ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ วรรคที่ ๓
๓. ปัตตวรรคสิกขาบทที่ ๑
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๑๑๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์สั่งสมบาตรไว้เป็นอันมาก ชาวบ้านพากันเที่ยวชมวิหาร เห็นแล้วพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะ เชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้สั่งสมบาตรไว้เป็นอันมาก ท่านจักทำการขายบาตร หรือจักตั้งร้านขาย ภาชนะดินเผา. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้ มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์ จึงได้ทรงอติเรกบาตรเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอ ทรงอติเรกบาตร จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน พวกเธอจึงได้ทรง อติเรกบาตรเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็น ไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวก ที่เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ- *สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๔๐. ๑. อนึ่ง ภิกษุใด ทรงอติเรกบาตร, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
-----------------------------------------------------
พระอนุบัญญัติ
เรื่องพระอานนท์
[๑๑๘] ก็โดยสมัยนั้นแล อติเรกบาตรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์มีอยู่ และท่าน ประสงค์จะถวายบาตรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร, แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต. ท่านพระ- *อานนท์จึงมีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกบาตร ก็นี่อติเรกบาตรบังเกิดแก่เรา และเราก็ใคร่จะถวายแก่ท่านพระสารีบุตร, แต่ท่านอยู่ถึงเมืองสาเกต. เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ? ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ยังอีกนานเท่าไร สารีบุตรจึงจะกลับมา?. พระอานนท์กราบทูลว่า ท่านจะกลับมาในวันที่ ๙ หรือ ๑๐ พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอติเรก- *บาตรไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง, อนึ่ง พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๔๐. ๑. ก. พึงทรงอติเรกบาตรไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง, ภิกษุให้ล่วง กำหนดนั้นไป, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.ฯ
เรื่องพระอานนท์ จบ.
-----------------------------------------------------
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๙] บทว่า ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง คือ ทรงไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างมาก. ที่ชื่อว่า อติเรกบาตร ได้แก่ บาตรที่ยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป. ที่ชื่อว่า บาตร มี ๒ อย่าง คือ บาตรเหล็ก ๑ บาตรดินเผา ๑.
ขนาดของบาตร
บาตรมี ๓ ขนาด คือ บาตรขนาดใหญ่ ๑ บาตรขนาดกลาง ๑ บาตรขนาดเล็ก ๑. บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกแห่งข้าวสารกึ่งอาฬหก ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอ สมควรแก่ข้าวสุกนั้น. บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ นาฬี ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอ- *สมควรแก่ข้าวสุกนั้น. บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ ปัตถะ ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอ- *สมควรแก่ข้าวสุกนั้น. ใหญ่กว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้ เล็กกว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้. [๑๒๐] คำว่า ให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ ความว่า เมื่ออรุณที่ ๑๑ ขึ้นมา บาตรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละบาตรนั้น อย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
[๑๒๑] ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละบาตร ใบนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. บาตรใบนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะ สละ, เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงให้บาตร ใบนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
[๑๒๒] ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุ ผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำสละ, ข้าพเจ้าสละบาตร ใบนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. บาตรใบนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ, เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว, ท่าน- *ทั้งหลายพึงให้บาตรใบนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่บุคคล
[๑๒๓] ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน บาตรใบนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้ แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้บาตรใบนี้แก่ท่าน ดั่งนี้.ฯ
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๑๒๔] บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุสำคัญว่าล่วงแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์. บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุสงสัย, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ล่วง, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุสำคัญว่าวิกัปแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าสละแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่หาย ภิกษุสำคัญว่าหายแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่แตก ภิกษุสำคัญว่าแตกแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าถูกชิงไปแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกกฏ
[๑๒๕] บาตรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่ได้เสียสละ บริโภค, ต้องอาบัติทุกกฏ. บาตรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุสำคัญว่าล่วงแล้ว บริโภค, ต้องอาบัติทุกกฏ. บาตรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุสงสัย บริโภค, ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
บาตรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ล่วง บริโภค, ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๒๖] ภิกษุอธิษฐาน ๑, ภิกษุวิกัปไว้ ๑, ภิกษุสละให้ไป ๑, บาตรหายไป ๑, บาตร ฉิบหาย ๑, บาตรแตก ๑, โจรชิงเอาไป ๑, ภิกษุถือวิสาสะ ๑, ในภาย ๑๐ วัน ๑, ภิกษุวิกล- *จริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๑๒๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ ไม่ให้คืนบาตรที่เสียสละ. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ภิกษุ เสียสละแล้ว สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้, ภิกษุรูปใดไม่คืนให้, ต้องอาบัติทุกกฏ.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๙๔๕-๓๐๘๐ หน้าที่ ๑๒๔-๑๒๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=2945&Z=3080&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=2945&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=21              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=117              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=1777              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5074              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=1777              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5074              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np21/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]