บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
เกสปุตตสูตร [๕๐๕] ๖๖. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมโดยลำดับ ก็กิตติศัพท์อัน งามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะใน ท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อม ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปาน- *นั้น ย่อมเป็นความดีแล ครั้งนั้น ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการ ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมมือ ไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและ โคตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งเฉยๆ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อต่างก็นั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า มีสมณ พราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศ แต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของ ผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวก ข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่าน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่าน ทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำ สืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้าง ตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดย ความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้ เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรม เหล่านั้นเสีย ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็น ประโยชน์ พวกชนกาลามโคตรต่างกราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิต อันความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภ ย่อม ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น ในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่ใช่ประโยชน์ ฯ กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ มีจิต อันความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โกรธย่อม ชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความหลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่ง ไม่เป็นประโยชน์ ฯ กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ มีจิต อันความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้หลง ย่อม ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ กา. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า ฯ พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ กา. มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ พ. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ กา. ท่านผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า ฯ พ. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ กา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อ ทุกข์ ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้ ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชน ทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ ฟังมา ... อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้ว นั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่าน ทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ... อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือ ว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่า นี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่าน ทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะ สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดเพื่อ ประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่ โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โกรธ เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อ สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โกรธ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อ สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่ หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ กา. เป็นกุศล พระเจ้าข้า ฯ พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ กา. ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ พ. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ กา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ พระเจ้าข้า ฯ พ. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ ความสุขหรือหาไม่ ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ กา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ ความสุข ในข้อนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้ ฯ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือ โดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดย ตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตน อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรม เหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่าน ทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เรา จึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความ โลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติ มั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอด โลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอัน ไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วย อุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่ เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการใน ปัจจุบันว่าก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเครื่อง ให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจ ข้อที่ ๑ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดี ทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๒ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว ก็ถ้าเมื่อ บุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์ จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๓ นี้ พระอริย สาวกนั้นได้แล้ว ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็น ตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๔ นี้ พระอริย สาวกนั้นได้แล้ว ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่มีเศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้ว อย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน ฯ กา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็น อย่างนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระอริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิต ไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ท่านย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบัน ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระองค์โปรดทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯเนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๔๙๓๐-๕๐๙๒ หน้าที่ ๒๑๒-๒๑๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=4930&Z=5092&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=20&A=4930&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=110 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=505 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=20&A=5061 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=4667 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=20&A=5061 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=4667 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i501-e.php#sutta5 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an03/an03.065.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an03/an03.065.soma.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/03/an03-066.html https://suttacentral.net/an3.65/en/sujato https://suttacentral.net/an3.65/en/bodhi
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]