ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๘. สมณมุณฑิกสูตร
เรื่องอุคคาหมานปริพาชก
[๓๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. สมัยนั้น ปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ เป็นบุตรนางสมณมุณฑิกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ อาศัยอยู่ ณ อารามของพระนางมัลลิการาชเทวี ในตำบลเอกสาลาชื่อว่าติณฑุกาจีระ (แวดล้อมด้วยแถวต้นมะพลับ) เป็นที่ประชุมแสดงลัทธิ ของนักบวช. ครั้งนั้น ช่างไม้ผู้หนึ่งชื่อปัญจกังคะ ออกจากเมืองสาวัตถีเพื่อจะไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาค เมื่อเวลาเที่ยงแล้ว. ครั้งนั้น เขามีความดำริว่า เวลานี้มิใช่กาลที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก่อน พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ ไม่ใช่สมัยที่จะไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เจริญทางใจ ภิกษุ ทั้งหลายผู้เจริญทางใจก็หลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชกสมณ- *มุณฑิกาบุตร ที่อารามของพระนางมัลลิการาชเทวี ณ ตำบลเอกสาลาชื่อว่าติณฑุกาจีระ เป็นที่ ประชุมแสดงลัทธิของนักบวชเถิด. ลำดับนั้น ช่างไม้ปัญจกังคะจึงเข้าไปยังอารามของพระนาง มัลลิการาชเทวี ณ ตำบลเอกสาลาชื่อว่าติณฑุกาจีระ.
ติรัจฉานกถา
[๓๕๗] สมัยนั้น อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร นั่งอยู่กับปริพาชกบริษัท หมู่ใหญ่ ซึ่งกำลังพูดติรัจฉานกถาหลายประการ ด้วยส่งเสียงอื้ออึงอึกทึก คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องหญิงสาวใช้ตักน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่อง ทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ. อุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตร ได้เห็นช่างไม้ปัญจกังคะซึ่งกำลังมาแต่ไกล จึง ห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายจงเบาเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงนัก ช่างไม้ปัญจ- *กังคะ ผู้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังมา บรรดาสาวกของพระสมณโคดมที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งผ้าขาวประมาณเท่าใด อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี นายช่างปัญจกังคะนี้เป็นผู้หนึ่งของบรรดา สาวกเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นชอบเสียงเบา ได้รับแนะนำในการเสียงเบา กล่าวสรรเสริญคุณ ของเสียงเบา บางทีช่างไม้ปัญจกังคะทราบว่าบริษัทมีเสียงเบา จะพึงสำคัญที่จะเข้ามาหาก็ได้. ปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งอยู่ ลำดับนั้น นายช่างปัญจกังคะได้เข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชก ผู้สมณมุณฑิกาบุตรถึงที่ใกล้ ได้ปราศรัยกับอุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกาบุตร ครั้นผ่านการ ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.
วาทะของปริพาชก
[๓๕๘] อุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตร ได้กล่าวกะนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรนายช่างไม้ เราย่อมบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรนายช่างไม้ บุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจา ชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ นี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ดังนี้. ลำดับนั้น นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมานปริพาชกผู้ สมณมุณฑิกาบุตร แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยดำริว่า เราจักรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิตนี้ใน สำนักของพระผู้มีพระภาค เขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง. แล้วกราบทูลเล่าการเจรจาปราศรัยกับอุคคาหมานปริพาชกผู้สมณ- *มุณฑิกาบุตรทั้งหมดแก่พระผู้มีพระภาค. [๓๕๙] เมื่อนายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรนายช่างไม้ เมื่อเป็นเหมือนอย่างคำของอุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตร เด็กอ่อน ที่ยังนอนหงายอยู่ ก็จักเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้. ดูกรนายช่างไม้ เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่ากาย ดังนี้ ก็ยังไม่มี ที่ไหนจักทำกรรมชั่วด้วยกายได้เล่า นอกจากจะมีเพียงอาการดิ้นรน. เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่า วาจา ดังนี้ ก็ยังไม่มี ที่ไหนจักกล่าววาจาชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้. เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่า ความดำริ ดังนี้ ก็ยังไม่มี ที่ไหนจักดำริชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้และการหัวเราะ. เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่าอาชีพ ดังนี้ ก็ยังไม่มี ที่ไหนจักเลี้ยงชีพชั่วได้เล่า นอกจากน้ำนมของมารดา. ดูกรนายช่างไม้ เมื่อเป็นเหมือนอย่างคำของอุคคาหมานปริพาชกผู้สมณมุณฑิกาบุตร เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ จักเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้.
เสกขภูมิ
[๓๖๐] ดูกรนายช่างไม้ เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่ามิใช่ผู้มี กุศลสมบูรณ์เลย ไม่ใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรนาย- *ช่างไม้ บุคคลในโลกนี้ ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ว่ามิใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์ มิใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ยังดีกว่า เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง. [๓๖๑] ดูกรนายช่างไม้ เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ว่าเป็น ผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้. ดูกรนายช่างไม้ ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็นอกุศล ศีลเป็นอกุศลมีสมุฏฐานแต่จิตนี้ ศีลเป็นอกุศลดับลงหมดสิ้นไปในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นอกุศล เรากล่าวว่าควรรู้. ข้อที่ศีลเหล่านี้เป็น กุศล ศีลเป็นกุศลมีสมุฏฐานแต่จิตนี้ ศีลเป็นกุศลดับลงหมดสิ้นไปในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล เรากล่าวว่าควรรู้. ข้อที่ความดำริเหล่านี้เป็นอกุศล ความดำริเป็นอกุศลมีสมุฏฐานแต่จิตนี้ ความดำริเป็นอกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล เรากล่าวว่าควรรู้. ข้อที่ความดำริเหล่านี้เป็นกุศล ความดำริเป็นกุศล มีสมุฏฐานแต่จิตนี้ ความดำริเป็นกุศลดับลงหมดสิ้นในที่นี้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล เรากล่าวว่าควรรู้.
อเสกขภูมิ
[๓๖๒] ดูกรนายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นอกุศลนั้นเป็นไฉน? ดูกรนายช่างไม้ กายกรรม เป็นอกุศล วจีกรรมเป็นอกุศล การเลี้ยงชีพชั่ว เหล่านี้เรากล่าวว่าศีลเป็นอกุศล. ก็ศีลที่เป็น อกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน? แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นอกุลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว. ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน. จิตเป็นไฉน? ถึงจิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดมีราคะ โทสะ โมหะ ศีลเป็นอกุศลมีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน. ก็ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้ ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน? แม้ความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าวแล้ว. ดูกรนายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ ศีลที่เป็นอกุศล เหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในการละทุจริต เจริญสุจริต และการละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วย สัมมาอาชีวะ. ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศล? ดูกรนายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว. ดูกรนายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็น อกุศลธรรม. [๓๖๓] ดูกรนายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นกุศลเป็นไฉน? ดูกรนายช่างไม้ เราย่อมกล่าว ซึ่งกายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล และอาชีวะอันบริสุทธิ์ ลงในศีลเหล่านี้ เรากล่าวว่าศีล เป็นกุศล. ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน? แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว. ก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน. จิตเป็นไฉน? แม้จิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศลมีจิตนี้ เป็นสมุฏฐาน. ศีลเป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน? แม้ความดับแห่งศีลเป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว. ดูกรนายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล แต่จะสำเร็จด้วยศีลหามิได้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น ของภิกษุนั้นด้วย. ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล? ดูกร- *นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ... เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิด ขึ้นแล้ว ... เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ... เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว. ดูกรนายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล.
อกุศลสังกัปปะ
[๓๖๔] ดูกรนายช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็นอกุศลเป็นไฉน? ดูกรนายช่างไม้ ความ ดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในการเบียดเบียน เหล่านี้เรากล่าวว่าความดำริเป็น อกุศล. ก็ความดำริเป็นอกุศลนี้ มีอะไรเป็นสมุฏฐาน? แม้สมุฏฐานแห่งความดำริเป็นอกุศล เหล่านั้น เรากล่าวแล้ว. ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน. สัญญาเป็นไฉน? แม้สัญญา เล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ สัญญาใดเป็นสัญญาในกาม เป็นสัญญาในพยาบาท เป็นสัญญาในการเบียดเบียน ความดำริเป็นอกุศลมีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน. ก็ความดำริเป็น อกุศลเหล่านี้ ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน? แม้ความดับแห่งความดำริเป็นอกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว. ดูกรนายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นอกุศล. ก็ผู้ปฏิบัติ อย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังฉันทะ ให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น ... เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ... เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้ เกิดขึ้น ... เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ดูกรนายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริเป็นอกุศล.
กุศลสังกัปปะ
[๓๖๕] ดูกรนายช่างไม้ ก็ความดำริเป็นกุศลเป็นไฉน? ดูกรนายช่างไม้ ความดำริ ในเนกขัมมะ ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียนเหล่านี้เราก็กล่าวว่า ความดำริเป็นกุศล. ก็ความดำริเป็นกุศลนี้ มีอะไรเป็นสมุฏฐาน? แม้สมุฏฐานแห่งความดำริ เป็นกุศลนั้น เรากล่าวแล้ว. ก็ต้องกล่าวว่า มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน. สัญญาเป็นไฉน? แม้สัญญา ก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ สัญญาใดเป็นสัญญาในเนกขัมมะ เป็นสัญญาในความ ไม่พยาบาท เป็นสัญญาในอันไม่เบียดเบียน ความดำริเป็นกุศลมีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน. ก็ความดำริเป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน? แม้ความดับแห่งความดำริที่เป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวแล้ว. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็น ธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ซึ่งเป็นที่ดับลงหมดสิ้นแห่งความดำริเป็นกุศลเหล่านี้. ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติ เพื่อความดับแห่งความดำริเป็นกุศล. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภ ความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ... เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ... เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ... เพื่อความ ตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความ เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. ดูกรนายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อ ความดับแห่งความดำริเป็นกุศล.
อเสกขธรรม ๑๐
[๓๖๖] ดูกรนายช่างไม้ เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ว่าเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ดูกร นายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมา สังกัปปะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาวาจาเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมากัมมันตะเป็นของ อเสขบุคคล ๑ สัมมาอาชีวะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาวายามะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมา สติเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาสมาธิเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาญาณะเป็นของอเสขบุคคล ๑ สัมมาวิมุติเป็นของอเสขบุคคล ๑ เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เหล่านี้แล ว่าเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใคร รบได้ ดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. ช่างไม้ปัญจกังคะ ยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล.
จบ สมณมุณฑิกสูตร ที่ ๘.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๖๐๒๓-๖๑๗๔ หน้าที่ ๒๖๓-๒๖๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6023&Z=6174&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=13&A=6023&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=28              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=356              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=7027              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4876              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=7027              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4876              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i356-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.078.than.html https://suttacentral.net/mn78/en/sujato https://suttacentral.net/mn78/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]