ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
โปสาลมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านโปสาละ
[๔๖๗] (ท่านโปสาละทูลถามว่า) พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ไม่ทรงมีความหวั่นไหว ทรงตัด ความสงสัยเสียแล้ว ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ย่อมทรง แสดงอดีต. ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น. [๔๖๘] คำว่า โย ในอุเทศว่า โย อตีตํ อาทิสติ ดังนี้ ความว่า พระผู้มีพระภาค พระองค์ใด เป็นพระสยัมภู ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งสัจจะทั้งหลายเอง ในธรรม ทั้งหลายที่พระองค์ไม่เคยได้ยินมาในกาลก่อน ทรงบรรลุซึ่งความเป็นพระสัพพัญญูในธรรม เหล่านั้น และทรงบรรลุซึ่งความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย. คำว่า ย่อมทรงแสดงอดีต ความว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงแม้อดีต ย่อมทรง แสดงแม้อนาคต ย่อมทรงแสดงแม้ปัจจุบัน ของพระองค์เองและของผู้อื่น. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงอดีตของพระองค์อย่างไร? พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมาก บ้าง อันเป็นอดีตของพระองค์เองว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติ จากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น. แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มี ผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น. ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้. พระองค์ทรงแสดงชาติก่อนเป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงอดีตของพระองค์เองอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงอดีตของผู้อื่นอย่างไร? พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง อันเป็นอดีตของผู้อื่นว่า ในภพโน้น ท่านผู้นี้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น. ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดใน ภพโน้น. แม้ในภพนั้น ท่านผู้นี้ก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มี อาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น. ครั้นจุติจากภพนั้น แล้วได้มาเกิดในภพนี้. พระองค์ทรงแสดงชาติก่อนเป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงอดีตของผู้อื่นอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคตรัสชาดก ๕๐๐ ก็ชื่อว่าทรงแสดงอดีตของพระองค์เอง และของผู้อื่น ตรัสมหาธนิยสูตร ... มหาสุทัสนสูตร ... มหาโควินทสูตร ... มฆเทวสูตร ชื่อว่าทรงแสดง อดีตของพระองค์และของผู้อื่น. สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนทะ ญาณอันตามระลึกถึง ชาติก่อนของตถาคต ปรารภถึงอดีตกาลมีอยู่. ตถาคตหวังจะรู้ชาติก่อนเท่าใด ก็ระลึกถึงชาติก่อน ได้เท่านั้น. ดูกรจุนทะ ญาณอันตามระลึกถึงชาติข้างหน้าของตถาคต ปรารภถึงอนาคตกาล มีอยู่. ฯลฯ ดูกรจุนทะ ญาณอันที่เกิดที่ควงไม้โพธิของตถาคต ปรารภถึงปัจจุบันกาล เกิดขึ้นว่า ชาตินี้มีในที่สุด. บัดนี้มิได้มีภพต่อไป. อินทรียปโรปริยัตติญาณ (ญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่ง ความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหมด) เป็นกำลังของตถาคต. อาสยานุสยญาณ (ความรู้จัก ฉันทะที่มานอนและกิเลสอันนอนตามของสัตว์ทั้งหลาย) เป็นกำลังของตถาคต. ยมกปาฏิหาริยญาณ (ญาณเป็นเครื่องนำกลับซึ่งปฏิปักขธรรมอันเป็นคู่) เป็นกำลังของตถาคต. มหากรุณาสมาปัตติญาณ (ญาณในมหากรุณาสมาบัติ) เป็นกำลังของตถาคต. สัพพัญญุตญาณเป็นกำลังของตถาคต. อนาวรณญาณ (ญาณเนื่องด้วยอาวัชชนะไม่มีอะไรกั้น) เป็นกำลังของตถาคต. อนาวรณญาณ อันไม่ข้อง ไม่มีอะไรขัดในกาลทั้งปวง เป็นกำลังของตถาคต. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง ... ทรงประกาศ แม้อดีต แม้อนาคต แม้ปัจจุบัน ของพระองค์และของผู้อื่นด้วยประการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีต. คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา โปสาโล ดังนี้ เป็นบทสนธิ. คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก. คำว่า โปสาโล เป็นชื่อ ฯลฯ เป็นคำร้องเรียกของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านโปสาละทูลถามว่า. [๔๖๙] ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า ความ หวั่นไหว ในอุเทศว่า อเนโช ฉินฺนสํสโย ดังนี้. ตัณหาอันเป็นความหวั่นไหวนั้น พระผู้มี- *พระภาคตรัสรู้แล้วทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความ ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ไม่มีความหวั่นไหว. พระผู้มีพระภาคชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว เพราะทรงละความหวั่นไหว เสียแล้ว. พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหวั่น ไม่ทรงไหว ไม่พรั่น ไม่พรึง แม้ในเพราะลาภ แม้ใน เพราะความเสื่อมลาภ แม้ในเพราะยศ แม้ในเพราะความเสื่อมยศ แม้ในเพราะความสรรเสริญ แม้ในเพราะนินทา แม้ในเพราะสุข แม้ในเพราะทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่มีความ หวั่นไหว. วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงในทุกข์ ฯลฯ ความสะดุ้งแห่งจิต ความขัดใจ ท่านกล่าวว่า ความสงสัย ในอุเทศว่า ฉินฺนสํสโย ดังนี้. ความสงสัยนี้ พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้วทรงตัด บั่น ทอน สงบ ระงับเสียแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่า ทรงตัดความสงสัยแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่มีความหวั่นไหว ทรงตัดความสงสัยเสียแล้ว. [๔๗๐] คำว่า ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงถึงฝั่งแห่งอภิญญา ทรงถึงฝั่งแห่งปริญญา ทรงถึงฝั่งแห่งปหานะ ทรงถึงฝั่งแห่งภาวนา ทรงถึงฝั่งแห่งการทำให้แจ้ง ทรงถึงฝั่งแห่งการเข้า คือ ทรงถึงฝั่งแห่งความรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ฯลฯ พระผู้มีพระภาคนั้น มิได้ มีสงสารคือชาติ ชราและมรณะ ไม่มีภพใหม่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรม ทั้งปวง. [๔๗๑] คำว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า ความว่า พวกข้าพระองค์ มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า ฯลฯ เพื่อทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง เพื่อทรงเฉลย แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์ นั้นจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ไม่ทรงมีความหวั่นไหว ทรงตัด ความสงสัยเสียแล้ว ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ย่อมทรง แสดงอดีต. ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น. [๔๗๒] ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณของบุคคล ผู้มีรูปสัญญาอันผ่านไปแล้ว ละกายทั้งหมดแล้ว เห็นอยู่ ทั้งภายในภายนอกว่าอะไรๆ น้อยหนึ่งมิได้มี. บุคคลอย่างนั้น ควรแนะนำอย่างไร? [๔๗๓] รูปสัญญา ในคำว่า วิภูตรูปสญฺญิสฺส ดังนี้ เป็นไฉน? สัญญาความจำ ความเป็นผู้จำ ของบุคคลผู้เข้าซึ่งรูปาวจรสมาบัติ หรือของบุคคลผู้เข้าถึงแล้ว (ในรูปาวจรภพ) หรือว่าของบุคคลผู้มีธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน นี้ชื่อว่ารูปสัญญา. คำว่า ผู้มีรูปสัญญาอันผ่านไปแล้ว ความว่า รูปสัญญาของบุคคลผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ เป็น สัญญาผ่านไปแล้ว หายไปแล้ว ล่วงไปแล้ว เลยไปแล้ว เป็นไปล่วงแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีรูปสัญญาอันผ่านไปแล้ว. [๔๗๔] คำว่า ผู้ละกายทั้งปวงแล้ว ความว่า รูปกายอันมีในปฏิสนธิทั้งหมด บุคคล นั้นละแล้ว คือ รูปกายอันบุคคลนั้นละแล้ว ด้วยการล่วงด้วยอำนาจตทังปหานและการละด้วย การข่มไว้ (เพราะได้อรูปฌาน) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ละกายทั้งปวงแล้ว. [๔๗๕] อากิญจัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่าอะไรๆ น้อยหนึ่งมิได้มี ในอุเทศว่า อชฺฌตฺตญฺจ พหิทฺธา จ นตฺถิ กิญฺจีติ ปสฺสโต ดังนี้. เพราะเหตุไร อากิญจัญญายตนสมาบัติ จึงชื่อว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งมิได้มี? บุคคลเป็นผู้มีสติ เข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากสมาบัตินั้น แล้ว ไม่ยังวิญญาณนั้นนั่นแหละ ให้เจริญ ให้เป็นแจ้ง ให้หายไป ย่อมเห็นว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น อากิญจัญญายตนสมาบัติ จึงชื่อว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งมิได้มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เห็นอยู่ทั้งภายในและภายนอกว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งมิได้มี. [๔๗๖] คำว่า สกฺก ในอุเทศว่า ญาณํ สกฺกานุปุจฺฉามิ ดังนี้ ความว่า พระผู้มี- *พระภาคทรงพระนามว่าสักกะ. พระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยสกุล. แม้เพราะเหตุ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่า สักกะ. ฯลฯ พระผู้มีพระภาคทรงละความกลัวและความขลาด เสียแล้ว ปราศจากความขนลุกขนพอง แม้เพราะเหตุดังนี้ พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า สักกะ. คำว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ ความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม ถึงญาณของบุคคลนั้นว่า เช่นไร ดำรงอยู่อย่างไร มีประการไร มีส่วนเปรียบอย่างไร อันบุคคล นั้นพึงปรารถนา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ. [๔๗๗] คำว่า บุคคลเช่นนั้นควรแนะนำอย่างไร ความว่า บุคคลนั้น ควรแนะนำ ควรนำไปให้วิเศษ ควรนำไปให้ยิ่ง ควรให้รู้ทั่ว ควรให้พินิจ ควรให้พิจารณา ควรให้เลื่อมใส อย่างไร? และญาณที่ยิ่งขึ้นไป อันบุคคลนั้นพึงให้เกิดขึ้นอย่างไร? คำว่า บุคคลเช่นนั้น คือ บุคคลผู้อย่างนั้น ผู้เช่นนั้น ดำรงอยู่อย่างนั้น ผู้มีประการ อย่างนั้น ผู้มีส่วนเปรียบอย่างนั้น ผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้เช่นนั้นควรแนะนำอย่างไร? เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ทูลถามถึงญาณของบุคคลผู้มี รูปสัญญาอันผ่านไปแล้ว ละกายทั้งหมดแล้ว เห็นอยู่ทั้งภายใน ภายนอกว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งมิได้มี. บุคคลอย่างนั้นควรแนะนำ อย่างไร? [๔๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรโปสาละ) ตถาคตรู้ยิ่งซึ่ง วิญญาณฐิติ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) ทั้งหมด. ย่อมรู้จัก บุคคลนั้น เมื่อตั้งอยู่ พ้นวิเศษแล้ว มีสมาบัตินั้นเป็นเบื้องหน้า. [๔๗๙] คำว่า วิญญาณฐิติทั้งหมด ความว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบวิญญาณฐิติ ๔ ด้วยสามารถอภิสังขาร. ย่อมทรงทราบวิญญาณฐิติ ๗ ด้วยสามารถปฏิสนธิ. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบวิญญาณฐิติ ๔ ด้วยสามารถอภิสังขารอย่างไร? สมจริง ตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณยึดรูปตั้งอยู่ มีรูปเป็น อารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องซ่องเสพ ย่อมตั้งอยู่ ย่อมถึงความ เจริญงอกงามไพบูลย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณยึดเวทนา ฯลฯ ยึดสัญญา ฯลฯ ยึดสังขาร ตั้งอยู่ มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องซ่องเสพ ย่อมตั้งอยู่ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบวิญญาณฐิติ ๔ ด้วย สามารถอภิสังขารอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบวิญญาณฐิติ ๗ ด้วยสามารถปฏิสนธิอย่างไร? สมจริงตาม พระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญา ต่างกัน เช่นพวกมนุษย์ เทวดาบางพวก วินิปาติกะบางหมู่ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑. ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพเนื่องในหมู่พรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นพวกเทพอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่า หนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทพสุภกิณหกะ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดย ประการทั้งปวง เข้าอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ นี้เป็นวิญญาณ ฐิติที่ ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง เข้า วิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖. ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง เข้าอากิญจัญญายตน- *ฌานด้วยมนสิการว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งมิได้มี นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗. พระผู้มีพระภาคย่อมทรง ทราบวิญญาณฐิติ ๗ ด้วยสามารถปฏิสนธิอย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิญญาณฐิติทั้งหมด. พระผู้มีพระภาคเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า โปสาละ ในอุเทศว่า โปสาลาติ ภควา ดังนี้. คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ. ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ. เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรโปสาละ. [๔๘๐] คำว่า อภิชานํ ในอุเทศว่า อภิชานํ ตถาคโต ดังนี้ ความว่า รู้ยิ่ง รู้แจ้งแทง- *ตลอด. คำว่า ตถาคต ความว่า สมจริงตามพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนทะ ถ้าแม้เรื่องที่ล่วงแล้วไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เรื่องนั้นตถาคตก็ไม่พยากรณ์. ดูกร จุนทะ ถ้าแม้เรื่องที่ล่วงแล้ว จริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้เรื่องนั้นตถาคตก็ไม่พยากรณ์ ดูกรจุนทะ ถ้าแม้เรื่องที่ล่วงแล้ว จริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้นตถาคต ย่อมรู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น. ดูกรจุนทะ ถ้าแม้เรื่องที่ยังไม่มาถึง ฯลฯ. ดูกรจุนทะ ถ้าแม้เรื่องที่เป็นปัจจุบัน ไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เรื่องนั้นตถาคตก็ไม่พยากรณ์. ดูกรจุนทะ ถ้าแม้เรื่องที่เป็นปัจจุบันจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้เรื่องนั้นตถาคต ก็ไม่พยากรณ์. ดูกรจุนทะ ถ้าแม้เรื่องที่เป็นปัจจุบันจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น ตถาคตย่อมรู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น. ดูกรจุนทะ ด้วยเหตุดังนี้แล ตถาคตย่อมเป็นผู้ กล่าวโดยกาลอันควร กล่าวจริง กล่าวอิงอรรถ กล่าวอิงธรรม กล่าวอิงวินัย ในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่าเราเป็นตถาคต. ดูกรจุนทะ อายตนะใดแล อันโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก อันหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว เสาะหาแล้ว พิจารณาแล้วด้วยใจ อายตนะทั้งหมดนั้น ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้ว เพราะเหตุ นั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า เราเป็นตถาคต. ดูกรจุนทะ ตถาคตย่อมตรัสรู้ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในราตรีใด และตถาคตย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด. ตถาคตย่อมกล่าว บอก เล่า แสดง เรื่องใดในระหว่างนั้น เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องจริงแท้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นบัณฑิตจึงกล่าวว่า เราเป็นตถาคต. ดูกรจุนทะ ตถาคตกล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น ตถาคตกล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น ด้วย ประการดังนี้ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า เราเป็นตถาคต. ดูกรจุนทะ ตถาคตเป็นใหญ่ยิ่ง ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์อันใครๆ ครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นโดยถ่องแท้ เป็นผู้ให้อำนาจเป็นไป เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า เราเป็นตถาคต. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตถาคตรู้ยิ่ง. [๔๘๑] คำว่า ย่อมรู้จักบุคคลนั้นผู้ตั้งอยู่ ความว่าพระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้จักบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้ด้วยสามารถกรรมาภิสังขารว่า บุคคลนี้เมื่อกายแตกตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. พระผู้มีพระภาคย่อมรู้จักบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้ด้วยสามารถกรรมาภิสังขารว่า บุคคลนี้เมื่อกายแตกตายไป จักเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้จักบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้ ด้วยสามารถกรรมาภิสังขารว่า บุคคลนี้เมื่อกายแตกตายไป จักเข้าถึงเปรตวิสัย. พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงรู้จักบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้ ด้วยสามารถกรรมาภิสังขารว่า บุคคลนี้ เมื่อกายแตกตายไป จักอุบัติในหมู่มนุษย์. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้จักบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้ ด้วยสามารถกรรมาภิสังขารว่า บุคคลนี้เมื่อกายแตกตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระตถาคตตรัสว่า ดูกรสารีบุตร เรากำหนดรู้ใจของ บุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ประพฤติอย่างนั้น ดำเนินไปตามทางนั้น เมื่อกายแตกตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. ดูกรสารีบุตร เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ประพฤติอย่างนั้น ดำเนินไปตามทางนั้น เมื่อกายแตกตายไป จักเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. ดูกรสารีบุตร เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ประพฤติอย่างนั้น ดำเนินไปตามทางนั้น เมื่อกายแตกตายไป จักเข้าถึงเปรต วิสัย. ดูกรสารีบุตร เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ประพฤติอย่างนั้น ดำเนินไปตามทางนั้น เมื่อกายแตกตายไป จักอุบัติ ในหมู่มนุษย์. ดูกรสารีบุตร เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ประพฤติอย่างนั้น ดำเนินไปตามทางนั้น เมื่อกายแตกตาย ไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. ดูกรสารีบุตร เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ แล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ประพฤติอย่างนั้น ดำเนินไปตามทางนั้น จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วย ปัญญาอันรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมรู้บุคคลนั้นผู้ตั้งอยู่. [๔๘๒] คำว่า พ้นวิเศษแล้ว ในอุเทศว่า วิมุตฺตํ ตปฺปรายนํ ดังนี้ ความว่า พ้น วิเศษแล้วในอากิญจัญญายตนสมาบัติ คือ น้อมใจไปในสมาบัตินั้น มีสมาบัตินั้นเป็นใหญ่. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้น้อมใจไปในรูป น้อมใจไปใน เสียง น้อมใจไปในกลิ่น น้อมใจไปในรส น้อมใจไปในโผฏฐัพพะ น้อมใจไปในสกุล น้อม ใจไปในคณะ น้อมใจไปในอาวาส น้อมใจไปในลาภ น้อมใจไปในยศ น้อมใจไปในความสรรเสริญ น้อมใจไปในสุข น้อมใจไปในจีวร น้อมใจไปในบิณฑบาต น้อมใจไปในเสนาสนะน้อมใจไปใน คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร น้อมใจไปในพระสูตร น้อมใจไปในพระวินัย น้อมใจไปในพระอภิธรรม น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือทรงไตรจีวร เป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นวัตรน้อมใจไปในองค์ของ ภิกษุผู้ถือการเที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการนั่งฉัน ณ อาสนะ แห่งเดียวเป็นวัตรน้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ ของภิกษุผู้ถือการไม่ฉันภัตในภายหลังเป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการอยู่ที่โคนไม้เป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการอยู่ใน น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของ ที่แจ้งเป็นวัตร ภิกษุผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไรเป็นวัตร น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการไม่ นอนเป็นวัตร น้อมใจไปในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตน- *สมาบัติ วิญญาญัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พ้นวิเศษแล้ว. คำว่า มีสมาบัตินั้นเป็นเบื้องหน้า ความว่า สำเร็จมาแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ มีสมาบัตินั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีกรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีวิบากเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หนักอยู่ในกรรม หนักอยู่ในปฏิสนธิ. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้มีรูปเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ฯลฯ มีเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พ้นวิเศษแล้ว มีสมาบัติ นั้นเป็นเบื้องหน้า. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตรู้ยิ่งวิญญาณฐิติ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) ทั้งหมด ย่อมรู้จักบุคคลนั้นเมื่อตั้งอยู่ พ้นวิเศษแล้ว มีสมาบัติเป็น เบื้องหน้า. [๔๘๓] บุคคลนั้น รู้กรรมว่า เป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ มีความเพลินเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้ ครั้นรู้จักกรรมนั้น อย่างนี้แล้ว ในลำดับนั้นก็พิจารณาเห็น (ธรรม) ในสมาบัติ นั้น. นั่นเป็นญาณอันเที่ยงแท้ของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์. [๔๘๔] คำว่า รู้กรรมว่าเป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ ความว่า กรรมภิสังขาร อันให้เป็นไปในอากิญจัญญายตนภพ ตรัสว่า เป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ. คือ รู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏซึ่งกรรมาภิสังขารอันให้เป็นไปในอากิญ- *จัญญายตนภพว่า เป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูก เป็นเครื่องกังวล เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า รู้กรรมเป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ. [๔๘๕] คำว่า มีความเพลินเป็นเครื่องประกอบดังนี้ ความว่า ความกำหนัดในอรูป ตรัสว่า ความเพลินเป็นเครื่องประกอบ. รู้กรรมนั้นว่าเกาะ เกี่ยว พัวพัน ด้วยความกำหนัดในอรูป คือ รู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏ ซึ่งความกำหนัดในอรูปว่า เป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูกพัน เป็นเครื่องกังวล. คำว่า อิติ เป็นบทสนธิ. ฯลฯ คำว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีความเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ ดังนี้. [๔๘๖] คำว่า ครั้นรู้จักกรรมนั้นอย่างนี้แล้ว ความว่า ครั้นรู้จัก คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏ ซึ่งกรรมนั้นอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ครั้นรู้จัก กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว. [๔๘๗] คำว่า ในลำดับนั้นก็พิจารณาเห็น (ธรรม) ในสมาบัตินั้น ความว่า เข้า อากิญจัญญายตนสมาบัติแล้วออกจากสมาบัตินั้น แล้วก็พิจารณาเห็น คือ เห็น ตรวจดู เพ่งดู พิจารณา ซึ่งธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิกอันเกิดในสมาบัตินั้น โดยเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค ฯลฯ โดยไม่มีอุบายเครื่องสลัดออก เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ในลำดับนั้น ก็พิจารณาเห็น (ธรรม) ในสมาบัตินั้น. [๔๘๘] คำว่า นั่นเป็นญาณอันเที่ยงแท้ของบุคคลนั้น ความว่า นั่นเป็นญาณอันแท้จริง ถ่องแท้ ไม่วิปริต ของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นั่นเป็นญาณอันเที่ยงแท้ของบุคคลนั้น. [๔๘๙] คำว่า เป็นพราหมณ์ ในอุเทศว่า พฺราหฺมณสฺส วุสีมโต ดังนี้ ความว่า ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการแล้ว. ฯลฯ บุคคลอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย แล้ว เป็นผู้คงที่ ท่านกล่าวว่าเป็นพราหมณ์. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นพราหมณ์. คำว่า อยู่จบพรหมจรรย์ ความว่า เสขบุคคล ๗ พวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชน ย่อมอยู่ อยู่ร่วม อยู่ทั่ว อยู่รอบ เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง. พระอรหันต์อยู่จบแล้ว ทำกรณียกิจเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนอันถึงแล้วโดยลำดับ มีสังโยชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว พ้นกิเลสแล้วเพราะรู้โดย ชอบ. พระอรหันต์นั้นมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ อยู่จบแล้ว มีจรณะอันประพฤติแล้ว ฯลฯ มิได้มี สงสาร คือ ชาติ ชราและมรณะ ไม่มีภพต่อไป เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เป็นพราหมณ์อยู่จบ พรหมจรรย์. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลนั้น รู้กรรมว่า เป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ มีความเพลินเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้ ครั้นรู้จักกรรมนั้น อย่างนี้แล้ว ในลำดับนั้นก็พิจารณาเห็น (ธรรม) ในสมาบัติ นั้น. นั่นเป็นญาณอันเที่ยงแท้ของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์. พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของ ข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล.
จบ โปสาลมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๔.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๔๒๕๘-๔๕๑๘ หน้าที่ ๑๗๓-๑๘๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=4258&Z=4518&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=30&A=4258&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=33              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=467              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=30&A=4578              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=30&A=4578              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-14.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]