ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๖ จุลวรรค ภาค ๑
อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป
เรื่องพระอริฏฐะ
[๒๗๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีครั้งนั้น พระอริฏฐะผู้เกิดใน ตระกูลพรานแร้ง มีทิฐิอันเป็นบาปเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงแล้วโดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้น หาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุหลายรูปด้วยกันได้ทราบข่าวว่า พระ อริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง มีทิฐิอันเป็นบาปเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึง ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ แล้วพากันเข้าไปหาพระอริฏฐะ ผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง ถามว่า อาวุโสอริฏฐะข่าวว่า ท่านมีทิฐิอันเป็นบาป เห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดย ประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพ ได้จริงไม่ดังนี้ จริงหรือ พระอริฏฐะตอบว่า จริงเหมือนอย่างนั้นแล อาวุโสทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึง ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุทั้งหลายกล่าวห้ามว่า อาวุโสอริฏฐะ ท่านอย่าได้พูดเช่นนั้น ท่าน อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมอันทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็น อันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง กามทั้งหลายพระผู้มี พระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกาม ทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า เปรียบเหมือนคบหญ้า ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบ เหมือนหลุมถ่านเพลิง ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือน ความฝัน ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนของยืม ... กาม ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนผลไม้ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า เปรียบเหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนหอกและหลาว ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือน ศีรษะงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก พระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง แม้อันภิกษุเหล่านั้น ว่ากล่าวอยู่ อย่างนี้ ก็ยังยึดถือทิฐิอันเป็นบาปนั้นด้วยความยึดถือมั่นอย่างเดิม กล่าวยืนยันว่า ผมกล่าวอย่างนั้นจริง ท่านทั้งหลายผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ ผู้เสพได้จริงไม่ ก็เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้น ไม่อาจเปลื้องพระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูล พรานแร้งจากทิฐิอันเป็นบาปนั้นได้ จึงภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ฯ
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
[๒๗๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะ เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระอริฏฐะผู้เกิด ในตระกูลพรานแร้งว่า ดูกรอริฏฐะ ข่าวว่า เธอมีทิฐิอันเป็นบาปเห็นปานนี้เกิด ขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยประการที่ตรัสว่า เป็น ธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ จริงหรือ พระอริฏฐะทูลรับว่า ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วโดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรม ทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เพราะเหตุไร เธอจึงเข้าใจธรรม ที่เราแสดงแล้วอย่างนั้นเล่า เรากล่าวธรรมอันทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็นอันมาก มิใช่หรือ และธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง กามทั้งหลายเรากล่าวว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนคบหญ้า ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนความฝัน ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนของยืม ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนผลไม้ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนเขียงสำหรับ สับเนื้อ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนหอกและหลาว ... กาม ทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนศีรษะงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษ ในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฐิที่ตน ยึดถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเอง และชื่อว่าประสพบาปมิใช่บุญมาก ข้อนั้นแหละ จักเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เธอ ตลอดกาลนาน ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะ เหตุนั้นแล สงฆ์จงทำอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป แก่ภิกษุ อริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ฯ
วิธีลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิเป็นบาป
[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล วิธีลงอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละ ทิฐิอันเป็นบาป พึงทำอย่างนี้ คือ พึงโจทภิกษุอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้งก่อน ครั้นแล้วพึงให้เธอให้การ แล้วพึงปรับอาบัติ ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาทำอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดใน ตระกูลพรานแร้ง มีทิฐิอันเป็นบาปเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่าเรารู้ทั่วถึงธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำ อันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ เธอไม่ยอมสละทิฐินั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง ทำอุกเขปนียกรรม ฐานไม่ละทิฐิอันเป็นบาปแก่ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดใน ตระกูลพรานแร้ง คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดในตระกูล พรานแร้ง มีทิฐิอันเป็นบาปเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำ อันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ เธอไม่ยอมสละทิฐินั้น สงฆ์ทำอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็น บาปแก่ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ การทำอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาปแก่ภิกษุอริฏฐะผู้เกิด ในตระกูลพรานแร้ง คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่าน ผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟัง ข้าพเจ้า ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง มีทิฐิอันเป็นบาปเห็น ปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดย ประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำ อันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ เธอไม่ยอมสละทิฐินั้น สงฆ์ทำ อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาปแก่ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดใน ตระกูลพรานแร้ง คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ การทำอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาปแก่ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป อันสงฆ์ทำแล้ว แก่ภิกษุอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ชอบ แก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงบอกภิกษุที่อยู่ในอาวาสต่อๆ ไปว่า ภิกษุ อริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง อันสงฆ์ทำอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอัน เป็นบาปแล้ว คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ฯ
-----------------------------------------------------
ลักษณะกรรมไม่เป็นธรรม ๑๒ หมวด
หมวดที่ ๑
[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำลับหลัง ๑ ไม่สอบถามก่อนแล้วทำ ๑ ทำไม่ตามปฏิญาณ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๒
[๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ทำเพราะไม่ต้องอาบัติ ๑ ทำเพราะอาบัติมิใช่เป็นเทสนาคามินี ๑ ทำเพราะอาบัติที่แสดงแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๓
[๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ไม่โจทก่อนแล้วทำ ๑ ไม่ให้จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ไม่ปรับ อาบัติแล้วทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๔
[๒๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ทำลับหลัง ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๕
[๒๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ไม่สอบถามก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็น วรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๖
[๒๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ไม่ทำตามปฏิญาณ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๗
[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ทำเพราะไม่ต้องอาบัติ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๘
[๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ทำเพราะอาบัติมิใช่เป็นเทสนาคามินี ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๙
[๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ทำเพราะอาบัติที่แสดงแล้ว ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็น วรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๑๐
[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ไม่โจทก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๑๑
[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ไม่ให้จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์ เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๑๒
[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับ แล้วไม่ดี คือ ไม่ปรับอาบัติแล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
ลักษณะกรรมไม่เป็นธรรม ๑๒ หมวด
ในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป จบ
-----------------------------------------------------
ลักษณะกรรมเป็นธรรม ๑๒ หมวด
หมวดที่ ๑
[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำต่อหน้า ๑ สอบถามก่อนแล้วทำ ๑ ทำตามปฏิญาณ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๒
[๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะต้องอาบัติ ๑ ทำเพราะอาบัติเป็นเทสนาคามินี ๑ ทำเพราะอาบัติ ยังมิได้แสดง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๓
[๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ โจทก่อนแล้วทำ ๑ ให้จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ปรับอาบัติแล้วทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว
หมวดที่ ๔
[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำต่อหน้า ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๕
[๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ สอบถามก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๖
[๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำตามปฏิญาณ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๗
[๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะต้องอาบัติ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๘
[๒๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะอาบัติเป็นเทสนาคามินี ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๙
[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะอาบัติยังมิได้แสดง ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๑๐
[๓๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ โจทก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๑๑
[๓๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ให้จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๑๒
[๓๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือปรับอาบัติแล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป ที่ประกอบ ด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
ลักษณะกรรมเป็นธรรม ๑๒ หมวด
ในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่สละทิฐิอันเป็นบาป
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ บรรทัดที่ ๓๐๕๓-๓๓๒๑ หน้าที่ ๑๓๑-๑๔๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=6&A=3053&Z=3321&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=6&A=3053&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=6&siri=13              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=6&i=-276              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=6&A=2179              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=6&A=2179              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_6              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd11/en/brahmali#pli-tv-kd11:32.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd11/en/horner-brahmali#Kd.11.32.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]