ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๑๑๓.

๓. สัปปุริสสูตร (๑๑๓)
[๑๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี พระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัปปุริสธรรม และ อสัปปุริสธรรมแก่พวกเธอ เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก กล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๑๗๙] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริส ธรรมเป็นอย่างไร คืออสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว ย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ มิใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความ เป็นผู้มีสกุลสูงนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงเลย ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญ เธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ออกจาก สกุลใหญ่ ออกจากสกุลมีโภคะมาก ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว ย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ออกจากสกุลใหญ่...ออกจากสกุลมีโภคะมาก... ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ออกจาก สกุลใหญ่ ออกจากสกุลมีโภคะมาก ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว อสัต-

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๔.

*บุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ มีโภคะมาก มีโภคะยิ่ง นั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ มี โภคะมาก มีโภคะยิ่งเลย ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลใหญ่ ออกจาก สกุลมีโภคะมาก ออกจากสกุลมีโภคะยิ่ง บวชแล้ว แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญ เธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ มีโภคะมาก มีโภคะยิ่งนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ปรากฏ มียศ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ปรากฏ มียศ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ เป็นผู้ไม่ปรากฏ มีศักดิ์น้อย อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ ปรากฏนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้ปรากฏ ถึงแม้ ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ปรากฏ มียศ แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษ นั้น (ทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น) ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ ปรากฏนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ส่วนภิกษุ อื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัช-

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๕.

*บริขาร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะการได้นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะการได้ ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่ เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร แต่เป็นผู้ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลาย ก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะการได้นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นพหูสูต ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นพหูสูต อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพหูสูตนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นพหูสูต ถึงแม้ ภิกษุไม่ใช่เป็นพหูสูต แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประ- *พฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้น ทำการปฏิบัติ แต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพหูสูต นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นพระวินัย- *ธร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นพระวินัยธร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่ เป็นพระวินัยธร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพระวินัยธรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นพระวินัยธร ถึงแม้ ภิกษุไม่ใช่เป็นพระวินัยธร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๖.

ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษ นั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็น พระวินัยธรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นพระธรรม กถึก ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นพระธรรมกถึก อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้ อื่น เพราะความเป็นพระธรรมกถึกนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริส- *ธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นพระธรรมกถึก ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นพระธรรมกถึก แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติ ชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความ เป็นพระธรรมกถึกนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่า เป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ ป่าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติ ชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็น ผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ทรงผ้า บังสุกุลเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ส่วน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๗.

ภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่ม ผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชา สรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็ คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้เที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็ คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาต เป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชา สรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็ คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่โคน ไม้เป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๘.

เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะ ความเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็น วัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญ เธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริส- *ธรรม ฯ [๑๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าช้า เป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ อยู่ป่าช้าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่ นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะ ความเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่กลางแจ้งเป็น วัตร...เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร...เป็นผู้ถือการนั่งตามลำดับอาสนะเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ถือ การฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ถือการฉันใน อาสนะเดียวเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ถือการ ฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๙.

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความ โกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้ถือการฉันใน อาสนะเดียวเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คน ทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่า นั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ ใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยปฐมฌาน สมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้ปฐมฌานสมาบัติ พระผู้มี พระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุ นั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหาแต่ภายใน เท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยปฐมฌานสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและ วิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่...เข้าตติยฌาน...เข้า จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้จตุตถฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้จตุตถฌาน สมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยจตุตถฌานสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๒๐.

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้จตุตถฌานสมาบัติ พระ- *ผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหาแต่ ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยจตุตถฌานสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเข้าอากาสา- *นัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดย ประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา ย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วย อากาสานัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้อากาสานัญจายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุ ใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหา แต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษล่วงอากาสา- *นัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด อยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตน สมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อสัตบุรุษ นั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุ ใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๒๑.

แต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษล่วงวิญญาณัญ- *จายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า ไม่ มีอะไรสักน้อยหนึ่งอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้อากิญจัญญายตน- *สมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ อสัตบุรุษ นั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้อากิญจัญญายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุ ใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษทำความไม่มีตัณหาแต่ ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ [๑๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษล่วงอากิญ- *จัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่น เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้เนวสัญญานาสัญญายตน- *สมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกัน ด้วยเหตุใดๆ เหตุนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำความ ไม่มีตัณหาแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตน- *สมาบัตินั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๒๒.

[๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก สัตบุรุษล่วงเนวสัญญา- *นาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็น ด้วยปัญญา จึงมีอาสวะสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้แลย่อมไม่สำคัญอะไรๆ ย่อมไม่สำคัญที่ไหนๆ และไม่สำคัญด้วยเหตุไรๆ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ สัปปุริสสูตร ที่ ๓
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๒๖๗๐-๒๘๙๘ หน้าที่ ๑๑๓-๑๒๒. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=2670&Z=2898&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=14&A=2670&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=13              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=178              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=14&A=2650              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1719              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=14&A=2650              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1719              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i178-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.113.than.html https://suttacentral.net/mn113/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]