บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๕ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร [๑๔๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้กล่าวชวนภิกษุ สัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกันว่า อาวุโส จงมา เราจักพากันหลีกไปเที่ยวตามชนบท. ภิกษุรูปนั้นตอบว่า ผมไม่ไปขอรับ เพราะมีจีวรเก่า. ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวขะยั้นขะยอว่า ไปเถิด อาวุโส, ผมจักให้จีวรแก่ท่าน แล้วได้ให้จีวรภิกษุรูปนั้น. ภิกษุรูปนั้นได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบท จึงคิดว่า บัดนี้เราจักไม่ไปเที่ยวตามชนบทกับท่านพระอุปนันทศากยบุตรละ จักตามเสด็จพระผู้มีพระภาค เที่ยวจาริกไปตามชนบท. ครั้นถึงกำหนด, ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้กล่าวคำนี้กะภิกษุรูปนั้นว่า มาเถิด อาวุโส เราจักพากันไปเที่ยวตามชนบทในบัดนี้. ภิกษุรูปนั้นตอบว่า ผมไม่ไปกับท่านละ, ผมจักตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเที่ยวจาริกไป ตามชนบท. ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า ผมได้ให้จีวรแก่ท่านไปด้วยหมายใจว่าจักไปเที่ยว ตามชนบทด้วยกัน ดังนี้แล้วโกรธ น้อยใจ ได้ชิงจีวรที่ให้นั้นคืนมา ภิกษุรูปนั้นจึงได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็ เพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรให้จีวรแก่ภิกษุไปเองแล้ว จึงได้ โกรธ น้อยใจ ชิงเอาคืนมาเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงถามพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอให้จีวรแก่ ภิกษุเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอาคืนมา จริงหรือ? ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอให้จีวรแก่ภิกษุเองแล้ว จึงได้โกรธ น้อยใจ ชิงเอาคืนมาเล่า? การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็น อย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.ทรงบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสม แก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๔๔. ๕. อนึ่งภิกษุใดให้จีวรแก่ภิกษุเองแล้ว โกรธ น้อยใจชิงเอามาก็ดี ให้ ชิงเอามาก็ดี, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.ฯเรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ. ----------------------------------------------------- สิกขาบทวิภังค์ [๑๕๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด เป็น เถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด. บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ อรรถว่าประพฤติภิกขาจริยวัตร. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว. ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา. ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นเอหิภิกขุ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ เจริญ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระอเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียง กันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่ สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า แก่ภิกษุ คือ แก่ภิกษุรูปอื่น. บทว่า เอง คือ ให้เอง. ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ผ้าจีวร ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าต้อง วิกัปเป็นอย่างต่ำ. บทว่า โกรธ น้อยใจ คือ ไม่ชอบใน มีใจฉุนเฉียว เกิดมีใจกระด้าง. บทว่า ชิงเอามา คือ ยื้อแย่งเอามาเอง จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์. บทว่า ให้ชิงเอามา คือใช้คนอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุผู้รับคำสั่งคราวเดียว ชิงเอามาแม้หลายคราว, ก็เป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้อง เสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้นอย่างนี้:-วิธีเสียสละ เสียสละแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้แก่ภิกษุเองแล้วชิงเอามา เป็นของจำ จะสละ, ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะ สละ, เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ ภิกษุมีชื่อนี้.ฯเสียสละแก่คณะ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษา กว่า นั่งกระหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้แก่ภิกษุเองแล้วชิงเอามาเป็นของจำจะ สละ, ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว. ท่าน ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่บุคคล ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้แก่ภิกษุเองแล้วชิงเอามา เป็นของจำจะสละ. ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.บทภาชนีย์ ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์ [๑๕๑] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ให้จีวรเองแล้ว โกรธน้อยใจ ชิงเอามา ก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ให้จีวรเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ให้จีวรเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกกฏ ภิกษุให้บริขารอย่างอื่นแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี, ต้องอาบัติ ทุกกฏ. ภิกษุให้จีวรก็ดี บริขารอย่างอื่นก็ดี แก่อนุปสัมบันแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี, ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ... ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ... ต้องอาบัติทุกกฏ.อนาปัตติวาร [๑๕๒] ภิกษุผู้ได้รับไปนั้นให้คืนเองก็ดี ภิกษุเจ้าของเดิมถือวิสาสะแก่ผู้ได้รับไปนั้น ก็ดี ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๗๗๑-๓๘๙๔ หน้าที่ ๑๕๗-๑๖๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=3771&Z=3894&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=3771&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=25 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=149 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=2274 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5648 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=2274 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5648 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np25/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]