ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓
เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ
[๑๓๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะกำลังให้คนชำระ เงื้อมเขาในเขตพระนครราชคฤห์ ประสงค์จะทำเป็นสถานที่เร้น. ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึง สำนัก. ทรงอภิวาทแล้วประทับเหนือพระราชอาสน์อันควรส่วนข้างหนึ่ง, ได้ตรัสถามท่านพระ- *ปิลินทวัจฉะว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระเถระกำลังให้เขาทำอะไรอยู่? ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า อาตมภาพกำลังให้เขาชำระเงื้อมเขา ประสงค์จะทำ เป็นสถานที่เร้น ขอถวายพระพร. พิ. พระคุณเจ้าจะต้องการคนทำการวัดบ้างไหม. ปิ. ขอถวายพระพร คนทำการวัด พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงอนุญาต. พิ. ถ้าเช่นนั้น โปรดทูลถามพระผู้มีพระภาค แล้วบอกให้ข้าพเจ้าทราบ. ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลสนองพระบรมราชโองการว่า ได้ ขอถวายพระพร แล้วชี้แจง ให้พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ ทรงสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว. ลำดับนั้นแล พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ อันท่านพระปิลินทวัจฉะชี้แจงให้ทรง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว, เสด็จลุกจากพระราชอาสน์ ทรงอภิวาทท่านพระ ปิลินทวัจฉะ ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ. หลังจากนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะส่งสมณทูตไปในสำนักพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ มีพระราชประสงค์จะทรงถวายคนทำการวัด, ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร? พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงอนุญาตให้มีคนทำการวัด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น, ทรงกระทำธรรมีกถา, แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนทำการวัด. พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงสำนักเป็นคำ รบสอง, ทรงอภิวาทแล้ว ประทับนั่งเหนือพระอาสน์อันควรส่วนข้างหนึ่ง, แล้วตรัสถาม ท่านพระปิลินทวัจฉะว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า คนทำการวัด พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแล้วหรือ? ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว. พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ ทรงรับปฏิญาณถวายคนทำการวัดแก่ท่านพระปิลินท- *วัจฉะว่า ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักถวายคนทำการวัดแก่พระคุณเจ้าดังนี้แล้วทรงลืมเสีย. ต่อนานมา ทรงระลึกได้ จึงตรัสถามมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวงผู้หนึ่งว่า พนาย คนทำการวัดที่เราได้รับ ปฏิญาณจะถวายแก่พระคุณเจ้านั้น เราได้ถวายไปแล้วหรือ? มหาอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ ยังไม่ได้พระราชทาน พระพุทธเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามว่า จากวันนั้นมา นานกี่ราตรีแล้ว พนาย. ท่านมหาอำมาตย์นับราตรีแล้วกราบทูลในทันใดนั้นแลว่า ขอเดชะ ๕๐๐ ราตรี พระ- *พุทธเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า พนาย ถ้าเช่นนั้นจงถวายท่านไป ๕๐๐ คน. ท่านมหาอำมาตย์รับสนองพระบรมราชโองการว่า พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้จัดคนทำการ วัดไปถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ ๕๐๐ คน. หมู่บ้านของคนทำการวัดพวกนั้น ได้ตั้งอยู่แผนกหนึ่ง. คนทั้งหลายเรียกตำบลบ้านนั้นว่า ตำบลบ้านอารามิกบ้าง ตำบลบ้านปิลินทวัจฉะบ้าง. [๑๓๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะ ได้เป็นพระกุลุปกะในหมู่บ้านตำบลนั้น. ครั้นเช้าวันหนึ่ง ท่านครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ. สมัยนั้น ในตำบลบ้านนั้นมีมหรสพ. พวกเด็กๆ ตกแต่งกายประดับดอกไม้ เล่นมหรสพอยู่. พอดีท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกปิลินทวัจฉะ ได้เข้าไปถึงเรือนคนทำการ วัดผู้หนึ่ง. ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เข้าจัดถวาย. ขณะนั้น ธิดาของสตรีผู้ทำการวัดนั้น เห็นเด็กๆ พวกอื่นตกแต่งกายประดับดอกไม้ แล้วร้องอ้อนว่า จงให้ดอกไม้แก่ข้าพเจ้า, จงให้เครื่องตกแต่งกายแก่ข้าพเจ้า. ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงถามสตรีผู้ทำการวัดคนนั้นว่า เด็กหญิงคนนี้ร้องอ้อนอยากได้ อะไร? นางกราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เด็กหญิงคนนี้เห็นเด็กๆ พวกอื่นเขาตกแต่งกายประดับ ดอกไม้ จึงร้องอ้อนขอว่า จงให้ดอกไม้แก่ข้าพเจ้า, จงให้เครื่องตกแต่งกายแก่ข้าพเจ้า, ดิฉัน บอกว่า เราเป็นคนจน จะได้ดอกไม้มาจากไหน, จะได้เครื่องแต่งกายมาจากไหน. ขณะนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะหยิบหมวกฟางใบหนึ่งส่งให้แล้วกล่าวว่า เจ้าจงสวม- *หมวกฟางนี้ลงที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น. ทันใดนางได้รับหมวกฟางนั้นสวมลงที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น. หมวกฟางนั้นได้กลายเป็นระเบียบดอกไม้ทองคำ งดงามน่าดู น่าชม, ระเบียบดอกไม้ทองคำ เช่นนั้น แม้ในพระราชสถานก็ไม่มี. ชาวบ้านกราบทูลแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐว่า ขอเดชะ ระเบียบดอกไม้ทองคำ ที่เรือนของคนทำการวัดชื่อโน้น งดงาม น่าดู น่าชม, แม้ในพระราชสถานก็ไม่มี. เขาเป็นคน เข็ญใจจะได้มาแต่ไหน, เป็นต้องได้มาด้วยโจรกรรมเป็นแน่นอน. ท้าวเธอจึงรับสั่งให้จองจำตระกูลคนทำการวัดนั้น. ครั้นเช้าวันที่ ๒ ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาต ถึงตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในบ้านปิลินทวัจฉะ ได้เดินผ่านไป ทางเรือนคนทำการวัดผู้นั้น. ครั้นแล้วได้ถามคนที่เขาคุ้นกันว่า ตระกูลคนทำการวัดนี้ไปไหนเสีย?. คนพวกนั้นกราบเรียนว่า เขาถูกจองจำเพราะเรื่องระเบียบดอกไม้ทองคำนั้น เจ้าข้า. ทันใดนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะได้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัด- *ถวาย. ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ, ทรง อภิวาทแล้ว ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ อันควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระปิลินทวัจฉะได้ทูลถามพระเจ้าพิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ ผู้ประทับนั่งเรียบร้อย แล้วดังนี้ว่า ขอถวายพระพร ตระกูลคนทำวัดถูกรับสั่งให้จองจำด้วยเรื่องอะไร? พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า เพราะที่เรือนของเขามีระเบียบดอกไม้ทองคำ อย่างงดงาม น่าดู น่าชม, แม้ที่ในวังก็ยังไม่มี, เขาเป็นคนจนจะได้มาแต่ไหน, เป็นต้องได้มา ด้วยโจรกรรมเป็นแน่นอน. ขณะนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะได้อธิษฐานปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร จอมพล- *มคธรัฐ จงเป็นทอง, ปราสาทนั้นได้กลายเป็นทองไปทั้งหมด. แล้วได้ถวายพระพรทูลถามว่า ขอถวายพระพร ก็นี่ทองมากมายเท่านั้น มหาบพิตรได้มาแต่ไหน?. ข้าพเจ้าทราบแล้ว, นี้เป็นอิทธานุภาพของพระคุณเจ้า. พระเจ้าพิมพิสารตรัสดังนี้แล้ว รับสั่งให้ปล่อยตระกูลคนทำการวัดนั้นพ้นพระราชอาญา. [๑๔๐] ชาวบ้านทราบข่าวว่า ท่านพระปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรม อันยิ่งของมนุษย์ในบริษัทพร้อมทั้งพระราชาต่างพากันยินดีเลื่อมใสโดยยิ่ง, แล้วได้นำเภสัชห้า คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มาถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ. แม้ตามปกติท่าน ก็ได้เภสัชห้าอยู่เสมอ. ท่านจึงแบ่งเภสัชที่ได้ๆ มาถวายบริษัท แต่บริษัทของท่านเป็นผู้ มักมาก เก็บเภสัชที่ได้ๆ มาไว้ในกระถางบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง จนเต็ม แล้วบรรจุลงในหม้อ กรองน้ำบ้าง ในถุงย่ามบ้าง แขวนไว้ที่หน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นก็เยิ้มซึม แม้จำพวกหนูก็ เกลื่อนกล่นไปทั่ววิหาร. ชาวบ้านที่เดินเที่ยวชมไปตามวิหารพบเข้า ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ มีเรือนคลังในภายในเหมือนพระเจ้า พิมพิสาร จอมพลมคธรัฐ. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงพอใจในความมักมากเช่นนี้เล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น, แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุ ทั้งหลายพอใจในความมักมากเช่นนี้ จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษ เหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน ภิกษุ- *โมฆบุรุษเหล่านั้น จึงได้พอใจในความมักมากเช่นนี้เล่า? การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่ เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง ไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ- *สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๔๒. ๓. อนึ่ง มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ, คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย, ภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้เจ็ดวันเป็น อย่างยิ่ง, ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. ฯ
เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ จบ.
-----------------------------------------------------
สิกขาบทวิภังค์
[๑๔๑] คำว่า มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ เป็นต้น มีอธิบายดังต่อไปนี้:- ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่ทำจากน้ำนมโคบ้าง, น้ำนมแพะบ้าง, น้ำนมกระบือ บ้าง มังสะของสัตว์เหล่าใดเป็นของควร, เนยใสที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้นก็ใช้ได้. ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้นแล. ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่น้ำมันอันสกัดออกจากเมล็ดงาบ้าง, จากเมล็ดพันธุ์ผักกาดบ้าง, จากเมล็ดมะซางบ้าง, จากเมล็ดละหุ่งบ้าง, จากเปลวสัตว์บ้าง. ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่รสหวานที่แมลงผึ้งทำ. ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ รสหวานที่เกิดจากอ้อย. คำว่า ภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้เจ็ดวันเป็นอย่างยิ่ง คือเก็บ ไว้ฉันได้เจ็ดวันเป็นอย่างมาก. คำว่า ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ ความว่าเมื่ออรุณที่ ๘ ขึ้นมา เภสัชนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละเภสัชนั้นอย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า เภสัชนี้ของข้าพเจ้าล่วงเจ็ดวัน เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้ แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนเภสัช ที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. เภสัชนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้เภสัชนี้แก่ภิกษุ มีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า เภสัชนี้ของข้าพเจ้าล่วงเจ็ดวัน เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้แก่ ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนเภสัชที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. เภสัชนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว. ท่าน ทั้งหลายพึงให้เภสัชนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน เภสัชนี้ของข้าพเจ้า ล่วงเจ็ดวันเป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนเภสัชที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้เภสัชนี้แก่ท่านดังนี้.
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๑๔๒] เภสัชล่วงเจ็ดวันแล้ว ภิกษุสำคัญว่าล่วงแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ- *ปาจิตตีย์. เภสัชล่วงเจ็ดวันแล้ว ภิกษุสงสัย, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เภสัชล่วงเจ็ดวันแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ล่วง, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เภสัชยังไม่ได้ผูกใจ ภิกษุสำคัญว่าผูกใจแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เภสัชยังไม่ได้แจกจ่ายให้ไป ภิกษุสำคัญว่าแจกจ่ายไปแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์. เภสัชยังไม่สูญหายไป ภิกษุสำคัญว่าสูญหายไปแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์. เภสัชยังไม่เสีย ภิกษุสำคัญว่าเสียแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เภสัชยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เภสัชยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าถูกชิงไปแล้ว, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. [๑๔๓] เภสัชที่เสียสละแล้ว ภิกษุนั้นได้คืนมา ไม่พึงใช้ด้วยกิจที่เกี่ยวกับกาย และ ไม่ควรฉัน, พึงน้อมเข้าไปในการตามประทีป หรือในการผสมสี. ภิกษุอื่นจะใช้ด้วยกิจที่เกี่ยวกับ กายได้อยู่, แต่ไม่ควรฉัน.
ทุกกฏ
เภสัชยังไม่ล่วงเจ็ดวัน ภิกษุสำคัญว่าล่วงแล้ว ..., ต้องอาบัติทุกกฏ. เภสัชยังไม่ล่วงเจ็ดวัน ภิกษุสงสัย ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
เภสัชยังไม่ล่วงเจ็ดวัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ล่วงเจ็ดวัน ..., ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๔๔] ภิกษุผูกใจไว้ว่าจะไม่บริโภค ๑ ภิกษุแจกจ่ายให้ไป ๑, เภสัชนั้นสูญหาย ๑ เภสัชนั้นเสีย ๑ เภสัชนั้นถูกไฟไหม้ ๑ เภสัชนั้นถูกโจรชิงไป ๑ ภิกษุถือวิสาสะ ๑ ในภาย ในเจ็ดวัน ภิกษุให้แก่อนุปสัมบันด้วยจิตคิดสละแล้ว ทิ้งแล้ว ปล่อยแล้ว ไม่ห่วงใย กลับได้ ฉันได้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๔๕๒-๓๖๔๔ หน้าที่ ๑๔๔-๑๕๑. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=3452&Z=3644&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=3452&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=23              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=138              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=2058              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5277              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=2058              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5277              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np23/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]