ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๑๖๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วยังยับยั้งอยู่ใน เสนาสนะป่า. พวกโจรเดือน ๑๒ เข้าใจว่า ภิกษุทั้งหลายได้ลาภแล้ว จึงพากันเที่ยวปล้น. ภิกษุ ทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาตให้เก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ ในเสนาสนะป่า เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ใน เสนาสนะป่า เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้, จึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ใน ละแวกบ้าน แล้วอยู่ปราศเกิน ๖ คืน. จีวรเหล่านั้น หายบ้าง ฉิบหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง. ภิกษุทั้งหลายมีแต่ผ้าไม่ดี มีแต่จีวรปอน, จึงถามกันขึ้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เพราะเหตุใด พวกท่านจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีแต่จีวรปอน? ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นได้แจ้งเรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงเก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้าน แล้วอยู่ปราศเกิน ๖ คืนเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุเก็บไตร จีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้าน แล้วอยู่ปราศเกิน ๖ คืน จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลาย ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกภิกษุโมฆ- *บุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้าน แล้วอยู่ปราศเกิน ๖ คืน เล่า? การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้ การกระทำของภิกษุ โมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็น อย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยอเนกปริยาย ดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การ ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่ เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๔๘. ๙. อนึ่ง ภิกษุจำพรรษาแล้ว จะอยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่มี รังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้า ตลอดถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒, ปรารถนาอยู่ พึงเก็บจีวร ๓ ผืนๆ ใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้. และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น, ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง, ถ้าเธออยู่ ปราศยิ่งกว่านั้น เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๑๖๖] บทว่า อนึ่ง ... จำพรรษาแล้ว คือ ภิกษุออกพรรษาแล้ว. วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตรงกับวันปุรณมีดิถีเป็นที่เต็ม ๔ เดือน ในกัตติกมาส. คำว่า เสนาสนะป่า เป็นต้น ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่า ป่านั้นมีระยะไกล ๕๐๐ ชั่วธนู เป็นอย่างน้อย. ที่ชื่อว่า เป็นที่รังเกียจ คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีสถานที่อยู่ ที่กิน ที่ยืน ที่นั่ง ที่นอน ของพวกโจรปรากฏอยู่. ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีมนุษย์ถูกพวกโจร ฆ่า ปล้น ทุบตี ปรากฏอยู่. คำว่า ภิกษุ ... จะอยู่ในเสนาสนะป่า ... ความว่า ภิกษุจะยับยั้งอยู่ในเสนาสนะเห็น ปานนั้น. บทว่า ปรารถนาอยู่ คือ พอใจอยู่. คำว่า จีวร ๓ ผืนๆ ใดผืนหนึ่ง ได้แก่ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าอุตราสงค์ หรือผ้าอันตรวาสก. คำว่า พึงเก็บ ... ไว้ในละแวกบ้านได้ คือ พึงเก็บไว้ในโคจรคามโดยรอบได้. คำว่า และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น คือ มีเหตุ มีกิจจำเป็น. คำว่า ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง ความว่า พึงอยู่ ปราศจากได้เพียง ๖ คืนเป็นอย่างมาก. บทว่า เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ. คำว่า ถ้าเธออยู่ปราศยิ่งกว่านั้น ความว่า เมื่ออรุณที่ ๗ ขึ้นมา, จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้นอย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืนเป็นของจำจะสละ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ. ข้าพเจ้าสละจีวรนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุ มีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืน เป็นของจำจะสละ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ. ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว. ท่าน ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืน เป็นของจำจะสละ เว้น ไว้แต่ภิกษุได้สมมติ. ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๑๖๗] จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสำคัญว่าเกิน อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสงสัย อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ถึง อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ได้ถอน ภิกษุสำคัญว่าถอนแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าสละแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่หาย ภิกษุสำคัญว่าหายแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าถูกชิงไปแล้ว อยู่ปราศ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ, เป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกกฏ
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุไม่ได้สละ บริโภค, ต้องอาบัติทุกกฏ. จีวรยังไม่ถึง ๖ ราตรี ภิกษุสำคัญว่าเกิน ..., ต้องอาบัติทุกกฏ. จีวรยังไม่ถึง ๖ ราตรี ภิกษุสงสัย ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
จีวรยังไม่ถึง ๖ ราตรี ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ถึง ๖ ราตรี บริโภค, ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๖๘] ภิกษุอยู่ปราศ ๖ ราตรี ๑, ภิกษุอยู่ปราศไม่ถึง ๖ ราตรี ๑, ภิกษุอยู่ปราศ ๖ ราตรี แล้วกลับมายังคามสีมา อยู่แล้วหลีกไป ๑, ภิกษุถอนเสียภายใน ๖ ราตรี ๑, ภิกษุสละให้ไป ๑, จีวรหาย ๑, จีวรฉิบหาย ๑, จีวรถูกไฟไหม้ ๑, จีวรถูกชิงเอาไป ๑, ภิกษุถือวิสาสะ ๑, ภิกษุ ได้สมมติ ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๒๙๒-๔๔๒๗ หน้าที่ ๑๗๙-๑๘๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=4292&Z=4427&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=4292&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=29              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=165              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=2561              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5829              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=2561              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5829              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np29/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]