บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๕. อุโปสถสูตร [๑๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพารามปราสาทของนาง- *วิสาขามิคารมารดา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับ นั่งอยู่ในวันอุโบสถ ลำดับนั้นแล เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามสิ้นไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะกระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามสิ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มี- *พระภาคทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่าง นี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิม- *ยามสิ้นไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามสิ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่ง อยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด แม้ครั้ง ที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิม- *ยามสิ้นไปแล้ว อรุณขึ้นไปแล้ว จวนสว่างแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยาม สิ้นไปแล้ว อรุณขึ้นไปแล้ว จวนสว่างแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ บริษัทยังไม่บริสุทธิ์ ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ดำริว่า พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรอานนท์ บริษัทยังไม่บริสุทธิ์ ดังนี้ ทรง หมายถึงใครหนอแล ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำหนดใจของภิกษุสงฆ์ ทุกหมู่เหล่าด้วยใจของตนแล้วได้พิจารณาเห็นบุคคลนั้นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก มีความประพฤติไม่สะอาดน่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่เป็นสมณะปฏิญาณว่า เป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีผู้เน่าใน ผู้อันราคะ รั่วรดแล้ว ผู้เป็นดุจหยากเยื่อ นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้ว ท่าน พระมหาโมคคัลลานะลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้น แล้วได้กล่าวกะบุคคลนั้น ว่า จงลุกขึ้นเถิดผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีธรรมเป็น เครื่องอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล บุคคลนั้นได้นิ่งเสีย แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกะบุคคลนั้นว่า จงลุกขึ้น เถิดผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วม กับภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ บุคคลนั้นก็ได้นิ่งเสีย ลำดับนั้นแล ท่านพระ- *มหาโมคคัลลานะจับบุคคลนั้นที่แขน ฉุดให้ออกไปจากภายนอกซุ้มประตู ใส่- *กลอนแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้บุคคลนั้นออกไปแล้ว บริษัท บริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระ- *ผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ดูกรโมคคัลลานะ ไม่เคย มีมาแล้ว โมฆบุรุษนี้อยู่จนกระทั่งต้องจับแขนฉุดออกไป ลำดับนั้นแล พระ- *ผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ตั้งแต่นี้ไป เรา จักไม่กระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ตั้งแต่นี้ไป เธอทั้งหลายนั่นแลพึงกระทำ อุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตจะพึงกระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ฯ [๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทร มีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่ เคยมีมา ๘ ประการนี้ ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในมหาสมุทร ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปตามลำดับไม่โกรกชันเหมือน เหว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปตามลำดับ ไม่โกรกชัน เหมือนเหว นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๑ มีอยู่ใน มหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในมหาสมุทร ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่งนี้ก็เป็นธรรมอันน่า อัศจรรย์ ไม่เคยมีมาประการที่ ๒ ... ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรย่อมไม่เกลื่อนกล่นด้วยซากศพเพราะคลื่น ย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรไม่ เกลื่อนกล่นด้วยซากศพ เพราะคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก นี้ก็ เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๓ ... ฯ อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิม หมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึง มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมหมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๔ ... ฯ อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมลงในมหาสมุทร และสายฝนก็ตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะ น้ำนั้นๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่แม่น้ำทุกสายในโลกไหลไปรวมลงใน มหาสมุทร และสายฝนก็ตกลงสู่มหาสมุทร แต่มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะ พร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการ ที่ ๕ ... ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรทั้งหลายมีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๖ ... ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทร นั้นมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้ว ประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วมรกต ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ... นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๗ ... ฯ อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ สิ่ง มีชีวิตใหญ่ๆ ในมหาสมุทรนั้น คือ ปลาติมิ ปลามิงคละ ปลาติมิติมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่มีร่างกายใหญ่ประมาณร้อยโยชน์ สองร้อย โยชน์ สามร้อยโยชน์ สี่ร้อยโยชน์ ห้าร้อยโยชน์ ก็มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรเป็นที่พำนักของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ ... นี้ก็เป็นธรรมอันน่า อัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๘ ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ใน มหาสมุทร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในมหาสมุทร ฯ [๑๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ก็มีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในธรรมวินัย ฉันนั้นเหมือนกัน ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการ กระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดย ตรง เปรียบเหมือนมหาสมุทรลาดลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ในธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการ กระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดย ตรง นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ ที่ ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติ แล้วแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เปรียบเสมือนมหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้น ฝั่ง ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้ข้อที่สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ล่วงสิกขาบทที่ เราบัญญัติแล้ว นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๒ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติไม่ สะอาดน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นดุจหยากเยื่อ สงฆ์ไม่ยอมอยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสีย ทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ แต่เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา เปรียบเหมือนมหาสมุทร ไม่เกลื่อนกล่นด้วยซากศพ เพราะคลื่นย่อมซัดเอาซากศพในมหาสมุทรเข้าหาฝั่ง ให้ขึ้นบก ฉะนั้น ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม ... และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาประการที่ ๓ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วรรณะ ๔ จำพวก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วย่อมละ ชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่าพระสมณศากยบุตรทั้งนั้น เปรียบเหมือนแม่น้ำ ใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไป ถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมหมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่วรรณะ ๔ จำพวก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ ... ถึงการนับว่าพระสมณศากยบุตรทั้งนั้น นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคย มีมา ประการที่ ๔ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสส- *นิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น เปรียบเหมือน แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมลงในมหาสมุทร และสายฝนก็ตกลงสู่ มหาสมุทร มหาสมุทรก็ไม่ปรากฏว่าพร่องหรือเต็ม ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุทั้งหลายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๕ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือวิมุตติรส เปรียบเหมือน มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็มฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อธรรมวินัยนี้มีรส เดียว คือ วิมุตติรส นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการ ที่ ๖ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด ในธรรมวินัย นั้นมีรัตนะเหล่านี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมากมาย หลายชนิด ในมหาสมุทรนั้นมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้ว ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วมรกต ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด ... อริยมรรคมี องค์ ๘ นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๗ ... ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ ใน ธรรมวินัยนั้น มีสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ เหล่านี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่ง สกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระ- *อรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่ พำนักอาศัยของสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ ในมหาสมุทรนั้นมีสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ เหล่านี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ แม้มีร่างกาย ใหญ่ประมาณร้อยโยชน์ สองร้อยโยชน์ สามร้อยโยชน์ สี่ร้อยโยชน์ ห้าร้อยโยชน์ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยสิ่งที่ มีชีวิตใหญ่ๆ ... ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ นี้ก็เป็นธรรมอันน่า อัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในธรรมวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมอันน่า อัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดี อยู่ในธรรมวินัยนี้ ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่ง อุทานนี้ในเวลานั้นว่า ฝน คือ กิเลสย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่ปกปิดไว้เสีย ฝน คือ กิเลส ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดนั้นอย่างนี้ ฯจบสูตรที่ ๕ เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๙๙๑-๓๑๔๔ หน้าที่ ๑๓๐-๑๓๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=2991&Z=3144&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=25&A=2991&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=80 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=116 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=25&A=3077 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=7076 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=25&A=3077 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=7076 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/ud/ud.5.05.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/ud/ud.5.05.irel.html https://suttacentral.net/ud5.5/en/anandajoti https://suttacentral.net/ud5.5/en/sujato
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]