ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
เอกกนิทเทส
[๑๗] บุคคลผู้พ้นแล้วในสมัย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย ในกาลโดยกาล ในสมัยโดยสมัย แล้วสำเร็จอิริยาบถอยู่ อนึ่ง อาสวะบางอย่างของบุคคลนั้น หมดสิ้นแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พ้นแล้วในสมัย [๑๘] บุคคลผู้มิใช่พ้นแล้วในสมัย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย ในกาลโดยกาล ในสมัยโดยสมัย สำเร็จอิริยาบถอยู่ อนึ่ง อาสวะทั้งหลายของบุคคลนั้น หมด สิ้นแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่าผู้มิใช่พ้นแล้วในสมัย พระอริย- *บุคคลแม้ทั้งปวง ชื่อว่าผู้มิใช่พ้นแล้วในสมัย ในวิโมกข์ ส่วนที่เป็นอริยะ [๑๙] บุคคลผู้มีธรรมอันกำเริบ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติอันสหรคตด้วยรูปฌาน หรือ สหรคตด้วยอรูปฌาน แต่บุคคลนั้น มิใช่เป็นผู้ได้ตามปรารถนา มิใช่เป็นผู้ได้ โดยไม่ยาก มิใช่เป็นผู้ได้โดยไม่ลำบาก ไม่สามารถจะเข้าหรือออกสมาบัติใด ในที่ใด นานเท่าใด ตามปรารถนา ข้อนี้ก็เป็นฐานะอยู่แล ที่สมาบัติเหล่านั้น จะพึงกำเริบได้ เพราะอาศัยความประมาทของบุคคลนั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี ธรรมอันกำเริบ [๒๐] บุคคลผู้มีธรรมอันไม่กำเริบ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติอันสหรคตด้วยรูปฌาน หรือ สหรคตด้วยอรูปฌาน แต่บุคคลนั้น เป็นผู้ได้ตามต้องการ เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก เป็นผู้ได้โดยไม่ลำบาก สามารถจะเข้าหรือออกสมาบัติใดในที่ใด นานเท่าใด ได้ตามปรารถนา ข้อนี้ไม่เป็นฐานะไม่เป็นโอกาสที่สมาบัติเหล่านั้นจะพึงกำเริบ เพราะอาศัยความประมาทของบุคคลนั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมอันไม่กำเริบ พระอริยบุคคลแม้ทั้งหมดชื่อว่าผู้มีธรรมอันไม่กำเริบ ในวิโมกข์ส่วนที่เป็นอริยะ [๒๑] บุคคลผู้มีธรรมอันเสื่อม เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติอันสหรคตด้วยรูปฌาน หรือ สหรคตด้วยอรูปฌาน แต่บุคคลนั้น มิใช่เป็นผู้ได้ตามต้องการ มิใช่เป็นผู้ได้โดย ไม่ยาก มิใช่เป็นผู้ได้โดยไม่ลำบาก ไม่สามารถจะเข้าหรือออกสมาบัติใด ในที่ ใด นานเท่าใดตามปรารถนา ข้อนี้ก็เป็นฐานะอยู่แล ที่บุคคลนั้น จะพึงเสื่อม จากสมาบัติเหล่านั้นได้ เพราะอาศัยความประมาท บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรม อันเสื่อม [๒๒] บุคคลผู้มีธรรมอันไม่เสื่อม เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติอันสหรคตด้วยรูปฌาน หรือ สหรคตด้วยอรูปฌาน แต่บุคคลนั้นเป็นผู้ได้ตามต้องการ เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก เป็นผู้ได้โดยไม่ลำบาก สามารถจะเข้าหรือออกสมาบัติใด ในที่ใด นานเท่าใด ตามปรารถนา ข้อนี้ไม่เป็นฐานะไม่เป็นโอกาสที่บุคคลนั้นจะพึงเสื่อมจากสมาบัติ เหล่านั้น เพราะอาศัยความประมาท บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมอันไม่เสื่อม พระอริยบุคคลแม้ทั้งปวงเป็นผู้มีธรรมอันไม่เสื่อมในวิโมกข์ส่วนที่เป็นอริยะ [๒๓] บุคคลผู้ควรโดยเจตนา เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติอันสรหคตด้วยรูปฌาน หรือ สหรคตด้วยอรูปฌาน แต่บุคคลนั้นมิใช่เป็นผู้ได้ตามต้องการ มิใช่ได้โดยไม่ยาก มิใช่เป็นผู้ได้โดยไม่ลำบาก ไม่สามารถจะเข้าหรือออกสมาบัติใด ในที่ใด นาน เท่าใดได้ตามปรารถนา หากว่าคอยใส่ใจอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น หากไม่เอาใจใส่ก็เสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ควรโดยเจตนา [๒๔] บุคคลผู้ควรโดยการตามรักษา เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติอันสรหคตด้วยรูปฌาน หรือ สรหคตด้วยอรูปฌาน และบุคคลนั้นแลมิใช่เป็นผู้ได้ตามต้องการ มิใช่เป็นผู้ได้ โดยไม่ยาก มิใช่เป็นผู้ได้โดยไม่ลำบาก ไม่สามารถจะเข้าหรือออกสมาบัติใด ในที่ใด นานเท่าใดได้ตามปรารถนา หากว่าคอยรักษาอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจาก สมาบัติเหล่านั้น หากว่าไม่คอยรักษาก็เสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ควรโดยการตามรักษา [๒๕] บุคคลที่เป็นปุถุชน เป็นไฉน สัญโญชน์ ๓ อันบุคคลใดละไม่ได้ ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อละธรรมเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ปุถุชน [๒๖] โคตรภูบุคคล เป็นไฉน ความย่างลงสู่อริยธรรมในลำดับแห่งธรรมเหล่าใด บุคคลผู้ประกอบ ด้วยธรรมเหล่านั้น นี้เรียกว่า โคตรภูบุคคล [๒๗] บุคคลผู้งดเว้นเพราะกลัว เป็นไฉน พระเสขะ ๗ จำพวก และบุคคลปุถุชนผู้มีศีล ชื่อว่าผู้งดเว้นเพราะ กลัว พระอรหันต์ชื่อว่ามิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว [๒๘] บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล เป็นไฉน บุคคลที่ประกอบด้วยกัมมาวรณ์ ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ประกอบ ด้วยวิปากาวรณ์ ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นผู้ไม่ ควรหยั่งลงสู่นิยามอันถูกในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้ไม่ควร แก่การบรรลุมรรคผล [๒๙] บุคคลผู้ควรแก่การบรรลุมรรคผล เป็นไฉน บุคคลที่ไม่ประกอบด้วยกัมมาวรณ์ ไม่ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ไม่ ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา ไม่โง่เขลา เป็นผู้ควร เพื่อหยั่งลงสู่นิยามอันถูกในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้ควรแก่ การบรรลุมรรคผล [๓๐] บุคคลผู้เที่ยงแล้ว เป็นไฉน บุคคลผู้ทำอนันตริยกรรม ๕ จำพวก บุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ และ พระอริยบุคคล ๘ ชื่อว่า ผู้เที่ยงแล้ว บุคคลนอกนั้นชื่อว่า ผู้ไม่เที่ยง [๓๑] บุคคลผู้ปฏิบัติ เป็นไฉน บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ ชื่อว่าผู้ปฏิบัติ บุคคลผู้พร้อมเพรียง ด้วยผล ๔ ชื่อว่าผู้ตั้งอยู่แล้วในผล [๓๒] บุคคลชื่อว่าสมสีสี เป็นไฉน การสิ้นไปแห่งอาสวะ และการสิ้นไปแห่งชีวิตของบุคคลใด มีไม่ก่อน ไม่หลังกัน บุคคลนี้เรียกว่า สมสีสี [๓๓] บุคคลชื่อว่าฐิตกัปปี เป็นไฉน บุคคลนี้พึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และเวลาที่กัลป์ ไหม้จะพึงมี กัลป์ก็ไม่พึงไหม้ตราบเท่าที่บุคคลนี้ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล บุคคลนี้เรียกว่า ฐิตกัปปี บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรคแม้ทั้งหมด ชื่อว่า เป็นผู้มีกัลป์ตั้งอยู่แล้ว [๓๔] บุคคลเป็นอริยะ เป็นไฉน พระอริยบุคคล ๘ เป็นอริยะ บุคคลนอกนั้น ไม่ใช่อริยะ [๓๕] บุคคลเป็นเสขะ เป็นไฉน บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๓ เป็นเสขะ พระอรหันต์เป็นอเสขะ บุคคลนอกนั้น เป็นเสขะก็มิใช่ เป็นอเสขะก็มิใช่ [๓๖] บุคคลผู้มีวิชชา ๓ เป็นไฉน บุคคลประกอบด้วยวิชชา ๓ ชื่อว่าผู้มีวิชชา ๓ [๓๗] บุคคลผู้มีอภิญญา ๖ เป็นไฉน บุคคลประกอบด้วยอภิญญา ๖ ชื่อว่าผู้มีอภิญญา ๖ [๓๘] บุคคลเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งสัจจะด้วยตนเองใน ธรรมทั้งหลาย ที่ตนมิได้เคยสดับมาแล้วในก่อน บรรลุความเป็นพระสัพพัญญู ในธรรมนั้น และบรรลุความเป็นผู้มีความชำนาญในธรรมเป็นกำลังทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธะ [๓๙] บุคคลเป็นพระปัจเจกพุทธะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมตรัสรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลายด้วยตนเอง ใน ธรรมทั้งหลายที่ตนไม่ได้สดับมาแล้วในก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญู ในธรรมนั้น ทั้งไม่ถึงความเป็นผู้ชำนาญในธรรมอันเป็นกำลังทั้งหลาย บุคคล นี้เรียกว่า พระปัจเจกพุทธะ [๔๐] บุคคลชื่อว่า อุภโตภาควิมุต เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องซึ่งวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วสำเร็จ อิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียก ว่า อุภโตภาควิมุต [๔๑] บุคคลชื่อว่าปัญญาวิมุต เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ถูกต้องซึ่งวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จ อิริยาบถอยู่ แต่อาสวะของผู้นั้นสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ เรียกว่า ปัญญาวิมุต [๔๒] บุคคลชื่อว่ากายสักขี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องซึ่งวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วสำเร็จ อิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะบางอย่างของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า กายสักขี [๔๓] บุคคลชื่อว่าทิฏฐิปัตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ย่อม รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ผู้นั้นเห็นชัดแล้ว ดำเนินไปดี แล้วด้วยปัญญา อนึ่งอาสวะบางอย่างของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ทิฏฐิปัตตะ [๔๔] บุคคลชื่อว่าสัทธาวิมุต เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ย่อม รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อนึ่งธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ผู้นั้นเห็นชัดแล้ว ดำเนินไปดีแล้ว ด้วยปัญญา อนึ่ง อาสวะบางอย่างของผู้นั้นก็สิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา แต่มิใช่เหมือนบุคคลผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ บุคคลนี้เรียกว่าสัทธาวิมุต [๔๕] บุคคลชื่อว่าธัมมานุสารี เป็นไฉน ปัญญินทรีย์ของบุคคลใด ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลมี ประมาณยิ่ง บุคคลนั้นย่อมอบรมซึ่งอริยมรรคอันมีปัญญาเป็นเครื่องนำมา มีปัญญา เป็นประธานให้เกิดขึ้น บุคคลนี้เรียกว่า ธัมมานุสารี บุคคลผู้ปฏิบัติแล้ว เพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ชื่อว่าธัมมานุสารี บุคคลผู้ตั้งอยู่แล้วในผล ชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ [๔๖] บุคคลชื่อว่าสัทธานุสารี เป็นไฉน สัทธินทรีย์ของบุคคลใดผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล มี ประมาณยิ่ง อบรมอริยมรรคมีสัทธาเป็นเครื่องนำมา มีสัทธาเป็นประธานให้ เกิดขึ้น บุคคลนี้เรียกว่า สัทธานุสารีบุคคล ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ชื่อว่าสัทธานุสารี ผู้ตั้งอยู่แล้วในผล ชื่อว่าสัทธาวิมุต [๔๗] บุคคลชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์ทั้ง ๓ เป็น โสดาบัน มีอันไม่ไปเกิดในอบายเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง จะได้ตรัสรู้ในเบื้อง หน้า บุคคลนั้นจะแล่นไปท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ ๗ ชาติ แล้วทำที่ สุดทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า สัตตักขัตตุปรมะ [๔๘] บุคคลชื่อว่าโกลังโกละ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์ทั้ง ๓ เป็น โสดาบัน มีอันไม่ไปเกิดในอบายเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะได้ตรัสรู้ในเบื้อง หน้า บุคคลนั้นจะแล่นไปท่องเที่ยวไปสู่ตระกูลสองหรือสาม แล้วทำที่สุดทุกข์ ได้ บุคคลนี้เรียกว่า โกลังโกละ [๔๙] บุคคลชื่อว่าเอกพิชี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์ทั้ง ๓ มี อันไม่ไปเกิดในอบายเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า บุคคล นั้นเกิดในภพมนุษย์อีกครั้งเดียว แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า เอกพิชี [๕๐] บุคคลชื่อว่าสกทาคามี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์ทั้ง ๓ เพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง เป็นสกทาคามี ยังจะมาสู่โลกนี้ คราวเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่าสกทาคามี [๕๑] บุคคลชื่อว่าอนาคามี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ทั้ง ๕ มีกำเนิดเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น มีอัน ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนี้เรียกว่า อนาคามี [๕๒] บุคคลชื่อว่าอันตราปรินิพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสัญ- *โญชน์ทั้ง ๕ มีกำเนิดเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น มี อันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้น ย่อมยังอริยมรรคให้เกิดขึ้น เพื่อละสัญโญชน์อันมีในเบื้องบน ในระยะเวลาติดต่อกับที่เกิดบ้าง ยังไม่ถึง ท่ามกลางกำหนดอายุบ้าง บุคคลนี้เรียกว่า อันตราปรินิพพายี [๕๓] บุคคลชื่อว่าอุปหัจจปริพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสัญ- *โญชน์ทั้ง ๕ มีกำเนิดเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้น ย่อมยังอริยมรรคให้เกิดขึ้น เพื่อ ละสัญโญชน์อันมีในเบื้องบน เมื่อล่วงพ้นท่ามกลางกำหนดอายุบ้าง เมื่อใกล้จะ ทำกาลกิริยาบ้าง บุคคลนี้เรียกว่า อุปหัจจปรินิพพายี [๕๔] บุคคลชื่อว่าอสังขารปรินิพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ทั้ง ๕ มีกำเนิดเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น มีอันไม่ กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้นย่อมยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นโดยไม่ลำบาก เพื่อละสัญโญชน์อันมีในเบื้องบน บุคคลนี้เรียกว่า อสังขารปรินิพพายี [๕๕] บุคคลชื่อว่าสสังขารปรินิพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบ แห่งโอรัมภาคิยสัญ- *โญชน์ทั้ง ๕ มีกำเนิดเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้น ย่อมยังอริยมรรคให้เกิดขึ้น โดยลำบาก เพื่อละสัญโญชน์อันมีในเบื้องบน บุคคลนี้เรียกว่า สสังขารปรินิพพายี [๕๖] บุคคลชื่อว่าอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ทั้ง ๕ มีกำเนิดเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น มีอันไม่ กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้น จุติจากอวิหาไปอตัปปา จุติจากอตัปปา ไปสุทัสสา จุติจากสุทัสสาไปสุทัสสี จุติจากสุทัสสีไปอกนิฏฐา ย่อมยังอริยมรรค ให้เกิดขึ้นในอกนิฏฐา เพื่อละสัญโญชน์เบื้องบน บุคคลนี้เรียกว่า อุทธังโสโตอก นิฏฐคามี [๕๗] บุคคลชื่อว่าโสดาบัน ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล เป็นไฉน บุคคลผู้ปฏิบัติแล้วเพื่อละสัญโญชน์ ๓ ปฏิบัติแล้วเพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล สัญโญชน์ ๓ อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนั้นเรียกว่าโสดาบัน บุคคลปฏิบัติแล้วเพื่อความเบาบางแห่งกามราคะและพยาบาท ปฏิบัติ แล้วเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล เพราะราคะและพยาบาทของบุคคลใดเบาบาง แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า สกทาคามี บุคคลปฏิบัติแล้วเพื่อละไม่ให้เหลือ ซึ่งกามราคะและพยาบาท ปฏิบัติ แล้วเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล กามราคะและพยาบาทอันบุคคลใดละได้หมด ไม่มีเหลือ บุคคลนั้นเรียกว่า อนาคามี บุคคลปฏิบัติแล้ว เพื่อไม่ให้เหลือซึ่งรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ปฏิบัติแล้วเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อันบุคคลใดละได้หมดไม่มีเหลือ บุคคลนี้เรียกว่าอรหันต์
เอกกนิทเทส จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ บรรทัดที่ ๒๗๓๔-๒๙๓๙ หน้าที่ ๑๑๒-๑๒๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=36&A=2734&Z=2939&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=36&A=2734&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=36&siri=27              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=532              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=36&A=2771              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=729              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=36&A=2771              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=729              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_36              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pp2.1/en/law

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]