ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

หน้าที่ ๓๗๙.

๑๒. ธรรมิกสูตร
[๓๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุง ราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระธรรมิกะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอาวาส ๗ แห่ง ที่มีอยู่ใน ชาติภูมิชนบททั้งหมด ทราบข่าวว่า ท่านพระธรรมิกะย่อมด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีซึ่งภิกษุทั้งหลายที่จรมาอาศัยด้วยวาจา และภิกษุผู้จรมาอาศัย เหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า พวกเราได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช- *บริขาร ก็แต่ว่า พวกภิกษุที่จรมาอาศัยย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป อะไร หนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกภิกษุผู้จรมาอาศัยหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า ท่านพระธรรมิกะนี้แลย่อมด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุผู้จรมาอาศัยด้วยวาจา และพวก ภิกษุที่จรมาอาศัยเหล่านั้น ถูกท่านพระธรรมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา ย่อมหลีกไป ไม่อยู่ ละอาวาสไป ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่ ท่านพระธรรมิกะให้หนีไป ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้พากันไป หาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่านไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้ต่อไป ฯ ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้จากอาวาสนั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ที่อาวาสนั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ ... ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติ- *ภูมิชนบทได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะจงหลีกไปจากอาวาสแม้นี้ ท่านไม่ ควรอยู่ในอาวาสนี้ ฯ ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้จากอาวาสแม้นั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบข่าวว่า แม้ในอาวาสนั้น ท่านพระธรรมิกะก็ด่า บริภาษ ... ผิฉะนั้น พวกเราพึงขับไล่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๐.

ท่านพระธรรมิกะให้หลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบทได้พากันไปหาท่านพระธรรมิกะถึงที่อยู่ และได้กล่าวกะท่านพระธรรมิกะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธรรมิกะจงหลีก ไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฯ ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า เราถูกพวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด บัดนี้ เราจะไปที่ไหน หนอ ครั้งนั้น ท่านพระธรรมิกะได้คิดว่า ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ลำดับนั้น ท่านพระธรรมิกะถือบาตรและจีวรหลีกไปทางกรุงราชคฤห์ ไปถึงกรุงราชคฤห์และภูเขาคิชฌกูฏโดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เออ เธอมาจากที่ไหนหนอ ท่านพระธรรมิกะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกพวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ ควรแล้ว จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอด้วยการ อยู่ในชาติภูมิชนบทนี้ เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้วมาในสำนักของ เรา ฯ ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าทางสมุทร จับนกที่ ค้นหาฝั่ง แล้วนำเรือออกเดินทางไปในสมุทร เมื่อเดินเรือไปยังไม่เห็นฝั่ง พ่อค้า เหล่านั้นจึงปล่อยนกที่ค้นหาฝั่ง มันบินไปทางทิศตะวันออก บินไปทางทิศตะวันตก บินไปทางทิศเหนือ บินไปทางทิศใต้ บินขึ้นสูง บินไปตามทิศน้อย ถ้ามันเห็น ฝั่งอยู่ใกล้ ก็บินเข้าหาฝั่งไปเลยทีเดียว แต่ถ้ามันไม่เห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็กลับมาที่ เรือนั้น ฉันใด ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้นๆ แล้ว มาในสำนักของเรา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะของ พระเจ้าโกรัพยะมี ๕ กิ่ง ร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ ก็ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะมี

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๑.

ปริมณฑลใหญ่สิบสองโยชน์ มีรากแผ่ไป ๕ โยชน์ มีผลใหญ่ เหมือนกระทะหุงข้าว สารได้หนึ่งอาฬหกะ ฉะนั้น มีผลอร่อย เหมือนรวงผึ้งเล็กซึ่งไม่มีโทษ ฉะนั้น ก็พระราชากับพวกสนมย่อมทรงเสวยและบริโภคผลไทร ชื่อสุปติฏฐะเฉพาะกิ่ง หนึ่ง เหล่าทหารย่อมบริโภคเฉพาะกิ่งหนึ่ง ชาวนิคมชนบทย่อมบริโภคเฉพาะกิ่ง หนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหลายย่อมบริโภคเฉพาะกิ่งหนึ่ง เนื้อแหละนกย่อมกินกิ่ง- *หนึ่ง ก็ใครๆ ย่อมไม่รักษาผลแห่งต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ และไม่มีใครๆ ทำอันตรายผลของกันและกัน ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งบริโภคผลแห่งต้นไทรใหญ่ชื่อ สุปติฏฐะ พอแก่ความต้องการแล้วหักกิ่งหลีกไป ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะได้คิดว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้ว หนอ มนุษย์ใจบาปคนนี้ บริโภคผลของต้นไทรใหญ่ ชื่อสุปติฏฐะพอแก่ความ ต้องการแล้วหักกิ่งหลีกไป ไฉนหนอ ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะไม่ได้ออกผลต่อไป พระเจ้าโกรัพยะ เสด็จเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า ขอเดชะ ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์พึงทรงทราบเถิดว่า ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ ไม่ออกผล ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่ แรงกล้าพัดโค่นต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะมีทุกข์ เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตา ยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้เสด็จเข้าไปหาเทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ แล้วตรัสถามว่า ดูกรเทวดา เหตุไรหนอ ท่านจึงมีทุกข์ เสียใจ มีหน้านองด้วยน้ำตา ยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง เทวดา นั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ลมฝนที่แรงกล้าได้พัดมาโค่นที่อยู่ (ภพ) ของ ข้าพระองค์ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ดังที่เห็นอยู่นี้ พระเจ้าข้า ฯ ส. ดูกรเทวดา ก็เมื่อท่านดำรงอยู่ในรุกขธรรมแล้ว (ธรรมที่เทวดาผู้- *สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้จะต้องประพฤติ) ลมฝนที่แรงกล้า ได้พัดมาโค่นที่อยู่ของท่าน ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบนได้อย่างไร ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๒.

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ ดำรงอยู่ในรุกขธรรมอย่างไร ฯ ส. ดูกรเทวดา พวกชนที่ต้องการราก ย่อมนำรากต้นไม้ไป พวกชนผู้ ต้องการเปลือก ย่อมนำเปลือกไป พวกชนผู้ต้องการใบย่อมนำใบไป พวกชนผู้ ต้องการดอกย่อมนำดอกไป พวกชนผู้ต้องการผลย่อมนำผลไป ก็แต่เทวดาไม่พึง กระทำความเสียใจหรือความดีใจเพราะการกระทำนั้นๆ ดูกรเทวดา เทวดาผู้สิงสถิต อยู่ที่ต้นไม้ ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในรุกขธรรมอย่างนี้แล ฯ ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ไม่ดำรงอยู่ในรุกขธรรมเป็นแน่ เทียว ลมฝนที่แรงกล้าจึงได้พัดมาโค่นที่อยู่ให้ล้มลง ทำให้มีรากอยู่ข้างบน ฯ ส. ดูกรเทวดา ถ้าว่าท่านพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรมไซร้ ที่อยู่ของท่านก็พึง มีเหมือนกาลก่อน ฯ ท. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรม ขอ ให้ที่อยู่ของข้าพระองค์พึงมีเหมือนกาลก่อนเถิด ฯ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้มีลมฝนที่ แรงกล้าพัดต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ ให้กลับตั้งขึ้นดังเดิม ต้นไทรใหญ่ชื่อ สุปติฏฐะได้มีรากตั้งอยู่ดังเดิม ฉันใด ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เออก็ พวกอุบาสก ชาวชาติภูมิชนบท ได้ขับไล่เธอผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบททั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านพระธรรมิกะทูลถามว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ก็สมณะย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมอย่างไร ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ สมณะในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ด่าตอบบุคคล ผู้ด่า ไม่เสียดสีตอบบุคคลผู้เสียดสี ไม่ประหารตอบบุคคลผู้ประหาร ดูกรพราหมณ์ ธรรมิกะ สมณะย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในสมณธรรมอย่างนี้แล ฯ ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอุบาสกชาวชาติภูมิชนบท ได้ขับไล่ ข้าพระองค์ผู้ไม่ดำรงอยู่ในสมณธรรมออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบท ทั้งหมด พระเจ้าข้า ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๓.

พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้ แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ก็สาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ไม่ ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะแสดงธรรม เพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตาย ไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ฯ ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีศาสดาจารย์ชื่อมูคปักขะ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่ออรเนมิ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่อกุททาลกะ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ ชื่อหัตถิปาละ ฯลฯ มีศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความ กำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ก็สาวกเหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อ โชติปาละแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดในพรหมโลก ไม่ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวก เหล่าใด เมื่อท่านศาสดาจารย์ชื่อโชติปาละแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้ไปเกิดใน พรหมโลก ได้ยังจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ฯ ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ใดมีจิต ประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจาก ความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึง ประสบสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากหรือ ฯ ธ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย พึงด่า บริภาษ ท่าน ศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๔.

มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ผู้ใดมีจิตประทุษร้าย ย่อมด่า บริภาษบุคคลผู้มีทิฐิสมบูรณ์คนเดียว ผู้นี้ย่อม ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่าผู้ด่าว่าบริภาษท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ นั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเราหากล่าวการขุดโค่นคุณความดีของตนภายนอกศาสนานี้ เหมือนการด่าว่าบริภาษในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันนี้ไม่ ดูกรพราหมณ์ ธรรมิกะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่ประทุษร้าย ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันของตน ดูกรพราหมณ์ธรรมิกะ เธอพึงศึกษา อย่างนี้แล ฯ ได้มีท่านศาสดาจารย์ชื่อสุเนตตะ ชื่อมูคปักขะ ชื่ออรเนมิ ชื่อกุททาลกะ ชื่อหัตถิปาละ และได้มีพราหมณ์ปุโรหิตของ พระราชาถึง ๗ พระองค์ เป็นเจ้าแห่งโค เป็นศาสดาจารย์ ชื่อโชติปาละ ท่านศาสดาจารย์ทั้ง ๖ ผู้มียศเป็นผู้ได้รับยกย่อง ว่าเป็นเจ้าลัทธิในอดีต ท่านเหล่านั้นได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาป คือ ความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้ เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก สาวกของ ท่านเหล่านั้นแม้หลายร้อย ได้เป็นผู้หมดกลิ่นสาป คือ ความโกรธ มุ่งมั่นในกรุณา ผ่านพ้นกามสังโยชน์ คลาย กามราคะเสียได้ ก็เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก นรชนใดมีความ ดำริทางใจประทุษร้าย ย่อมด่าบริภาษท่านเหล่านั้น ผู้เป็นฤาษี ผู้เป็นนักบวชนอกศาสนา ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น ก็นรชนเช่นนั้นย่อมประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมาก ส่วนนรชน ใดมีความดำริทางใจประทุษร้าย ย่อมด่า บริภาษภิกษุผู้เป็น สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้มีทิฐิสมบูรณ์รูปเดียว นรชนผู้นี้ย่อม ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญมากกว่าผู้ด่าว่าบริภาษท่านศาสดาจารย์ เหล่านั้น นรชนไม่พึงเสียดสีท่านผู้มีความดี ผู้ละทิฐิ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๕.

บุคคลใดเป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมถะ และ วิปัสสนาอ่อน บุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ในกาม เราเรียกว่าเป็นบุคคลที่เจ็ด แห่งพระอริยสงฆ์ นรชนใดเบียดเบียน ทำร้ายบุคคลเช่นนั้นผู้เป็นภิกษุ ใน กาลก่อน นรชนนั้นชื่อว่าทำร้ายตนเอง ย่อมบั่นรอนอรหัตผล ในภายหลัง ส่วนนรชนใดย่อมรักษาตน นรชนนั้นชื่อว่า เป็นผู้รักษาตนที่เป็นส่วนภายนอก เพราะเหตุนั้น บัณฑิตไม่ ขุดโค่นคุณความดีของตน ชื่อว่าพึงรักษาตนทุกเมื่อ ฯ
จบสูตรที่ ๑๒
จบธรรมิกวรรคที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. นาคสูตร ๒. มิคสาลาสูตร ๓. อิณสูตร ๔. มหาจุนทสูตร ๕. สันทิฏฐิกสูตรที่ ๑ ๖. สันทิฏฐิกสูตรที่ ๒ ๗. เขมสุมนสูตร ๘. อินทรีย- *สังวรสูตร ๙. อานันทสูตร ๑๐. ขัตติยาธิปปายสูตร ๑๑. อัปปมาทสูตร ๑๒. ธรรมิกสูตร ฯ
จบปฐมปัณณาสก์
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๘๖๖๔-๘๘๒๙ หน้าที่ ๓๗๙-๓๘๕. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=8664&Z=8829&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=22&A=8664&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=305              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=325              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=22&A=8607              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=2984              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=22&A=8607              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=2984              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i314-e.php#sutta12 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an06/an06.054.olen.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/06/an06-054.html https://suttacentral.net/an6.54/en/sujato https://suttacentral.net/an6.54/en/olendzki

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]