บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๙. พหุเวทนิยสูตร เรื่องช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ [๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขต พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น นายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ เข้าไปหาท่านพระอุทายี นมัสการแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.กถาว่าด้วยเวทนา [๙๘] นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะท่านพระ อุทายีว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้เท่าไร ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกร คฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล. ป. ข้าแต่ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาค ตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มี พระภาคตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว. ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนา ไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล. นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวยืนคำเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านพระอุทายี พระผู้มี พระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว. ท่านพระอุทายีได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนา ไว้ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการนี้แล. นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพระอุทายี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ ตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๒ ประการ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ เพราะอทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในสุขอันสงบ อันประณีตแล้ว. ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะยินยอมได้ นายช่างไม้ชื่อปัญจะ- *กังคะก็ไม่สามารถจะให้ท่านพระอุทายียินยอมได้. [๙๙] ท่านพระอานนท์ได้สดับถ้อยคำเจรจาของท่านพระอุทายีกับนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระอานนท์นั่งแล้ว ณ ส่วนที่สุดข้างหนึ่งแล ได้กราบทูลถ้อยคำเจรจาของท่านพระอุทายีกับ นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค. เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของ พระอุทายี และพระอุทายีก็ไม่ยอมตามบรรยายอันมีอยู่ของนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ดูกรอานนท์ แม้เวทนา ๒ เราได้กล่าวโดยปริยาย ถึงเวทนา ๓ เวทนา ๔ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ เราก็กล่าวแล้วโดยปริยาย ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดย ปริยายอย่างนี้แล ผู้ใดไม่รู้ตามด้วยดี ไม่สำคัญตามด้วยดี ไม่ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรมที่เราแสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักบาดหมาง ทะเลาะวิวาททิ่มแทงกันแลกันด้วยหอกคือปากอยู่ ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยาย อย่างนี้ ผู้ใดรู้ตามด้วยดี สำคัญตามด้วยดี ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ใน ธรรมที่แสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักพร้อมเพรียง บันเทิง ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมระคนกับน้ำ แลดูกันด้วยสายตาเป็นที่รักอยู่.กามคุณ ๕ [๑๐๐] ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ นี้เป็นไฉน คือ รูปอันจะพึงรู้ด้วยจักษุอันสัตว์ปรารถนา ใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้โดยโสต ... กลิ่นอันจะพึงรู้ด้วยฆานะ ... รสอันจะพึงรู้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้ด้วยกาย อันสัตว์ ปรารถนา ใคร่ พอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรอานนท์ นี้แลกามคุณ ๕ สุขโสมนัสอันใดย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขและโสมนัสนี้ เรากล่าวว่ากามสุข.สุขในรูปฌานและอรูปฌาน [๑๐๑] ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรม วินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำ ของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดี ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรม วินัยนี้มีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่น ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา ได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วง อากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วง วิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นอันดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการ ทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้. [๑๐๒] ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะสุขอื่น ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่. ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง อยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้. ดูกรอานนท์ ข้อที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัส สัญญาเวทยิตนิโรธไว้แล้ว แต่บัญญัติลงในสุข ข้อนี้นั้นจะเป็นไฉนเล่า ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรเล่า ดังนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ท่านควรจะกล่าว ตอบว่า ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคจะทรงหมายสุขเวทนาอย่างเดียว แล้วบัญญัติไว้ในสุขหา มิได้ แต่บุคคลได้สุขในที่ใดๆ พระตถาคตย่อมบัญญัติที่นั้นๆ ไว้ในสุข. พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.จบ พหุเวทนิยสูตร ที่ ๙. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๑๗๒๖-๑๘๓๒ หน้าที่ ๗๕-๗๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1726&Z=1832&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=13&A=1726&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=9 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=97 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=1929 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2147 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=1929 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2147 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i097-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.059.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.059.nypo.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/majjhima/mn059.html https://suttacentral.net/mn59/en/sujato https://suttacentral.net/mn59/en/horner
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]