ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๑๐. กีฏาคิริสูตร
คุณของการฉันอาหารน้อย
[๒๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในกาสีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันโภชนะ เว้นการ ฉันในราตรีเสียทีเดียว และเมื่อเราฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสีย ย่อมรู้คุณคือความเป็น ผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ แม้ท่านทั้งหลายก็จงมา ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด ก็เมื่อเธอทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสีย จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะฉันอาหารในเวลาวิกาล
[๒๒๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสร็จเที่ยวจาริกไปในกาสีชนบทโดยลำดับ เสด็จ ถึงนิคมของชนชาวกาสีอันชื่อว่า กีฏาคิรี. ได้ยินว่า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคม ของชนชาวกาสีอันชื่อว่ากีฏาคิรี. ก็โดยสมัยนั้น มีภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะเป็น เจ้าอาวาสอยู่ในกีฏาคิรีนิคม. ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุ ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ย่อมรู้คุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูกรผู้มี อายุทั้งหลาย แม้ท่านทั้งหลายก็จงมาฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด เมื่อท่านทั้งหลาย ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ก็จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้ กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ. เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอัสสชิและภิกษุปุนัพพสุกะ ได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน เมื่อเราเหล่านั้นฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ก็ย่อม รู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ เราเหล่านั้นจักละคุณที่ตนเห็นเอง แล้ววิ่งไปตามคุณอันอ้างกาลทำไม เราทั้งหลายจักฉันทั้ง เวลาเย็น เวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน. [๒๒๔] เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้อัสสชิภิกษุปุนัพพสุกภิกษุยินยอมได้ จึงเข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ข้าพระองค์ ทั้งหลายเข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรี เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรี ย่อมรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ แม้ท่านทั้งหลายก็จงฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด ก็เมื่อท่าน ทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี รู้จักคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว อัสสชิภิกษุ และปุนัพพสุกภิกษุได้กล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน เมื่อเราทั้งหลายนั้นฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ย่อมรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และสำราญ เราเหล่านั้นจักละคุณที่ตนเห็นเอง แล้ววิ่งไปตามคุณอันอ้างกาลทำไม เราทั้งหลาย จักฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะให้อัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุยินยอมได้ จึงกราบทูล เนื้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาว่า ดูกรภิกษุ เธอจงไปเรียกอัสสชิ ภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย ภิกษุนั้นทูลรับต่อ พระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย. อัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุรับต่อภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มี พระภาคได้ตรัสกับอัสสชิภิกษุและปุนัพพสุกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ภิกษุเป็นอันมาก เข้าไปหาเธอทั้งสองแล้วกล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี ย่อมรู้คุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และสำราญ แม้ท่านทั้งหลาย ก็จงมาฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด เมื่อท่านทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรี จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญดังนี้ ได้ยินว่าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เธอทั้งสองได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน เมื่อเราทั้งหลายนั้น ฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ย่อมรู้คุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ เราเหล่านั้น จักละคุณที่ตนเห็นเอง แล้ววิ่งไปตามคุณที่อ้างกาลทำไม เราทั้งหลายจักฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาล ในกลางวัน ดังนี้ จริงหรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พระพุทธเจ้าแสดงเวทนา ๓
[๒๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุข ทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์ มิใช่สุข อกุศลธรรมของบุคคลนั้น ย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้หรือหนอ? ไม่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคล บางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ส่วน เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรม ย่อมเจริญ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยทุกข์เวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ส่วนบุคคลในโลกนี้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรม ย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ส่วนเมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ มิใช่หรือ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า. [๒๒๖] ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยสุขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้ เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละสุขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแล หรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละสุขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรม ย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบ แล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า เธอ ทั้งหลายจงเข้าถึงสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลก เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด. [๒๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้ อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละทุกขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควร แก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้ อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่เรารู้แล้วเห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้ แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละทุกขเวทนาเห็นปานนี้ เสียเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด. [๒๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เราไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้ อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ข้อนี่จักได้ สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละอทุกมสุขเวทนา เห็นปานนี้เสียเถิด ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกข- *มสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่จักเป็นข้อที่เรา ไม่ได้รู้แล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้ทำให้แจ้งแล้ว ไม่ได้ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา เมื่อเราไม่รู้อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงอทุกมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด ดังนี้ ข้อนี้จักได้สมควรแก่เราแลหรือ? ไม่สมควร พระเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะข้อว่า เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ เสวยอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ดังนี้ นี่เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเข้าถึงอทุกขมสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่เถิด. [๒๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทย่อมมีแก่ ภิกษุทั้งปวง ดังนี้ไม่ อนึ่ง เราหากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ไม่มีแก่ภิกษุทั้งปวง ดังนี้ไม่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษ แล้ว เพราะรู้โดยชอบ เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ไม่มีแก่ภิกษุเห็นปานนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุเหล่านั้นได้ทำกรณียกิจเสร็จแล้วด้วยความไม่ประมาท และภิกษุ เหล่านั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดยังเป็นพระเสขะ ยังไม่ บรรลุถึงความเต็มปรารถนา ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันตขีณาสพ ยังปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษม จากโยคะ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่าอยู่ เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทย่อมมี แก่ภิกษุเห็นปานนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุเหล่านี้ เช่นนี้ว่า ไฉนท่านเหล่านี้ เมื่อเสพเสนาสนะอันสมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดังนี้ จึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุเห็นปานนั้น.
บุคคล ๗ จำพวก
[๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน คืออุภโตภาควิมุตบุคคล ๑ ปัญญาวิมุตบุคคล ๑ กายสักขีบุคคล ๑ ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑ สัทธา วิมุตบุคคล ๑ ธัมมานุสารีบุคคล ๑ สัทธานุสารีบุคคล ๑. [๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุภโตภาควิมุตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมาบัติล่วงรูปสมบัติ ด้วยกายอยู่ และ อาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา บุคคลนี้เรากล่าวว่า อุภโตภาค วิมุตบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมไม่มีแก่ ภิกษุนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ภิกษุนั้นทำเสร็จแล้ว และ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท. [๒๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปัญญาวิมุตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมบัติด้วยกายอยู่ แต่ อาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เรากล่าวว่าปัญญาวิมุตบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมไม่มีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ภิกษุนั้น ทำเสร็จแล้ว และภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท. [๒๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กายสักขีบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ และอาสวะ บางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา บุคคลนี้เรากล่าวว่ากายสักขีบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉน ท่านผู้นี้ เมื่อเสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำซึ่งที่สุด พรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการ ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองได้ในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ดังนี้ เราจึงกล่าวว่า กิจที่ ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้ [๒๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิปัตตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมาบัติล่วงรูปสมบัติด้วยกายอยู่ แต่อาสวะ บางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่ตถาคต ประกาศแล้ว เป็นธรรมอันผู้นั้นเห็นแจ้งด้วยปัญญาประพฤติดีแล้ว บุคคลนี้เรากล่าวว่า ทิฏฐิปัตต- *บุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้ เสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มี ธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้ เราจึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความ ไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้ [๒๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธาวิมุตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ แต่ อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ความเชื่อในพระตถาคต ของผู้นั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว บุคคลนี้เรากล่าวว่าสัทธาวิมุตบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่ากิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรา เห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะอันสมควร คบหา- *กัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้จึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้. [๒๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธัมมานุสารีบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมาบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ แต่ อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่พระ- *ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมควรซึ่งความพินิจ โดยประมาณด้วยปัญญาของผู้นั้น อีกประการหนึ่ง ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมมีแก่ผู้นั้น บุคคลนี้เรากล่าวว่า ธัมมานุสารีบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความ ไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของ ภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะที่สมควรคบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้ เราจึง กล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้. [๒๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธานุสารีบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล บางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ผู้นั้นมีแต่เพียง ความเชื่อความรักในพระตถาคต อีกประการหนึ่ง ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมมีแก่ผู้นั้น บุคคลนี้เรากล่าวว่า สัทธานุสารีบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะ ที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มี ธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้ จึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้.
การตั้งอยู่ในอรหัตตผล
[๒๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผล ด้วยการไปครั้งแรก เท่านั้นหามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้น ย่อมมีได้ ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำ โดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ ในอรหัตตผล ย่อมมีได้ ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับอย่างไร? ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทน ได้ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรม ก็ดี การทรงธรรมไว้ก็ดี ความพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดี นั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านี้ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ ไกลเพียงไร.
บท ๔
[๒๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทสี่อันยืนยันได้ที่เรายกขึ้นแสดงแล้ว อันวิญญูบุรุษ จะพึงรู้เนื้อความได้ด้วยปัญญาไม่นานเลย มีอยู่ เราจักแสดงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักรู้ ทั่วถึงเนื้อความแห่งบทสี่อันยืนยันได้ ที่เรายกขึ้นแสดงแล้วนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกไหนเป็นข้าพระองค์ทั้งหลาย และพวกไหนจะเป็นผู้รู้ทั่วถึง ธรรมได้? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศาสดาใดเป็นผู้หนักในอามิส รับมรดกแต่ส่วนที่เป็นอามิส ข้องอยู่ด้วยอามิส แม้ศาสดานั้นย่อมไม่มีคุณสมบัติเหมือนดังของตลาด ซึ่งมีราคาขึ้นๆ ลงๆ เห็นปานนี้ว่า ก็เมื่อเหตุอย่างนี้พึงมีแก่เรา เราพึงทำเหตุนั้น ก็เมื่อเหตุอย่างนี้ไม่พึงมีแก่เรา เราไม่พึงทำเหตุนั้น ดังนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทำไมเล่า ตถาคตจึงไม่ข้องด้วยอามิสโดยประการ ทั้งปวงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สภาพนี้ย่อมมีแก่สาวก ผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของ พระศาสดาแล้วประพฤติด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา เราเป็นสาวก พระผู้มี- *พระภาคย่อมทรงรู้ เราไม่รู้. คำสอนของพระศาสดาย่อมงอกงามมีโอชาแก่สาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ. สภาพนี้ ย่อมมีแก่สาวกผู้มีศรัทธาผู้หยั่งลงใน คำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ ด้วยตั้งใจว่า เนื้อและเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้ง ไปจะเหลืออยู่แต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที เมื่อเรายังไม่บรรลุถึงอิฐผลที่จะพึงบรรลุด้วย เรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักคลายความเพียร นั้นเสีย จักไม่มีเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผลสองอย่างคือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อ ขันธบัญจกที่กรรมกิเลสเข้าไปยึดถือเป็นส่วนเหลือยังมีอยู่ ความเป็นพระอนาคามีอย่างใดอย่าง หนึ่ง อันสาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ พึงหวังได้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ กีฏาคิริสูตร ที่ ๑๐.
จบ ภิกขุวรรค ที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรในวรรคนี้มี ๑๐ สูตร คือ
๑. จูฬราหุโลวาทสูตร ๒. มหาราหุโลวาทสูตร ๓. จูฬมาลุงโกฺยวาทสูตร ๔. มหามาลุงโกฺยวาทสูตร ๕. ภัททาลิสูตร ๖. ลฑุกิโกปมสูตร ๗. จาตุมสูตร ๘. นฬกปานสูตร ๙. โคลิสสานิสูตร ๑๐. กีฏาคิริสูตร
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๓๙๘๑-๔๒๓๔ หน้าที่ ๑๗๓-๑๘๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=3981&Z=4234&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=13&A=3981&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=20              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=222              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=4517              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3465              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=4517              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3465              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i222-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.070.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/majjhima/mn070.html https://suttacentral.net/mn70/en/sujato https://suttacentral.net/mn70/en/horner https://suttacentral.net/mn70/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]