ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
ติกนิทเทส
บุคคล ๓ จำพวก
[๘๔] บุคคลผู้ไม่มีความหวัง เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ผู้ประกอบด้วย กายกรรมเป็นต้น อันไม่สะอาด และมีสมาจารอันผู้อื่นหรือตนพึงระลึกได้ด้วย ความระแวง ผู้มีงานอันปกปิด ผู้มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ผู้มิใช่ ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เน่าใน ผู้อันราคะชุ่ม แล้ว ผู้มีหยากเยื่อมีราคะเป็นต้นเกิดแล้ว เธอได้ยินว่า นัยว่า ภิกษุมีชื่ออย่างนี้ รู้ยิ่งด้วยตนเองแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ใน ทิฏฐธรรม ดังนี้ เธอย่อมไม่เกิดความคิดอย่างนี้ว่า แม้เราก็จักรู้ยิ่งด้วยตนเอง จักทำให้แจ้ง จักเข้าถึงซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม ในกาลไหนๆ โดยแท้ดังนี้ บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้ไม่มีความหวัง บุคคลผู้มีความหวัง เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม เธอได้ยินว่า นัยว่า ภิกษุมีชื่ออย่างนี้ รู้ยิ่งด้วยตนเองแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย สำเร็จ อิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม ดังนี้ เธอย่อมเกิดความคิดขึ้นว่า แม้เราก็รู้ยิ่งด้วยตนเอง จักทำให้แจ้ง จักเข้าถึงซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความ สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม ในกาลไหนๆ โดยแท้ดังนี้เรียกว่า ผู้มีความหวัง บุคคลผู้มีความหวังไปปราศแล้ว เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ยิ่งด้วยตนเองแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย แล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม เธอได้ยินว่า นัยว่าภิกษุชื่ออย่างนี้ รู้ยิ่ง ด้วยตนเองแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม ดังนี้ เธอย่อมไม่เกิด ความคิดขึ้นว่า แม้เราก็รู้ยิ่งด้วยตนเอง จักทำให้แจ้ง จักเข้าถึง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่ง อาสวะทั้งหลายแล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม ในกาลไหนๆ โดยแท้ ดังนี้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่า ความหวังในความหลุดพ้นใด ของ พระขีณาสพนั้น ผู้ซึ่งเมื่อยังไม่หลุดพ้นในกาลก่อน ความหวังนั้นได้สงบระงับแล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีความหวังไปปราศแล้ว บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลซึ่งเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวก เป็นไฉน [๘๕] คนไข้ ๓ จำพวก คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะเป็นที่สบาย หรือไม่ได้โภชนะเป็นที่ สบาย ได้เภสัชเป็นที่สบาย หรือไม่ได้เภสัชเป็นที่สบาย ได้อุปัฏฐากสมควร หรือไม่ได้อุปัฏฐากสมควร ก็ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้นเลย ส่วนคนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะเป็นที่สบาย หรือไม่ได้โภชนะ เป็นที่สบาย ได้เภสัชที่สบาย หรือไม่ได้เภสัชที่สบาย ได้อุปัฏฐากสมควร หรือ ไม่ได้อุปัฏฐากสมควร ก็ย่อมหายจากอาพาธนั้น ส่วนคนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะเป็นที่สบาย ก็หายจากอาพาธนั้น ไม่ได้ก็ไม่หายจากอาพาธนั้น ได้เภสัชเป็นที่สบาย ก็หายจากอาพาธนั้น ไม่ได้ ก็ไม่หายจากอาพาธนั้น ได้อุปัฏฐากสมควร ก็หายจากอาพาธนั้น ไม่ได้ก็ไม่หาย จากอาพาธนั้น ในคนไข้ ๓ จำพวกนั้น คนไข้นี้ใด ได้โภชนะเป็นที่สบาย ก็หายจาก อาพาธนั้น ไม่ได้ก็ไม่หายจากอาพาธนั้น ได้เภสัชเป็นที่สบาย ก็หายจากอาพาธนั้น ไม่ได้ก็ไม่หายจากอาพาธนั้น ได้อุปัฏฐากสมควร ก็หายจากอาพาธนั้น ไม่ได้ก็ ไม่หายจากอาพาธนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยคนไข้จำพวกนี้ จึงได้ทรง อนุญาตคิลานภัต อนุญาตคิลานเภสัช อนุญาตคิลานอุปัฏฐากไว้ ก็แหละเพราะ อาศัยคนไข้จำพวกนี้ คนไข้แม้เหล่าอื่น อันภิกษุทั้งหลายก็ควรบำรุง [๘๖] บุคคลเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก ก็ ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวก เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต หรือไม่ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยอันพระตถาคต ประกาศแล้ว ก็ย่อมไม่หยั่งลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลาย ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต หรือไม่ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยอันพระตถาคต ประกาศแล้ว ก็ย่อมก้าวลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลายได้ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต ย่อมก้าวลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลายได้ เมื่อไม่ได้ ก็ย่อมไม่ก้าวลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรม ทั้งหลาย ได้ฟังธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมก้าวลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลายได้ เมื่อไม่ได้ ย่อมไม่ก้าวลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรม ทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น บุคคลใดได้เห็นพระตถาคต ย่อมก้าวลงสู่ นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลายได้ เมื่อไม่ได้ ย่อมไม่ก้าวลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลาย ได้ฟังธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมก้าวลงสู่ นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลายได้ เมื่อไม่ได้ ก็ย่อมไม่ก้าวลงสู่นิยามอันถูก ในกุศลธรรมทั้งหลาย สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตพระธรรมเทศนาไว้ เพราะอาศัยบุคคลจำพวกนี้ ก็แหละเพราะอาศัยบุคคลนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงควรแสดง ธรรมแก่บุคคลแม้เหล่าอื่นๆ บุคคลเปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวกเหล่านี้ ย่อมมี ปรากฏอยู่ในโลก [๘๗] บุคคลชื่อว่า กายสักขี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ และกิเลสบางอย่างของผู้นั้น เป็นของสิ้นไปรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า กายสักขี บุคคลชื่อว่า ทิฏฐิปัตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ย่อมรู้ตามความ เป็นจริงว่า นี้เหตุเกิดทุกข์ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ย่อมรู้ ตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และธรรมทั้งหลายอัน พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นอันเธอได้เห็นดีแล้วด้วยปัญญา เป็นอันเธอดำเนิน ไปด้วยดีแล้วด้วยปัญญา และอาสวะบางอย่างของเธอเป็นอันสิ้นไปแล้วโดยรอบ เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ทิฏฐิปัตตะ บุคคลชื่อว่า สัทธาวิมุต เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ ธรรม ทั้งหลายอันพระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมเป็นอันเธอเห็นแล้วด้วยดี ดำเนินไปแล้ว ด้วยดีด้วยปัญญา และอาสวะบางอย่างของเธอ เป็นอันสิ้นไปแล้วโดยรอบ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะของทิฏฐิปัตตะบุคคลสิ้นไปรอบ ฉันใด อาสวะ ของสัทธาวิมุตบุคคล หาเป็นเช่นนั้นไม่ บุคคลนี้เรียกว่า สัทธาวิมุต [๘๘] บุคคลผู้มีวาทะเหมือนคูถ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ชอบพูดเท็จ ไปอยู่ในที่ประชุม ไปอยู่ในบริษัท ไปอยู่ในท่ามกลางญาติ ไปอยู่ในท่ามกลางอำมาตย์ หรือไปอยู่ในท่ามกลาง ราชตระกูล ถูกเขานำไปซักถาม ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ดูก่อนบุรุษ ผู้เจริญ ท่านรู้อย่างไร จงพูดอย่างนั้น บุคคลนั้นไม่รู้ กล่าวว่าข้าพเจ้ารู้ หรือ รู้อยู่ กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่รู้ ไม่เห็น กล่าวว่าข้าพเจ้าเห็น หรือเห็นอยู่ กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวคำเท็จโดยรู้อยู่ว่าเท็จดังว่ามานี้ เพราะเหตุแห่งตน หรือเพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีวาจาเหมือนคูถ บุคคลผู้มีวาจาเหมือนดอกไม้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ละเสียแล้วซึ่งมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท ไปอยู่ในที่ประชุม ไปอยู่ในบริษัท ไปอยู่ในท่ามกลางญาติ ไปอยู่ในท่ามกลาง อำมาตย์ หรือไปอยู่ในท่ามกลางราชตระกูล ถูกเขานำไปเพื่อซักถาม ถูกเขา อ้างเป็นพยานซักถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้อย่างไร จงพูดอย่างนั้น บุคคลนั้นไม่รู้ กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่รู้ หรือรู้อยู่ กล่าวว่าข้าพเจ้ารู้ ไม่เห็น กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่เห็น เห็นอยู่ กล่าวว่าข้าพเจ้าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวคำเท็จโดยรู้อยู่ว่าเท็จ ดังว่ามานี้ เพราะเหตุแห่งตน หรือเพราะเหตุแห่งผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิส เล็กน้อย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีวาจาเหมือนดอกไม้ บุคคลผู้มีวาจาเหมือนน้ำผึ้ง เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ วาจานั้นใดไม่มีโทษ สะดวกหู เป็นที่ตั้งแห่ง ความรัก ถึงใจ เป็นของชาวเมือง อันคนมากใคร่ เป็นที่ชอบใจของคนมาก เป็นผู้กล่าววาจาเช่นนั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีวาจาเหมือนน้ำผึ้ง [๘๙] บุคคลมีจิตเหมือนแผลเรื้อรัง เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคั่งแค้น ถูกเขา ว่าเพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปรกติ ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้าย อาการไม่ชอบใจ ให้ปรากฏ เหมือน แผลเรื้อรังถูกท่อนไม้หรือกระเบื้องกระทบ ย่อมมีน้ำเลือดน้ำหนองไหลออกมาก มาย ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความ คั่งแค้น ถูกเขาว่าเพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิด ปรกติ ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้ายและอาการไม่ ชอบใจ ให้ปรากฏก็ฉันนั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนแผลเรื้อรัง บุคคลมีจิตเหมือนฟ้าแลบ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ ความดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหมือนบุรุษมีจักษุ พึงเห็นรูปทั้งหลายในระหว่างที่ฟ้าแลบในเวลามืดกลางคืน ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ย่อมรู้ ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ ฉันนั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ บุคคลมีจิตเหมือนฟ้าผ่า เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ยิ่งแล้วด้วยตนเอง ทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลายแล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม เหมือนแก้วมณีหรือแผ่นหิน อะไร ชื่อว่าไม่แตก ย่อมไม่มี เมื่อฟ้าผ่าลงไป ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ยิ่งแล้วด้วยตนเอง ทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ ในทิฏฐธรรม ก็ฉันนั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนฟ้าผ่า [๙๐] บุคคลผู้บอด เป็นไฉน บุคคลพึงได้โภคะที่ตนยังไม่ได้ หรือพึงกระทำโภคะที่ตนได้แล้ว ให้ เจริญด้วยจักษุเช่นใด จักษุเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่บุคคลบางคนในโลกนี้ บุคคล พึงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมทั้งหลายที่มีส่วนเปรียบ โดยเป็นธรรมดำและ ธรรมขาว ด้วยจักษุเช่นใด แม้จักษุเช่นนั้น ก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้บอด บุคคลตาข้างเดียว เป็นไฉน บุคคลพึงได้โภคะที่ตนยังไม่ได้ หรือพึงกระทำโภคะที่ตนได้แล้วให้เจริญ ด้วยจักษุเช่นใด จักษุเช่นนั้นย่อมไม่มีแก่บุคคลบางคนในโลกนี้ บุคคลพึงรู้ธรรม ทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรม ทั้งหลายที่เลวและประณีต รู้ธรรมทั้งหลายที่มีส่วนเปรียบ โดยเป็นธรรมดำและ ธรรมขาว ด้วยจักษุเช่นใด แม้จักษุเช่นนั้น ก็ย่อมไม่มีแก่บุคคลเช่นนั้น บุคคล นี้เรียกว่า คนมีตาข้างเดียว บุคคลมีตาสองข้าง เป็นไฉน บุคคลพึงได้โภคะที่ตนยังไม่ได้ หรือพึงกระทำโภคะที่ตนได้แล้วให้เจริญ ด้วยจักษุเช่นใด จักษุเช่นนั้น ย่อมมีแก่บุคคลบางคนในโลกนี้ บุคคลพึงรู้ธรรม ทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรม ทั้งหลายที่เลวและประณีต รู้ธรรมทั้งหลายที่มีส่วนเปรียบโดยเป็นธรรมดำและ ธรรมขาว ด้วยจักษุเช่นใด แม้จักษุเช่นนั้นก็ย่อมมีแก่บุคคลนั้น บุคคลนี้เรียกว่า คนมีตาสองข้าง [๙๑] บุคคลมีปัญญาดังหม้อคว่ำ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปสู่อารามเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย เนืองๆ พวกภิกษุย่อมแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะแก่บุคคลนั้น ย่อมประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง บุคคลนั้นพึงนั่งแล้วที่อาสนะนั้น ย่อมไม่ใส่ใจถึงเบื้องต้นเลย ย่อมไม่ใส่ใจถึงท่ามกลาง ย่อมไม่ใส่ใจถึงที่สุด แม้ลุกออกจากอาสนะแล้ว ก็ไม่ใส่ใจถึงเบื้องต้น ไม่ใส่ใจถึงท่ามกลาง ไม่ใส่ใจถึงที่สุดแห่งกถานั้นเลย เหมือนน้ำที่เขาเทใส่หม้อที่คว่ำไว้ ย่อมไหลไป ย่อมไม่ขังอยู่ ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปสู่อารามเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลายเนืองๆ พวกภิกษุย่อมแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะแก่บุคคลนั้น ย่อมประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง บุคคลนั้นนั่งแล้วที่อาสนะนั้น ย่อมไม่ใส่ใจถึงเบื้องต้น ย่อมไม่ ใส่ใจถึงท่ามกลาง ย่อมไม่ใส่ใจถึงที่สุดแห่งกถานั้นเลย แม้ลุกจากอาสนะนั้น แล้ว ก็ไม่ใส่ใจถึงเบื้องต้น ไม่ใส่ใจถึงท่ามกลาง ไม่ใส่ใจถึงที่สุดแห่งกถานั้นเลย ก็ฉันนั้น บุคคลนี้เรียกว่า มีปัญญาดังหม้อคว่ำ บุคคลมีปัญญาดังหน้าตัก เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปสู่อารามเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย เนืองๆ พวกภิกษุย่อมแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะแก่บุคคลนั้น ย่อมประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง บุคคลนั้นนั่งแล้วที่อาสนะนั้น ย่อมใส่ใจถึงเบื้องต้นบ้าง ย่อม ใส่ใจถึงท่ามกลางบ้าง ย่อมใส่ใจถึงที่สุดบ้าง แต่ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ไม่ใส่ใจ ถึงเบื้องต้น ไม่ใส่ใจถึงท่ามกลาง ไม่ใส่ใจถึงที่สุดแห่งกถานั้นเลย เหมือนของ เคี้ยวนานาชนิด เช่น งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทรา วางเรี่ยรายอยู่แล้ว แม้บนตัก ของบุรุษ เมื่อเขาเผลอตัวลุกจากอาสนะ พึงกระจัดกระจายไป ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปสู่อารามเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลายเนืองๆ ภิกษุทั้งหลายย่อมแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้ง อรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่บุคคลนั้น ย่อมประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง บุคคลนั้นนั่งแล้วที่อาสนะนั้น ย่อมใส่ใจถึงเบื้องต้นบ้าง ย่อมใส่ใจถึง ท่ามกลางบ้าง ย่อมใส่ใจถึงที่สุดบ้าง แห่งกถานั้น แต่ลุกออกจากอาสนะนั้นแล้ว ย่อมไม่ใส่ใจถึงเบื้องต้น ย่อมไม่ใส่ใจถึงท่ามกลาง ย่อมไม่ใส่ใจถึงที่สุด แห่ง กถานั้นเลย ก็ฉันนั้น บุคคลนี้เรียกว่า มีปัญญาดังหน้าตัก บุคคลมีปัญญามาก เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปสู่อารามเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย เนืองๆ พวกภิกษุย่อมแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่บุคคลนั้น ย่อมประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง บุคคลนั้นนั่งแล้วที่อาสนะนั้น ย่อมใส่ใจถึงเบื้องต้นบ้าง ย่อม ใส่ใจถึงท่ามกลางบ้าง ย่อมใส่ใจถึงที่สุดบ้าง แม้ลุกออกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็ย่อมใส่ใจถึงเบื้องต้นบ้าง ย่อมใส่ใจถึงท่ามกลางบ้าง ย่อมใส่ใจถึงที่สุดบ้าง แห่งกถานั้น เหมือนน้ำที่เขาเทใส่หม้อที่หงายไว้ ย่อมขังอยู่ ย่อมไม่ไหลไป ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปสู่อารามเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุ ทั้งหลายเนืองๆ พวกภิกษุย่อมแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่บุคคลนั้น ย่อมประกาศ พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เขานั่งที่อาสนะนั้นแล้ว ย่อมใส่ใจถึงเบื้องต้น บ้าง ย่อมใส่ใจถึงท่ามกลางบ้าง ย่อมใส่ใจถึงที่สุด แห่งกถานั้น แม้ลุกออกจาก อาสนะนั้นแล้ว ก็ย่อมใส่ใจถึงเบื้องต้นบ้าง ย่อมใส่ใจถึงท่ามกลางบ้าง ย่อมใส่ใจ ถึงที่สุดบ้าง แห่งกถานั้น บุคคลนี้เรียกว่า คนมีปัญญามาก [๙๒] บุคคลมีราคะยังไม่ไปปราศแล้วในกามและภพ เป็นไฉน พระโสดาบันและสกทาคามีบุคคลเหล่านี้ เรียกว่าบุคคลผู้มีราคะ ยังไม่ ไปปราศในกามและภพ บุคคลมีราคะไปปราศแล้วในกาม แต่มีราคะยังไม่ไปปราศแล้ว ในภพ เป็นไฉน พระอนาคามีบุคคล นี้เรียกว่า บุคคลมีราคะไปปราศแล้วในกาม แต่ มีราคะยังไม่ไปปราศแล้วในภพ บุคคลมีราคะไปปราศแล้วในกามและภพ เป็นไฉน พระอรหันต์ นี้เรียกว่า บุคคลมีราคะไปปราศแล้วในกามและภพ [๙๓] บุคคลเหมือนรอยขีดในหิน เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมโกรธอยู่เนืองๆ และความโกรธของเขานั้นแล ย่อมนอนเนื่องอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน เหมือนรอยขีดในหิน ย่อมไม่เลือนไปได้ ง่าย เพราะลมหรือเพราะน้ำ ย่อมเป็นของตั้งอยู่ได้นาน ชื่อแม้ฉันใด บุคคล บางคนในโลกนี้ ย่อมโกรธอยู่เนืองๆ และความโกรธของเขานั้นแล ย่อมนอน เนื่องอยู่ตลอดกาลยาวนาน ก็ฉันนั้น นี้เรียกว่า บุคคลเหมือนรอยขีดในหิน บุคคลเหมือนรอยขีดในแผ่นดิน เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมโกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้น ย่อมไม่นอนเนื่องอยู่ตลอดกาลยาวนาน เหมือนรอยขีดในแผ่นดิน ย่อมลบเลือน ไปได้ง่าย เพราะลมหรือเพราะน้ำ ไม่ตั้งอยู่ได้นาน ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคน ในโลกนี้ ย่อมโกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้น ย่อมไม่นอนเนืองอยู่ สิ้นกาลยาวนาน ก็ฉันนั้น นี้เรียกว่า บุคคลเหมือนรอยขีดในแผ่นดิน บุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกบุคคลว่ากล่าวแม้ด้วยถ้อยคำกระด้าง แม้ด้วย ถ้อยคำหยาบคาย แม้ด้วยถ้อยคำไม่เป็นที่พอใจ ยังคงสนิทกัน ยังคงติดต่อกัน ยังคงชอบกัน เหมือนรอยขีดในน้ำย่อมลบเลือนไปได้ง่าย ไม่ตั้งอยู่ได้นาน ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกบุคคลว่ากล่าว แม้ด้วยคำกระด้างบ้าง แม้ด้วยคำหยาบ แม้ด้วยคำไม่เป็นที่ชอบใจ ยังคงสนิทกัน ยังคงติดต่อกัน ยังคงชอบกัน ก็ฉันนั้น นี้เรียกว่า บุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบด้วยผ้าป่าน ๓ จำพวก เป็นไฉน [๙๔] ผ้าป่าน ๓ ชนิด คือ ผ้าแม้ยังใหม่ที่มีสีไม่ดี นุ่งห่มก็ไม่สบายและมีราคาน้อย ผ้าแม้กลางเก่ากลางใหม่ที่มีสีไม่ดี นุ่งห่มก็ไม่สบายและมีราคาน้อย ผ้าแม้เก่าที่มีสีไม่ดี นุ่งห่มก็ไม่สบายและมีราคาน้อย คนทั้งหลาย ย่อม เอาผ้าแม้ผืนเก่าๆ ทำเป็นผ้าเช็ดหม้อข้าวบ้าง เอาผ้าเก่านั้นไปทิ้งเสีย ที่กอง หยากเยื่อบ้าง [๙๕] บุคคลเปรียบด้วยผ้าป่าน ๓ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในภิกษุ ทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลเปรียบด้วยผ้าป่าน ๓ จำพวก แม้หากว่า ภิกษุใหม่ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ผ้าที่มีสีไม่ดีนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ ก็อุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีวรรณะชั่ว ส่วนคน เหล่าใด ย่อมสมาคม ย่อมคบ ย่อมเข้าใกล้ ย่อมเอาอย่างบุคคลนี้ การเสพนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่คนเหล่านั้น ตลอด กาลนาน ผ้าที่นุ่งห่มไม่สบายนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ ก็อุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะ บุคคลนี้มีสัมผัสเป็นทุกข์ ก็บุคคลนี้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย- *เภสัชบริขารของคนเหล่าใดแล ทานของคนเหล่านั้น ย่อมไม่มีผลมาก ย่อมไม่มี อานิสงส์มาก ผ้าที่มีราคาน้อยนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็อุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะ บุคคลนี้มีราคาน้อย แม้หากว่า ภิกษุชั้นมัชฌิมะ ฯลฯ แม้หากว่า ภิกษุชั้นพระเถระ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ผ้าที่มีสี ไม่ดีนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็อุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีวรรณะชั่ว ส่วน คนเหล่าใดย่อมสมาคม ย่อมคบ ย่อมเข้าใกล้ ย่อมเอาอย่างบุคคลนี้ การ สมาคมนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่ชน เหล่านั้นตลอดกาลนาน ผ้าที่นุ่งห่มไม่สบาย แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็อุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีสัมผัสเป็นทุกข์ ก็บุคคลนี้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของคนเหล่าใด ทานของคนเหล่านั้น ย่อมไม่มีผลมาก ย่อมไม่มีอานิสงส์มาก ผ้าที่มีราคาน้อย แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น นี้ก็ เพราะบุคคลนี้มีราคาน้อย หากว่าพระเถระเห็นปานนี้ จะว่ากล่าวในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะกล่าวกับพระเถระผู้นั้นนั่นอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยคำกล่าว ของท่านผู้โง่เขลาเบาปัญญา ถึงแม้ท่านจะสำคัญว่าควรกล่าวก็ดี พระเถระนั้น โกรธไม่พอใจ ก็จะเปล่งวาจาชนิดที่จะเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัด ดุจคนเอาผ้าไป โยนทิ้งเสียที่กองหยากเยื่อฉะนั้น บุคคลเปรียบด้วยผ้าป่าน ๓ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบด้วยผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวก เป็นไฉน [๙๖] ผ้ากาสี ๓ ชนิด คือ ผ้ากาสีแม้ใหม่ก็มีสีงาม นุ่งห่มสบายและมีราคามาก ผ้ากาสีแม้กลางเก่ากลางใหม่ก็มีสีงาม นุ่งห่มสบายและมีราคามาก ผ้ากาสีแม้อย่างเก่าก็มีสีงาม นุ่งห่มสบายและมีราคามาก คนทั้งหลายย่อม เอาผ้ากาสีแม้เก่าแล้วไปใช้สำหรับห่อรัตนะบ้าง หรือเก็บผ้ากาสีนั้นไว้ในโถของ หอมบ้าง [๙๗] บุคคลเปรียบด้วยผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ใน ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคล ๓ จำพวก เป็นไฉน แม้หากว่า ภิกษุใหม่มีศีล มีธรรมอันงาม ผ้ากาสีนั้นมีสีอันงาม แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็อุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีวรรณะงาม ส่วนคนเหล่าใด ย่อม สมาคม ย่อมคบ ย่อมเข้าใกล้ ย่อมเอาอย่างบุคคลนี้ การเสพนั้นย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเหล่านั้น ตลอดกาลนาน ผ้ากาสีนั้น นุ่งห่มสบาย แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีสัมผัสสบาย ก็บุคคลนี้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของคนเหล่าใด ทานของคนเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก ย่อมมีอานิสงส์มาก ผ้ากาสีนั้น ย่อมมีราคามาก แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีราคามาก แม้หากว่าภิกษุชั้นมัชฌิมะ ฯลฯ แม้หากภิกษุชั้นพระเถระ มีศีล มีธรรมอันงาม ผ้ากาสีนั้นสีงาม แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีวรรณะงาม ส่วนคนเหล่าใด ย่อม สมาคม ย่อมคบ ย่อมเข้าใกล้ ย่อมเอาอย่างบุคคลนี้ การเสพนั้นย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนเหล่านั้นตลอดกาลนาน ผ้ากาสีนั้นมี สัมผัสสบาย แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะบุคคลนี้มีสัมผัสสบาย ก็บุคคลนี้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของคนเหล่าใด ทานของคนเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ผ้ากาสีนั้น มีราคามาก แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น นี้ก็เพราะค่าที่บุคคลนี้มีค่ามาก หากว่า พระเถระ เห็นปานนี้จะว่ากล่าวในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะกล่าวกับ พระเถระผู้นั้นนั่นอย่างนี้ว่า ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงเงียบเสียง พระเถระกล่าว ธรรมและวินัย ถ้อยคำของพระเถระนั้น ย่อมถึงซึ่งความเป็นของควรเก็บไว้ใน หทัย ดุจผ้ากาสีนั้นอันบุคคลควรเก็บไว้ในโถของหอมฉะนั้น บุคคลเปรียบด้วย ผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ประมาณได้ง่าย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้มีมานะฟูขึ้นดุจไม้อ้อ เป็นผู้ กลับกลอก เป็นผู้ปากกล้า เป็นผู้มีวาจาเกลื่อนกล่น [ไม่สังเกตคำพูด] มีสติ หลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์เปิดเผย นี้เรียกว่า บุคคลประมาณได้ง่าย [๙๘] บุคคลที่ประมาณได้ยาก เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ไม่มีมานะฟูขึ้นดุจไม้อ้อ ไม่เป็นผู้กลับกลอก ไม่เป็นผู้ปากกล้า ไม่เป็นผู้มีวาจาเกลื่อนกล่น มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตเป็นสมาธิ มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว นี้เรียกว่า บุคคลประมาณได้ยาก บุคคลที่ประมาณไม่ได้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ยิ่งด้วยตนเองแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลายแล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม นี้เรียกว่า บุคคลประมาณไม่ได้ [๙๙] บุคคลไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เสื่อมจากศีล จากสมาธิ จากปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ควรเว้นจากความ เอ็นดู เว้นจากความอนุเคราะห์ บุคคลควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เสมอกันด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า ศีลกถาแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล จักมีแก่เรา ทั้งหลาย ทั้งกถานั้น จักเป็นความผาสุกแก่เราทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไป แก่เราทั้งหลาย [คือจักไม่เดือดร้อน] สมาธิกถาแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ถึงความ เป็นผู้เสมอกันด้วยสมาธิ จักมีแก่เราทั้งหลาย ทั้งกถานั้นจักเป็นความผาสุกแก่เรา ทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไปแก่เราทั้งหลาย [คือจักไม่เดือดร้อน] ปัญญา กถาของสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยปัญญา จักมีแก่เราทั้งหลาย ทั้งกถานั้นจักเป็นความผาสุกแก่เราทั้งหลาย และกถานั้นจักเป็นไปแก่เราทั้งหลาย [คือจักไม่เดือดร้อน] เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควร เข้าใกล้ บุคคลที่ควรสักการะเคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งด้วยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ควรสักการะเคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า เราจักได้บำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือเราจักถือเอาตาม ซึ่ง ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ เราจักได้บำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่ บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือเราจักได้ถือเอาตามซึ่งสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาใน ที่นั้นๆ เราจักได้บำเพ็ญซึ่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือเราจัก ได้ถือเอาตามซึ่งปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ ควรสักการะเคารพ สมาคม คบหา เข้าใกล้ [๑๐๐] บุคคลควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควร เข้าใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ผู้ประกอบด้วย กายกรรมเป็นต้น อันไม่สะอาด และมีสมาจารอันผู้อื่นหรือตนพึงระลึกได้ด้วย ความระแวง ผู้มีการงานอันปกปิด ผู้มิใช่สมณะแต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณตนว่าประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เน่าใน ผู้อัน ราคะชุ่มแล้ว ผู้รุงรัง บุคคลเห็นปานนี้ควรเกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ ควรเข้าใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าถึงแม้บุคคลผู้คบจะไม่เอาอย่างบุคคลนี้ แต่กิตติศัพท์อันลามก ก็ย่อมฟุ้งขจรไปสู่บุคคลผู้คบนั้นว่าบุคคลผู้เป็นบุรุษมีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว คบคนชั่ว ดังนี้ งูที่เปื้อนคูถ ถึงจะไม่กัดคน ก็จริง ถึงอย่างนั้น ย่อม เปื้อนบุคคลนั้น ชื่อแม้ฉันใด ถึงบุคคลผู้คบนั้น จะไม่เอาอย่างบุคคลเช่นนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กิตติศัพท์อันลามก ย่อมฟุ้งไปแก่บุคคลนั้นว่า บุคคลผู้เป็นบุรุษ มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว คบคนชั่ว ดังนี้ เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงควร เกลียด ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ บุคคลที่ควรเฉยๆ เสีย ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้า ใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความคับแค้น ถูกเขา ว่าแม้เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปกติ ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้ายและอาการไม่ชอบใจ ให้ปรากฏ เหมือนแผลเรื้อรัง ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบ ย่อมมีน้ำเลือด น้ำหนองไหลออกมากมาย ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้น ถูกเขาว่าแม้เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปกติ ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษ- *ร้ายและอาการไม่ชอบใจให้ปรากฏ ก็ฉันนั้น ใบมะพลับแห้งถูกไม้หรือ กระเบื้องกระทบแล้ว ย่อมมีเสียงดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะเกินประมาณ ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้น ถูกเขาว่าแม้ เพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปกติ ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้ายและอาการไม่ชอบใจให้ปรากฏ ก็ฉัน นั้น หลุมคูถ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบ ย่อมมีกลิ่นเหม็นเกินประมาณ ชื่อแม้ ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้น ถูกเขา ว่าเพียงเล็กน้อย ก็ย่อมข้อง ย่อมกำเริบ ย่อมแสดงอาการผิดปกติ ย่อมกระด้าง ย่อมแสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้ายและอาการไม่ชอบใจ ให้ปรากฏก็ฉัน นั้น บุคคลเห็นปานนี้ควรวางเฉยเสียไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าเขาจะพึงด่าเราบ้าง พึงบริภาษเราบ้าง พึงกระทำ ความฉิบหายแก่เราบ้าง เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรวางเฉยเสีย ไม่ควร สมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ บุคคลควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าถึงแม้ว่า บุคคลผู้คบ จะไม่เอาอย่างบุคคลเห็นปานนี้ แต่กิตติศัพท์อันงามก็ย่อมฟุ้งขจรไป สู่บุคคลผู้คบนั้นว่า บุคคลผู้เป็นบุรุษ มีมิตรดี มีสหายดี คบคนดีดังนี้ เพราะ ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ ควรสมาคม ควรคบ ควรเข้าใกล้ [๑๐๑] บุคคลผู้มีปกติกระทำให้บริบูรณ์ในศีล มีปกติกระทำ แต่พอประมาณในสมาธิ มีปกติกระทำแต่พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน พระโสดาบัน พระสกทาคามีเหล่านี้เรียกว่า มีปกติกระทำให้บริบูรณ์ ในศีล มีปกติกระทำแต่พอประมาณในสมาธิ มีปกติกระทำแต่พอประมาณใน ปัญญา บุคคลมีปกติกระทำให้บริบูรณ์ในศีล และมีปกติกระทำให้ บริบูรณ์ในสมาธิ มีปกติกระทำแต่พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน พระอนาคามี นี้เรียกว่า บุคคลมีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล และมีปกติทำ ให้บริบูรณ์ในสมาธิ มีปกติทำแต่พอประมาณในปัญญา บุคคลมีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีลในสมาธิ และในปัญญา เป็นไฉน พระอรหันต์ นี้เรียกว่า บุคคลมีปกติกระทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ และปัญญา [๑๐๒] ในศาสดาเหล่านั้น ศาสดา ๓ จำพวก เป็นไฉน ศาสดาบางคนในโลกนี้ ย่อมบัญญัติการละกาม แต่ไม่บัญญัติการละรูป ไม่บัญญัติการละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้ ย่อมบัญญัติการละกามด้วย ย่อมบัญญัติการ ละรูปด้วย แต่ไม่บัญญัติการละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้ ย่อมบัญญัติการละกามด้วย ย่อมบัญญัติการ ละรูปด้วย ย่อมบัญญัติการละเวทนาด้วย บรรดาศาสดา ๓ จำพวกนั้น ศาสดานี้ใด บัญญัติการละกาม แต่ไม่ บัญญัติการละรูป ไม่บัญญัติการละเวทนา พึงเห็นว่าศาสดานั้นเป็นศาสดาผู้ได้ รูปาวจรสมาบัติ โดยการบัญญัตินั้น ศาสดานี้ใด บัญญัติการละกามด้วย บัญญัติการละรูปด้วย แต่ไม่บัญญัติ การละเวทนา พึงเห็นว่าศาสดานั้น เป็นศาสดาผู้ได้อรูปาวจรสมาบัติ โดยการ บัญญัตินั้น ศาสดานี้ใด บัญญัติการละกามด้วย บัญญัติการละรูปด้วย บัญญัติ การละเวทนาด้วย พึงเห็นว่า ศาสดานั้นเป็นศาสดาผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการบัญญัตินั้น เหล่านี้เรียกว่า ศาสดา ๓ จำพวก [๑๐๓] บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดา ๓ จำพวก แม้อื่นอีก เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบัญญัติตนในทิฏฐธรรม [คืออัตภาพนี้] โดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และย่อมบัญญัติตนภายหน้า [ในอัตภาพอื่น] โดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน ศาสดาบางคนในโลกนี้ ย่อมบัญญัติตนในทิฏฐธรรม โดยความเป็น ของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน แต่ไม่บัญญัติตนในภายหน้า โดยความ เป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน ศาสดาบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่บัญญัติตนในทิฏฐธรรม โดยความเป็น ของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และย่อมไม่บัญญัติตนในภายหน้า โดย ความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดานี้ใด ย่อมบัญญัติตนในทิฏฐธรรมโดย ความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และบัญญัติตนในภายหน้า โดย ความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน พึงเห็นว่าศาสดานั้น เป็นศาสดาผู้ มีวาทะว่าเที่ยง โดยการบัญญัตินั้น ศาสดานี้ใด ย่อมบัญญัติตนในทิฏฐธรรม และย่อมไม่บัญญัติตนภาย หน้า โดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน พึงเห็นว่าศาสดานั้น เป็นศาสดาผู้มีวาทะว่าขาดสูญ โดยการบัญญัตินั้น ศาสดานี้ใด ย่อมไม่บัญญัติตนในทิฏฐธรรม โดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และย่อมไม่บัญญัติตนในภายหน้า โดยความเป็นของมี จริง โดยความเป็นของยั่งยืน พึงเห็นว่าศาสดานั้น เป็นศาสดาผู้เป็นพระสัมมา- *สัมพุทธเจ้า โดยการบัญญัตินั้น เหล่านี้เรียกว่าศาสดา ๓ จำพวก แม้อื่นอีก
ติกนิทเทส จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ บรรทัดที่ ๓๒๒๕-๓๖๕๘ หน้าที่ ๑๓๒-๑๔๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=36&A=3225&Z=3658&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=36&A=3225&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=36&siri=29              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=599              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=36&A=3206              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=1461              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=36&A=3206              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=1461              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_36              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pp2.3/en/law

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]