โกกาลิกสูตร
[๘๙] ครั้งนั้นแล ภิกษุ ชื่อโกกาลิกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่
ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระ-
*โมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก พระผู้มี
พระภาคตรัสว่า ดูกรโกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น
เธอจงยังจิตให้เสื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและ
โมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ
แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ เป็นผู้มีพระพุทธพจน์
อันข้าพระองค์พึงเชื่อถือได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะก็
เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรโกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจง
ยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและโมคคัลลานะ
เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ
แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์-
*ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ เป็นผู้มีพระพุทธพจน์
อันข้าพระองค์พึงเชื่อถือได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะก็
เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรโกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนี้ เธออย่ากล่าวอย่างนี้ เธอจง
ยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและโมคคัลลานะ
เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ
ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นาน ร่างกายมีตุ่ม
เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วตัว ตุ่มเหล่านั้นเท่าเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็โตเท่าเมล็ด
ถั่วดำ แล้วก็โตเท่าเมล็ดพุทรา แล้วก็โตเท่าเมล็ดกระเบา แล้วก็โตเท่าผล
มะขามป้อม แล้วก็โตเท่าผลมะตูมอ่อน แล้วก็โตเท่าผลมะตูมแก่ แล้วจึงแตก
หนองและเลือดหลั่งไหลออก ได้ยินว่า โกกาลิกภิกษุนั้นนอนบนใบตองกล้วย
เหมือนปลากินยาพิษ ครั้งนั้นแล ตุทิปัจเจกพรหมเข้าไปหาพระโกกาลิกยังที่อยู่
ครั้นแล้วยืนอยู่ที่เวหาสได้กล่าวกะโกกาลิกภิกษุว่า ดูกรโกกาลิกะ ท่านจงยังจิตให้
เลื่อมใสในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด เพราะพระสารีบุตรและพระ-
*โมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก โกกาลิกภิกษุถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่าน
เป็นใคร ฯ
ตุ. เราเป็นตุทิปัจเจกพรหม ฯ
โก. ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าเป็น
อนาคามีมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนท่านมา ณ ที่นี้อีกในบัดนี้ อนึ่ง ท่าน
จงเห็นความผิดนี้ของท่านเท่าที่มีอยู่ ฯ
ครั้งนั้นแล ตุทิปัจเจกพรหมได้กล่าวกะโกกาลิกะภิกษุด้วยคาถาว่า
ผรุสวาจาเพียงดังจอบ ซึ่งเป็นเครื่องตัดทอนตนของคนพาล
ผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดขึ้นที่ปากของบุคคลผู้เป็นบุรุษพาล ผู้
ใดสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสะสมโทษไว้ด้วยปาก ย่อมไม่ประสบความสุข
เพราะโทษนั้น ฯ
การปราชัยด้วยทรัพย์ในการเล่นการพนัน ด้วยตนเองจนหมด
ตัวนี้ เป็นโทษมีประมาณน้อย การที่บุคคลยังใจให้ประทุษ-
ร้าย ในพระอริยเจ้าผู้ดำเนินดีแล้วนี้ เป็นโทษมากกว่า บุคคล
ตั้งวาจาและใจอันเป็นบาป แล้วติเตียนพระอริยะ ย่อมเข้าถึง
นรกสิ้นหนึ่งแสนนิรัพพุทกัป อีก ๓๖ นิรัพพุทะ และ ๕
อัพพุทะ ฯ
ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุได้กระทำกาละด้วยอาพาธนั้นเองแล้วเกิดใน
ปทุมนรก เพราะยังจิตให้อาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ลำดับนั้น
เมื่อปฐมยามแห่งราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมผู้มีวรรณะสง่างาม ยังพระ-
*วิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคม
แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุกระทำกาละแล้ว เกิดในปทุมนรก เพราะยังจิตให้
อาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพระเจ้าข้า ท้าวสหัมบดีพรหมครั้น
กราบทูลดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายไปในที่
นั้นเอง ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคืนนี้เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมผู้มีวรรณะ
สง่างาม ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวเข้ามาหาเรายังที่อยู่ อภิวาทเราแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญโกกาลิก-
*ภิกษุกระทำกาละแล้ว เกิดในปทุมนรก เพราะยังจิตให้อาฆาตในพระสารีบุตร
และพระโมคคัลลานะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกล่าวคำนี้แล้ว
อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นเอง ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มี-
*พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก ประมาณ
อายุในปทุมนรกนั้นยากที่จะกระทำการกำหนดนับได้ว่า ประมาณเท่านี้ปี ประมาณ
ร้อยปีเท่านี้ ประมาณพันปีเท่านี้ หรือประมาณแสนปีเท่านี้ ฯ
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์อาจเพื่อจะทำการเปรียบเทียบได้
หรือ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อาจอยู่ภิกษุ แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เปรียบ
เหมือนหนึ่งเกวียนเมล็ดงาของชนชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี ๑- เมื่อล่วงไปแสนปี
บุรุษนำเอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งออกจากเกวียนนั้น ดูกรภิกษุ เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของ
ชาวโกศลซึ่งมีอัตรา ๒๐ ขารีนั้น พึงถึงความสิ้นไปหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า
นั่นยังไม่ถึงหนึ่งอัพพุทะในนรกเลย ดูกรภิกษุ ๒๐ อัพพุทะในนรกจึงเป็น
๑ นิรัพพุทะ ๒๐ นิรัพพุทะเป็น ๑ อพัพพะ ๒๐ อพัพพะเป็น ๑ อหหะ
๒๐ อหหะเป็น ๑ อฏฏะ๒๐ อฏฏะ เป็น ๑ กุมุทะ ๒๐ กุมุทะเป็น ๑ โสคันธิกะ
๒๐ โสคันธิกะเป็น ๑ อุปปละ ๒๐ อุปปละเป็น ๑ ปุณฑรีกะ ๒๐ ปุณฑรีกะเป็น
๑ ปทุมะ ดูกรภิกษุ โกกาลิกภิกษุเกิดในปทุมนรก เพราะยังจิตให้อาฆาตใน
สารีบุตรและโมคคัลลานะ ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสไวยากรณ์
ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ผรุสวาจาเพียงดังจอบ ซึ่งเป็นเครื่องตัดทอนตนของคนพาล
ผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดขึ้นที่ปากของบุคคลผู้เป็นบุรุษพาล ผู้ใด
สรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสะสมโทษด้วยปากย่อมไม่ประสบความสุขเพราะ
โทษนั้น การปราชัยด้วยทรัพย์ ในการเล่นการพนันด้วยตน
@๑ ขารีเท่ากับ ๒๔๖ ทะนาน
เองจนหมดตัวนี้ เป็นโทษมีประมาณน้อย การที่บุคคลยังใจ
ให้ประทุษร้ายในพระอริยเจ้า ผู้ดำเนินดีแล้วนี้ เป็นโทษมาก
กว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันเป็นบาปแล้วติเตียนพระอริยะ
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นหนึ่งแสนนิรัพพุทกัป ๓๖ นิรัพพุทะ
และ ๕ อัพพุทะ ฯ
จบสูตรที่ ๙
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๓๙๑๖-๔๐๐๙ หน้าที่ ๑๖๙-๑๗๓.
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=3916&Z=4009&pagebreak=0
https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=24&A=3916&pagebreak=0
ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=24&siri=87
ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=89
พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :-
https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=24&A=3811
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :-
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8157
The Pali Tipitaka in Roman :-
https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=24&A=3811
The Pali Atthakatha in Roman :-
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8157
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔
https://84000.org/tipitaka/read/?index_24
อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :-
https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/24i081-e.php#sutta9
https://suttacentral.net/an10.89/en/sujato
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]
