บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๖. สันทกสูตร เรื่องสันทกปริพาชก [๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตเมืองโกสัมพี. สมัยนั้น สันทกปริพาชกพร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณห้าร้อย อาศัยอยู่ ณ ถ้ำปิลัคขคูหา. ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่เร้นแล้วเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายจะเข้าไปยังบ่อน้ำที่น้ำฝนเซาะเพื่อจะดูถ้ำ. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์ว่า อย่างนั้นท่านผู้มีอายุ. ลำดับนั้นท่านพระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เข้ายังบ่อน้ำที่น้ำฝน เซาะ. สมัยนั้นสันทกปริพาชก นั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ซึ่งกำลังพูดติรัจฉานกถา เป็นอันมาก ด้วยเสียงสูง เสียงใหญ่อึงคะนึง คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องนางกุมภทาสี เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ. สันทกปริพาชกได้เห็นท่าน พระอานนท์กำลังมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบเสียงว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จง เบาเสียงเถิด ท่านผู้เจริญทั้งหลายอย่าทำเสียงดังต่อไปเลย นี่สาวกของพระสมณโคดม เป็น สมณะชื่ออานนท์กำลังมาอยู่ สมณะชื่ออานนท์นี้ เป็นสาวกองค์หนึ่ง ในบรรดาสาวกของพระโคดม ที่อาศัยอยู่ ณ เมืองโกสัมพี ก็ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น เป็นผู้ใคร่ในความเป็นผู้มีเสียงเบา แนะนำ ในความมีเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา ถ้ากระไร สมณะชื่ออานนท์นั้น ทราบว่าบริษัท มีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเข้ามาใกล้. ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่. ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปหาสันทกปริพาชกถึงที่ใกล้. สันทกปริพาชกได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า เชิญมาเถิด ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์มาดีแล้ว ต่อนานๆ ท่านพระอานนท์จึงจะได้ทำเหตุ เพื่อจะ มาในที่นี้ เชิญนั่งเถิดท่านพระอานนท์ นี้อาสนะปูไว้แล้ว. ท่านพระอานนท์นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว แม้สันทกปริพาชกถือเอาอาสนะอันต่ำแห่งหนึ่ง แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.ธรรมิกกถา [๒๙๔] ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสันทกปริพาชกว่า ดูกรสันทกะ เมื่อกี้นี้ ท่าน ทั้งหลายประชุมสนทนาอะไรกัน และเรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายหยุดค้างไว้ในระหว่าง? ส. ท่านพระอานนท์ เรื่องที่ข้าพเจ้าทั้งหลายประชุมสนทนาเมื่อกี้นั้น ขอยกไว้เสียเถิด เรื่องนั้นท่านพระอานนท์จักได้ฟังแม้ในภายหลังโดยไม่ยาก ดีละหนอ ขอเรื่องที่เป็นธรรมในลัทธิ แห่งอาจารย์ของตนจงแจ่มแจ้งแก่ท่านพระอานนท์เถิด. อา. ดูกรสันทกะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าว. สันทกปริพาชก รับคำท่านพระอานนท์แล้ว. ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรสันทกะ ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาส ที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการนี้ และพรหมจรรย์อันเว้นความยินดี ๔ ประการ ที่วิญญูชน ไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ก็ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้ สำเร็จไม่ได้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบตรัสไว้แล้วนั้น เป็นไฉน. [๒๙๕] ดูกรสันทกะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง และสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก คนเรานี้เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดิน ไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำ ไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปสู่ อากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไปเมื่อตายแล้ว ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็น กระดูกมีสีดุจนกพิราบ การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวก พูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาด สูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมไม่มี ดังนี้.ว่าด้วยอพรหมจริยวาส [๒๙๖] ดูกรสันทกะ ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมตระหนักดังนี้ว่า ท่านศาสดา ผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบาก แห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้งไม่มีในโลก คนเรานี้เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไป ตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเลื่อนลอยไปสู่อากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไปเมื่อตายแล้ว ร่างกายปรากฏ อยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจนกพิราบ การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลา บัญญัติไว้ คำของคนบางพวกพูดว่ามีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต ย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายไปย่อมไม่มีดังนี้. ถ้าคำของศาสดา ผู้นี้เป็นคำจริง กรรมในลัทธินี้ ที่เราไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่เราไม่ได้ อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว แม้เราทั้งสองคือเราผู้ไม่ได้กล่าวว่า เพราะกายสลาย แม้เราทั้งสอง จักขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายไปจักไม่มี ดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน ถึงความเป็นผู้ เสมอๆ กันในลัทธินี้. ที่ยิ่งกว่ากันก็คือความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคน ศีรษะโล้น ทำความเพียร ในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือนนอน เบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทร์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดี ทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอๆ กับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไร เห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่าลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ได้ ดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ ลัทธิอันไม่ เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่หนึ่งนี้แล อันพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว. [๒๙๗] ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำให้เขาลำบากเอง ใช้ผู้อื่นให้ทำเขาให้ลำบาก ให้ดิ้นรนเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักร ซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ใน ปฐพีนี้ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้น เป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มี บุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวมศีล การกล่าวคำสัตย์ บุญย่อม ไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขาดังนี้. [๒๙๘] ดูกรสันทกะ ในลัทธิท่านศาสดานี้ วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ท่าน ศาสดาผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ให้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ให้ดิ้นรนเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ ภรรยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักร ซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน บาปที่มีการทำ นั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่มี การทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่ง แม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวมศีล การ กล่าวคำสัตย์ บุญย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ดังนี้. ถ้าคำของศาสดานี้เป็นคำจริง กรรม ในลัทธินี้ที่เราไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้เราไม่ได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว แม้เราทั้งสอง คือเราผู้ไม่ได้กล่าวว่า เราทั้งสองผู้ทำไม่ชื่อว่า ทำบาปก็ดี ก็ชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กันถึงความเป็นผู้เสมอกันในลัทธินี้. ที่ยิ่งกว่ากันก็คือ ความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติ เปลือยกาย เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเรา อยู่ครองเรือนนอนเบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทน์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่อง ลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอๆ กับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้ อะไรเห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่า ลัทธินี้ไม่เป็น โอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกร สันทกะ ลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่สอง นี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้พระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว. [๒๙๙] ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกมีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย หาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรง ของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตะทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ตามความประจวบ ตามความเป็นเอง ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาติทั้งหกเท่านั้น ดังนี้. [๓๐๐] ดูกรสันทกะ ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ท่าน ศาสดาผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมอง แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์เอง ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตะทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดี เคราะห์ร้าย ตามความประจวบ ตามความเป็นเอง ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาติทั้งหก เท่านั้น ดังนี้. ถ้าคำของท่านศาสดานี้เป็นคำจริง กรรมในลัทธินี้ที่เราไม่ได้ทำเลยเป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่เราไม่ได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว แม้เราทั้งสองคือเราผู้ไม่ได้กล่าวว่า เรา ทั้งสองหาเหตุหาปัจจัยมิได้ จักบริสุทธิ์เอง ดังนี้ก็ดี ก็ชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กัน ถึงความเป็นผู้ เสมอกันในลัทธินี้. ที่ยังยิ่งกว่านั้นก็คือ ความที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคน ศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือนนอน เบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทน์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทอง และเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอๆ กันกับท่านศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไร เห็น อะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่า ลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ ลัทธิ อันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึง เมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรม เครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่สามนี้แล อัน พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัส ไว้แล้ว. [๓๐๑] ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีความเห็นว่าอย่างนี้ว่า สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใคร นิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาวะอันยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กอง เหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือ ทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน สภาวะ ๗ กองเป็นไฉน คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะเป็นที่ ๗ สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใคร นิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาวะยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มันคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิด สุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขทั้งทุกข์แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าว ให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะแม้ บุคคลจะเอาศาตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ก็ไม่ชื่อว่าใครๆ ปลงชีวิตใครๆ เป็นแต่ศาตราสอดไปใน ช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น ก็แต่กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑ กรรมกึ่ง ปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ อาชีวก ๔,๙๐๐ ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาคาวาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ ราโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคันถครรภ์ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ปวุฏะ ๗ หิน ๗ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ มหากัป ๘,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้. ที่พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยว ไปแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ ความสมหวังว่า เราจักบ่มกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือ เราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำให้สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วย พรหมจรรย์นี้ ไม่มีในที่นั้น สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน ย่อมไม่มีในสงสาร ด้วยอาการอย่างนี้เลย ไม่มีความเสื่อม ความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง. พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อม คลี่หมดไปเองฉะนั้น ดังนี้. [๓๐๒] ดูกรสันทกะ ในลัทธิของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักดังนี้ว่า ท่าน ศาสดาผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ว่า มีความเห็นอย่างนี้ว่า ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มี ใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาวะยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจ เสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขทั้งทุกข์แก่กันและกัน สภาวะ ๗ กองเป็นไฉน คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะเป็นที่ ๗ สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบ อย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาวะยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นคงดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นคงดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กอง เหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียน กันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือทั้งสุขทั้งทุกข์แก่กันและกัน ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะแม้ว่าบุคคลจะเอาศาตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ก็ไม่ชื่อว่าใครๆ ปลงชีวิตใครๆ เป็นแต่ ศาตราสอดไปตามช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น. ก็แต่กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑ กรรมกึ่ง ปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ อาชีวก ๔,๙๐๐ ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาคาวาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓๐๐ ราโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคันถครรภ์ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ปวุฏะ ๗ หิน ๗ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ มหากัป ๘,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้. ที่พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ ความสมหวังว่าเราจัก บ่มกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำให้ สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะหรือด้วยพรหมจรรย์นี้ไม่มีในที่นั้น สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุด ได้เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน ย่อมไม่มีในสงสารด้วยอาการอย่างนี้เลย ไม่มีความเสื่อม ความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไปย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น ดังนี้ ถ้าคำของท่านศาสดานี้เป็น คำจริง กรรมในลัทธินี้ที่เราไม่ได้ทำเลยเป็นอันทำแล้ว พรหมจรรย์ในลัทธินี้ที่เรามิได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว แม้เราทั้งสองคือเราผู้มิได้กล่าวว่า เราทั้งสองเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้วจักทำ ที่สุดทุกข์ได้ก็ดี ก็ชื่อว่าเป็นผู้เสมอๆ กันถึงความเป็นผู้เสมอกันในลัทธินี้ ที่ยิ่งกว่ากันก็คือความ ที่ท่านศาสดานี้เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย เป็นคนศีรษะโล้น ทำความเพียรในการเดินกระโหย่ง ถอนผมและหนวด เมื่อเราอยู่ครองเรือนนอนเบียดกับบุตร ประพรมแก่นจันทน์เมืองกาสี ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ ก็จักเป็นผู้มีคติเสมอๆ กันกับท่าน ศาสดานี้ในภพหน้าได้ เรานั้นรู้อะไรเห็นอะไรอยู่ จึงจักประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานี้ วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่า ลัทธินี้ไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้ดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ ลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ก็ยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้ สำเร็จไม่ได้ เป็นประการที่สี่นี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้แล้ว ดูกรสันทกะ ลัทธิสมัยอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็ยังกุศลธรรม เครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ สี่ประการนี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็นเป็น พระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบพระองค์นั้น ตรัสไว้แล้ว. [๓๐๓] ส. ท่านพระอานนท์ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสลัทธิอันไม่เป็นโอกาสที่จะอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์สี่ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ก็พึงยังกุศลธรรม เครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้นี้ น่าอัศจรรย์ ท่านพระอานนท์ ไม่เคยมี. ท่านพระอานนท์ ก็พรหมจรรย์อันเว้นความยินดีสี่ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ เหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบพระองค์นั้น ตรัสไว้แล้ว เป็นไฉน? [๓๐๔] ดูกรสันทกะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ ตั้งตนเป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นปรากฏเสมอเป็นนิจ. ศาสดานั้นเข้าไปเรือนว่างบ้าง ไม่ได้ก้อนข้าว บ้าง สุนัขกัดเอาบ้าง พบม้าดุบ้าง พบโคดุบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง หนทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง. เมื่อถูกถามว่านี่อะไร ก็ตอบเขาว่า เราเข้าไปยังเรือนว่างด้วยกิจที่เราจำต้องเข้าไป เราไม่ได้ก้อนข้าวด้วยเหตุที่เรา ไม่ควรได้ เราเป็นผู้ถูกสุนัขกัดด้วยเหตุที่ควรถูกกัด เราพบช้างดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราถามถึงชื่อ บ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม เราถามถึงชื่อบ้าง ทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม. ดูกรสันทกะ ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมทราบตระหนักดังนี้ว่า ท่านศาสดาซึ่งตั้งตัวเป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นปรากฏเสมอเป็นนิจ ศาสดานั้นเข้าไปยังเรือนว่างบ้าง ไม่ได้ก้อนข้าว บ้าง สุนัขกัดบ้าง พบช้างดุบ้าง พบม้าดุบ้าง พบโคดุบ้าง ถามชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิง บ้าง ของชายบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง หนทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง. ศาสดานั้นเมื่อ ถูกถามว่า นี่อะไร ก็ตอบเขาว่า เราเข้าไปยังเรือนว่างด้วยกิจที่เราจำต้องเข้าไป เราไม่ได้ก้อนข้าว ด้วยเหตุที่เราไม่ควรได้ เราเป็นผู้ถูกสุนัขกัด ด้วยเหตุที่ควรถูกกัด เราพบช้างดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบม้าดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราพบโคดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของ หญิงบ้าง ของชายบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม เราถามถึงชื่อบ้าง หนทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม ดังนี้ วิญญูชนครั้นรู้ว่า พรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดีดังนี้ แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ พรหมจรรย์อันเว้นจากความ ยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ ให้สำเร็จไม่ได้ ประการที่หนึ่งนี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เองโดยชอบพระองค์นั้น ตรัสไว้แล้ว. [๓๐๕] ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เชื่อถือการฟัง ตามกัน เป็นผู้เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกัน ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมโดยฟังตามกัน โดย สืบๆ กันมาว่าอย่างนั้นๆ โดยอ้างตำรา. ดูกรสันทกะ ก็เมื่อศาสดาเชื่อถือการฟังตามกัน เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกันแล้ว ย่อมมีการฟังดีบ้าง มีการฟังชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง. ดูกรสันทกะ ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมทราบตระหนัก ดังนี้ว่า ท่านศาสดานี้เป็นผู้เชื่อถือการฟังตามกัน เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกัน. ท่านศาสดา ผู้นั้นแสดงธรรมโดยการฟังตามกัน โดยสืบๆ กันมาว่าอย่างนั้นๆ โดยอ้างตำรา. ก็เมื่อ ศาสดาเชื่อถือการฟังตามกัน เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกันแล้ว ย่อมมีการฟังดีบ้าง การฟังชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง. วิญญูชนนั้นครั้นรู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดี ดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ พรหมจรรย์อันเว้นจาก ความยินดีที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไป จากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ประการที่สองนี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบพระองค์นั้น ตรัสไว้แล้ว. [๓๐๖] ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นผู้ใช้ความตรึก เป็นผู้ใช้ความพิจารณา. ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมตามปฏิภาณของตนเทียบเหตุตามความที่ตนตรึก คล้อยตามความที่ตนพิจารณา. ดูกรสันทกะ ก็เมื่อศาสดาใช้ความตรึก ใช้ความพิจารณาแล้ว ก็ย่อมมีความตรึกดีบ้าง ความตรึกชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง. ดูกรสันทกะ ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชนย่อมทราบตระหนักดังนี้ว่า ท่านศาสดาจารย์นี้เป็นผู้ใช้ ความตรึกเป็นผู้ใช้ความพิจารณา. ท่านศาสดาจารย์นั้นย่อมแสดงธรรมตามปฏิภาณของตนเทียบ เหตุตามความที่ตนตรึก คล้อยตามความที่ตนพิจารณา. ก็เมื่อศาสดาเป็นผู้ใช้ความตรึก ใช้ความ พิจารณาแล้ว ก็ย่อมมีความตรึกดีบ้าง ความตรึกชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง. วิญญูชนนั้น ครั้นรู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดีดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไปเสียจาก พรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดีที่วิญญูชนไม่พึงประพฤติ พรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ประการที่สาม นี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบพระองค์นั้น ตรัสไว้แล้ว. [๓๐๗] ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นคนเขลางมงาย เพราะเป็นคนเขลา. เพราะเป็นคนงมงาย ศาสดานั้นเมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ ย่อมถึงความ ส่ายวาจา คือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่าอย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่น ก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ดังนี้. ดูกรสันทกะ ในพรหมจรรย์ของศาสดานั้น วิญญูชน ย่อมทราบตระหนักดังนี้ว่า ท่านศาสดานี้เป็นคนเขลางมงาย เพราะเป็นคนเขลา เพราะเป็นคน งมงาย. ศาสดานั้นเมื่อถูกถามปัญหาอย่างนั้นๆ ย่อมถึงความส่ายวาจา คือตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่าอย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ดังนี้. วิญญูชนนั้น ครั้นรู้ว่าพรหมจรรย์นี้เว้นจากความยินดีดังนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายหลีกไป เสียจากพรหมจรรย์นั้น. ดูกรสันทกะ พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็ยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ ประการ ที่สี่นี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระองค์นั้น ตรัสไว้แล้ว. ดูกรสันทกะ พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ สี่ประการนี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบพระองค์นั้น ตรัสไว้แล้ว. [๓๐๘] ท่านพระอานนท์ ข้อที่พรหมจรรย์อันเว้นจากความยินดีสี่ประการนั้นแหละ อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบพระองค์นั้น ตรัสว่าเป็นพรหมจรรย์เว้นจากความยินดี ที่วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้นี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี. ท่านพระอานนท์ ก็ศาสดานั้นมีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร ในพรหมจรรย์ที่วิญญูชนพึงอยู่โดยส่วนเดียว และ เมื่ออยู่ ก็ยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้.ว่าด้วยฌาน ๔ [๓๐๙] ดูกรสันทกะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มี ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้ แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง (คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี) หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เขาประกอบด้วยการได้ศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้ บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้า กาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติ น้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็น ผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาด ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่ความจริง ดำรงสัตย์ พูดเป็นหลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ละคำส่อเสียด เว้น ขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟัง จากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ละคำเพ้อเจ้อ เว้น ขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูด แต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร เว้นขาดจาก การพรากพืชคามและภูตคาม ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง การประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาด จากการทัดทรงประดับและตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐาน แห่งการแต่งตัว เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจากการรับธัญญาชาติดิบ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง วัว ม้า และ ลา เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการ ประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เว้นขาดจากการซื้อและการขาย เว้นขาดจากการฉ้อโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก เธอเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไป ทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเองเป็นภาระ บินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่อง บริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้ อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำ ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความ สำรวมในจักขุนทรีย์ เธอฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อ สำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์ สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์ ไม่ระคนด้วยกิเลสเฉพาะตน เธอย่อม ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการแล ในการเหลียว ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ย่อมทำความรู้สึก ตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้ง กายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความโลภในโลก มีใจปราศจากความโลภอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความโลภ ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวัง ประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระ จิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัย ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา) ภิกษุนั้นครั้นละนิวรณ์ทั้งห้าเหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรสันทกะ ก็สาวกย่อมบรรลุ คุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดย ส่วนเดียว และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้. ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารณ์ เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ อยู่. ดูกรสันทกะ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอหาร เห็นปานนั้น ในศาสดาใด วิญญูชน พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นส่วนเดียว และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไป จากทุกข์ให้สำเร็จได้. ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็น ผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข. ดูกรสันทกะ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ใน ศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ ก็พึงยัง กุศลธรรมเครื่องออกไปทุกข์ให้สำเร็จได้. ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละทุกข์ ละสุข และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. ดูกรสันทกะ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ ให้สำเร็จได้.วิชชา ๓ [๓๑๐] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสา- *นุสสติญาณ. เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สาม ชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอัน มากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้ง อาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรสันทกะ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬาร เห็นปานนี้ ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และ เมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อจุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย. เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านั้นประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ดูกรสันทกะ ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรม เครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้. ดูกรสันทกะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ย่อมโน้มน้อมจิต ไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินี- *ปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรสันทกะ ก็สาวก ย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด วิญญูชนพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ใน ศาสดานั้นโดยส่วนเดียว และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้.พระขีณาสพไม่ล่วงฐานะ ๕ [๓๑๑] ท่านพระอานนท์ ก็ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มี กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นยังบริโภคกามทั้งหลายหรือ? ดูกรสันทกะ ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ อยู่พรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบ สัตว์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้น เป็นผู้ไม่สามารถประพฤติล่วง ฐานะทั้งห้า คือ ภิกษุขีณาสพ เป็นผู้ไม่สามารถแกล้งปลงสัตว์จากชีวิต ๑ เป็นผู้ไม่สามารถ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย ๑ เป็นผู้ไม่สามารถเสพเมถุน ธรรม ๑ เป็นผู้ไม่สามารถกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ ๑ เป็นผู้ไม่สามารถทำการสั่งสม บริโภคกามทั้งหลาย เหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน ๑ ดูกรสันทกะ ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ อยู่จบ พรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ สามารถประพฤติล่วงฐานะทั้งห้าเหล่านี้.รู้ว่าเราหมดอาสวะได้อย่างไร [๓๑๒] ท่านพระอานนท์ ก็ภิกษุใด เป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่อง ประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ เมื่อภิกษุนั้นเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้วดังนี้ ปรากฏเสมอเป็นนิจหรือ? ดูกรสันทกะ ถ้าเช่นนั้น เราจักทำอุปมาแก่ท่าน วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้ ทั่วถึงอรรถแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนมือและเท้าของบุรุษขาดไป เมื่อบุรุษนั้นเดินไป อยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี มือและเท้าก็เป็นอันขาดอยู่เสมอเป็นนิจนั่นเอง อนึ่ง เมื่อเขาพิจารณาย่อมรู้ได้ว่า มือและเท้าของเราขาดแล้ว ดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เป็น พระอรหันต์ ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันถึงแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะ รู้โดยชอบ เมื่อเธอเดินไปอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี อาสวะทั้งหลายก็เป็น อันสิ้นไปเสมอเป็นนิจนั่นเอง อนึ่ง เมื่อเธอพิจารณาย่อมรู้ได้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว. [๓๑๓] ท่านพระอานนท์ ก็ในธรรมวินัยนี้ มีภิกษุผู้นำ (ตน) ออกไปจากกิเลสและ กองทุกข์มากเพียงไร? ดูกรสันทกะ ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้นำ (ตน) ออกไปได้จากกิเลสและกองทุกข์นั้น มีไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย ความจริงมีอยู่ มากทีเดียว. ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์ ท่านพระอานนท์ ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้ ไม่ได้มีการ ยกย่องแต่ธรรมของตน และมีคำติเตียนธรรมของผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุเท่านั้น แต่ ก็ปรากฏว่า มีผู้นำ (ตน) ออกไปจากกิเลสและกองทุกข์ได้มากมายถึงเพียงนั้น ส่วนอาชีวก เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น ทั้งตั้ง ศาสดาไว้สามคน คือ นันทวัจฉะ ๑ กิสสังกิจจะ ๑ มักขลิโคสาล ๑ ว่าเป็นผู้นำ (ตน) ออกจากกิเลสและกองทุกข์ได้ลำดับนั้น สันทกปริพาชก เรียกบริษัทของตนมาว่า พ่อผู้เจริญ ทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์เถิด การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมย่อมมีผล แต่ว่าบัดนี้เราทั้งหลายสละลาภสักการะความสรรเสริญเสียนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย. สันทกปริพาชกส่งบริษัทของตนไปในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ด้วย ประการฉะนี้แล.จบ สันทกสูตรที่ ๖. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๕๐๖๒-๕๔๙๗ หน้าที่ ๒๒๒-๒๔๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=5062&Z=5497&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=13&A=5062&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=26 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=293 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=5909 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4112 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=5909 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4112 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i293-e1.php# https://suttacentral.net/mn76/en/sujato https://suttacentral.net/mn76/en/horner
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]