ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๒. ติสสสูตร
ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ
[๑๙๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ก็สมัยนั้น ท่านพระติสสะซึ่งเป็นโอรสของพระปิตุจฉา ของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้า เป็น ดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรมทั้งหลาย ไม่แจ่มแจ้งแก่ ข้าพเจ้า ถีนมิทธะ ย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และ ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า. [๑๙๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูป พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่าน ติสสะผู้เป็นโอรสของปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า อาวุโสทั้งหลาย กาย ของข้าพเจ้า เป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรม ทั้งหลาย ก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะ ย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติ พรหมจรรย์ และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาแล้ว รับสั่งว่า ดูกรภิกษุ เธอจงไปเรียกติสสภิกษุตามคำของเราว่า ท่าน ติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นรับพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านติสสะถึงที่อยู่แล้ว บอกแก่ท่านติสสะอย่างนี้ว่า ท่านติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน. ท่านพระติสสะรับคำภิกษุ นั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระติสสะว่า ดูกรติสสะ ทราบว่า เธอได้บอกแก่ ภิกษุหลายรูปว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้า เป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ ฯลฯ และ ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า จริงหรือ? ท่านพระติสสะกราบทูลว่า จริง อย่างนั้นพระเจ้าข้า.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๕.

พ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมบังเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความ กระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เพราะความที่รูปนั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม? ต. ใช่ พระเจ้าข้า. พ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัดใน รูป. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความ เร่าร้อน ความทะเยอทะยาน ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะวิญญาณ นั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม? ต. ใช่ พระเจ้าข้า. พ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ในวิญญาณ. [๑๙๖] พ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะความที่วิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม? ต. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ปราศจากความกำหนัดใน วิญญาณ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. เพราะเหตุนั้นแล ติสสะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๖.

[๑๙๗] พ. ดูกรติสสะ เปรียบเหมือน มีบุรุษ ๒ คน คนหนึ่งไม่ฉลาดในหนทาง คนหนึ่งฉลาดในหนทาง บุรุษคนที่ไม่ฉลาดในหนทางนั้น จึงถามทางบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง บุรุษ ผู้ฉลาดในหนทางนั้น พึงบอกอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปตามทางนี้แหละสักครู่หนึ่ง แล้ว จักพบทาง ๒ แพร่ง ในทาง ๒ แพร่งนั้น ท่านจงละทางซ้ายเสีย ถือเอาทางขวาไปตาม ทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบราวป่าอันทึบ ท่านจงไปตามนั้นสักพักหนึ่งแล้ว จักพบที่กลุ่มใหญ่ มีเปือกตม จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบหนองบึง จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบภูมิภาคอันราบรื่น. ดูกรติสสะ เรากระทำอุปมานี้แล เพื่อให้เข้าใจเนื้อความ ในข้อนี้มี อธิบายอย่างนี้. คำว่าบุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งปุถุชน. คำว่าบุรุษผู้ฉลาดใน หนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. คำว่าทาง ๒ แพร่งนี้แล เป็นชื่อแห่ง วิจิกิจฉา. คำว่าทางซ้ายนี้แล เป็นชื่อแห่งมรรคผิดอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาสมาธิ. คำว่าทางขวานี้แล เป็นชื่อแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. คำว่าราวป่าอันทึบนี้แล เป็นชื่อแห่งอวิชชา. คำว่าที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตมนี้แล เป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย. คำว่าหนองบึงนี้แล เป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น. คำว่า ภูมิภาคอันราบรื่นนี้แล เป็นชื่อแห่งนิพพาน. เธอจงยินดีเถิด ติสสะ เธอจงยินดีเถิด ติสสะ ตามโอวาทของเราตามความอนุเคราะห์ของเรา ตามคำพร่ำสอนของเรา พระผู้มีพระภาคได้ตรัส พระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระติสสะปลื้มใจ ชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๒.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๓๘๔-๒๔๔๖ หน้าที่ ๑๐๔-๑๐๖. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=2384&Z=2446&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=17&A=2384&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=17&siri=84              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=194              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=17&A=2626              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7459              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=17&A=2626              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7459              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i193-e.php#sutta2 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.084.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.084x.wlsh.html https://suttacentral.net/sn22.84/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.84/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]