ได้ทรงพระดำริแน่ในพระทัยว่า เจ้าคนนั้นคงเป็นญาติหรือสายโลหิต ของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช แน่นอน น่ากลัวจะก่อความฉิบหายแก่เรา ช่างไม่มีใครบอกเราเลย. ครั้งนั้น ทีฆาวุราชกุมารเสด็จหลบเข้าป่าไป ทรงกันแสงร่ำไห้ จนพอแก่เหตุ ทรงซับ น้ำพระเนตร แล้วเสด็จเข้าพระนครพาราณสี ไปถึงโรงช้างใกล้พระบรมมหาราชวัง แล้วได้ตรัส คำนี้แก่นายหัตถาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าปรารถนาจะศึกษาศิลปะ นายหัตถาจารย์ตอบว่า ถ้ากระนั้น เชิญมาศึกษาเถิดพ่อหนุ่มน้อย อยู่มาวันหนึ่ง ทีฆาวุราชกุมาร ทรงตื่นบรรทมตอนปัจจุสสมัยแห่งราตรีแล้วทรงขับร้องและดีดพิณคลอเสียง เจื้อยแจ้วอยู่ที่โรงช้าง. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ทรงตื่นบรรทมเวลาปัจจุสสมัยแห่งราตรี ได้ทรงสดับ เสียงเพลงและเสียงพิณที่ดีดคลอเสียงอันเจื้อยแจ้วดังแว่วมาทางโรงมงคลหัตถี จึงมีพระดำรัสถาม พวกมหาดเล็กว่า แน่พนาย ใครตื่นในเวลาเช้ามืดแห่งราตรีแล้ว ขับร้องและดีดพิณแว่วมาทาง โรงช้าง? พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ชายหนุ่ม ศิษย์ของนายหัตถาจารย์ชื่อโน้น ตื่นในเวลาเช้ามืดแห่งราตรีแล้ว ขับร้องและดีดพิณคลอเสียง อันเจื้อยแจ้วดังที่โรงช้าง พระพุทธเจ้าข้า. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พนาย ถ้ากระนั้น จงพาชายหนุ่มมาเฝ้า พวกเขา ทูลรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว พาทีฆาวุราชกุมารมาเฝ้า จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ได้ตรัสถามทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อนายชายหนุ่ม เจ้าตื่นในเวลาเช้าแห่งราตรีแล้ว ขับร้องและ ดีดพิณคลอเสียงอันเจื้อยแจ้วดังทางโรงช้างหรือ? ทีฆาวุราชกุมารทูลรับว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อนายชายหนุ่ม ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงขับร้องและดีดพิณไป ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธ- *เจ้าข้า ดังนั้น แล้วประสงค์จะให้ทรงโปรดปราน จึงขับร้องและดีดพิณด้วยเสียงอันไพเราะ ทีนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อนายชายหนุ่ม เจ้าจงอยู่รับใช้เราเถิด ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธ- *เจ้าข้า ดังนั้น แล้วจึงประพฤติทำนองตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยเฝ้าฟังพระราชดำรัสใช้ ประพฤติ ให้ถูกพระอัธยาศัย เจรจาถ้อยคำไพเราะ ต่อพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ครั้นต่อมาไม่นานนัก ท้าวเธอทรงแต่งตั้งทีฆาวุราชกุมาร ไว้ในตำแหน่งผู้ไว้วางพระราชหฤทัย ใกล้ชิดสนิทภายใน อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวเธอได้ตรัสคำนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อนายชายหนุ่ม ถ้ากระนั้น เจ้าจงเทียมรถ พวกเราจักไปล่าเนื้อ ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระราชกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า แล้วจัดเทียมรถไว้เสร็จ ได้กราบทูลคำนี้แด่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า ขอเดชะ รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดทราบกาลอันควรเถิด พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เสด็จขึ้นราชรถ ทีฆาวุราชกุมารขับราชรถไป แต่ขับราชรถไปโดยวิธีที่หมู่เสนาได้แยกไปทางหนึ่ง ราชรถได้แยกไปทางหนึ่ง ครั้งนั้น พระเจ้า- *พรหมทัตกาสิกราชเสด็จไปไกล แล้วได้ตรัสคำนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อนายชายหนุ่ม ถ้ากระนั้น เจ้าจงจอดรถ เราเหนื่อยอ่อนจักนอนพัก. ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระราชกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า ดังนั้นแล้วจอดราชรถนั่งขัดสมาธิอยู่ที่พื้นดิน จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ทรงพาดพระเศียรบรรทมอยู่บนตักของทีฆาวุราชกุมาร เมื่อท้าวเธอทรงเหน็ดเหนื่อยมา เพียง ครู่เดียวก็บรรทมหลับ. ขณะนั้น ทีฆาวุราชกุมารคิดถึงความหลังว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชนี้แล ทรงก่อ ความฉิบหายแก่พวกเรามากมาย ท้าวเธอทรงช่วงชิงรี้พล ราชพาหนะชนบท คลังศัสตราวุธ ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารของพวกเราไป และยังได้ปลงพระชนมชีพพระชนกชนนีของเรา เสียด้วย เวลานี้เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร ดังนี้จึงชักพระแสงขรรค์ออกจากฝัก แต่เจ้าชายได้ทรง ยั้งพระทัยไว้ได้ในทันทีว่า พระชนกได้ทรงสั่งเราไว้เมื่อใกล้สวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็น แก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่ จองเวร การที่เราจะละเมิดพระดำรัสสั่งของพระชนกนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้ แล้วสอด พระขรรค์เข้าไว้ในฝัก ทีฆาวุราชกุมาร ได้ทรงคิดถึงความหลังเป็นคำรบสองว่า .... ทีฆาวุราชกุมาร ได้ทรงคิดถึงความหลังเป็นคำรบสามว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชนี้แล ทรงก่อความฉิบหายแก่พวกเรามากมาย ท้าวเธอทรงช่วงชิงรี้พลราชพาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธ ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารของพวกเราไป และยังได้ปลงพระชนมชีพพระชนกชนนีของเรา เสียด้วย เวลานี้เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร ดังนี้ จึงชักพระแสงขรรค์ออกจากฝัก แต่ก็ทรงยั้ง พระทัยไว้ได้ทันที เป็นคำรบสามว่า พระชนกได้ตรัสสั่งไว้เมื่อใกล้สวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่า เห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะ ไม่จองเวร การที่เราจะละเมิดพระดำรัสสั่งของพระชนกนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้ แล้ว ทรงสอดพระแสงขรรค์เข้าไว้ในฝักตามเดิม. ขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ทรงกลัว หวั่นหวาด สะดุ้งพระทัยรีบเสด็จลุกขึ้น ทีฆาวุราชกุมารได้กราบทูลคำนี้แด่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชในทันทีว่า ขอเดชะ เพราะอะไรหรือ พระองค์จึงทรงกลัว หวั่นหวาด สะดุ้งพระทัยรีบเสด็จลุกขึ้นพระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสตอบว่า พ่อนายชายหนุ่ม ฉันฝันว่าทีฆาวุราชกุมาร โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชฟาดฟันฉันด้วยพระแสงขรรค์ ณ ที่นี้ เพราะเหตุนั้น ฉันจึงกลัว หวั่นหวาด ตกใจรีบลุกขึ้น ทันใดนั้น ทีฆาวุราชกุมารจับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชด้วยพระหัตถ์ซ้าย ชักพระแสงขรรค์ด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วได้กล่าวคำขู่แก่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า คือ ทีฆาวุราชกุมาร โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น พระองค์ทรงก่อความ ฉิบหายแก่พวกข้าพระพุทธเจ้ามากมาย คือ ทรงช่วงชิงรี้พล ราชพาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธ ยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร ของข้าพระพุทธเจ้าไป มิหนำซ้ำยังปลงพระชนมชีพพระชนกชนนี ของข้าพระพุทธเจ้าเสียด้วย เวลานี้เป็นเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าพบคู่เวรละ จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ซบพระเศียรลงแทบยุคลบาทของทีฆาวุราชกุมาร แล้วได้ ตรัสคำวิงวอนแก่เจ้าชายว่า พ่อทีฆาวุ พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉัน พ่อทีฆาวุ พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉัน ด้วยเถิด เจ้าชายกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าหรือจะเอื้อมอาจทูลเกล้าถวายชีวิตแก่พระองค์ พระองค์ ต่างหากควรพระราชทานชีวิตแก่พระพุทธเจ้า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อทีฆาวุ ถ้าเช่นนั้นพ่อจงให้ชีวิตแก่ฉัน และฉัน ก็ให้ชีวิตแก่พ่อ. ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช และทีฆาวุราชกุมาร ต่างได้ให้ชีวิตแก่กันและกัน ได้จับพระหัตถ์กัน และได้ทำการสบถ เพื่อไม่ทำร้ายกัน จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชได้ตรัส คำนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อทีฆาวุ ถ้ากระนั้นพ่อจงเทียมรถไปกันเถอะ. ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธ- *เจ้าข้า ดังนั้น แล้วเทียมรถ ได้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ขอพระองค์โปรดทรงทราบกาลอันควรเถิด พระพุทธเจ้าข้า. จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเสด็จขึ้นรถทรงแล้ว ทีฆาวุราชกุมารขับรถไป ได้ขับรถไป โดยวิธีไม่นานนักก็มาพบกองทหาร ครั้นพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เสด็จเข้าสู่พระนครพาราณสี แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกประชุมหมู่อำมาตย์ราชบริษัท ได้ตรัสถามความเห็นข้อนี้ว่า พ่อนายทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพบทีฆาวุราชกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช จะพึงทำอะไร แก่เขา. อำมาตย์บางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้า จะพึงตัดมือ จะพึง ตัดเท้า จะพึงตัดทั้งมือและเท้า จะพึงตัดหู จะพึงตัดจมูก จะพึงตัดทั้งหูและจมูก จะพึงตัดศีรษะ พระพุทธเจ้าข้า. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อนายทั้งหลาย ชายหนุ่มผู้นี้แล คือ ทีฆาวุราชกุมาร โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น ชายหนุ่มผู้นี้ใครๆ จะทำอะไรไม่ได้ เพราะชายหนุ่มผู้นี้ ได้ให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ได้ให้ชีวิตแก่ชายหนุ่มผู้นี้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามความข้อนี้แก่ทีฆาวุ- *ราชกุมารว่า พ่อทีฆาวุ พระชนกของเธอได้ตรัสคำใดไว้ เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่า เห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะ ไม่จองเวร ดังนี้ พระชนกของเธอได้ตรัสคำนั้น หมายความว่าอย่างไร? ทีฆาวุราชกุมารกราบทูลว่า ขอเดชะ พระชนกของข้าพระพุทธเจ้าได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันใดแลไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว ดังนี้หมายความว่า เจ้าอย่าได้จองเวรให้ ยืดเยื้อ เพราะฉะนั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทวันนี้แลไว้เมื่อ ใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า ได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันใดแลไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น ดังนี้ หมายความว่า เจ้าอย่าแตกร้าวจาก มิตรเร็วนัก เพราะฉะนั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันนี้แลไว้ เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้าได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันใดแลไว้ เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อม ระงับได้เพราะไม่จองเวร ดังนี้ หมายความว่า พระชนกชนนีของข้าพระพุทธเจ้า ถูกพระองค์ ปลงพระชนมชีพเสีย ถ้าข้าพระพุทธเจ้า จะพึงปลงพระชนมชีพของพระองค์เสียบ้าง คนเหล่าใด ใคร่ความเจริญแก่พระองค์ คนเหล่านั้นจะพึงปลงชีวิตข้าพระพุทธเจ้า คนเหล่าใดใคร่ความเจริญ แก่ข้าพระพุทธเจ้า คนเหล่านั้นจะพึงปลงชีวิตคนเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เวรนั้นไม่พึงระงับ เพราะเวร แต่มาบัดนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระพุทธเจ้า และ ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถวายพระชนมชีพแก่พระองค์ เป็นอันว่าเวรนั้นระงับแล้วเพราะไม่จองเวร พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันนี้แลไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อ ทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์นัก ไม่ เคยมีเลย ทีฆาวุราชกุมารนี้เป็นบัณฑิต จึงได้เข้าใจความแห่งภาษิต อันพระชนกตรัสแล้วโดยย่อ ได้โดยพิสดาร แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานคืนรี้พล ราชพาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธ- *ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารอันเป็นพระราชสมบัติของพระชนก และได้พระราชทานพระราชธิดา อภิเษกสมรสด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขันติ โสรัจจะ เห็นปานนี้ ได้มีแล้วแก่พระราชาเหล่านั้น ผู้ถือ อาชญา ผู้ถือศัสตราวุธ ก็การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัย อันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ จะพึงอดทน และสงบเสงี่ยมนั้น ก็จะพึงงามในธรรมวินัยนี้แน่. [๒๔๕] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระโอวาทแก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นคำรบสามว่า อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย อย่าบาดหมางกัน อย่าทะเลาะกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย อธรรมวาที ภิกษุรูปนั้น ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเป็นคำรบสาม พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมได้โปรดทรงยับยั้งเถิด ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดทรงมีความขวนขวาย น้อย ประกอบสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระพุทธเจ้าจักปรากฏด้วยความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทนั้น จึงพระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้หัวดื้อ นักแล เราจะให้โมฆบุรุษเหล่านี้เข้าใจกัน ทำไม่ได้ง่ายเลย ดังนี้ แล้วเสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ กลับไป.
ทีฆาวุภาณวาร ที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------
[๒๔๖] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าพระนครโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพีแล้ว ครั้น เวลาบ่าย เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงเก็บเสนาสนะถือบาตรจีวร ประทับยืนท่ามกลางพระสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:-
เวรุปสมคาถา
[๒๔๗] ภิกษุมีเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน จะได้สำคัญตัวว่า เป็นพาล ไม่มีเลยสักรูปเดียว ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ได้ สำคัญเหตุอื่น ภิกษุทั้งหลายลืมสติ สำคัญตัวว่าเป็นบัณฑิต ช่างพูด เจ้าคารม พูดไปตามที่ตนปรารถนา จะยื่นปากพูด ไม่รู้สึกว่าความทะเลาะเป็นเหตุชักพาไป ก็คนเหล่าใดจองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนคนเหล่าใดไม่จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายในโลกนี้ย่อมไม่ระงับ เพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับ เพราะไม่จองเวร ธรรมนี้ เป็นของเก่า ก็คนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเรากำลังยับเยิน ณ ท่าม กลางสงฆ์นี้ ส่วนคนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น รู้สึก เพราะความรู้สึกของคนเหล่านั้น ความหมายมั่นย่อมระงับ คนเหล่าใดบั่นกระดูก ผลาญชีวิต ลักทรัพย์ คือ โค และม้า คนเหล่านั้นถึงช่วงชิงแว่นแคว้นกัน ก็ยังคบหา สมาคมกันได้ เหตุไฉนพวกเธอจึงคบหาสมาคมกันไม่ได้เล่า ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็น- *นักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน เขาครอบงำอันตรายทั้งปวง เสียได้ พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น ถ้าไม่ได้ สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์คอยช่วย เหลือกัน พึงเที่ยวไปคนเดียว ดุจพระราชาทรงสละแว่น- *แคว้น คือราชอาณาจักร และดุจช้างมาตังคะ ละฝูงเที่ยวไป ในป่า ฉะนั้น การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะคุณเครื่อง เป็นสหายไม่มีในคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึง ทำบาป ดุจช้างมาตังคะ มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไป ในป่าแต่ลำพัง ฉะนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๖๑๑๔-๖๓๙๒ หน้าที่ ๒๕๒-๒๖๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=6114&Z=6392&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=5&A=6114&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=61              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=-243              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=6676              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=6676              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/brahmali#pli-tv-kd10:2.3.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/horner-brahmali#Kd.10.2.3

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]