ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
อวัสสุตสูตร
[๓๒๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้ พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกชนบท ก็โดยสมัยนั้นแล เจ้าศากยราชทั้งหลาย อยู่ครองเมืองกบิลพัสดุ์ ได้รับสั่งให้สร้างสัณฐาคารใหม่ในกาลไม่นาน เป็นสถาน ที่อันสมณพราหมณ์หรือมนุษย์ใดๆ ยังไม่ได้อยู่ครอง ครั้งนั้นแล เจ้าศากยราช ทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส เจ้า ศากยราชทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ รับสั่งให้สร้างสัณฐาคารใหม่ในกาล ไม่นาน เป็นสถานที่อันสมณพราหมณ์ หรือมนุษย์ใดๆ ยังไม่ได้อยู่ครอง ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงบริโภคสัณฐาคารนั้นก่อน สัณฐาคารนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบริโภคก่อนแล้ว เจ้าศากยราชทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ จักทรงบริโภคในภายหลัง การทรงบริโภคของพระผู้มีพระภาคนั้น พึงมีเพื่อ ประโยชน์ เพื่อความสุข แก่เจ้าศากยราชทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์สิ้นกาล นาน พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล เจ้าศากยราชทั้งหลาย ผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ทรงทราบการรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จลุกขึ้นจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้ว เสด็จเข้าไปยัง สัณฐาคารใหม่ รับสั่งให้ลาดสัณฐาคารที่บุคคลลาดแล้วด้วยเครื่องลาดทั้งปวง ปูอาสนะแล้ว รับสั่งให้ตั้งแก้วน้ำไว้ประจำ แล้วรับสั่งให้ตามประทีปน้ำมันขึ้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัณฐาคารอันบุคคลปูลาดแล้วด้วยเครื่องลาดทั้งปวง ปูอาสนะ แล้ว ตั้งแก้วน้ำประจำไว้แล้ว ตามประทีปน้ำมันแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคย่อมทรงสำคัญกาลที่จะเสด็จเข้าไป ฯ [๓๒๗] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือ บาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังสัณฐาคารใหม่พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วทรง ล้างพระบาท แล้วเสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งพิงเสากลาง ทรงผินพระพักตร์ ไปทางทิศบูรพา ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้วเข้าไปสู่สัณฐาคาร แล้วนั่งพิงฝาด้าน หลัง ผินหน้าไปทางทิศบูรพา ทำพระผู้มีพระภาคไว้ในเบื้องหน้า แม้เจ้าศากยราช ทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่สัณฐาคาร แล้ว ประทับนั่งพิงฝาด้านหน้า ทรงผินพระพักตร์ไปเบื้องหลัง ทรงทำพระผู้มีพระภาคไว้ ในเบื้องหน้าอย่างเดียวกัน ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังเจ้าศากยราช ทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาหลายราตรี แล้วทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า ดูกรท่านผู้โคตมโคตรทั้ง หลาย ราตรีล่วงไปแล้ว บัดนี้ท่านทั้งหลายจงสำคัญกาลที่จะเสด็จไปเถิด เจ้า ศากยราชทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า แล้วเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้ว เสด็จไป ฯ [๓๒๘] ลำดับนั้นแล เมื่อเจ้าศากยราชทั้งหลายผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ เสด็จไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานะมาตรัสว่า ดูกรโมคคัลลานะ ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้วแล ธรรมีกถาของเธอจงแจ่ม แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อยหลัง จักเหยียดหลัง ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปูลาดผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทด้วยพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงทำไว้ในพระทัยซึ่งอุฏฐานสัญญา ในลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุ เหล่านั้นรับต่อพระมหาโมคคัลลานะแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราจักแสดงอวัสสุตปริยายและอนวัสสุตปริยายแก่ท่าน ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังอวัสสุตปริยายและอนวัสสุตปริยายนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นรับต่อท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว ท่านพระมหา- *โมคคัลลานะได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีใจชุ่มด้วยกาม อย่างไร ภิกษุในศาสนานี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งกายคตาสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม อันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ฯลฯ ภิกษุในศาสนานี้ รู้แจ้ง ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองใน ธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันเป็นที่ดับไปไม่เหลืออกุศลธรรมอัน ลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้ เรียกว่า เป็นผู้มีใจชุ่มแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฯ [๓๒๙] ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ถ้าแม้ว่า มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติ อยู่อย่างนั้นทางจักษุ มารย่อมได้ช่องได้เหตุ ฯลฯ ถ้าแม้ว่ามารเข้าไปหาภิกษุนั้น ผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางใจ มารย่อมได้ช่องได้เหตุ ดูกรอาวุโส เรือนไม้อ้อก็ดี เรือนหญ้าก็ดี ที่แห้งเกราะ เขาทำไว้ภายนอกกาลฝน ถ้าแม้บุรุษพึงเข้าไปใกล้ เรือนไม้อ้อหรือเรือนหญ้านั้นในทิศบูรพา ด้วยคบหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว ไฟพึงได้ ช่องได้เหตุ ถ้าแม้บุรุษพึงเข้าไปใกล้เรือนไม้อ้อหรือเรือนหญ้านั้นในทิศปัศจิม ใน ทิศอุดร ในทิศทักษิณ ในทิศเบื้องต่ำ ในทิศเบื้องบน ด้วยคบหญ้าอันไฟติดทั่ว แล้ว ไฟพึงได้ช่องได้เหตุ ถ้าแม้ว่าบุรุษนั้นพึงเข้าไปใกล้เรือนไม้อ้อหรือเรือนหญ้า นั้น แต่ทิศใดทิศหนึ่ง ด้วยคบหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว ไฟพึงได้ช่องได้เหตุ แม้ ฉันใด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ถ้าแม้ว่ามารเข้าไปหาภิกษุนั้น ผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น ทางจักษุ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มารพึงได้ช่องได้เหตุ ฉันนั้น ฯ [๓๓๐] ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็รูปครอบงำภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น ภิกษุไม่ครอบงำรูป เสียงครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำเสียง กลิ่นครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำกลิ่น รสครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำรส โผฏฐัพพะครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำธรรมารมณ์ ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้ถูกรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ครอบงำ ไม่ครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ธรรมทั้งหลายที่เป็น บาป เป็นอกุศล มีความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ครอบงำแล้ว ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีใจชุ่มแล้วด้วยกามอย่างนี้แล ฯ [๓๓๑] ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มด้วยกามอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ไม่ ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม อันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้แล้ว มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อม รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะ พึงรู้แจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ถ้าแม้มารเข้าไป หาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางจักษุ มารย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้เหตุ ฯลฯ ถ้า แม้มารเข้าไปหาภิกษุนั้นทางใจ มารย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้เหตุ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ถ้าแม้บุรุษพึงเข้าไปใกล้กูฏาคารศาลาในทิศบูรพาด้วยคบหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว ไฟ ไม่พึงได้ช่องไม่พึงได้เหตุ เพราะการขยำดินทาอย่างแน่นหนา ถ้าแม้บุรุษพึงเข้า ไปใกล้กูฏาคารศาลานั้นในทิศปัศจิม ในทิศอุดร ในทิศทักษิณ ทิศเบื้องต่ำ ทิศ เบื้องบน ด้วยคบหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว ไฟไม่พึงได้ช่อง ไม่พึงได้เหตุ เพราะ การขยำดินทาอย่างแน่นหนา ถ้าแม้บุรุษพึงเข้าไปใกล้กูฏาคารนั้นแต่ที่ใดที่หนึ่งด้วย คบหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว ไฟไม่พึงได้ช่องไม่พึงได้เหตุ แม้ฉันใด ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ถ้าแม้มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางจักษุ มารก็ไม่ได้ช่อง ไม่ได้เหตุ ถ้าแม้มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางหู ทางจมูก ทาง ลิ้น ทางกาย ทางใจ มารย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้เหตุ ฉันนั้น ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น ครอบงำรูป รูปไม่ครอบงำภิกษุ ภิกษุครอบงำเสียง เสียงไม่ครอบงำภิกษุ ภิกษุครอบงำกลิ่น กลิ่นไม่ครอบงำภิกษุ ภิกษุครอบงำรส รสไม่ครอบงำภิกษุ ภิกษุครอบงำโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะไม่ครอบงำภิกษุ ภิกษุ ครอบงำธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ไม่ครอบงำภิกษุ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้ เรียกว่า ผู้ครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นบาป เป็นอกุศลเหล่านั้น อันมีความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวน กระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วด้วยกามอย่างนี้ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมาว่า ดีละ ดีละ โมคคัล- *ลานะ ดูกรโมคคัลลานะ เธอได้ภาษิตอวัสสุตปริยายและอนวัสสุตปริยายแก่ภิกษุ ทั้งหลาย ดีแล้วๆ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลง แล้ว พระศาสดาได้ทรงพอพระทัย ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิต ของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ฉะนั้นแล ฯ
จบสูตรที่ ๖

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๔๙๗๕-๕๐๙๑ หน้าที่ ๒๑๕-๒๒๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=4975&Z=5091&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=18&A=4975&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=189              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=326              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=18&A=4608              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=2219              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=18&A=4608              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=2219              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i309-e.php#sutta6 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.202.than.html https://suttacentral.net/sn35.243/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.243/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]