ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓
เรื่องภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
[๖๑๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถ บิณฑิกะคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ เป็น เจ้าถิ่นในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชี ชั่วช้า ภิกษุพวกนั้นประพฤติอนาจารเห็นปานดังนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่น ทำบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่น ทำบ้าง ภิกษุพวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยต่อก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยเรียงก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้ช่อ นำไปเอง บ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พุ่ม นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เทริด นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พวง นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้แผงสำหรับประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้แห่งสกุล เพื่อกุลทาสี ภิกษุพวกนั้น ฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะอันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงอันเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดอันเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้าง กับกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้แห่งสกุล กุลทาสี ฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำกับ หญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำกับหญิงฟ้อนรำ บ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคมกับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำ กับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้องกับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิง ประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง เล่น- *หมากรุกแถวละสิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วง บ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสะกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยไม้ไบ้บ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่ง ผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวยกัน บ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ณ กลางสถานเต้นรำแล้ว พูดกับหญิงฟ้อนรำอย่างนี้ว่า น้องหญิง เธอจง ฟ้อนรำ ณ ที่นี้ ดังนี้บ้าง ให้การคำนับบ้าง ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆ บ้าง [๖๑๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสี เดินทางไปพระนคร- *สาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงชนบทกิฏาคีรีแล้ว ครั้นเวลาเช้าภิกษุนั้นครองอันตรวาสก ถือ บาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังชนบทกิฏาคีรี มีอาการเดินไป ถอยกลับ แลเหลียว เหยียดแขน คู้แขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ คนทั้งหลายเห็นภิกษุรูปนั้นแล้ว พูดอย่างนี้ว่า ภิกษุรูปนี้เป็นใคร ดูคล้ายคนไม่ค่อยมี กำลัง เหมือนคนอ่อนแอ เหมือนคนมีหน้าสยิ้ว ใครเล่าจักถวายบิณฑะแก่ท่านผู้เข้าไปเที่ยว บิณฑบาตรูปนี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าเหล่าพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะของพวกเรา เป็นผู้อ่อน- *โยน พูดไพเราะ อ่อนหวาน ยิ้มแย้มก่อนมักพูดว่า มาเถิด มาดีแล้ว มีหน้าไม่สยิ้ว มีหน้าชื่นบาน มักพูดก่อน ใครๆ ก็ต้องถวายบิณฑะแก่ท่านเหล่านั้น อุบาสกคนหนึ่ง ได้แลเห็นภิกษุรูปนั้นกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุนั้น กราบเรียนถามภิกษุรูปนั้นว่า พระคุณเจ้าได้บิณฑะบ้างไหม ขอรับ ภิกษุรูปนั้นตอบว่า ยังไม่ได้บิณฑะเลยจ้ะ อุบาสกกล่าวอาราธนาว่า นิมนต์ไปเรือนผมเถิด ขอรับ แล้วนำภิกษุนั้นไปเรือน นิมนต์ ให้ฉันแล้ว ถามว่า พระคุณเจ้าจักไปที่ไหน ขอรับ ภิ. อาตมาจักไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค อุ. ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณเจ้า จงกราบถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย เศียรเกล้า และขอจงกราบทูลตามถ้อยคำของกระผมอย่างนี้ด้วยขอรับว่า พระพุทธเจ้าข้า วัดในชนบทกิฏาคีรีโทรม ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเป็นเจ้าถิ่นในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชี เลวทราม พวกเธอประพฤติอนาจารเห็นปานดั่งนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เอง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำ มาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ... ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆ บ้าง เมื่อก่อนชาวบ้าน ยังมีศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ศรัทธาไม่เลื่อมใสแล้ว แม้ทานประจำของสงฆ์ก่อนๆ บัดนี้ ทายกทายิกาได้ตัดขาดแล้ว ภิกษุมีศีลเป็นที่รักย่อมหลีกเลี่ยงไป ภิกษุเลวทรามอยู่ครอง พระพุทธ- *เจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส พระผู้มีพระภาคพึงส่งภิกษุทั้งหลายไปสู่ชนบท กิฏาคีรี เพื่อวัดชนบทกิฏาคีรีนี้จะพึงตั้งมั่นอยู่. ภิกษุนั้นรับคำของอุบาสกนั้นแล้ว หลีกไปโดยหนทางอันจะไปสู่พระนครสาวัตถี ถึง พระนครสาวัตถี พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดีโดยลำดับ เข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พุทธประเพณี
[๖๑๖] อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
พระพุทธเจ้าทรงปราศรัย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ เธอยังพอทนอยู่ดอกหรือ ยังพอครองอยู่ดอกหรือ เธอเดินทางมาเหนื่อยน้อยหรือ ก็นี่เธอมาจากไหนเล่า? ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนอยู่ได้ ยังพอครองอยู่ได้พระพุทธเจ้าข้า และ ข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาลำบากเล็กน้อย ข้าพระพุทธเจ้าจำพรรษาในแคว้นกาสีแล้ว เมื่อจะมายัง พระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ผ่านชนบทกิฏาคีรี พระพุทธเจ้าข้า ครั้นเวลาเช้า ข้าพระพุทธเจ้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังชนบทกิฏาคีรี พระพุทธเจ้าข้า อุบาสกคนหนึ่ง ได้เห็นข้าพระพุทธเจ้ากำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ครั้นแล้วได้เข้าไป หาข้าพระพุทธเจ้า กราบไหว้ข้าพระพุทธเจ้าถามว่า ท่านได้บิณฑะบ้างไหมขอรับ ข้าพระพุทธเจ้า ตอบว่า ยังไม่ได้บิณฑะเลยจ้ะ เขาพูดว่า นิมนต์ไปเรือนผมเถิด ขอรับ แล้วนำข้าพระพุทธเจ้า ไปเรือน ให้ฉันแล้วถามว่า พระคุณเจ้าจักไปที่ไหน ขอรับ ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่า จักไปพระนคร สาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคจ้ะ เขาพูดว่า ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงกราบถวายบังคม พระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และขอจงกราบทูลตามถ้อยคำของกระผมอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า วัดในชนบทกิฏาคีรีโทรม ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเป็นเจ้าถิ่น ในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชี เลวทราม ประพฤติอนาจารเห็นปานดั่งนี้ คือ ปลูกต้นไม้ ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง ... ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆ บ้าง เมื่อก่อนชาวบ้านยังมีศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ศรัทธาไม่เลื่อมใสแล้ว แม้ทานประจำ ของสงฆ์ก่อนๆ บัดนี้ทายกทายิกาได้ตัดขาดแล้ว ภิกษุมีศีลเป็นที่รักย่อมหลีกเลี่ยงไป ภิกษุเลวทราม อยู่ครอง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส พระองค์ควรส่งภิกษุทั้งหลาย ไปสู่ชนบทกิฏาคีรี เพื่อวัดในชนบทกิฏาคีรีนี้จะพึงตั้งมั่นอยู่ ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามาจากชนบท กิฏาคีรีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงสอบถามภิกษุสงฆ์
[๖๑๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุพวก พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเป็นเจ้าถิ่นในชนบทกิฏาคีรี เป็นภิกษุอลัชชี เลวทราม ประพฤติ- *อนาจารเห็นปานดั่งนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่น รดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ... ประพฤติอนาจารต่างๆ บ้าง เมื่อก่อนชาวบ้านยังมีศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้ เขาไม่ศรัทธาไม่เลื่อมใสแล้ว แม้ทานประจำของสงฆ์ก่อนๆ บัดนี้ทายกทายิกาได้ตัดขาดแล้ว ภิกษุมีศีลเป็นที่รักย่อมหลีกเลี่ยงไป ภิกษุเลวทรามอยู่ครอง ดังนี้ จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธเจ้าทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษ เหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น จึงได้ประพฤติอนาจารเห็นปานดั่งนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงสำหรับประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง พวกเธอนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยต่อก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยเรียงก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้ช่อ นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่น นำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พุ่ม นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เทริด นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พวง นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้แผง สำหรับ ประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้แห่งสกุล เพื่อกุลทาสี พวกเธอ ฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะอันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงอันเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดอันเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาด และคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้าง กับกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้แห่งสกุล กุลทาสี ฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิง ฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคมกับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำ กับหญิงประโคมบ้าง ขับร้องกับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิง ประโคมบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละสิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาด- *ให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสะกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยใบไม้บ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวยกันบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ณ กลางสถาน เต้นรำ แล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำ อย่างนี้ว่า น้องหญิงเธอจงฟ้อนรำ ณ ที่นี้ดั่งนี้บ้าง ให้การคำนับบ้าง ประพฤติอนาจารมีอย่างต่างๆ บ้างเล่า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การ กระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อ ความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
รับสั่งให้ปัพพาชนียกรรม
[๖๑๘] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ โดย อเนกปริยายดังนี้แล้ว ทรงกระทำธรรมีกถารับสั่งกะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะว่า ไปเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะ พวกเธอไปถึงชนบทกิฏาคีรีแล้วจงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระ- *อัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรี เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของเธอ. พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้า จะทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวก พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรีได้ด้วย วิธีไร เพราะภิกษุพวกนั้น ดุร้าย หยาบคาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตรและโมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงไปพร้อม ด้วยภิกษุหลายๆ รูป. พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระพุทธ- *เจ้าข้า.
วิธีทำปัพพาชนียกรรม
[๖๑๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลวิธีปัพพาชนียกรรมพึงทำอย่างนี้ พึงโจทภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะก่อน ครั้นแล้วพึงให้พวกเธอให้การ ครั้นแล้ว พึงยกอาบัติขึ้น ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาทำปัพพาชนียกรรม
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้าภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเหล่านี้ เป็นผู้ ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของภิกษุเหล่านี้ เขาได้เห็น อยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันภิกษุเหล่านี้ประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระ อัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ ในชนบทกิฏาคีรี นี่เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเหล่านี้เป็นผู้ ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของภิกษุเหล่านี้ เขาได้เห็น อยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันภิกษุเหล่านี้ประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขา ได้ยินอยู่ด้วย สงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรี ว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี การทำปัพพาชนียกรรม แก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระ- *ปุนัพพสุกะ ไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่าน ผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุพวกพระ- *อัสสชิและพระปุนัพพสุกะเหล่านี้ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความ ประพฤติเลวทรามของภิกษุเหล่านี้ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอัน ภิกษุเหล่านี้ประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย สงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแก่ ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระ- *ปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี การทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระ- *ปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุพวกพระ- *อัสสชิและพระปุนัพพสุกะเหล่านี้ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติ เลวทรามของภิกษุเหล่านี้ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันภิกษุเหล่านี้ ประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย สงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระ- *อัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึง อยู่ในชนบทกิฏาคีรี การทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบท กิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรีชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ปัพพาชนียกรรม สงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบท กิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. [๖๒๐] ลำดับนั้น ภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุขได้ไปสู่ ชนบทกิฏาคีรีแล้ว ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบท กิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเหล่านั้น ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติแก้ตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่า ยังบริภาษ การกสงฆ์ ยังใส่ความว่า ลำเอียงด้วยความพอใจ ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วย ความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว หลีกไปเสียก็มี สึกเสียก็มี บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะถูก สงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว จึงไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติแก้ตัว ไม่ขอ ขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่า ยังบริภาษการกสงฆ์ ยังใส่ความว่า ลำเอียงด้วยความพอใจ ลำเอียง ด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว หลีกไปเสียก็มี สึกเสียก็มี เล่าแล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
[๖๒๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็น เค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ หายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติแก้ตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่า ยังบริภาษการกสงฆ์ ยังใส่ความว่า ลำเอียงด้วยความพอใจ ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว หลีกไปเสียก็มี สึกเสียก็มี จริงหรือ? ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษ เหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน พวก ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว จึงไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่หายเย่อยิ่ง ไม่ประพฤติแก้ตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่า ยังบริภาษการกสงฆ์ ยังใส่ความว่า ลำเอียงด้วยความพอใจ ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว หลีกไปเสียก็มี สึกเสียก็มีเล่า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การ กระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และ เพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว. ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ โดยอเนก ปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่า เลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว ทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๗. ๑๓. อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เป็น ผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้ เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็น อยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้ เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า พวกภิกษุถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติ เช่นเดียวกัน ภิกษุนั้นอัน ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย หาได้ถึง ความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านเองแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทราม ของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้าย แล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ ในที่นี้ และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสากว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่น เป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส.
เรื่องภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๖๒๒] คำว่า อนึ่งภิกษุ ... บ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่ง ความว่า บ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชื่อว่า บ้านและนิคม. บทว่า เข้าไปอาศัย ... อยู่ คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัย ของภิกษุไข้ เป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องอยู่ในที่นั้น. ที่ชื่อว่า สกุล หมายสกุล ๔ คือ สกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ สกุลศูทร บทว่า เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล คือ ประจบสกุลด้วยดอกไม้ก็ดี ผลไม้ก็ดี แป้งก็ดี ดินก็ดี ไม้สีฟันก็ดี ไม้ไผ่ก็ดี การแพทย์ก็ดี การสื่อสารก็ดี บทว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง. [๖๒๓] บทว่า เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย คือ ชนเหล่าใดอยู่เฉพาะหน้า ชนเหล่านั้น ชื่อว่าได้เห็นอยู่ ชนเหล่าใดอยู่ลับหลัง ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ยินอยู่. บทว่า และสกุลทั้งหลาย อันเธอประทุษร้ายแล้ว คือ ชนทั้งหลายเมื่อก่อนมี ศรัทธา อาศัยภิกษุนั้นกลับเป็นคนไม่มีศรัทธา เมื่อก่อนเป็นคนเลื่อมใสอาศัยภิกษุนั้นกลับเป็นคน ไม่เลื่อมใส บทว่า เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย คือ ชนเหล่าใดอยู่เฉพาะหน้า ชนเหล่านั้น ชื่อว่าได้เห็นอยู่ ชนเหล่าใดอยู่ลับหลัง ชนเหล่านั้น ชื่อว่าได้ยินอยู่ [๖๒๔] บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้น บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุพวกที่ได้เห็นได้ ยินเหล่านั้น พึงว่ากล่าวภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้นว่า ท่านแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความ ประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านแล เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และ สกุลทั้งหลาย อันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสีย จากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่าภิกษุ เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน [๖๒๕] บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ภิกษุผู้ทำกรรมรูปนั้น บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดได้เห็น ภิกษุ เหล่าใดได้ยิน ภิกษุเหล่านั้น พึงว่ากล่าวภิกษุผู้ทำกรรมรูปนั้นว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุ ทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ และหาได้ถึง ความกลัวไม่ ท่านแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทราม ของท่านแล เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลาย อันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ พึงว่า กล่าว แม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวมาแม้สู่ท่ามกลางสงฆ์แล้วพึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่าง นั้น ภิกษุทั้งหลาย หาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หา ได้ถึงความกลัวไม่ ท่านแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติ เลวทรามของท่านแล เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ พึงว่า กล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ.
วิธีสวดสมนุภาส
[๖๒๖] ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสวดสม นุภาสอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่า ดังนี้:-
กรรมวาจาสวดสมนุภาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ความ ภิกษุทั้งหลายว่า ลำเอียงด้วยความพอใจ ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว เธอยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวด สมนุภาส ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี่เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ ความภิกษุทั้งหลายว่า ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว เธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดมมนุภาสภิกษุผู้นี้ชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย การสวด สมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ความภิกษุทั้งหลายว่า ลำเอียงด้วยความพอใจ ลำเอียงด้วย ความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว เธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวด สมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น การสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่อง นั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ความภิกษุทั้งหลายว่า ลำเอียงด้วยความพอใจ ลำเอียงด้วย ความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว เธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวด สมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย การสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละ เรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ภิกษุผู้มีชื่อนี้ อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. [๖๒๗] จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฏเพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสอง ครั้ง ย่อมระงับ บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติ เดิม ให้มานัต เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้น จึง ตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของอาบัตินิกาย นั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.
บทภาชนีย์
[๖๒๘] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
[๖๒๙] ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑ ภิกษุผู้สละเสียได้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓ จบ.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘๘๖๓-๑๙๒๐๑ หน้าที่ ๗๒๗-๗๓๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=18863&Z=19201&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=1&A=18863&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=1&siri=56              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=614              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=1&A=8199              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=2685              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=1&A=8199              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=2685              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ss13/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]