ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๙
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๔๖๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็น กุลุปิกาของตระกูลแห่งหนึ่ง เป็นผู้รับภัตตาหารประจำอยู่. ก็แลคหบดีนั้นได้นิมนต์พระเถระทั้ง หลายไว้. ครั้นเวลาเช้า ภิกษุณีถุลลนันทาครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่ตระกูลนั้น. ครั้นแล้วได้ถามคหบดีนั้นว่า ดูกรท่านคหบดี ท่านจัดของเคี้ยวของฉันนี้ไว้มากมายทำไม ค. กระผมได้นิมนต์พระเถระทั้งหลายไว้ ขอรับ. ถุ. ดูกรคหบดี พระเถระเหล่านั้นคือใครบ้าง ค. คือพระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ พระคุณเจ้ามหากัจจานะ พระคุณเจ้ามหาโกฏฐิตะ พระคุณเจ้ามหากัปปินะ พระคุณเจ้ามหาจุนทะ พระคุณเจ้าอนุรุทธะ พระคุณเจ้าเรวตะ พระคุณเจ้าอุบาลี พระคุณเจ้าอานนท์ พระคุณเจ้าราหุล. ถุ. ดูกรคหบดี ก็เมื่อพระเถระผู้ใหญ่มีปรากฏอยู่ ทำไมท่านจึงนิมนต์พระเล็กๆ เล่า ค. พระเถระผู้ใหญ่เหล่านั้นคือใครบ้าง ขอรับ ถุ. คือพระคุณเจ้าเทวทัต พระคุณเจ้าโกกาลิกะ พระคุณเจ้ากฏโมรกติสสกะ พระ- *คุณเจ้าขัณฑเทวีบุตร, พระคุณเจ้าสมุทททัต. ในระหว่างที่ภิกษุณีถุลลนันทาพูดค้างอยู่เช่นนี้ พอดีพระเถระทั้งหลายเข้ามาถึง. นางกลับ พูดว่า ดูกรคหบดี ถูกแล้ว พระเถระผู้ใหญ่ทั้งนั้น ท่านนิมนต์มาแล้ว. ค. เมื่อกี้นี้เองแท้ๆ ท่านพูดว่าพระคุณเจ้าทั้งหลายเป็นพระเล็กๆ เดี๋ยวนี้กลับพูดว่า เป็นพระเถระผู้ใหญ่. คหบดีนั้นพูดแล้วขับนางออกจากเรือน และงดอาหารที่ถวายประจำ. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตรู้อยู่ จึงฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระเทวทัตว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่า เธอรู้อยู่ ฉันบิณฑบาต อันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย จริงหรือ? พระเทวทัตทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่ จึงได้ฉันบิณฑบาต อันภิกษุณีแนะนำให้ถวายเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๗๘. ๙. ก. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๔๖๒] สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งบวชมาจากพระนครราชคฤห์แล้ว ได้เดินทางไปยัง ตระกูลญาติ. คนทั้งหลายได้ตั้งใจจัดภัตตาหารถวาย ด้วยดีใจว่า ต่อนานๆ ท่านจึงได้มา. ภิกษุณี กุลุปิกาของตระกูลนั้น ได้บอกแนะนำคนพวกนั้นว่า ขอพวกท่านจงถวายภัตตาหารแก่พระคุณเจ้า เถิด. ฝ่ายภิกษุณีรูปนั้นรังเกียจว่า การที่ภิกษุรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้ถวาย พระผู้มี- *พระภาคทรงห้ามไว้แล้วดังนี้ จึงไม่รับประเคน และไม่สามารถจะเที่ยวไปบิณฑบาต ได้ขาด ภัตตาหารแล้ว ครั้นเธอไปถึงพระอารามแล้วแจ้งความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงอนุญาตให้ฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเพราะคฤหัสถ์ปรารภไว้ ก่อน เราอนุญาตให้ภิกษุผู้รู้อยู่ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้เขาถวายได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๗๘. ๙. ข. อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เว้นแต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๔๖๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า รู้ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอกเธอ หรือภิกษุณีนั้นบอก. ผู้ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย. ที่ชื่อว่า แนะนำให้ถวาย คือ ภิกษุณีบอกแก่ผู้ไม่ประสงค์จะถวายทาน ไม่ประสงค์ จะทำบุญไว้แต่แรกว่า ท่านเป็นนักสวด ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระสุต- *ตันตปิฎก ท่านเป็นพระวินัยธร ท่านเป็นพระธรรมกถึก ขอท่านทั้งหลายจงถวายทานแก่ท่านเถิด ขอท่านทั้งหลายจงทำบุญแก่ท่านเถิด ดังนี้ นี้ชื่อว่า แนะนำให้ถวาย. ที่ชื่อว่า บิณฑบาต ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า เว้นไว้แต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน คือ ยกแต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน. ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ปรารภไว้ คือ เขาเป็นญาติ เป็นผู้ปวารณา หรือเขาจัดแจงไว้ตาม ปกติ. เว้นจากบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้อง- *อาบัติทุกกฏ. ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน.
บทภาชนีย์
[๔๖๔] บิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย ภิกษุสำคัญว่าแนะนำให้ถวาย ฉัน เว้นไว้ แต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย ภิกษุสงสัย ฉัน เว้นไว้แต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ต้องอาบัติทุกกฏ. บิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้แนะนำให้ถวาย ฉัน เว้นไว้ แต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ไม่ต้องอาบัติ. บิณฑบาตอันภิกษุณีผู้อุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายเดียว แนะนำให้ถวาย ภิกษุฉัน เว้นไว้แต่ คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ต้องอาบัติทุกกฏ. บิณฑบาตอันภิกษุณีมิได้แนะนำให้ถวาย ภิกษุสำคัญว่าแนะนำให้ถวาย ฉัน ต้องอาบัติ- *ทุกกฏ. บิณฑบาตอันภิกษุณีมิได้แนะนำให้ถวาย ภิกษุสงสัย ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. บิณฑบาตอันภิกษุณีมิได้แนะนำให้ถวาย ภิกษุสำคัญว่ามิได้แนะนำให้ถวาย ฉัน ไม่ต้อง อาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๔๖๕] ภิกษุฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ๑ ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสิกขมานา แนะนำให้ถวาย ๑ ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสามเณรีแนะนำให้ถวาย ๑ ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดเว้น โภชนะห้า ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐๐๓๗-๑๐๑๒๗ หน้าที่ ๔๑๖-๔๑๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10037&Z=10127&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=10037&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=65              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=461              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=5358              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8033              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=5358              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8033              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc29/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]