วิสตินิบาตชาดก
๑. มาตังคชาดก
อานุภาพของมาตังคฤาษี
[๒๐๓๓] ท่านมีปกตินุ่งห่มไม่สมควร ดุจปีศาจเปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นละออง สวม
ใส่ผ้าขี้ริ้วที่ได้จากกองขยะไว้ที่คอ มาจากไหน ท่านเป็นใคร เป็นผู้ไม่
ควรแก่ทักขิณาทานเลย?
[๒๐๓๔] ข้าวน้ำนี้ท่านจัดไว้เพื่อท่านผู้เรืองยศ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมขบเคี้ยว
บริโภคและดื่มข้าวน้ำของท่านนั้น ท่านรู้จักข้าพเจ้าว่าเป็นผู้อาศัยโภชนะที่
ผู้อื่นให้เลี้ยงชีวิต ถึงคนจัณฑาลก็ขอจงได้ก้อนข้าวบ้างเถิด.
[๒๐๓๕] ข้าวน้ำของเรานี้ เราจัดไว้เพื่อพราหมณ์ทั้งหลาย ทานวัตถุนี้เราเชื่อว่า
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตน ท่านจงหลีกไปเสียจากที่นี้ จะมายืน
อยู่ ณ ที่นี้เพื่ออะไร เจ้าคนเลว คนเช่นเราย่อมไม่ให้ทานแก่เจ้า.
[๒๐๓๖] ชนทั้งหลายผู้หวังผลข้าวกล้า ย่อมหว่านพืชลงในที่ดอนบ้าง ในที่ลุ่มบ้าง
ในที่ไม่ลุ่ม ไม่ดอนบ้าง ฉันใด ท่านจงให้ทานแก่ปฏิคาหกทั่วไปด้วย
ศรัทธา ฉันนั้น เมื่อท่านให้ทานอย่างนี้ ไฉนจะพึงยังทักขิไณยบุคคล
ให้ยินดีได้เล่า?
[๒๐๓๗] เราย่อมตั้งไว้ ซึ่งพืชทั้งหลายในเขตเหล่าใด เขตเหล่านั้นเรารู้แจ้งแล้ว
ในโลก พราหมณ์เหล่าใดสมบูรณ์ด้วยชาติและมนต์ พราหมณ์เหล่านั้น
ชื่อว่าเป็นเขต มีศีลเป็นที่รักในโลกนี้.
[๒๐๓๘] ความเมาเพราะชาติ ความดูหมิ่นท่าน โลภะ โทสะ มทะ และโมหะ
กิเลสทั้งหมดนี้เป็นโทษ ไม่ใช่คุณ มีอยู่ในเขตเหล่าใด เขตเหล่านั้น
เป็นเขตไม่มีศีล ไม่เป็นที่รักในโลกนี้ ความเมาเพราะชาติก็ดี ความดู
หมิ่นท่าน โลภะ โทสะ มทะ และโมหะ กิเลสทั้งหมดนี้เป็นโทษ
มิใช่คุณ ไม่มีอยู่ในเขตเหล่าใด เขตเหล่านั้นจัดเป็นเขตมีศีล เป็นที่รัก
ในโลกนี้
[๒๐๓๙] คนเฝ้าประตูทั้งสาม คือ อุปโชติยะ ๑ อุปัชฌายะ ๑ ภัณฑกุจฉิ ๑ พา
กันไปเสียที่ไหน ท่านทั้งหลายจงลงอาชญาและฆ่าตีคนจัณฑาลผู้ลามกนี้
แล้วลากคอไปเสียให้พ้น.
[๒๐๔๐] ผู้ใดบริภาษฤาษี ผู้นั้นชื่อว่าแกะภูเขาด้วยเล็บ ชื่อว่าเคี้ยวกินก้อนเหล็ก
ด้วยฟัน ชื่อว่าพยายามกลืนกินไฟ.
[๒๐๔๑] ฤาษีชื่อว่ามาตังคะผู้มีสัจจะเป็นเครื่องก้าวไปในเบื้องหน้า ครั้นกล่าวคาถา
นี้แล้ว เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายแลดูอยู่ได้เหาะไปในอากาศ.
[๒๐๔๒] ศีรษะของลูกเราบิดกลับไปอยู่เบื้องหลัง แขนเหยีดตรงไม่ไหวติง นัยน์ตา
ขาวเหมือนคนตาย ใครมาทำบุตรของเราให้เป็นอย่างนี้.
[๒๐๔๓] สมณะรูปหนึ่งมีปกตินุ่งห่มไม่สมควร สกปรกดุจปีศาจ เปรอะเปื้อนด้วย
ฝุ่นละออง สวมใส่ผ้าขี้ริ้วที่ได้จากกองขยะไว้ที่คอ ได้มา ณ ที่นี้
สมณะรูปนั้นได้ทำบุตรของท่านให้เป็นอย่างนี้.
[๒๐๔๔] ดูกรมาณพทั้งหลาย สมณะผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ท่านไปทางทิศ
ไหน ท่านทั้งหลายจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา เราจะไปยังสำนักของ
ท่านกระทำคืนโทษนั้นเสีย ไฉนหนอเราจะพึงได้ชีวิตบุตรคืนมา.
[๒๐๔๕] ฤาษีผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ได้ไปแล้วในอากาศในวันเพ็ญพระจันทร์
เต็มดวงท่ามกลางอากาศ แล้วฤาษีผู้มีปฏิญาณในสัจจะ มีคุณธรรมอันดี
งามนั้น ท่านไปทางทิศบูรพา.
[๒๐๔๖] ศีรษะของลูกเราบิดกลับไปอยู่เบื้องหลัง แขนเหยียดตรงไม่ไหวติง
นัยน์ตาขาวเหมือนคนตาย ใครมาทำบุตรของเราให้เป็นอย่างนี้.
[๒๐๔๗] ยักษ์ทั้งสองตนผู้มีอานุภาพมากมีอยู่แล ยักษ์เหล่านั้นพากันติดตามฤาษี
ผู้มีคุณธรรมมาแล้ว รู้ว่าบุตรของท่านมีจิตคิดประทุษร้ายโกรธเคืองจึงทำ
บุตรของท่านให้เป็นอย่างนี้แหละ.
[๒๐๔๘] ข้าแต่ภิกษุ ถ้ายักษ์ทั้งหลายได้ทำบุตรของดิฉันให้เป็นอย่างนี้ ขอแต่ท่าน
ผู้เป็นพรหมจารีเท่านั้น อย่าโกรธบุตรของดิฉันเลย ดิฉันขอถึงเท้าของ
ท่านเป็นที่พึ่ง ดิฉันตามมาด้วยความโศกถึงบุตร.
[๒๐๔๙] ในคราวที่บุตรของท่านด่าเราก็ดี และเมื่อท่านมาอ้อนวอนอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี
จิตคิดประทุษร้ายหน่อยหนึ่งมิได้มีแก่เราเลย แต่บุตรของท่านเป็นคน
ประมาท เพราะความมัวเมาว่าเรียนจบไตรเพท แม้จะเรียนจบไตรเพท
แล้ว ก็ยังไม่รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์.
[๒๐๕๐] ข้าแต่ท่านผู้เป็นภิกษุ ความจำของบุรุษ ย่อมหลงลืมได้โดยครู่เดียวเป็น
แน่แท้ ท่านผู้มีปัญญาเสมอแผ่นดิน ขอได้โปรดอดโทษสักครั้งเถิด
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เป็นผู้มีความโกรธเป็นกำลัง.
[๒๐๕๑] มัณฑัพยกุมารบุตรของท่านผู้มีปัญญาน้อย จงบริโภคก้อนข้าวที่เราฉัน
เหลือนี้เถิด ยักษ์ทั้งหลายจะไม่พึงเบียดเบียนบุตรของท่านเลย และบุตร
ของท่านจักหายโรคทันที.
[๒๐๕๒] พ่อมัณฑัพยะ เจ้ายังเป็นคนโง่เขลา มีปัญญาน้อย เจ้าเป็นผู้ไม่ฉลาด
ในเขตบุญทั้งหลาย ได้ให้ทานในหมู่ชนผู้ประกอบด้วยกิเลสดุจน้ำฝาด
ใหญ่ มีกรรมอันเศร้าหมอง ไม่สำรวม. บรรดาทักขิไณยบุคคลของ
เจ้าบางพวกเกล้าผมฟูเป็นเซิง นุ่งห่มหนังเสือ ปากรกรุงรังไปด้วยหนวด
เครา ดังปากบ่อน้ำอันเก่ารกไปด้วยกอหญ้า เจ้าจงดูหมู่ชนที่มีรูปร่าง
น่าเกลียดนี้ การเกล้าผมฟูเป็นเซิง หาป้องกันคนผู้มีปัญญาน้อยได้ไม่
ท่านเหล่าใดสำรอกราคะ โทสะ และอวิชชาแล้ว หรือเป็นพระอรหันต์
ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ทานที่บุคคลถวายในท่านเหล่านั้นย่อมมีผลมาก.
[๒๐๕๓] พระเจ้าเมชฌะ ได้ประทุษร้ายใจในมาตังคบัณฑิตผู้เรืองยศวงศ์กษัตริย์
เมชฌราชพร้อมทั้งบริษัทได้ขาดสูญตั้งแต่นั้นมา.
จบ มาตังคชาดกที่ ๑.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๗๙๙๓-๘๐๖๔ หน้าที่ ๓๕๕-๓๕๗.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=7993&Z=8064&pagebreak=0
http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=27&A=7993&pagebreak=0
ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=497
ศึกษาอรรถกถาชาดกได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2033
พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=27&A=8389
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=1
The Pali Tipitaka in Roman :-
http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=27&A=8389
The Pali Atthakatha in Roman :-
http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=1
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗
http://84000.org/tipitaka/read/?index_27
อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :-
https://suttacentral.net/ja497/en/rouse
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com
