บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ทุกขธรรมสูตร [๓๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดและ ความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริง ก็ในกาลนั้นแล ภิกษุนั้น เป็นผู้เห็นกาม เมื่อเธอเห็นกามแล้ว ความพอใจ ความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อนเพราะกามในกามทั้งหลาย ไม่นอนเนื่องอยู่ด้วยอาการใด ก็ธรรม เป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ไม่ครอบงำ ภิกษุผู้ประพฤติอยู่ ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตาม เธออยู่ด้วยอาการนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้นและความ ดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างไร ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้น และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปดังนี้ ความ เกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับสูญแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้... สัญญาดังนี้ สังขาร ทั้งหลายดังนี้... วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับสูญแห่ง วิญญาณดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้นและความดับสูญแห่ง ทุกขธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริง อย่างนี้แล ฯ [๓๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้เห็นกามแล้วอย่างไรเล่า เมื่อเธอ เห็นกามทั้งหลายอยู่ ความพอใจ ความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อน เพราะกามในกามทั้งหลาย ไม่นอนเนื่องด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย หลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษ เต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ครั้งนั้นแล บุรุษผู้ปรารถนาเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษผู้มีกำลัง ๒ คน จับบุรุษคนนั้นข้างละแขน แล้วฉุดเข้าไปหาหลุมถ่านเพลิง นั้น บุรุษนั่นพึงน้อมกายนี้แหละเข้าไปด้วยประการดังนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะว่าบุรุษนั้นไม่มีความรู้ว่า เราเห็นหลุมถ่านเพลิงนี้และจะถึงความตายหรือความ ทุกข์แทบตาย เพราะหลุมถ่านเพลิงนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้เห็นกามอันเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ฉันนั้นแล เมื่อเธอเห็นกาม ทั้งหลายอยู่ ความพอใจ ความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อนเพราะกามในกาม ทั้งหลาย ไม่นอนเนื่องอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็น เครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น ฯ [๓๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็น เครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุอย่างไรเล่า อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและ โทมนัส ย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงเข้าไปสู่ป่าที่มีหนามมาก ข้างหน้าบุรุษนั้นก็มีหนาม ข้างซ้ายก็มีหนาม ข้าง ขวาก็มีหนาม ข้างล่างก็มีหนาม ข้างบนก็มีหนาม บุรุษนั้นมีสติก้าวเข้าไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง ด้วยคิดว่า หนามอย่าเบียดเบียนเรา แม้ฉันใด ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ธรรมคือปิยรูปและสาทรูปในโลก นี้เรากล่าวว่าเป็นหนามในวินัยของ พระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว พึงทราบอสังวรและสังวร ฯ [๓๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อม น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่เข้าไปตั้งกาย คตาสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตาม ความเป็นจริง ฯลฯ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมใจไปในธรรมารมณ์ อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ แล้ว มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็น จริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีอย่างนี้แล ฯ [๓๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังวรย่อมมีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อม ไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้ อยู่ ย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม อันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ฯลฯ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ที่ บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังวรย่อมมี อย่างนี้แล ฯ [๓๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไป เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ย่อมบังเกิด ขึ้นเพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ที่นั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อม ให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงให้หยาดน้ำสองหรือสาม หยาดตกลงในกระทะเหล็กอันร้อนจัดตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้า ทีนั้นแล น้ำนั้น พึงถึงความสิ้นไป เหือดแห้งไปเร็วพลัน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อ ภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่าน ไป เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบาง คราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ที่นั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศล ธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน ฉันนั้น เหมือนกันแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรม เป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการอย่างนี้แล ฯ [๓๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพระราชา มหาอำมาตย์ แห่งพระราชา มิตร อำมาตย์ ญาติ หรือสาโลหิต พึงปวารณาภิกษุนั้นผู้ประพฤติอย่างนี้ อยู่ อย่างนี้ เพื่อให้ยินดียิ่ง ด้วยโภคะทั้งหลายว่า ท่านจงมาเถิดบุรุษผู้เจริญ ผ้ากาสาวะ เหล่านี้ยังความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นแก่ท่านมิใช่หรือ ท่านจะเป็นคนโล้นเที่ยวถือ กระเบื้องอยู่ทำไม ท่านจงสึกมาบริโภคและจงทำบุญเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ นั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ จักบอกคืนสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนั้นไม่ใช่ ฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไป หลั่งไป เทไปในทิศปราจีน ถ้าว่ามหาชนพึงเอาจอบและตะกร้ามาด้วยคิดว่า พวกเราจักช่วยกันทำแม่น้ำคงคา นี้ให้ไหลไป หลั่งไป เทไปข้างหลัง เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หมู่มหาชนนั้นพึงกระทำแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลไป หลั่งไป เทไปข้างหลังได้บ้าง หรือหนอแล ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ฯ ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแม่น้ำคงคาไหลไป หลั่งไป เทไปใน ทิศปราจีน แม่น้ำคงคานั้นอันบุคคลจะทำให้ไหลไป หลั่งไป เทไปข้างหลัง ไม่ใช่ กระทำได้ง่าย ก็หมู่มหาชนนั้นพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบาก ความคับแค้นเพียงไร แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพระราชา มหาอำมาตย์แห่งพระราชา มิตร อำมาตย์ ญาติหรือสาโลหิต พึงปวารณาภิกษุนั้นผู้ประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ เพื่อจะให้ยินดียิ่งด้วยโภคะทั้งหลายว่า ท่านจงมาเถิดบุรุษผู้เจริญ ผ้ากาสาวะเหล่านี้ ยังความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นแก่ท่านมิใช่หรือ ท่านจะเป็นคนโล้นเที่ยวถือกระเบื้อง อยู่ทำไม ท่านจงสึกมาบริโภคโภคะและจงทำบุญเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น ประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ จักบอกคืนสิกขาสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนั้นไม่ ใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตของเธอ น้อมไป เอนไป เงื้อมไปในวิเวกสิ้นกาลนาน ก็จิตนั้นจักเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯจบสูตรที่ ๗ เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๕๐๙๒-๕๑๘๘ หน้าที่ ๒๒๐-๒๒๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=5092&Z=5188&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=18&A=5092&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=190 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=332 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=18&A=4739 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=2473 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=18&A=4739 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=2473 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i309-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.203x.wlsh.html https://suttacentral.net/sn35.244/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.244/en/bodhi
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]