ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ภัทราวุธมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านภัทราวุธะ
[๔๑๓] (ท่านภัทราวุธะทูลถามว่า) ข้าพระองค์ขออาราธนาพระองค์ผู้ละความอาลัย ตัดตัณหา เสียได้ ไม่มีความหวั่นไหว ละความเพลินเสีย ข้ามโอฆะแล้ว พ้นวิเศษแล้ว ละความดำริ มีปัญญาดี. ชนทั้งหลายได้ฟัง พระดำรัสของพระองค์ผู้เป็นนาคแล้ว จักหลีกไปแต่ที่นี้. [๔๑๔] คำว่า ผู้ละความอาลัย ในอุเทศว่า โอกญฺชหํ ตณฺหจฺฉิทํ อเนชํ ดังนี้ ความว่า ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าไปยึดถือด้วย ตัณหา ทิฏฐิและอุปาทาน อันเป็นที่ตั้ง เป็นที่ผูกพันและเป็นอนุสัยแห่งใจในรูปธาตุ. กิเลส- *ชาติมีความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทรงทำไม่ให้มีที่ตั้ง ดังตาลยอดด้วน ทรงให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ผู้ละความอาลัย. ความพอใจ ความกำหนัด ... ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ. กิเลสชาติมีความพอใจเป็นต้น เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทรงทำไม่ให้มีที่ตั้ง ดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระผู้มี- *พระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ผู้ละความอาลัย. รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ชื่อว่า ตัณหา ในคำว่า ตณฺหจฺฉิทํ ดังนี้. ตัณหานั้นอันพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงตัดแล้ว ตัดขาดแล้ว ตัดขาดพร้อมแล้ว สงบแล้ว ระงับแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ทรงตัดตัณหา. ตัณหา ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า ความหวั่นไหว ในคำว่า ผู้ไม่มีความหวั่นไหว. ตัณหาอันเป็นความหวั่นไหวนั้น อันพระผู้มี- *พระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทรงทำไม่ให้มีที่ตั้ง ดังตาลยอดด้วน ให้ ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ผู้ไม่มีความหวั่นไหว. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ชื่อว่าผู้ไม่มีความหวั่นไหว เพราะพระองค์ทรงละความ หวั่นไหวเสียแล้ว. พระผู้มีพระภาคไม่สะทกสะท้าน ไม่ทรงหวั่น ไม่ทรงไหว ไม่พรั่น ไม่พรึง แม้ในเพราะลาภ แม้ในเพราะความเสื่อมลาภ แม้ในเพราะยศ แม้ในเพราะความเสื่อมยศ แม้ ในเพราะความสรรเสริญ แม้ในเพราะความนินทา แม้ในเพราะสุข แม้ในเพราะทุกข์ เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ไม่มีความหวั่นไหว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์ผู้ละความอาลัย ตัดตัณหาเสีย ไม่มีความหวั่นไหว. คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา ภทฺราวุโธ ดังนี้ เป็นบทสนธิ. ฯลฯ คำว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ. คำว่า อายสฺมา นี้ เป็นเครื่องกล่าวเป็นไปกับด้วยความเคารพและความยำเกรง. คำว่า ภทฺราวุโธ เป็นชื่อ ฯลฯ เป็นคำร้องเรียกของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึง ชื่อว่า ท่านภัทราวุธะทูลถามว่า. [๔๑๕] ตัณหา ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า ความเพลิน ในอุเทศว่า นนฺทิญฺชหํ โอฆติณฺณํ วิมุตฺตํ ดังนี้. ตัณหาอันเป็น ความเพลินนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทรงทำไม่ให้มีที่ ตั้ง ดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระ- *ผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ผู้ละความเพลินเสีย. คำว่า ข้ามโอฆะแล้ว ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงข้ามแล้วซึ่งกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ ทรงข้ามแล้ว คือ ทรงข้ามขึ้นแล้ว ทรงข้ามพ้นแล้ว ทรงก้าวล่วง แล้ว ทรงล่วงเลยไปแล้ว ซึ่งคลองแห่งสงสารทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคนั้น มีธรรมเป็นเครื่อง อยู่อันพระองค์อยู่จบแล้ว มีจรณะทรงประพฤติแล้ว ฯลฯ มิได้มีสงสาร คือชาติ ชราและมรณะ ไม่มีภพใหม่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงละความเพลินเสีย ทรงข้ามโอฆะแล้ว. คำว่า พ้นวิเศษแล้ว คือ พระผู้มีพระภาคมีพระทัยพ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว พ้นวิเศษ ดีแล้ว จากราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงละความเพลินเสีย ทรงข้ามโอฆะแล้ว พ้นวิเศษแล้ว. [๔๑๖] ความดำริ ในคำว่า กปฺป ในอุเทศว่า กปฺปญชหํ อภิยาเจ สุเมธํ ดังนี้ มี ๒ อย่าง คือ ความดำริด้วยอำนาจตัณหา ๑. ความดำริด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้เป็นความ ดำริด้วยอำนาจตัณหา. ฯลฯ นี้เป็นความดำริด้วยอำนาจทิฏฐิ. พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ทรงละความดำริด้วยอำนาจตัณหา ทรงสละคืนความดำริด้วย อำนาจทิฏฐิแล้ว. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ชื่อว่า ทรงละความดำริ เพราะพระองค์ทรงละความ ดำริด้วยอำนาจตัณหา เพราะพระองค์ทรงสละคืนความดำริด้วยอำนาจทิฏฐิ. คำว่า ขออาราธนา คือ ทูลอาราธนา ทูลเชื้อเชิญ ทูลยินดี ปรารถนารักใคร่ ชอบใจ (คำของพระองค์). ปัญญา ความรู้ กิริยาที่รู้ ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ท่าน กล่าวว่า เมธา ในคำว่า สุเมธํ. พระผู้มีพระภาคทรงเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยปัญญาชื่อเมธานี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่ามีปัญญาดี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์ขออาราธนา ... ละความดำริ มีปัญญาดี. [๔๑๗] พระผู้มีพระภาคชื่อว่า เป็นนาค. ในคำว่า นาคสฺส ในอุเทศว่า สุตฺวาน นาคสฺส อปนมิสฺสนฺติ อิโต ดังนี้. พระผู้มีพระภาคไม่ทรงกระทำความชั่ว เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค. ไม่เสด็จไปสู่ ความชั่ว เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า นาค. ไม่เสด็จมาสู่ความชั่ว เพราะฉะนั้น จึงทรง พระนามว่า นาค. ฯลฯ พระผู้มีพระภาคไม่เสด็จมาสู่ความชั่วอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงทรง พระนามว่า นาค. ข้อว่า ชนทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้เป็นนาคแล้ว จักหลีกไปแต่ที่นี้ ความ ว่า ชนเป็นอันมาก ได้ยิน ได้ฟัง ศึกษา ทรงจำ เข้าไปกำหนดแล้ว ซึ่งพระดำรัส คือ พระดำรัสที่เป็นทางเทศนา อนุสนธิ ของพระองค์แล้ว จักหลีก จักเลี่ยงไปแต่ที่นี้ คือ จักไป สู่ทิศใหญ่และทิศน้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้เป็น นาคแล้ว จักหลีกไปแต่ที่นี้. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ข้าพระองค์ขออาราธนาพระองค์ ผู้ละความอาลัย ตัดตัณหา เสีย ไม่มีความหวั่นไหว ละความเพลินเสีย ข้ามโอฆะแล้ว พ้นวิเศษแล้ว ละความดำริ มีปัญญาดี. ชนทั้งหลายได้ฟัง คำของพระองค์ผู้เป็นนาคแล้ว จักหลีกไปแต่ที่นี้. [๔๑๘] ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ชนต่างๆ มาแต่ชนบททั้งหลายประชุม กันแล้ว หวังอยู่ซึ่งพระดำรัสของพระองค์. ขอพระองค์ทรง พยากรณ์ด้วยดีแก่ชนเหล่านั้น. เพราะว่าธรรมนั้น พระองค์ ทรงทราบแล้วอย่างแท้จริง. [๔๑๙] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์ ชื่อว่า ชนต่างๆ ในอุเทศว่า นานาชนา ชนปเทหิ สงฺคตา ดังนี้. คำว่า มาแต่ชนบททั้งหลายประชุมกันแล้ว คือ มาแต่อังคะ มคธะ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจดีย์ สาคระ ปัญจาละ อวันตี โยนะ และกัมโพช. คำว่า ประชุมกันแล้ว คือ ถึงพร้อม มาพร้อม มาร่วมประชุมกันแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนต่างๆ มาแต่ชนบททั้งหลาย ประชุมกันแล้ว. [๔๒๐] พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้กล้า จึงชื่อว่า วีระ ในอุเทศว่า ตว วีร วากฺยํ อภิกงฺขมานา ดังนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. พระผู้มีพระภาค เป็นผู้องอาจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. พระผู้มีพระภาคทรงให้ผู้อื่นมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. พระผู้มีพระภาคผู้สามารถ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. พระผู้มีพระภาคปราศจาก ความเป็นผู้มีขนลุกขนพอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วีระ. พระผู้มีพระภาค ทรงเว้นแล้วจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้ ล่วงเสียแล้วซึ่งทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร. พระองค์ ทรงมีวิริยะ มีปธาน ทรงแกล้วกล้า เป็นผู้คงที่ ท่านกล่าว ว่า มีพระหฤทัยเป็นอย่างนั้น. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ... ของพระองค์. คำว่า หวังอยู่ซึ่งพระดำรัส ความว่า พระดำรัส ทางแห่งพระดำรัส เทศนา อนุสนธิ ของพระองค์. คำว่า หวังอยู่ คือ มุ่ง หวัง ปรารถนา ยินดี ประสงค์ รักใคร่ ชอบใจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า หวังอยู่ซึ่งพระดำรัสของพระองค์. [๔๒๑] คำว่า เตสํ ในอุเทศว่า เตสํ ตฺวํ สาธุ วิยากโรหิ ดังนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์เหล่านั้น พราหมณ์นั้นย่อมทูล พระผู้มีพระภาคว่า ตุวํ. คำว่า ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ด้วยดี คือ ขอพระองค์ตรัสบอก ... ขอทรงประกาศด้วยดี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ด้วยดี. [๔๒๒] คำว่า เพราะว่าธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้วอย่างแท้จริง ความว่า เพราะ ว่าธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบ ทรงรู้ ทรงเทียบเคียง ทรงพิจารณา เจริญ ให้แจ่มแจ้งแล้ว อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะว่าธรรมนั้นอันพระองค์ทรงทราบแล้วอย่างแท้จริง. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ชนต่างๆ มาแต่ชนบททั้งหลาย ประชุม กันแล้ว หวังอยู่ซึ่งพระดำรัสของพระองค์. ขอพระองค์ทรง พยากรณ์ด้วยดีแก่ชนเหล่านั้น เพราะว่าธรรมนั้นอันพระองค์ ทรงทราบแล้วอย่างแท้จริง. [๔๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภัทราวุธะ) หมู่สัตว์พึง นำเสียซึ่งตัณหาเครื่องยึดถือทั้งหมด ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ หรือแม้ชั้นกลางส่วนกว้าง. เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้า ไปถือรูปาทิขันธ์ใดๆ ในโลก มารย่อมไปตามสัตว์ด้วย อำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล. [๔๒๔] ตัณหาในรูป ตรัสว่า ตัณหาเครื่องยึดถือ ในอุเทศว่า อาทานตณฺหํ วินเยถ สพฺพํ ดังนี้. เหตุไร ตัณหาในรูปจึงตรัสว่า ตัณหาเครื่องยึดถือ. เพราะตัณหานั้น สัตว์ทั้งหลายจึง ยึดถือ เข้าไปยึดถือ ยึดไว้ จับต้อง ถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ เพราะเหตุนั้น ตัณหาในรูปจึงตรัสว่า ตัณหาเครื่องยึดถือ. คำว่า พึงนำเสียซึ่งตัณหาเครื่องยึดถือทั้งหมด ความว่า พึงนำเสีย ปราบเสีย ละเสีย บรรเทาเสีย พึงทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งตัณหาเครื่องยึดถือทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงนำเสียซึ่งตัณหาเครื่องยึดถือทั้งหมด. พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า ภัทราวุธะ ในอุเทศว่า ภทฺราวุธาติ ภควา ดังนี้. คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้ว่า ดูกรภัทราวุธะ. [๔๒๕] อนาคต ตรัสว่า เบื้องบน ในอุเทศว่า อุทฺธํ อโธ ติริยํ วาปิ มชฺเฌ ดังนี้. อดีต ตรัสว่า เบื้องต่ำ. ปัจจุบัน ตรัสว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. กุศลธรรมตรัสว่า เบื้องบน. อกุศลธรรมตรัสว่า เบื้องต่ำ. อัพยากตธรรมตรัสว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. เทวโลก ตรัสว่า เบื้องบน. อบายโลก ตรัสว่า เบื้องต่ำ. มนุษยโลก ตรัสว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. สุขเวทนา ตรัสว่า เบื้องบน. ทุกขเวทนา ตรัสว่า เบื้องต่ำ. อทุกขมสุขเวทนา ตรัสว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. อรูปธาตุ ตรัสว่า เบื้องบน. กามธาตุ ตรัสว่า เบื้องต่ำ. รูปธาตุ ตรัสว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตรัสว่า เบื้องบน. เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา ตรัสว่า เบื้องต่ำ. ท่ามกลางตรัสว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ หรือแม้ ชั้นกลางส่วนกว้าง. [๔๒๖] คำว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปยึดถือรูปาทิขันธ์ใดๆ ในโลก ความว่า สัตว์ ทั้งหลายย่อมยึดถือ คือ เข้าไปยึดถือ ถือไว้ จับต้อง ถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใดๆ. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเข้าไปยึดถือรูปาทิขันธ์ใดๆ ในโลก. [๔๒๗] คำว่า มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร อันมีในปฏิสนธิ ย่อมไปตาม คือ ตามไป เป็นผู้ติดตามไป ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้น นั่นแล. คำว่า ชนฺตุ คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ชีวชน ชาตุชน ชันตุชน อินทคูชน ผู้เกิดจากพระมนู เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือกรรมนั้น นั่นแล. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หมู่สัตว์พึงนำเสียซึ่งตัณหาเครื่องยึดถือทั้งหมด ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ หรือแม้ชั้นกลางส่วนกว้าง. เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเข้าไปถือรูปาทิขันธ์ใดๆ ในโลก มารย่อมไปตามสัตว์ ด้วยอำนาจอภิสังขารคือกรรมนั้นนั่นแล. [๔๒๘] เพราะเหตุนั้น ภิกษุรู้อยู่ เมื่อเห็นซึ่งหมู่สัตว์นี้ผู้ข้องอยู่ใน บ่วงแห่งมัจจุว่า เป็นผู้ติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ พึง เป็นผู้มีสติไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง. [๔๒๙] คำว่า เพราะเหตุนั้น ... เมื่อรู้อยู่ ... ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ความว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะการณะนั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น ภิกษุเมื่อเห็นโทษนี้ใน ตัณหาเครื่องยึดถือ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น. คำว่า รู้อยู่ คือ รู้ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด เมื่อรู้ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอดว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า ไม่พึงเข้าไปยึดถือ คือ ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือไว้ ไม่พึงจับต้อง ไม่พึงถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น ... เมื่อรู้อยู่ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ. [๔๓๐] ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชนก็ดี ภิกษุผู้เป็นพระเสขะก็ดี ชื่อว่า ภิกษุ ในอุเทศว่า ภิกฺขุ สโต กิญฺจนํ สพฺพโลเก ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ. คำว่า เป็นผู้มีสติ ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐาน เครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้นตรัสว่า มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... เป็นผู้มีสติ. คำว่า อะไรๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรๆ. คำว่า ในโลกทั้งปวง คือ ในอบายโลกทั้งปวง ในเทวโลกทั้งปวง ในมนุษยโลกทั้งปวง ในขันธโลกทั้งปวง ในอายตนโลกทั้งปวง ในธาตุโลกทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... เป็นผู้มีสติ ... อะไรๆ ในโลกทั้งปวง. [๔๓๑] คำว่า ... เมื่อเห็น ... ว่าติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ ความว่า สัตว์เหล่าใด ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือไว้ จับต้อง ถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ สัตว์เหล่านั้นตรัสว่า ติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่อง ยึดถือ. คำว่า อิติ เป็นบทสนธิ. ฯลฯ คำว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท. คำว่า เมื่อเห็น คือ เมื่อพบ เมื่อแลเห็น เมื่อตรวจดู เมื่อเพ่งดู เมื่อพิจารณาอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ... เมื่อเห็น ... ว่าติดอยู่ในรูปาทิขันธ์ เครื่องยึดถือ. [๔๓๒] คำว่า ปชํ เป็นชื่อของสัตว์ ในอุเทศว่า ปชํ อิมํ มจฺจุเธยฺเย วิสตฺตํ ดังนี้. กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสว่า บ่วงแห่งมัจจุ ในคำว่า มจฺจุเธยฺเย. หมู่สัตว์ ข้อง เกี่ยวข้อง เกาะเกี่ยว พัวพัน ในบ่วงแห่งมัจจุ คือ ในบ่วงแห่งมาร ในบ่วงแห่งมรณะ. สิ่งของข้องเกี่ยวอยู่ เกี่ยวเกาะ พันอยู่ที่ตาปูติดฝา หรือที่ไม้นาคพันธ์ (ท่อนไม้โอนเหมือน งาช้าง) ฉันใด หมู่สัตว์ข้อง เกี่ยวข้อง เกาะเกี่ยว พัวพัน ในบ่วงแห่งมัจจุ คือ ในบ่วง แห่งมาร ในบ่วงแห่งมรณะ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ... หมู่สัตว์นี้ข้องอยู่ใน บ่วงมัจจุ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เพราะเหตุนั้น ภิกษุรู้อยู่ เมื่อเห็นซึ่งหมู่สัตว์นี้ผู้ข้องอยู่ในบ่วง แห่งมัจจุว่า เป็นผู้ติดอยู่ในรูปาทิขันธ์เครื่องยึดถือ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งปวง. พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของ ข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล.
จบ ภัทราวุธมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๒.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๓๗๘๓-๓๙๘๒ หน้าที่ ๑๕๔-๑๖๑. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=3783&Z=3982&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=30&A=3783&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=31              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=413              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=30&A=4095              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=30&A=4095              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-12.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]