ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง
[๓๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงตำบลอุรุเวลาแล้ว. ก็โดย สมัยนั้นแล ชฎิล ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสป ๑ นทีกัสสป ๑ คยากัสสป ๑ อาศัยอยู่ในตำบล อุรุเวลา. บรรดาชฎิล ๓ คนนั้น ชฎิลชื่ออุรุเวลกัสสป เป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึกสอน เป็นผู้เลิศ เป็น หัวหน้า เป็นประธาน ของชฎิล ๕๐๐ คน. ชฎิลชื่อนทีกัสสป เป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึกสอน เป็น ผู้เลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน ของชฎิล ๓๐๐ คน. ชฎิลชื่อคยากัสสป เป็นผู้นำ เป็น ผู้ฝึกสอน เป็นผู้เลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน ของชฎิล ๒๐๐ คน. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ได้เสด็จเข้าไปสู่อาศรมของชฎิลชื่ออุรุเวลกัสสป แล้วได้ตรัสกะชฎิลชื่ออุรุเวลกัสสปว่า ดูกร กัสสป ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขออาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงสักคืนหนึ่ง. อุรุ. ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย แต่ในโรงบูชาเพลิงนั้นมีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายแรง อย่าเลย มันจะทำให้ท่านลำบาก. แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่ชฎิลชื่ออุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสป ถ้าท่าน ไม่หนักใจ เราขออาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงสักคืนหนึ่ง. อุรุ. ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย แต่ในโรงบูชาเพลิงนั้นมีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายแรง อย่าเลย มันจะทำให้ท่านลำบาก. แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่ชฎิลชื่ออุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสป ถ้าท่าน ไม่หนักใจ เราขออาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงสักคืนหนึ่ง. อุรุ. ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย แต่ในโรงบูชาเพลิงนั้นมีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายแรง อย่าเลย มันจะทำให้ท่านลำบาก. ภ. ลางที พญานาคจะไม่ทำให้เราลำบาก ดูกรกัสสป เอาเถิด ขอท่านจงอนุญาตโรง บูชาเพลิง. อุรุ. ข้าแต่มหาสมณะ เชิญท่านอยู่ตามสบายเถิด. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่โรงบูชาเพลิง แล้วทรงปูหญ้า เครื่องลาด ประทับ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่น.
ปาฏิหาริย์ที่ ๑
[๓๘] ครั้งนั้น พญานาคนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปดังนั้น ครั้นแล้ว มี ความขึ้งเคียดไม่พอใจ จึงบังหวนควันขึ้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงครอบงำเดชของพญานาคนี้ด้วยเดชของตน ไม่กระทบกระทั่งผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูก ดังนี้ แล้วทรงบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น ทรงบังหวนควันแล้ว. พญานาค นั้นทนความลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟสู้ในทันที. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงเข้ากสิณสมาบัติมีเตโชธาตุ เป็นอารมณ์ บันดาลไฟต้านทานไว้. เมื่อทั้งสองฝ่ายโพลงไฟขึ้น โรงบูชาเพลิงรุ่งโรจน์เป็นเปลว เพลิงดุจไฟลุกไหม้ทั่วไป. จึงชฎิลพวกนั้นพากันล้อมโรงบูชาเพลิง แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ชาวเรา พระมหาสมณะรูปงามคงถูกพญานาคเบียดเบียนแน่. ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงครอบงำเดชของ พญานาคนั้น ด้วยเดชของพระองค์ ไม่กระทบกระทั่งผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และเยื่อใน กระดูก ทรงขดพญานาคไว้ในบาตร โดยผ่านราตรีนั้น แล้วทรงแสดงแก่ชฎิลอุรุเวลกัสสปด้วย พระพุทธดำรัสว่า ดูกรกัสสป นี่พญานาคของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราแล้ว จึงชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ จึงครอบงำเดช ของพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายแรง ด้วยเดชของตนได้ แต่พระมหาสมณะ นี้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่. [๓๙] ที่แม่น้ำเนรัญชรา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะชฎิลอุรุเวลกัสสป ว่าดังนี้:- ดูกรกัสสป ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขออาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงสักวันหนึ่ง. อุรุ. ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย แต่ข้าพเจ้าหวังความสำราญจึงห้ามท่านว่า ในโรงบูชาเพลิงนั้นมีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายแรง อย่าเลย มันจะทำให้ ท่านลำบาก. ภ. ลางที พญานาคนั้นจะไม่ทำให้เราลำบาก ดูกรกัสสป เอาเถิด ท่านจงอนุญาตโรง บูชาเพลิง. พระผู้มีพระภาคทรงทราบอุรุเวลกัสสปนั้นว่า อนุญาตให้แล้ว ไม่ทรงครั่นคร้าม ปราศจาก ความกลัว เสด็จเข้าไป. พญานาคเห็นพระผู้มีพระภาคผู้แสวงคุณความดี เสด็จเข้าไปแล้ว ไม่พอใจ จึงบังหวน ควันขึ้น. ส่วนพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ประเสริฐ มีพระทัยดี มีพระทัยไม่ขัดเคือง ทรงบังหวน ควันขึ้นในที่นั้น. แต่พญานาคทนความลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟสู้. ส่วนพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ประเสริฐ ทรงฉลาดในกสิณสมาบัติมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ได้ทรงบันดาลไฟต้านทานไว้ในที่นั้น. เมื่อทั้งสองฝ่ายโพลงไฟขึ้นแล้ว โรงบูชาเพลิงรุ่งโรจน์เป็นเปลวเพลิง. พวกชฎิลกล่าว กันว่า ชาวเรา พระสมณะรูปงามคงถูกพญานาคเบียดเบียนแน่. ครั้นราตรีผ่านไป เปลวไฟของพญานาคไม่ปรากฏ. แต่เปลวไฟสีต่างๆ ของพระผู้มี พระภาคผู้ทรงฤทธิ์ยังสถิตอยู่. พระรัศมีสีต่างๆ คือสีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระกาย พระอังคีรส. พระพุทธองค์ทรงขดพญานาคไว้ในบาตรแล้ว ทรงแสดงแก่พราหมณ์ว่า ดูกรกัสสป นี่พญานาคของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราแล้ว. ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสป เลื่อมใสยิ่งนัก เพราะอิทธิปาฏิหาริย์นี้ของพระผู้มีพระภาค ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่มหาสมณะ นิมนต์อยู่ในที่นี้แหละ ข้าพเจ้าจักบำรุงท่าน ด้วยภัตตาหารประจำ.
ปาฏิหาริย์ที่ ๑ จบ
-----------------------------------------------------
ปาฏิหาริย์ที่ ๒
[๔๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากอาศรม ของชฎิลอุรุเวลกัสสป. ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เมื่อราตรีปฐมยามผ่านไปแล้ว เปล่งรัศมีงาม ยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มี พระภาค ได้ยืนเฝ้าอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น. ต่อมาชฎิลอุรุเวลกัสสป เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคโดยผ่านราตรีนั้น ครั้นถึงแล้วได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว มหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว พวกนั้นคือใครกันหนอ เมื่อราตรีปฐมยามผ่านไปแล้ว มีรัศมี งาม ยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปหาท่าน ครั้นถึงแล้วอภิวาทท่าน ได้ยืนอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป พวกนั้นคือท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหาเราเพื่อ ฟังธรรม. ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แท้ ถึงกับท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสป แล้วประทับอยู่ใน ไพรสณฑ์ตำบลนั้นแล.
ปาฏิหาริย์ที่ ๒ จบ
-----------------------------------------------------
ปาฏิหาริย์ที่ ๓
[๔๑] ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ เมื่อราตรีปฐมยามล่วงไปแล้ว เปล่งรัศมีงาม ยัง ไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ดุจกองไฟใหญ่ งามและประณีตกว่ารัศมีแต่ก่อน. ต่อมา ชฎิลอุรุเวลกัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคโดยผ่านราตรีนั้น ครั้นถึงแล้วได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มี พระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว มหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว ผู้นั้นคือใครกันหนอ เมื่อราตรีปฐมยาม ผ่านไปแล้ว เปล่งรัศมีงาม ยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาท่าน ครั้นถึงแล้วอภิวาท ท่าน ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ดุจกองไฟใหญ่ งามและประณีตกว่ารัศมีแต่ก่อน? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป ผู้นั้น คือ ท้าวสักกะจอมทวยเทพเข้ามาหาเรา เพื่อฟังธรรม. ครั้งนั้น ชฎิลอุรุกัสสปได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับท้าวสักกะจอมทวยเทพเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสป แล้วประทับอยู่ใน ไพรสณฑ์ตำบลนั้นแล.
ปาฏิหาริย์ที่ ๓ จบ
-----------------------------------------------------
ปาฏิหาริย์ที่ ๔
[๔๒] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อราตรีปฐมยามล่วงไปแล้ว เปล่งรัศมีงาม ยัง ไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ดุจกองไฟใหญ่ งามและประณีตกว่ารัศมีแต่ก่อน. ครั้นล่วง ราตรีนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสป ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มี พระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว มหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว ผู้นั้นคือใครกันหนอ เมื่อราตรีปฐมยาม ผ่านไปแล้ว เปล่งรัศมีงาม ยังไพรสนฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาท่าน ครั้นถึงแล้วอภิวาท ท่าน ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ดุจกองไฟใหญ่ งามและประณีตกว่ารัศมีแต่ก่อน? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป ผู้นั้น คือ ท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเรา เพื่อฟังธรรม. ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสป แล้วประทับอยู่ใน ไพรสณฑ์ตำบลนั้นแล.
ปาฏิหาริย์ที่ ๔ จบ
-----------------------------------------------------
ปาฏิหาริย์ที่ ๕
[๔๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่. และ ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้น ถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมาก บ่ายหน้ามุ่งไปหา. จึงชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ดำริว่า บัดนี้ เราได้เตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่ และประชาชนชาวอังคะ และมคธทั้งสิ้น ได้นำของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากบ่ายหน้ามุ่งมาหา ถ้าพระมหาสมณะจักทำ อิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชน ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเรา จักเสื่อม โอ ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะจึงจะไม่มาฉัน. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชฎิลอุรุเวลกัสสปด้วยพระทัยแล้ว เสด็จไปอุตตรกุรุทวีป ทรง นำบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้น แล้วเสวยที่ริมสระอโนดาต ประทับกลางวันอยู่ ณ ที่นั้นแหละ. ครั้นล่วงราตรีนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ทูลคำนี้ต่อ พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว มหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว เพราะเหตุไรหนอ วานนี้ท่าน จึงไม่มา เป็นความจริง พวกข้าพเจ้าระลึกถึงท่านว่า เพราะเหตุไรหนอ พระมหาสมณะจึงไม่มา แต่ส่วนแห่งขาทนียาหาร ข้าพเจ้าได้จัดไว้เพื่อท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามว่า ดูกรกัสสป ท่านได้ดำริอย่างนี้มิใช่หรือว่า บัดนี้ เราได้เตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่ และประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นได้นำของเคี้ยวและ ของบริโภคเป็นอันมากบ่ายหน้ามุ่งมาหา ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ ในหมู่มหาชน ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม โอ ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะจึงจะไม่มาฉัน ดูกรกัสสป เรานั้นแลทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านด้วยใจ ของเรา จึงไปอุตตรกุรุทวีป นำบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้น มาฉันที่ริมสระอโนดาตแล้ว ได้พักกลางวันอยู่ ณ ที่นั้นแหละ. ทีนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ จึงได้ทราบความคิดนึกแม้ด้วยใจได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสป แล้วประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ตำบลนั้นแล.
ปาฏิหาริย์ที่ ๕ จบ
-----------------------------------------------------
ผ้าบังสุกุล
[๔๔] ก็โดยสมัยนั้น ผ้าบังสุกุลบังเกิดแก่พระผู้มีพระภาค. จึงพระองค์ได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงซักผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ. ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ทรงทราบพระดำริ ในพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยพระทัยของพระองค์ จึงขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ แล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดซักผ้าบังสุกุลในสระนี้. ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ. ลำดับนั้น ท้าวสักกะ จอมทวยเทพ ทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ได้ ยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางพลางทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงขยำผ้าบังสุกุล บนศิลาแผ่นนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ ณ ที่ไหนหนอ. ครั้งนั้น เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบก ทราบพระดำริในพระหทัยของพระผู้มี พระภาคด้วยใจของตน จึงน้อมกิ่งกุ่มลงมา พลางกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่กิ่งกุ่มนี้. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะผึ่งผ้า บังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ. ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ทรงทราบพระดำริในพระหทัยของ พระผู้มีพระภาคด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ได้ยกแผ่นศิลาใหญ่มาวางไว้ พลางกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลบนศิลาแผ่นนี้. หลังจากนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคโดยล่วงราตรีนั้น ครั้นถึงแล้ว ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว มหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว เพราะเหตุไรหนอ มหาสมณะ เมื่อก่อนสระนี้ไม่มีที่นี้ เดี๋ยวนี้มีสระอยู่ที่นี้ เมื่อก่อนศิลาเหล่านี้ไม่มีวางอยู่ ใคร ยกศิลาเหล่านี้มาวางไว้ เมื่อก่อนกิ่งกุ่มบกต้นนี้ไม่น้อมลง เดี๋ยวนี้กิ่งนั้นน้อมลง? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป ผ้าบังสุกุลบังเกิดแก่เรา ณ ที่นี้ เรานั้นได้ ดำริว่า จะพึงซักผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ทรงทราบความดำริ ในจิตของเราด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว จึงขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ แล้วตรัสบอกแก่ เราว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้ สระนี้อันผู้มิใช่มนุษย์ ได้ขุดแล้วด้วยมือ ดูกรกัสสป เรานั้นได้ดำริว่า จะพึงขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ทราบความดำริในจิตของเราด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ได้ทรงยก ศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ โดยทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงขยำผ้าบังสุกุล บนศิลาแผ่นนี้ ศิลาแผ่นนี้อันผู้มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้ ดูกรกัสสป เรานั้นได้ดำริว่า จะพึง พาดผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ ครั้งนั้น เทพดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบก ทราบความดำริในจิต ของเราด้วยใจของตนแล้ว จึงน้อมกิ่งกุ่มลงมาโดยทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงพาดผ้าบังสุกุลไว้บนกิ่งกุ่มนี้ ต้นกุ่มบกนี้นั้นประหนึ่งจะกราบทูลว่า ขอพระองค์จง ทรงนำพระหัตถ์มาแล้วน้อมลง ดูกรกัสสป เรานั้นได้ดำริว่า จะพึงผึ่งผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ทรงทราบความดำริแห่งจิตของเราด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ได้ยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ โดยทูลว่า พระพุทธเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุล บนศิลาแผ่นนี้ ศิลาแผ่นนี้อันผู้มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้. ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับท้าวสักกะจอมทวยเทพได้ทำการช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสป แล้วประทับอยู่ใน ไพรสณฑ์ตำบลนั้นแล.
ผ้าบังสุกุล จบ.
ปาฏิหาริย์เก็บผลหว้าเป็นต้น
[๔๕] ครั้นล่วงราตรีนั้นไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วจึง กราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว มหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ท่านไปเถิด เราจะตามไป. พระผู้มีพระภาค ทรงส่งชฎิลอุรุเวลกัสสปไปแล้ว ทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีป แล้วเสด็จมาประทับ นั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน. ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงแล้ว ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่มหาสมณะ ท่านมาทางไหน ข้าพเจ้ากลับมาก่อนท่าน แต่ท่านยังมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน? ภ. ดูกรกัสสป เราส่งท่านไปแล้ว ได้เก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีป แล้วมา นั่งในโรงบูชาเพลิงนี้ก่อน ดูกรกัสสป ผลหว้านี้แล สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส ถ้าท่านต้องการ เชิญบริโภคเถิด. อุรุ. อย่าเลย มหาสมณะ ท่านนั่นแหละเก็บผลไม้นี้มา ท่านนั่นแหละ จงฉันผลไม้ นี้เถิด. ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ เพราะส่งเรามาก่อนแล้ว ยังเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปแล้วมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปแล้ว ประทับอยู่ใน ไพรสณฑ์ตำบลนั้นแล. ครั้นล่วงราตรีนั้นไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว จึงทูลภัตตกาล แด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว มหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว. พระผู้มีพระภาคทรงส่งชฎิลอุรุเวลกัสสปไปด้วยพระดำรัสว่า ดูกรกัสสป ท่านไปเถิด เราจักตามไป แล้วทรงเก็บผลมะม่วง ... ผลมะขามป้อม ... ผลสมอ ในที่ไม่ไกลต้นหว้าประจำ ชมพูทวีปนั้น ... เสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ ทรงเก็บดอกปาริฉัตตกะ แล้วมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิง ก่อน. ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงบูชาเพลิง ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้ ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่มหาสมณะ ท่านมาทางไหน ข้าพเจ้ากลับมาก่อนท่าน แต่ท่านยัง มานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน?. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป เราส่งท่านแล้วได้ไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บ ดอกปาริฉัตตกะแล้ว มานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน ดูกรกัสสป ดอกปาริฉัตตกะนี้แล สมบูรณ์ ด้วยสีและกลิ่น. ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากแท้ เพราะส่งเรามาก่อนแล้วยังไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บดอกปาริฉัตตกะแล้ว มานั่งในโรงบูชา- *เพลิงก่อน แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
ปาฏิหาริย์ผ่าฟืน
[๔๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นปรารถนาจะบำเรอไฟ แต่ไม่อาจจะผ่าฟืนได้. จึงชฎิลเหล่านั้นได้มีความดำริต้องกันว่า ข้อที่พวกเราไม่อาจผ่าฟืนได้นั้น คงเป็นอิทธานุภาพของ พระมหาสมณะ ไม่ต้องสงสัยเลย. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะชฎิลอุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสป พวกชฎิลจงผ่าฟืนเถิด. ชฎิลอุรุเวลกัสสป รับพระพุทธดำรัสว่า ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงผ่าฟืนกัน. ชฎิลทั้งหลายได้ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนคราวเดียวเท่านั้น. ครั้งนั้นแล ชฎิลอุรุเวลกัสสป ได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับให้พวกชฎิลผ่าฟืนได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
ปาฏิหาริย์ก่อไฟ
[๔๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นปรารถนาจะบำเรอไฟ แต่ไม่อาจจะก่อไฟให้ลุก ได้. จึงชฎิลเหล่านั้นได้มีความดำริต้องกันว่า ข้อที่พวกเราไม่อาจจะก่อไฟให้ลุกขึ้นได้นั้น คงเป็น อิทธานุภาพของพระมหาสมณะ ไม่ต้องสงสัยเลย. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะชฎิลอุรุเวล กัสสปว่า ดูกรกัสสป พวกชฎิลจงก่อไฟให้ลุกเถิด. ชฎิลอุรุเวลกัสสป รับพระพุทธดำรัสว่า ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงก่อไฟให้ลุก. ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ลุกขึ้นคราวเดียวกันเทียว. ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสป ได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับให้ไฟลุกขึ้นได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนเราแน่.
ปาฏิหาริย์ดับไฟ
[๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นบำเรอไฟกันแล้วไม่อาจดับไฟได้. จึงได้คิด ต้องกันว่า ข้อที่พวกเราไม่อาจดับไฟได้นั้น คงเป็นอิทธานุภาพของพระสมณะ ไม่ต้องสงสัย เลย. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะชฎิลอุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสป พวกชฎิลจงดับไฟเถิด. ชฎิลอุรุเวลกัสสป รับพระพุทธดำรัสว่า ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงดับไฟกัน. ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ดับคราวเดียวกันเทียว. ครั้งนั้นแล ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากแท้ ถึงกับให้พวกชฎิลดับไฟได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
ปาฏิหาริย์กองไฟ
[๔๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ชฎิลเหล่านั้น พากันดำลงบ้าง ผุดขึ้นบ้าง ทั้งดำทั้งผุดบ้าง ในแม่น้ำเนรัญชรา ในราตรีหนาวเหมันตฤดู ระหว่างท้ายเดือน ๓ ต้นเดือน ๔ ในสมัยน้ำค้างตก. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิรมิตกองไฟไว้ ๕๐๐ กอง สำหรับให้ชฎิลเหล่านั้นขึ้นจากน้ำแล้ว จะได้ผิง. จึงชฎิลเหล่านั้นได้มีความดำริต้องกันว่า ข้อที่กองไฟเหล่านี้ถูกนิรมิตไว้นั้น คงต้อง เป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะ ไม่ต้องสงสัยเลย. ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้มีความ ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับนิรมิตกองไฟได้มากมายถึงเพียงนั้น แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
ปาฏิหาริย์น้ำท่วม
[๕๐] ก็โดยสมัยนั้นแล เมฆใหญ่ในสมัยที่มิใช่ฤดูกาลยังฝนให้ตกแล้ว ห้วงน้ำใหญ่ ได้ไหลนองไป. ประเทศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้นถูกน้ำท่วม. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพระดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงบันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบ แล้วจงกรมอยู่บนภาคพื้น อันมีฝุ่นฟุ้งขึ้นตอนกลาง. ครั้นแล้วจึงทรงบันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบแล้วเสด็จจงกรมอยู่ บนภาคพื้น อันมีฝุ่นฟุ้งขึ้นตอนกลาง. ต่อมา ชฎิลอุรุเวลกัสสปกล่าวว่า พระมหาสมณะอย่าได้ ถูกน้ำพัดไปเสียเลย ดังนี้ แล้วพร้อมด้วยชฎิลมากด้วยกัน ได้เอาเรือไปสู่ประเทศที่พระผู้มี พระภาคประทับอยู่. ได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงบันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบแล้ว เสด็จ จงกรมอยู่บนภาคพื้นอันมีฝุ่นฟุ้งขึ้นตอนกลาง แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่มหาสมณะ ท่านยังอยู่ที่นี่ดอกหรือ? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าถูกละ กัสสป เรายังอยู่ที่นี่ ดังนี้แล้ว เสด็จขึ้นสู่เวหาสปรากฏอยู่ที่เรือ. จึงชฎิลอุรุเวลกัสสปได้มีความดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับบันดาลไม่ให้น้ำไหลไปได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
ทูลขอบรรพชาและอุปสมบท
[๕๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า โมฆบุรุษนี้ ได้มีความคิดอย่างนี้ มานานแล้วว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่ ถ้ากระไร เราพึงให้ชฎิลนี้สลดใจ แล้วจึงตรัสกะชฎิลอุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสป ท่านไม่ใช่ พระอรหันต์แน่ ทั้งยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ แม้ปฏิปทาของท่านที่จะเป็นเหตุให้เป็น พระอรหันต์ หรือพบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มี. ทีนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ ซบเศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ท่านเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึกสอน เป็นผู้เลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน ท่านจงบอกกล่าวพวกนั้นก่อน พวกนั้นจักทำตามที่เข้าใจ. ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปเข้าไปหาชฎิลเหล่านั้น ครั้นแล้วได้แจ้งความประสงค์ ต่อชฎิลเหล่านั้นว่า ผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงทำตามที่เข้าใจ. ชฎิลพวกนั้นกราบเรียนว่า พวกข้าพเจ้าเลื่อมใสยิ่งในพระมหาสมณะมานานแล้ว ขอรับ ถ้าท่านอาจารย์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ พวกข้าพเจ้าทั้งหมดก็จักประพฤติ- *พรหมจรรย์ในพระมหาสมณะเหมือนกัน. ต่อมา ชฎิลเหล่านั้นได้ลอยผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ แล้ว พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบเศียรลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลขอบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้ มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. [๕๒] ชฎิลนทีกัสสปได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงลอยน้ำมา ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายเราเลย จึงส่งชฎิลไปด้วยคำสั่งว่า พวกเธอ จงไป จงรู้พี่ชายของเรา ดังนี้แล้ว ทั้งตนเองกับชฎิล ๓๐๐ ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสป แล้วเรียนถามว่า ข้าแต่พี่กัสสป พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ? พระอุรุเวลกัสสปตอบว่า แน่ละเธอ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ. หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นลอยผม ชฎา เครื่องบริขารและเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ แล้ว พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบเศียรลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลขอบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพวกข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนัก พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. [๕๓] ชฎิลคยากัสสปได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิง ลอยน้ำมา. ครั้นแล้ว ได้มีความดำริว่า อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายทั้งสองของเราเลย แล้วส่งชฎิลไปด้วย คำสั่งว่า พวกเธอจงไป จงรู้พี่ชายทั้งสองของเรา ดังนี้แล้ว ทั้งตนเองกับชฎิล ๒๐๐ คน ได้เข้า ไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสป แล้วเรียนถามว่า ข้าแต่พี่กัสสป พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ? พระอุรุเวลกัสสปตอบว่า แน่ละเธอ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ. หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นลอยผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ แล้วพากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบเศียรลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ทูลขอ บรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพวกข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. [๕๔] พวกชฎิลนั้น ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนไม่ได้ แล้วผ่าได้ ก่อไฟไม่ติด แล้วก่อไฟติด ขึ้นได้ ดับไฟไม่ดับ แล้วดับได้ ด้วยการเพ่งอธิษฐานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ทรงนิรมิตกองไฟไว้ ๕๐๐ กอง. ปาฏิหาริย์ ๓๕๐๐ วิธี ย่อมมีโดยนัยนี้.
-----------------------------------------------------
อาทิตตปริยายสูตร
[๕๕] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จ จาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑๐๐๐ รูป ล้วนเป็น ปุราณชฎิล. ได้ยินว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๑๐๐๐ รูป. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:- ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่ เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อน เพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะ ความคับแค้น. โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ... ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ... ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ... กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน ... มนะเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยมนะเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่ เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อน เพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะ ความคับแค้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน สัมผัสอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน วิญญาณอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้น แล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี. ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑๐๐๐ รูปนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
อาทิตตปริยายสูตร จบ
อุรุเวลปาฏิหาริย์ ตติยภาณวาร จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๘๖๔-๑๒๑๕ หน้าที่ ๓๖-๕๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=864&Z=1215&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=4&A=864&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=16              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=37              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=4&A=906              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=552              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=4&A=906              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=552              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic15 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:15.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.14.6

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]