ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านชตุกัณณี
[๓๘๘] (ท่านชตุกัณณีทูลถามว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วว่าพระองค์ ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเพื่อจะทูลถาม พระองค์ผู้ไม่มีกาม. ข้าแต่พระองค์ผู้มีญาณดังดวงตาอันเกิด พร้อมกับความตรัสรู้ ขอพระองค์จงตรัสบอกสันติบท. ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้น แก่ข้าพระองค์. [๓๘๙] คำว่า ข้าพระองค์ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วว่าพระองค์ไม่มีความใคร่ กาม ความว่า ข้าพระองค์ได้ยิน ได้ฟัง ศึกษา ทรงจำ เข้าไปกำหนดว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เพราะ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว. พระผู้มีพระภาคทรงกล้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. ทรงมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงองอาจ. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. ให้ผู้อื่นมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. ผู้สามารถ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. ผู้แกล้วกล้า ผู้ก้าวหน้า ผู้ไม่ขลาด ผู้ไม่หวาดเสียว ผู้ไม่สะดุ้ง ผู้ไม่หนี ละความกลัวความขลาดแล้ว ปราศจากความเป็นผู้ขนลุกขนพอง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงเป็นผู้แกล้วกล้า. พระผู้มีพระภาค ทรงเว้นแล้วจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้ ล่วงเสียแล้วซึ่งทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร. พระองค์ ทรงมีวิริยะมีปธาน ทรงแกล้วกล้า เป็นผู้คงที่ ท่านกล่าว ว่ามีพระหฤทัยเป็นอย่างนั้น. เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วว่า. โดยอุทานว่า กาม ในอุเทศว่า อกามกามี ดังนี้ กามมี ๒ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลส- *กาม ๑. ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่า วัตถุกาม. ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่ากิเลสกาม. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละกิเลสกาม เพราะทรงกำหนด รู้วัตถุกาม เพราะทรงละกิเลสกามแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงใคร่กาม ไม่ทรงยินดีกาม ไม่ทรงติดใจกามทั้งหลายว่า กามทั้งหลายประเสริฐ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่มีกาม ออกจากกามแล้ว มีกามอันทรงสละแล้ว สำรอกแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว สละคืนแล้ว ปราศจากราคะ มีราคะหายไปแล้ว มีราคะอันทรงสละแล้ว สำรอกแล้ว ปล่อยแล้ว สละคืนแล้ว ทรงหายหิวแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว เป็นผู้เสวยสุข มีพระองค์อันประเสริฐอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ได้ยินแล้วว่าพระองค์ไม่มีความใคร่กาม. คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา ชตุกณฺณี ดังนี้ เป็นบทสนธิ. ฯลฯ บทว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพ และความยำเกรง. คำว่า ชตุกณฺณี เป็นโคตร ฯลฯ เป็นคำบัญญัติเรียกของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านชตุกัณณีทูลถามว่า. [๓๙๐] คำว่า ผู้ล่วงพ้นห้วงกิเลสแล้ว ในอุเทศว่า โอฆาติคํ ปุฏฺฐุ กามมาคมํ ดังนี้ ความว่า ผู้ล่วงพ้นห้วงกิเลส คือ ผู้ก้าวล่วง ก้าวล่วงพร้อม เป็นไปล่วง ซึ่งห้วงกิเลส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ล่วงพ้นห้วงกิเลสแล้ว. คำว่า เพื่อจะทูลถาม ความว่า เพื่อจะทูลถาม คือ สอบถาม ทูลวิงวอน ทูลเชิญ ทูลให้ทรงประสาท. คำว่า จึงมา ... พระองค์ผู้ไม่มีกาม ความว่า ข้าพระองค์มา คือ เป็นผู้มา เข้ามา ถึงพร้อม สมาคมกับพระองค์ เพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม คือ ผู้ออกแล้วจากกาม มีกามอันสละแล้ว สำรอกแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว สละคืนแล้ว ปราศจากราคะ มีราคะอันสละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนแล้ว เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ... ผู้ล่วงพ้นห้วงกิเลสแล้ว จึงมาเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ ไม่มีกาม. [๓๙๑] สันติก็ดี สันติบทก็ดี ย่อมมีโดยอาการเดียวกัน สันติบทนั้นนั่นแหละ เป็นอมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความ คลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ชื่อว่า สันติ ในอุเทศว่า สนฺติปทํ พฺรูหิ สหาชเนตฺต ดังนี้. สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า บทนี้สงบ บทนี้ประณีต คือ ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด. โดยอาการอีกอย่างหนึ่ง ธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้อง ความสงบ เพื่อทำให้แจ้งความสงบ ธรรมเหล่านั้น คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้ท่านกล่าวว่า สันติบท. ขอพระองค์จงตรัสบอก ... ขอจงประกาศซึ่งสันติบท คือ บทที่ต้านทาน บทที่ซ่อนเร้น บทเป็นสรณะ บทที่ไม่มีภัย บทที่ไม่มีความเคลื่อน บทอมตะ บทนิพพาน. สัพพัญญุตญาณ ท่านกล่าวว่า ญาณเป็นดังดวงตา ในคำว่า สหาชเนตฺต ดังนี้. ญาณเป็นดังดวงตาและความ เป็นพระชินเจ้า เกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ในขณะเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน ที่ควงไม้โพธิพฤกษ์ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่า มีญาณเป็นดังดวงตาอันเกิดพร้อมกับ ความตรัสรู้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีญาณเป็นดังดวงตาอันเกิดพร้อมกับความตรัสรู้ ขอพระองค์จงตรัสบอกสันติบท. [๓๙๒] อมตนิพพาน คือ ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความ สิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า ยถาตจฺฉํ ในอุเทศว่า ยถาตจฺฉํ ภควา พฺรูหิ เม ตํ ดังนี้. คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ. คำว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกนิพพานนั้นแก่ข้าพระองค์ ความว่า ขอพระองค์จงตรัส บอก ฯลฯ ขอจงทรงประกาศ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จง ตรัสบอกนิพพานนั้นแก่ข้าพระองค์. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วว่าพระองค์ ไม่มีความใคร่ในกาม ล่วงพ้นห้วงกิเลสแล้ว จึงมาเพื่อจะ ทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม. ข้าแต่พระองค์ผู้มีญาณดังดวงตา อันเกิดพร้อมกับความตรัสรู้ ขอพระองค์จงตรัสบอกสันติบท. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมอันแท้ จริงนั้นแก่ข้าพระองค์. [๓๙๓] พระผู้มีพระภาคทรงมีเดช ทรงประกอบด้วยเดช ทรง ครอบงำกามทั้งหลายแล้วดำเนินไป เหมือนพระอาทิตย์ อันมีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุม ทั่วปฐพี. ขอพระองค์ผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน โปรด ตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติและชราในภพนี้ ที่ข้าพระองค์ พึงทราบได้ แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด. [๓๙๔] คำว่า ภควา ในอุเทศว่า ภควา หิ กาเม อภิภุยฺย อิริยติ ดังนี้ เป็น เครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ. กาม ในคำว่า กาเม โดยอุทานมี ๒ คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ ฯลฯ เหล่านี้ ท่านกล่าวว่า วัตถุกาม. ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่า กิเลสกาม. พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละ ทรงครอบงำ ทรงปกคลุม ทรงท่วมทับ ทรงกำจัด ทรงย่ำยีแล้ว ซึ่งกิเลสกาม เสด็จเที่ยวไป ดำเนินไป เป็นไป รักษา บำรุง ทรงเยียวยา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาค ทรงครอบงำกามทั้งหลายแล้วดำเนินไป. [๓๙๕] พระอาทิตย์ท่านกล่าวว่า อาทิจฺโจ ในอุเทศว่า อาทิจฺโจว ปฐวี เตชี เตชสา ดังนี้. ชรา ท่านกล่าวว่า ปฐพี. พระอาทิตย์มีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช คือ รัศมีส่อง แผ่ปกคลุมครอบปฐพี ให้ร้อน เลื่อนลอยไปในอากาศทั่วไปกำจัดมืด ส่องแสงสว่างไปในอากาศ อันว่างเป็นทางเดิน ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงมีเดชคือพระญาณ ประกอบด้วยเดชคือพระญาณ ทรงกำจัดแล้วซึ่งสมุทัยแห่งอภิสังขารทั้งปวง ฯลฯ ความมืดคือกิเลส อันธการคืออวิชชา ทรง แสดงแสงสว่างคือญาณ ทรงกำหนดรู้ซึ่งวัตถุกาม ทรงละ ทรงครอบงำ ทรงปกคลุม ทรงท่วมทับ ทรงกำจัด ทรงย่ำยี ซึ่งกิเลสกาม ย่อมเสด็จเที่ยวไป ดำเนินไป รักษา บำรุง เยียวยา ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนพระอาทิตย์มีแสงสว่าง ประกอบ ด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี. [๓๙๖] คำว่า มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ... แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อย ความว่า ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อย คือ มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำ ส่วนพระองค์มีพระปัญญาใหญ่ มีพระ ปัญญามาก มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาแล่น มีพระปัญญากล้าแข็ง มีพระปัญญาทำลายกิเลส. ปฐพี ท่านกล่าวว่า ภูริ. พระองค์ทรงประกอบด้วยพระปัญญาอันไพบูลย์ กว้างขวางเสมอ ด้วยแผ่นดิน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ... แก่ข้าพระองค์ผู้มี ปัญญาน้อย. [๓๙๗] คำว่า ขอจงตรัสบอกธรรม ในอุเทศว่า อาจิกฺข ธมฺมํ ยมหํ วิชญฺญํ ดังนี้ ความว่า ขอจงตรัสบอก ... ขอจงประกาศซึ่งพรหมจรรย์อัน งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ นิพพาน และข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอจงตรัสบอกธรรม. คำว่า ที่ข้าพระองค์พึงทราบได้ ความว่า ที่ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้แจ้ง พึงรู้แจ้ง เฉพาะ พึงแทงตลอด พึงบรรลุ พึงถูกต้อง พึงทำให้แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอจงตรัส บอกธรรมที่ข้าพระองค์พึงทราบได้. [๓๙๘] คำว่า เครื่องละชาติและชราในภพนี้ ความว่า ธรรมเป็นเครื่องละ เครื่องสงบ เครื่องสละคืน เครื่องระงับ ซึ่งชาติ ชราและมรณะในภพนี้แล คือ อมตนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เครื่องละชาติและชราในภพนี้. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีเดช ทรงประกอบด้วยเดช ทรงครอบงำกาม ทั้งหลายแล้วดำเนินไป เหมือนพระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง ประกอบ ด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี. ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญา กว้างขวางดุจแผ่นดิน โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติและชราใน ภพนี้ ที่ข้าพระองค์พึงทราบได้ แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด. [๓๙๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรชตุกัณณี) ท่านเห็นแล้วซึ่ง เนกขัมมะโดยความเกษม จงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายเสีย. กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ ควรสลัดเสีย อย่าได้มีแก่ท่านเลย. [๔๐๐] กาม ในคำว่า กาเมสุ ในอุเทศว่า กาเมสุ วินยเคธํ ดังนี้ โดยอุทานมี ๒ คือ วัตถุกาม ๑. กิเลสกาม ๑. ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่าวัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่า กิเลสกาม. ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า ความกำหนัด ในคำว่า เคธํ. คำว่า จงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายเสีย ความว่า ท่านจงกำจัด คือ จงปราบปราม จงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านจงกำจัดความ กำหนัดในกามทั้งหลายเสีย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตรว่า ชตุกัณณี. คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรชตุกัณณี. [๔๐๑] คำว่า ซึ่งเนกขัมมะ ในอุเทศว่า เนกฺขมฺมํ ทฏฺฐุ เขมโต ดังนี้ ความว่า เห็น คือ เห็นแจ้ง เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งความปฏิบัติชอบ ความ ปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ การประกอบความเพียรในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมี องค์ ๘ นิพพานและข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน โดยความเกษม คือ โดยเป็นที่ต้านทาน โดย เป็นที่ซ่อนเร้น โดยเป็นสรณะ โดยเป็นที่พึ่ง โดยไม่มีภัย โดยความไม่เคลื่อน โดยความ ไม่ตาย โดยเป็นธรรมออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เห็นแล้วซึ่ง เนกขัมมะ โดยความเกษม. [๔๐๒] คำว่า ที่ท่านยึดได้ ในอุเทศว่า อุคฺคหิตํ นิรตฺตํ วา ดังนี้ ความว่า ที่ท่าน ยึด คือ จับต้อง ถือมั่น ติดใจ น้อมใจไปด้วยสามารถตัณหา ด้วยสามารถทิฏฐิ. คำว่า ควรสลัดเสีย ความว่า ควรสลัด คือ ควรปล่อย ควรละ ควรบรรเทา ควร ทำให้สิ้นสุด ควรให้ถึงความไม่มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่ท่านยึดไว้ ควรสลัดเสีย. [๔๐๓] คำว่า กิเลสเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่ท่าน ความว่า กิเลสเครื่องกังวลคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต กิเลสเครื่องกังวลนี้อย่าได้มี คือ อย่าได้ประจักษ์ อย่าได้ปรากฏ คือ ท่านจงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กิเลสเครื่องกังวล อย่าได้มีแล้วแก่ท่าน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ท่านเห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะโดยความเกษม จงกำจัดความกำหนัด ในกามทั้งหลายเสีย. กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ ควรสลัดเสีย อย่าได้มีแก่ท่านเลย. [๔๐๔] กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแล้วแก่ท่าน ถ้าท่านจัก ไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในท่ามกลาง ท่านจักเป็นผู้สงบแล้ว เที่ยวไป. [๔๐๕] คำว่า กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป ความ ว่า กิเลสเหล่าใดพึงเกิดขึ้นเพราะปรารภถึงสังขารทั้งหลายในอดีตกาล ท่านจงเผากิเลสเหล่านั้น ให้เหือดไป คือให้แห้งไป ให้เกรียม ให้กรอบ จงทำให้ไม่มีพืช จงละ จงบรรเทา จงทำ ให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี. แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป. อนึ่ง กรรมาภิสังขารส่วนอดีตเหล่าใด อันให้ผลแล้ว ท่านจงเผากรรมาภิสังขาร เหล่านั้นให้เหือดไป คือ ให้แห้งไป ให้เกรียม ให้กรอบ จงทำให้ไม่มีพืช จงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป. [๔๐๖] คำว่า กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแล้วแก่ท่าน ความว่า กิเลส เครื่องกังวลในอนาคต ตรัสว่า กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง. กิเลสเครื่องกังวลคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต พึงเกิดขึ้นเพราะปรารภสังขารทั้งหลายในอนาคต. กิเลส เครื่องกังวลนี้ อย่าได้มีมาแล้วแก่ท่าน คือ ท่านจงอย่ายังกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เกิด อย่าให้เกิด พร้อม อย่าให้บังเกิด จงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี เพราะฉะนั้น จึง ชื่อว่า กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแล้วแก่ท่าน. [๔๐๗] คำว่า ถ้าท่านจักไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในปัจจุบัน ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นปัจจุบัน ตรัสว่า ท่ามกลาง. ท่านจักไม่ถือ คือ จักไม่ยึด ถือ จักไม่ลูบคลำ จักไม่เพลิดเพลิน จักไม่ติดใจซึ่งสังขารอันเป็นปัจจุบัน ด้วยสามารถตัณหา ด้วยสามารถทิฏฐิ คือ จักละ จักบรรเทา จักทำให้สิ้นสุด จักให้ถึงความไม่มี ซึ่งความยินดี ความชอบใจ ความยึด ความถือ ความถือมั่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถ้าท่านจักไม่ถือ (รูปาทิ- *สังขาร) ในท่ามกลาง. [๔๐๘] คำว่า จักเป็นผู้สงบแล้วเที่ยวไป ความว่า ชื่อว่า จักเป็นผู้สงบ เข้าไปสงบ เข้าไปสงบวิเศษ ดับ ระงับ เพราะความที่ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง สงบแล้ว ถึงความสงบแล้ว สงบวิเศษ เผาเสียแล้ว ให้ดับไปแล้ว จักเที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จักเป็นผู้สงบ แล้วเที่ยวไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้ง ไป. กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแล้วแก่ท่าน. ถ้าท่าน จักไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในท่ามกลาง ท่านจักเป็นผู้สงบ แล้วเที่ยวไป. [๔๐๙] ดูกรพราหมณ์ อาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันตขีณาสพ ผู้ปราศจากความกำหนัดในนาม รูปโดยประการทั้งปวง. [๔๑๐] คำว่า โดยประการทั้งปวง ในอุเทศว่า สพฺพโส นามรูปสฺมึ วีตเคธสฺส พราหฺมณ ความว่า ทั้งปวงโดยกำหนดทั้งปวง ทั้งปวงโดยประการทั้งปวง ไม่เหลือ มีส่วน ไม่เหลือ. คำว่า สพฺพโส นี้ เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด. อรูปขันธ์ ๔ ชื่อว่านาม. มหาภูตรูป ๔ และรูปอาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่า รูป ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ตรัสว่า ความกำหนัด. คำว่า ดูกรพราหมณ์ ... ผู้ปราศจากความกำหนัดในนามรูป โดยประการทั้งปวง ความ ว่า ผู้ปราศจากความกำหนัดในนามรูป คือ มีความกำหนัดในนามรูป ไปปราศแล้ว มีความกำหนัดอันสละแล้ว สำรอกแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว สละคืนแล้ว ปราศจากความยินดี คือ มีความยินดีไปปราศแล้ว มีความยินดีอันสละแล้ว สำรอกแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว สละคืนแล้ว ในนามรูป โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรพราหมณ์ ... ผู้ปราศจากความกำหนัดในนามรูปโดยประการทั้งปวง. [๔๑๑] อาสวะ ในคำว่า อาสวา ในอุเทศว่า อาสวสฺส น วิชฺชนฺติ ดังนี้ มี ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ. คำว่า อสฺส คือ พระอรหันตขีณาสพ. คำว่า ย่อมไม่มี คือ อาสวะเหล่านี้ย่อมไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ แก่พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น คือ อาสวะเหล่านี้อันพระอรหันตขีณาสพนั้นละได้แล้ว ตัด ขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาสวะทั้งหลาย ... ย่อมไม่มีแก่พระอรหันตขีณาสพนั้น. [๔๑๒] คำว่า เป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ความว่า บุคคลพึงถึงอำนาจแห่งมัจจุ พึงถึงอำนาจแห่งมรณะ หรือพึงถึงอำนาจแห่งพวกของมาร ด้วยอาสวะเหล่าใด อาสวะเหล่านั้น ย่อมไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น คือ อาสวะเหล่านั้น อันพระอรหันตขีณาสพนั้นละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ อาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่ง มัจจุ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันตขีณาสพผู้ปราศจากความกำหนัด ในนามรูปโดยประการทั้งปวง. พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา ของข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นพระสาวก ฉะนี้แล.
จบ ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๑.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๓๕๕๙-๓๗๘๒ หน้าที่ ๑๔๕-๑๕๓. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=3559&Z=3782&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=30&A=3559&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=30              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=388              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=30&A=3882              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=30&A=3882              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-11.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]