ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
จูฬรถวิมาน
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในจูฬรถวิมาน
พระมหากัจจายนเถระถามสุชาตกุมารว่า [๖๓] ท่านเป็นกษัตริย์ เป็นราชโอรส หรือเป็นพรานป่าพเนจร สะพายธนู อันทำด้วยไม้แก่นอันมั่นคง ยืนอยู่? สุชาตกุมารตรัสตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นราชโอรสของพระเจ้าอัสสกะ ผู้เป็นใหญ่ ในแคว้นอัสสกรัฐ เที่ยวไปในป่า ข้าแต่ภิกษุ ข้าพเจ้าจะขอบอกนามของ ข้าพเจ้าแก่ท่าน ชนทั้งหลายเรียกข้าพเจ้าว่า สุชาต ข้าพเจ้าเที่ยวลัดเลาะ ไปในป่าใหญ่แสวงหาหมู่เนื้อ ไม่ได้เห็นเนื้อ มาเห็นท่าน ข้าพเจ้าจึงได้ ยืนอยู่.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๘.

พระมหากัจจายนเถระกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีบุญใหญ่ ท่านมาดีแล้ว อนึ่ง ถึงท่านมาไกลก็เหมือนมาใกล้ ขอท่านจงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างเท้าของท่านเสียเถิด น้ำนี้เย็นใสสะอาด อาตมภาพตักมาจากซอกเขา ดูกรพระราชบุตร ขอเชิญท่านดื่มน้ำจาก ภาชนะนี้แล้ว เชิญนั่งบนพื้นอันปูลาดเถิด. สุชาตกุมารตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นมหามุนี วาจาของท่านนี้ไพเราะเสนาะโสต ไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์ จับใจนัก ให้เกิดปัญญา และท่านรู้ว่ามีประโยชน์แล้ว จึงพูด ข้าแต่ท่านฤาษีผู้องอาจ อะไรเป็นความยินดีของท่านผู้อยู่ในป่า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ข้าพเจ้าฟังถ้อยคำของท่านแล้วจะ ประพฤติอรรถธรรมให้สม่ำเสมอ. พระมหากัจจายนเถระตอบว่า ดูกรพระราชกุมาร อาตมภาพชอบการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง ชอบ การงดเว้นจากการลักขโมย จากการประพฤติล่วงละเมิดในหญิงที่เขา หวงห้าม จากการดื่มน้ำเมา และชอบความประพฤติชอบ ความเป็น พหูสูต ความกตัญญู เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหตุเกิดความสรรเสริญ วิญญูชนพึงสรรเสริญในปัจจุบันโดยแท้ ความตายของท่านใกล้เข้ามา แล้ว ท่านจักตายภายใน ๕ เดือน ดูกรพระราชบุตร ขอท่านจงรู้เถิด จงรีบปลดเปลื้องตนเสียเถิด. พระราชกุมารตรัสถามว่า ข้าพเจ้าพึงไปสู่ชนบทไหน ทำการงานอะไร ทำกิจอะไรของบุรุษ หรือ พึงเล่าเรียนวิชาอะไรหนอ จึงจะไม่แก่ไม่ตาย? พระมหากัจจายนเถระตอบว่า ดูกรพระราชกุมาร สัตว์พึงไปในประเทศใดแล้ว ประกอบการงานและ เล่าเรียนวิชา กระทำกิจของบุรุษ จะไม่แก่ไม่ตาย ประเทศเช่นนั้นจะ ไม่มีเลย แม้ชนทั้งหลายผู้มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก เป็นกษัตริย์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๘๙.

ปกครองแว่นแคว้น มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย จะไม่แก่ไม่ตาย ไม่มีเลย ถึงชนเหล่านั้นจะเป็นลูกอันธกเวณฑะ มีเพลงอาวุธอันได้ ศึกษาแล้ว แกล้วกล้า องอาจ สามารถจะต่อสู้ศัตรูได้ก็ตาม แต่ชน เหล่านั้นก็ถึงความสิ้นอายุ จะดำรงยั่งยืนเหมือนพระจันทร์พระอาทิตย์ ก็หาไม่ เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนหยากเยื่อ และชนชาติอื่นที่จะไม่แก่ไม่ตายก็ไม่มี ชนเหล่าใด เล่าเรียนมนต์อันประกอบด้วยองค์ ๖ ที่เป็นพรหมลิขิตและพวกที่เรียน วิชาเหล่าอื่น แม้ชนเหล่านั้นที่จะไม่แก่ไม่ตายก็ไม่มี อนึ่ง ฤาษีทั้งหลาย ผู้สงบสำรวมตนบำเพ็ญตบะ ก็จำต้องละทิ้งสรีระไปตามกาล ถึงพระ- อรหันต์ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว เสร็จกิจแล้ว ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญ และบาปแล้ว ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป. พระราชกุมารตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นมหามุนี คาถาของท่านเป็นสุภาษิตมีประโยชน์ ข้าพเจ้า โล่งใจเพราะวาจาอันท่านกล่าวดีแล้ว ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าเถิด. พระเถระกล่าวว่า ท่านอย่าถึงอาตมภาพเป็นที่พึ่งเลย จงถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นศากยบุตร เป็นมหาวีรบุรุษ ที่อาตมภาพถึงเป็นที่พึ่ง ว่าเป็นที่พึ่งเถิด. พระราชกุมารตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมครูของท่านพระองค์นั้น เวลานี้ประทับอยู่ในชนบทไหน แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระ- องค์นั้น ผู้ชนะมาร หาบุคคลเปรียบปรานมิได้? พระเถระตอบว่า แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นบรมครู เป็นบุรุษอาชาไนย ทรง สมภพในวงศ์แห่งพระเจ้าโอกกากราช อยู่ในชนบทปุรัตถิมทิศ แต่ว่า พระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๐.

พระราชกุมารตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ก็ถ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของท่านพึงยังดำรง พระชนม์อยู่ไซร้ ถึงจะประทับอยู่ไกลพันโยชน์ ข้าพเจ้าก็จะไปเฝ้าให้ จงได้ ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ก็เพราะพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูของท่าน เสด็จปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จปรินิพพานแล้ว เป็นมหาวีรบุรุษ เป็นที่พึ่ง อนึ่ง ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้ากับทั้งพระ- ธรรมอันยอดเยี่ยม และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่า นรชน เป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าของดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน จะ ขอยินดีด้วยภรรยาของตนไม่พูดเท็จและไม่ดื่มน้ำเมา. พระเถระกล่าวว่า พระอาทิตย์มีรัศมีตั้งพัน โคจรไปในท้องฟ้าส่องแสงสว่างไปทั่วทิศ ฉันใด รถใหญ่ของท่านนี้ก็ฉันนั้น วัดโดยรอบยาวได้ร้อยโยชน์ หุ้ม ด้วยแผ่นทองคำรอบด้าน งอนรถนั้นวิจิตรด้วยแก้วมุกดา และแก้วมณี ลอยจำหลักเป็นรูปดอกไม้ลดาวัลย์ ตระการไปด้วยแก้วไพฑูรย์ อันบุญ กรรมตบแต่งแล้ว งามเพริดแพร้วด้วยทองคำและเงิน และปลายงอน รถนี้อันบุญกรรมตบแต่งด้วยแก้วไพฑูรย์ แอกรถวิจิตรไปด้วยแก้วทับทิม สายเชือกล้วนแล้วไปด้วยทองคำและเงิน อนึ่ง ม้าเหล่านี้ฝีเท้าว่องไว ดังใจ งามรุ่งเรือง ท่านยืนอยู่บนรถทองดูองอาจ ดุจท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ทวยเทพ ผู้ทรงราชรถอันเทียมด้วยม้าอาชาไนยตั้งพัน ฉะนั้น อาตมภาพขอถามท่านผู้มียศ ผู้ฉลาด รถอันยิ่งใหญ่นี้ ท่านได้ มาอย่างไร? สุชาตเทพบุตรตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชาติก่อน ข้าพเจ้าเป็นราชบุตรนามว่า สุชาตกุมาร พระคุณเจ้าอนุเคราะห์สั่งสอนข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในความสำรวม และ พระคุณเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะสิ้นอายุได้ให้พระบรมสารีริกธาตุแก่ข้าพเจ้า โดย กล่าวว่า ดูกรสุชาตราชกุมาร ท่านจงบูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้เถิด

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๙๑.

พระบรมสารีริกธาตุนี้ จักเป็นประโยชน์แก่ท่าน ข้าพเจ้าได้บูชาพระบรม สารีริกธาตุนั้น ด้วยของหอมและพวงมาลัย ขวนขวายในการทำบุญให้ ทาน ละร่างมนุษย์นั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดในสวนนันทวัน เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ามีหมู่นางเทพอัปสรฟ้อนรำ ขับร้องห้อมล้อม รื่นเริงอยู่ในสวน นันทวันอันประเสริฐ น่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่สกุณชาติ นานาชนิด.
จบ จูฬรถวิมานที่ ๑๓.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๒๑๔๑-๒๒๓๕ หน้าที่ ๘๗-๙๑. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=2141&Z=2235&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=26&A=2141&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=63              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=63              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=26&A=2133              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=6377              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=26&A=2133              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=6377              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_26

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]