บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๓ เรื่องบุรุษเข็ญใจ [๔๘๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี. ครั้งนั้น ประชาชนได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ ในพระนคร- *เวสาลี. คราวนั้น กรรมกรเข็ญใจคนหนึ่งดำริว่า ทานนี้จักไม่เป็นกุศลเล็กน้อย เพราะประชาชน พวกนี้ทำภัตตาหารโดยเคารพ ผิฉะนั้น เราควรทำภัตตาหารบ้าง ดังนั้นเขาจึงเข้าไปหานาย กิรปติกะบอกความจำนงว่าคุณครับ กระผมปรารถนาจะทำภัตตาหารถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข, ขอท่านโปรดให้ค่าจ้างแก่กระผม แม้นายกิรปติกะนั้น ก็เป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใส เขาจึงได้ให้ค่าจ้างแก่กรรมกรเข็ญใจนั้นเกินปกติ ฝ่ายกรรมกรเข็ญใจนั้น ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลอาราธนาว่า ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญ บุญกุศลและปีติปราโมทย์ ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่นัก เธอจงทราบ. กรรมกรนั้นกราบทูลว่า ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ก็ไม่เป็นไร พระพุทธเจ้าข้า. ผลพุทราข้าพระพุทธเจ้าจัดเตรียมไว้มาก อาหาร ที่เป็นเครื่องดื่มเจือด้วยพุทราจักบริบูรณ์. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ. ครั้นเขาทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มี พระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว. ภิกษุทั้งหลาย ทราบข่าวว่า กรรมกรเข็ญใจผู้หนึ่ง นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันในวัน พรุ่งนี้, อาหารที่เป็นเครื่องดื่มเจือด้วยผลพุทราจักบริบูรณ์ เธอจึงเที่ยวบิณฑบาตฉันเสียแต่เช้า. ชาวบ้านทราบข่าวว่า กรรมกรเข็ญใจผู้หนึ่งได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เขาจึง นำของเคี้ยวของฉันเป็นอันมากไปช่วยกรรมกรเข็ญใจ. ส่วนกรรมกรเข็ญใจผู้นั้น สั่งให้ตกแต่ง ขาทนียโภชนียาหารอันประณีต โดยล่วงราตรีนั้น แล้วให้ไปกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มี พระภาคว่า ได้เวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ขณะนั้นแลเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงบาตรจีวรเสด็จไป ยังที่อยู่ของกรรมกรเข็ญใจผู้นั้น ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. จึงกรรมกรเข็ญใจผู้นั้นอังคาสภิกษุทั้งหลายในโรงภัตตาหาร. ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส จงถวายแต่น้อยเถิด, จงถวายแต่น้อยเถิด. กรรมกรกราบเรียนว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย โปรดอย่าเข้าใจว่า กระผมนี้เป็นกรรมกร เข็ญใจ แล้วรับแต่น้อยๆ เลย เจ้าข้า. ของเคี้ยวของฉันกระผมได้จัดหาไว้มากมาย ขอพระ- *คุณเจ้าทั้งหลายได้โปรดเรียกร้องตามประสงค์เถิด เจ้าข้า. ภิกษุทั้งหลายตอบว่า พวกฉันขอรับแต่น้อยๆ มิใช่เพราะเหตุนั้นเลย เพราะพวกฉัน เที่ยวบิณฑบาตฉันมาแต่เช้าแล้วต่างหาก ฉะนั้น พวกฉันจึงขอรับแต่น้อยๆ. ลำดับนั้นแล กรรมกรเข็ญใจผู้นั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้า ผู้เจริญทั้งหลาย อันข้าพเจ้านิมนต์ไว้แล้ว จึงได้ฉันเสียในที่อื่นเล่า? ข้าพเจ้าไม่สามารถจะถวาย ให้เพียงพอแก่ความต้องการหรือ. ภิกษุทั้งหลายได้ยินเขาเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่าง ก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้วไฉนจึงได้ฉันเสีย ในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุรับ นิมนต์ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้ว ฉันเสียในที่อีกแห่งหนึ่ง จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านั้นรับนิมนต์ ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้ว ไฉนจึงได้ฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า การกระทำของโมฆบุรุษพวกนั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่ เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๘๒. ๓. ก. เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องบุรุษเข็ญใจ จบ. เรื่องคิลานสมัย [๔๘๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ. ภิกษุอีกรูปหนึ่ง นำบิณฑบาตเข้าไปถวาย ภิกษุผู้อาพาธนั้น แล้วได้กล่าวว่า อาวุโส นิมนต์ฉันเถิด. ภิกษุอาพาธปฏิเสธว่า ไม่ต้อง อาวุโส ความหวังจะได้ภัตตาหารของผมมีอยู่. พอเวลาสาย ทายกนำบิณฑบาตมาถวายภิกษุอาพาธนั้น เธอฉันไม่ได้ตามที่คาดหมาย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงอนุญาตให้ฉันโภชนะทีหลัง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก เกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันโภชนะ ทีหลังได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๑ ๘๒. ๓. ข. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง. นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้, นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องคิลานสมัย จบ. เรื่องจีวรทานสมัย [๔๘๘] สมัยนั้นแล เป็นคราวที่ถวายจีวร ประชาชนพากันตกแต่งภัตตาหารพร้อม ด้วยจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายว่า พวกข้าพเจ้าจักนิมนต์ให้ท่านฉันแล้วจักให้ครองจีวร ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจว่าไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่า โภชนะทีหลังพระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว จีวรจึงเกิดขึ้นเล็กน้อย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ถวายจีวรกัน เราอนุญาตให้ฉันโภชนะทีหลังได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๒ ๘๒. ๓. ค. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง. นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้ คราวที่ถวายจีวร, นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องจีวรทานสมัย จบ. เรื่องจีวรกาลสมัย [๔๘๙] ต่อมาอีก ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร. ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจไม่รับนิมนต์ด้วยอ้างว่าโภชนะทีหลัง พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว. ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่ทำ จีวรกัน เราอนุญาตให้ฉันโภชนะทีหลังได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๓ ๘๒. ๓. ง. เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง. นี้สมัยใน เรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร, นี้สมัยในเรื่องนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องจีวรกาลสมัย จบ. เรื่องวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ [๔๙๐] ครั้งนั้นแลเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จเข้าสู่ตระกูลแห่งหนึ่ง ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือ พุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย. จึงชาวบ้านเหล่านั้นได้ถวายโภชนาหารแด่พระผู้มีพระภาคและท่าน พระอานนท์ ท่านพระอานนท์รังเกียจ ไม่รับประเคน. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า รับเถิด อานนท์. พระอานนท์กราบทูลว่า ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า, เพราะความหวังจะได้ภัตตาหารของ ข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจึงวิกัปแล้วรับเถิด. ครั้นแล้วพระองค์ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้แล้ว ฉันโภชนะทีหลังได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงวิกัปอย่างนี้:-คำวิกัปภัตตาหาร ข้าพเจ้าให้ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ของข้าพเจ้า แก่ท่านผู้มีชื่อนี้.เรื่องวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๔๙๑] ที่ชื่อว่า โภชนะทีหลัง ความว่า ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใด อย่างหนึ่งไว้แล้ว เว้นโภชนะนั้น ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งอื่นนี่ชื่อว่า โภชนะ ทีหลัง. บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นสมัย. ที่ชื่อว่า คราวเป็นไข้ คือ ไม่สามารถจะเป็นผู้นั่งบนอาสนะอันเดียวฉันจนอิ่มได้. ภิกษุคิดว่าเป็นคราวอาพาธ แล้วฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวที่ถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กราน ได้ท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อ กฐินกรานแล้ว เป็น ๕ เดือน. ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่ถวายจีวร แล้วฉันได้. ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่า เป็นคราวที่ทำจีวรกัน แล้วฉันได้. เว้นไว้แต่สมัย ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ฉัน ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน.บทภาชนีย์ ติกปาจิตตีย์ [๔๙๒] โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่าโภชนะทีหลัง เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์. โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่ามิใช่โภชนะทีหลัง เว้นไว้แต่สมัย ฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์.ทุกทุกกฏ ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่าโภชนะทีหลัง ... ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสำคัญว่ามิใช่โภชนะทีหลัง ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๔๙๓] ภิกษุฉันในสมัย ๑ ภิกษุวิกัปแล้วฉัน ๑ ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน ๑ ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์ ๑ ภิกษุรับนิมนต์ชาวบ้านทั้งมวล แล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในตำบลบ้านนั้น ๑ ภิกษุรับนิมนต์หมู่ประชาชนทุกเหล่าแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในประชาชนหมู่นั้น ๑ ภิกษุถูกเขานิมนต์ แต่บอกว่า จักรับภิกษา ๑ ภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์ ๑ ภัตตาหารที่เขาถวายด้วยสลาก ๑ ภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์ ๑ ภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ ๑ ภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท ๑ ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะห้า ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐๔๔๔-๑๐๕๘๙ หน้าที่ ๔๓๔-๔๔๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10444&Z=10589&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=10444&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=69 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=486 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=5672 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8279 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=5672 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8279 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc33/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]