ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๒. โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๔
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๘๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายให้เขาทำสันถัตใช้ทุกๆ ปี, พวก- *เธอวอนขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลายจงให้ขนเจียม อาตมาต้องการขนเจียม. ชาวบ้านพากัน เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ จึงได้ขอให้เขาทำ สันถัตใช้ทุกๆ ปี วอนขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลายจงให้ขนเจียม อาตมาต้องการขนเจียม ส่วนสันถัตของพวกเราทำคราวเดียว ถูกเด็กๆ ของพวกเราถ่ายอุจจาระรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรด บ้าง หนูกัดเสียบ้าง ก็ยังอยู่ได้ถึง ๕-๖ ปี; ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ ขอ ให้เขาทำสันถัตใช้ทุกๆ ปี วอนขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลายจงให้ขนเจียม อาตมาต้องการ ขนเจียม. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงได้ขอให้เขาทำสันถัตใช้ทุกๆ ปี วอนขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลายจงให้ ขนเจียม อาตมาต้องการขนเจียม ดังนี้เล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ขอให้เขาทำสันถัตใช้ทุกๆ ปี วอนขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ทั้งหลายจงให้ขนเจียม อาตมาต้องการ ขนเจียม ดังนี้ จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ, ไฉน โมฆบุรุษเหล่านั้น จึงได้ให้เขาทำสันถัตใช้ทุกๆ ปี วอนขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลายจงให้ขนเจียม อาตมาต้องการ ขนเจียม ดังนี้เล่า? การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของ พวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุทั้งหลายโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การ ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่ เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ- *สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๓๓.๔. อนึ่ง ภิกษุให้ทำสันถัตใหม่แล้ว พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน, ถ้ายัง หย่อนกว่า ๖ ฝน เธอสละเสียแล้วก็ดี ยังไม่สละแล้วก็ดี ซึ่งสันถัตนั้น ให้ทำสันถัต อื่นใหม่, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.ฯ ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลายด้วย ประการฉะนี้.ฯ
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
พระอนุบัญญัติ
เรื่องภิกษุอาพาธ
[๘๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธอยู่ในพระนครโกสัมพี. พวกญาติส่งทูต ไปในสำนักภิกษุรูปนั้นว่า นิมนต์ท่านมา พวกผมจักพยาบาล. แม้ภิกษุทั้งหลายก็ได้กล่าวอย่างนี้ ว่า ไปเถิดอาวุโส พวกญาติจักได้พยาบาลท่าน. ภิกษุนั้นได้ตอบอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า อนึ่ง ภิกษุให้ทำสันถัตใหม่แล้ว พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน, ก็ผมกำลังอาพาธ ไม่สามารถจะนำสันถัตไป ด้วยได้ และผมเว้นสันถัตแล้ว ไม่สบาย ผมจักไม่ไปละ. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงอนุญาตให้สมมติสันถัต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติ สันถัตแก่ภิกษุผู้อาพาธ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สมมติสันถัตนั้น อย่างนี้:-
วิธีสมมติสันถัต
ภิกษุผู้อาพาธรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษา กว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธ ไม่สามารถจะนำสันถัตไปด้วยได้, ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้น ขอสมมติสันถัตต่อสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓, ภิกษุ ผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึง ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำ สันถัตไปด้วยได้ เธอขอสมมติสันถัตต่อสงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงให้สมมติสันถัตแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำ สันถัตไปด้วยได้ เธอขอสมมติสันถัตต่อสงฆ์. สงฆ์ให้สมมติสันถัตแก่ภิกษุมีชื่อนี้; การ ให้สมมติสันถัตแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง. ไม่ชอบแก่ ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. การสมมติสันถัตอันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์, เหตุนั้นจึงนิ่ง. ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๓๓.๔. ก. อนึ่ง ภิกษุให้ทำสันถัตใหม่แล้ว พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน. ถ้ายัง หย่อนกว่า ๖ ฝน เธอสละเสียแล้วก็ดี ยังไม่สละแล้วก็ดี ซึ่งสันถัตนั้น ให้ทำสันถัต อื่นใหม่ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.ฯ
เรื่องภิกษุอาพาธ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๘๘] ที่ชื่อว่า ใหม่ ตรัสหมายการทำขึ้น. ที่ชื่อว่า สันถัต ได้แก่ผ้ารองนั่งที่เขาหล่อ ไม่ใช่ทอ. บทว่า ให้ทำแล้ว คือ ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม. บทว่า พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน คือ พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝนเป็นอย่างเร็ว. บทว่า ถ้ายังหย่อนกว่า ๖ ฝน คือ ยังไม่ถึง ๖ ฝน. บทว่า สละเสียแล้วก็ดี ... ซึ่งสันถัตนั้น คือ ให้แก่คนอื่นไป. บทว่า ยังไม่สละแล้วก็ดี คือ ยังไม่ได้ให้แก่ใครๆ. บทว่า เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ. ภิกษุทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม ซึ่งสันถัตอื่นใหม่ เป็นทุกกฏในประโยคที่ทำ, เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้สันถัตมา, ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละสันถัตนั้น อย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า กระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า สันถัตผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้ทำหย่อนกว่า ๖ ฝน เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละสันถัตผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนสันถัตที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. สันถัตผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะ สละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงให้สันถัตผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษา กว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า สันถัตผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้ทำหย่อนกว่า ๖ ฝน เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละสันถัตผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนสันถัตที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า, สันถัตผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะ สละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว, ท่านทั้งหลายพึงให้สันถัตผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน สันถัตผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้ทำหย่อนกว่า ๖ ฝน เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ เป็น ของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละสันถัตผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนสันถัตที่เสีย- *สละให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้สันถัตผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.
บทภาชนีย์
จตุกกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๘๙] สันถัตตนทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อให้สำเร็จเอง, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. สันถัตตนทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนสำเร็จ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อให้สำเร็จเอง, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนสำเร็จ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
อนาปัตติวาร
[๙๐] ครบ ๖ ฝนแล้วภิกษุทำใหม่ ๑, เกิน ๖ ฝนแล้วภิกษุทำใหม่ ๑. ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อใช้เป็นของอื่น ๑, ภิกษุได้สันถัตที่คนอื่นทำไว้แล้ว ใช้สอย ๑, ภิกษุทำเป็น เพดานก็ดี เป็นเครื่องลาดพื้นก็ดี เป็นม่านก็ดี เป็นเปลือกฟูกก็ดี เป็นปลอกหมอนก็ดี, ภิกษุได้ สมมติ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.
โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๙๗๗-๒๑๑๓ หน้าที่ ๘๓-๘๘. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=1977&Z=2113&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=1977&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=14              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=86              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=1228              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4590              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=1228              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4590              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np14/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]