บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๑. จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร [๖๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่งได้กล่าวคำนี้กะภรรยาว่า ฉักจักยัง ท่านพระอุปนันทะให้ครองจีวร. ภิกษุรูปหนึ่งผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ได้ยินบุรุษนั้นกล่าวคำนี้ จึงเข้าไปหาท่าน พระอุปนันทศากยบุตร ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า อาวุโส อุปนันทะ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก ในสถานที่โน้น บุรุษผู้หนึ่งได้กล่าวคำนี้กะภรรยาว่า ฉันจักยังท่านพระ- *อุปนันทะให้ครองจีวร. ท่านพระอุปนันทะกล่าวรับรองว่า มีขอรับ เขาเป็นอุปัฏฐากของผม. ครั้นแล้วท่านพระ- *อุปนันทศากยบุตร ได้เข้าไปหาบุรุษนั้นแล้วสอบถามเขาว่า จริงหรือ ข่าวว่า ท่านประสงค์จะให้ อาตมาครองจีวร? บุ. ความจริง ผมตั้งใจไว้อย่างนี้ว่า จักยังท่านพระอุปนันทะให้ครองจีวร. อุ. ถ้าท่านประสงค์จะให้อาตมาครองจีวร ก็จงให้ครองจีวรชนิดนี้เถิด เพราะจีวรที่ อาตมาไม่ใช้ แม้ครองแล้วจักทำอะไรได้. บุรุษนั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาขึ้นในขณะนั้นว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากย- *บุตรเหล่านี้ เป็นคนมักมาก ไม่สันโดษ จะให้ครองจีวรก็ทำได้ไม่ง่าย ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันทะ อันเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนจึงได้เข้ามาหา แล้วถึงการกำหนดในจีวรเล่า. ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร อันเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงได้เข้าไปหาพ่อเจ้าเรือน ถึงการ กำหนดในจีวรเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธออันเขา ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ได้เข้าไปหาพ่อเจ้าเรือนแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร จริงหรือ? ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรอุปนันทะ เขาเป็นญาติของเธอ หรือมิใช่ญาติ? อุ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ คนที่มิใช่ญาติย่อมไม่รู้การกระทำอัน สมควรหรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มี ของคนที่มิใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธออันเขาไม่ ได้ปวารณาไว้ก่อน ยังเข้าไปหาพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ แล้วถึงการกำหนดในจีวรได้ การกระทำ ของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว. พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัส โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่ สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุง ง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ- *สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๒๗.๘. อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ตระเตรียม ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะภิกษุไว้ว่า เราจักจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้ว ถึงการกำหนดในจีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ท่านจงจ่ายจีวรเช่นนั้น หรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้วยังรูปให้ครองเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เพราะ อาศัยความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี.เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๖๓] บทว่า อนึ่ง ... เฉพาะภิกษุ ความว่า เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ ทำภิกษุให้เป็น อารมณ์แล้วใคร่จะให้ภิกษุครอง. ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนก. ที่ชื่อว่า พ่อเจ้าเรือน ได้แก่ บุรุษผู้ครอบครองเรือน. ที่ชื่อว่า แม่เจ้าเรือน ได้แก่ สตรีผู้ครอบครองเรือน. ที่ชื่อว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ได้แก่ เงิน ทอง แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วลาย แก้วผลึก ผ้า ด้าย หรือฝ้าย. บทว่า ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ คือ ด้วยทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ. บทว่า จ่าย คือ แลกเปลี่ยน. บทว่า ให้ครอง คือ จักถวาย. คำว่า ถ้าภิกษุนั้น ... ในสำนักของเขา ได้แก่ ภิกษุที่เขาตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่าย จีวรไว้ถวายเฉพาะ. บทว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ เป็นผู้อันเขาไม่ได้บอกไว้ก่อนว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจะต้องการจีวรเช่นไร ผมจักจ่ายจีวรเช่นไรถวายท่าน. บทว่า เข้าไปหาแล้ว คือ ไปถึงเรือนแล้ว เข้าไปหาในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง. บทว่า ถึงการกำหนดในจีวร คือ กำหนดว่า ขอให้ยาว ขอให้กว้าง ขอให้เนื้อแน่น หรือขอให้เนื้อละเอียด. บทว่า ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ คือ ด้วยทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ. บทว่า เช่นนั้นหรือเช่นนี้ คือ ยาวหรือกว้าง เนื้อแน่นหรือเนื้อละเอียด. บทว่า จ่าย คือ แลกเปลี่ยน. บทว่า ยังรูปให้ครองเถิด คือ จงให้. บทว่า เพราะอาศัยความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี คือ มีความประสงค์ผ้าที่ดี ต้องการ ผ้าที่มีราคาแพง. เขาจ่ายจีวรยาวก็ดี กว้างก็ดี เนื้อแน่นก็ดี เนื้อละเอียดก็ดี ตามคำของเธอ เป็นทุกกฏ ในประโยคที่เขาจ่าย เป็นนิสสัคคีย์ ด้วยได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้น อย่างนี้:-วิธีเสียสละ เสียสละแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้า ไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละ จีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุ มีชื่อนี้.เสียสละแก่คณะ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้า ไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละ จีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่าน ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่บุคคล ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปหา เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้ แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.บทภาชนีย์ ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์ [๖๔] เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหา เจ้าเรือนแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาเจ้าเรือนแล้ว ถึงการ กำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาเจ้า เรือนแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกกฏ เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๖๕] ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้เป็นญาติ ๑ ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้ปวารณาไว้ ๑ ภิกษุขอ เพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น ๑ ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ เจ้าเรือนใคร่จะจ่ายจีวรมีราคาแพง ภิกษุให้เขาจ่ายจีวรมีราคาถูก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๒๐๔-๑๓๓๙ หน้าที่ ๕๑-๕๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=1204&Z=1339&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=1204&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=8 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=62 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=755 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4185 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=755 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4185 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np8/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]