บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๑. จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๗ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ [๕๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้มีจีวร ถูกชิงไป แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย การขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนหรือแม่เจ้าเรือนผู้มิใช่ ญาติ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้มีจีวรถูกชิงไป หรือผู้มีจีวรฉิบหายแล้ว ท่านทั้งหลาย จงขอจีวรเถิด. ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า พอแล้ว ขอรับ พวกผมได้จีวรมาแล้ว. ฉ. พวกผมจะขอเพื่อประโยชน์ของพวกท่าน. ภิ. จงขอเถิด ขอรับ. ลำดับนั้น พระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาพวกพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ แล้วกล่าวคำนี้ว่า ท่าน- *ทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีจีวรถูกชิงไปมาแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงถวายจีวรแก่พวกเธอ ดังนี้แล้ว ขอจีวรได้มาเป็นอันมาก ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง นั่งอยู่ในที่ชุมชน พูดกะบุรุษอีกผู้หนึ่งว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ผู้มีจีวรถูกชิงไปมาแล้ว ข้าพเจ้าได้ถวายจีวรแก่ท่านเหล่านั้นแล้ว แม้บุรุษอีกผู้หนึ่งนั้นก็กล่าว อย่างนี้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ได้ถวายไปแล้ว แม้บุรุษอื่นอีกก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ได้ถวายไป แล้ว บุรุษเหล่านั้น จึงพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงไม่รู้จักประมาณ ขอจีวรมามากมายเล่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จักทำการค้าผ้า หรือจัดตั้งร้านขายผ้า. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ไม่รู้จักประมาณ ขอจีวรมามากมายเล่า แล้วกราบทูลเรื่อง นั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอไม่รู้จัก ประมาณ ขอจีวรมาไว้มากมาย จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงไม่รู้จัก ประมาณ ขอจีวรมาไว้มากมายเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำ ของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสและเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.ทรงบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์ โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่ง ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความจำกัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่อ อยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัด อาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความ เลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระ- *วินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๒๖. ๗. ถ้าพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ปวารณาต่อภิกษุ นั้น ด้วยจีวรเป็นอันมาก เพื่อนำไปได้ตามใจ ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวร มีอุตราสงค์ อันตรวาสกเป็นอย่างมาก จากจีวรเหล่านั้น ถ้ายินดียิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิย- *ปาจิตตีย์.เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๕๙] บทว่า ถ้า ... ต่อภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้มีจีวรถูกชิงไป. ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนก. ที่ชื่อว่า พ่อเจ้าเรือน ได้แก่ บุรุษผู้ครอบครองเรือน. ที่ชื่อว่า แม่เจ้าเรือน ได้แก่สตรีผู้ครอบครองเรือน. บทว่า ด้วยจีวรเป็นอันมาก คือ จีวรหลายผืน. บทว่า ปวารณา ... เพื่อนำไปได้ตามใจ คือ ปวารณาว่า ท่านต้องการจีวรเท่าใด ก็จงรับไปเท่านั้นเถิด. คำว่า ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างมาก จากจีวร เหล่านั้น ความว่า ถ้าจีวรหาย ๓ ผืน เธอพึงยินดีเพียง ๒ ผืน หาย ๒ ผืน พึงยินดีเพียง ผืนเดียว หายผืนเดียว อย่าพึงยินดีเลย. คำว่า ถ้ายินดียิ่งกว่านั้น ความว่า ขอมาได้มากกว่านั้น เป็นทุกกฏ ในประโยค ที่ยินดีเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ ด้วยได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้น อย่างนี้:-วิธีเสียสละ เสียสละแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วเกินกำหนดต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุ มีชื่อนี้.เสียสละแก่คณะ ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วเกินกำหนดต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสีย สละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่าน ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่บุคคล ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วเกินกำหนด ต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ เป็น ของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.บทภาชนีย์ [๖๐] เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ขอจีวรเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย ขอจีวรเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ขอจีวรเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์.ทุกกฏ เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ขอจีวร ... ต้องอาบัติทุกกฏ. เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย ขอจีวร ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๖๑] ภิกษุนำเอาไปด้วยคิดว่า จักนำจีวรที่เหลือมาคืน ๑ เจ้าเรือนถวายบอกว่า จีวร ที่เหลือจงเป็นของท่านรูปเดียว ๑ เจ้าเรือนไม่ได้ถวายเพราะเหตุจีวรถูกชิงไป ๑ เจ้าเรือนไม่ได้ ถวายเพราะเหตุจีวรหาย ๑ ภิกษุขอต่อญาติ ๑ ภิกษุขอต่อคนปวารณา ๑ ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ ของตน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐๘๙-๑๒๐๓ หน้าที่ ๔๖-๕๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=1089&Z=1203&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=1089&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=7 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=58 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=695 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4142 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=695 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4142 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np7/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]