ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๖ จุลวรรค ภาค ๑
ปฏิสารณียกรรม ที่ ๔
เรื่องพระสุธรรม
[๑๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระสุธรรมเป็นเจ้าอาวาส เป็นช่าง ก่อสร้าง รับภัตรประจำของจิตตะคหบดี ในเมืองมัจฉิกาสณฑ์ ในคราวที่จิตตะ คหบดีประสงค์จะนิมนต์สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่บอกท่านพระสุธรรมก่อน นิมนต์สงฆ์ คณะ หรือบุคคล ไม่เคยมี สมัยต่อมา พระเถระหลายรูปด้วยกัน คือ ท่านพระสารีบุตร ท่าน พระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระมหาโกฏฐิกะ ท่านพระ- *มหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระ อุบาลี ท่านพระอานนท์ และท่านพระราหุล ได้เที่ยวจาริกไปในแคว้นกาสี เดินทางไปถึงเมืองมัจฉิกาสณฑ์ ฯ
จิตตะคหบดีต้อนรับพระอาคันตุกะ
[๑๓๐] จิตตะคหบดีได้ทราบข่าวแน่ถนัดว่า พระเถระหลายรูปมาถึงเมือง มัจฉิกาสณฑ์แล้วโดยลำดับ จึงเข้าไปในสำนักของพระเถระ ครั้นแล้วจึงอภิวาท พระเถระทั้งหลายแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรได้ชี้แจงให้ จิตตะคหบดีผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วย ธรรมีกถา ครั้นจิตตะคหบดีอันท่านพระสารีบุตรชี้แจง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กล่าวคำอาราธนานี้แก่พระเถระทั้งหลาย ว่า ขอพระเถระทั้งหลายจงกรุณารับอาคันตุกะภัตรของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศล และปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด เจ้าข้า พระเถระทั้งนั้นรับอาราธนาด้วยอาการ ดุษณีภาพ ฯ [๑๓๑] ครั้นจิตตะคหบดี ทราบการรับอาราธนาของพระเถระทั้งหลาย แล้ว ลุกจากที่นั่งไหว้พระเถระทั้งหลาย ทำประทักษิณแล้วเข้าไปหาท่านพระ สุธรรมถึงสำนัก นมัสการแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบเรียนอาราธนาท่านพระสุธรรม ดังนี้ว่า ขอพระคุณเจ้าสุธรรม จงกรุณารับ ภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลปีติและปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ พร้อมกับ พระเถระทั้งหลายด้วยเถิด เจ้าข้า ที่นั้น ท่านพระสุธรรมคิดว่า ครั้งก่อนๆ จิตตะคหบดีนี้ประสงค์จะนิมนต์ สงฆ์ คณะ หรือบุคคล คราวใด จะไม่บอกเราก่อนแล้วนิมนต์สงฆ์ คณะ หรือ บุคคลไม่เคยมี แต่เดี๋ยวนี้ เขาไม่บอกเราก่อน แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลาย เดี๋ยวนี้จิตตะคหบดีนี้ ลบหลู่เมินเฉย ไม่ยินดีในเราเสียแล้ว จึงได้กล่าวคำนี้แก่ จิตตะคหบดีว่า อย่าเลย คหบดี อาตมาไม่รับนิมนต์ จิตตะคหบดี ได้กราบเรียนอาราธนาท่านพระสุธรรมเป็นคำรบสองว่า ขอพระคุณเจ้าสุธรรม จงกรุณารับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลปีติและ ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ พร้อมกับพระเถระทั้งหลายด้วยเถิด เจ้าข้า ท่านพระสุธรรมตอบว่า อย่าเลย คหบดี อาตมาไม่รับนิมนต์ จิตตะคหบดี ได้กราบเรียนอาราธนาท่านพระสุธรรมเป็นคำรบสามว่า ขอ พระคุณเจ้าสุธรรม จงกรุณารับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลปีติและ ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ พร้อมกับพระเถระทั้งหลายด้วยเถิด เจ้าข้า ท่านพระสุธรรมตอบว่า อย่าเลย คหบดี อาตมาไม่รับนิมนต์ ทีนั้น จิตตะคหบดีคิดว่า จักทำอะไรแก่เรา เมื่อพระคุณเจ้าสุธรรมรับ นิมนต์ หรือไม่รับนิมนต์ แล้วไหว้ท่านพระสุธรรมทำประทักษิณกลับไป ฯ
วิวาทกับคหบดี
[๑๓๒] ครั้งนั้น จิตตะคหบดีสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ถวายพระเถระทั้งหลายโดยผ่านราตรีนั้น จึงท่านพระสุธรรมคิดว่า ถ้ากระไร เรา พึงตรวจดูขาทนียโภชนียาหารที่จิตตะคหบดีตกแต่งถวายพระเถระทั้งหลาย ครั้นถึง เวลาเช้า นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่นิเวศน์ของจิตตะคหบดี แล้ว นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ทีนั้น จิตตะคหบดีเข้าไปหาท่านพระสุธรรม นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสุธรรมได้กล่าวคำนี้แก่จิตตะคหบดี ผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า ท่าน คหบดี ขาทนียโภชนียาหารนี้ ท่านตกแต่งไว้มากนัก แต่ของสิ่งหนึ่ง ที่เขาเรียก ว่า ขนมแดกงา ไม่มีในจำนวนนี้ จิตตะคหบดีกล่าวความตำหนิว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อพระพุทธพจน์มากมายมี อยู่ แต่พระคุณเจ้าสุธรรมมากล่าวว่า ขนมแดกงา ซึ่งเป็นคำเล็กน้อย ท่านเจ้าข้า เรื่องเคยมีมาแล้ว พ่อค้าชาวทักษิณาบถ ได้ไปสู่ชนบทแถบ ตะวันออก พวกเขานำแม่ไก่มาแต่ที่นั้น ต่อมาแม่ไก่นั้นสมสู่อยู่ด้วยพ่อกาก็ออก ลูกมา คราวใดลูกไก่นั้นปรารถนาจะร้องอย่างกา คราวนั้นย่อมร้องเสียงการะคนไก่ คราวใดปรารถนาจะขันอย่างไก่ คราวนั้นย่อมขันเสียงไก่ระคนกา ฉันใด เมื่อ พระพุทธพจน์มากมายมีอยู่ พระคุณเจ้าสุธรรมมากล่าวว่า ขนมแดกงา ซึ่งเป็น คำเล็กน้อย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สุ. คหบดี ท่านด่าอาตมา คหบดี ท่านบริภาษอาตมา คหบดี นั่น อาวาสของท่าน อาตมาจักหลีกไปจากอาวาสนั้น จิ. ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ามิได้ด่ามิได้บริภาษพระคุณเจ้าสุธรรม ขออาราธนา พระคุณเจ้าสุธรรม จงอยู่ในวิหารอัมพาฏกวัน อันเป็นสถานรื่นรมย์ เขตเมือง มัจฉิกาสณฑ์ ข้าพเจ้าจักทำการขวนขวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน- *ปัจจัยเภสัชบริขาร แก่พระคุณเจ้าสุธรรม ท่านพระสุธรรม ได้กล่าวคำนี้แก่จิตตะคหบดีเป็นคำรบสองว่า คหบดี ท่านด่าอาตมา คหบดี ท่านบริภาษอาตมา คหบดี นั่นอาวาสของท่าน อาตมา จักหลีกไปจากอาวาสนั้น จิ. ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ามิได้ด่า มิได้บริภาษพระคุณเจ้าสุธรรม ขอ อาราธนาพระคุณเจ้าสุธรรม จงอยู่ในวิหารอัมพาฏกวัน อันเป็นสถานรื่นรมย์ เขตเมืองมัจฉิกาสณฑ์ ข้าพเจ้าจักทำการขวนขวาย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่พระคุณเจ้าสุธรรม ท่านพระสุธรรม ได้กล่าวคำนี้แก่จิตตะคหบดีเป็นคำรบสามว่า คหบดี ท่านด่าอาตมา คหบดี ท่านบริภาษอาตมา คหบดี นั่นอาวาสของท่าน อาตมา จักหลีกไปจากอาวาสนั้น จิ. พระคุณเจ้าสุธรรมจักไปที่ไหน เจ้าข้า สุ. คหบดี อาตมาจักไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค จิ. ท่านเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้น ถ้อยคำอันใดที่พระคุณเจ้าได้กล่าวแล้ว และ ถ้อยคำอันใดที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ขอท่านจงกราบทูลถ้อยคำอันนั้นทั้งมวลแด่ พระผู้มีพระภาค แต่ข้อที่พระคุณเจ้าสุธรรมจะพึงกลับมาเมืองมัจฉิกาสณฑ์อีกนั้น ไม่อัศจรรย์เลย เจ้าข้า ฯ
พระสุธรรมเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
[๑๓๓] ครั้งนั้น ท่านพระสุธรรมเก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรจีวร เดินไปทางพระนครสาวัตถี ถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวันอารามของอนาถ บิณฑิกคหบดี โดยลำดับ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วกราบทูลถ้อยคำที่ตนกับคหบดีโต้ตอบกัน ให้พระผู้มีพระ ภาคทรงทราบทุกประการ ฯ
ทรงติเตียน
[๑๓๔] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การ กระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ จิตตะคหบดีผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก บำรุงสงฆ์ ไฉนเธอจึงได้พูดกด พูดข่ม ด้วยถ้อยคำอันเลวเล่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำ ของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะพระภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์ จงทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี
วิธีทำปฏิสารณียกรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล วิธีทำปฏิสารณียกรรมพึงทำอย่างนี้ พึงโจท- *ภิกษุสุธรรมก่อน ครั้นแล้วพึงให้เธอให้การ แล้วพึงปรับอาบัติ ครั้นแล้วภิกษุผู้ ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาทำปฏิสารณียกรรม
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุสุธรรมนี้ พูดกด พูด ข่ม จิตตะคหบดี ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก ผู้บำรุง สงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันเลว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ พึงทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี นี้ เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุสุธรรมนี้ พูดกด พูด ข่ม จิตตะคหบดี ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก ผู้บำรุง สงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันเลว สงฆ์ทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี การทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟัง ข้าพเจ้า ภิกษุสุธรรมนี้ พูดกด พูดข่ม จิตตะคหบดี ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก ผู้บำรุงสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันเลว สงฆ์ทำ ปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุสุธรรม คือให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี การทำ ปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุสุธรรม คือให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูด ปฏิสารณียกรรมอันสงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอ ขมาจิตตะคหบดี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ
ลักษณะกรรมไม่เป็นธรรม ๑๒ หมวด
หมวดที่ ๑
[๑๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำลับหลัง ๑ ไม่สอบ ถามก่อนแล้วทำ ๑ ทำไม่ตามปฏิญาณ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๒
[๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำเพราะ ไม่ต้องอาบัติ ๑ ทำเพราะอาบัติมิใช่เป็นเทสนาคามินี ๑ ทำเพราะอาบัติที่แสดง แล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๓
[๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ไม่โจท ก่อนแล้วทำ ๑ ไม่ให้จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ไม่ปรับอาบัติแล้วทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๔
[๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำลับหลัง ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๕
[๑๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือไม่สอบถาม ก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัยและระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๖
[๑๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำไม่ตาม ปฏิญาณ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๗
[๑๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้อื่น อีกเป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำเพราะไม่ต้อง อาบัติ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๘
[๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำเพราะ อาบัติมิใช่เป็นเทสนาคามินี ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๙
[๑๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ทำเพราะ อาบัติที่แสดงแล้ว ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๑๐
[๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ไม่โจทก่อน แล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๑๑
[๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ไม่ให้ จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
หมวดที่ ๑๒
[๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี คือ ไม่ปรับ อาบัติแล้วทำ ๑ ทำโดยไม่เป็นธรรม ๑ สงฆ์เป็นวรรคทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย และระงับแล้วไม่ดี ฯ
ลักษณะกรรมไม่เป็นธรรม ๑๒ หมวด ในปฏิสารณียกรรม จบ
-----------------------------------------------------
ลักษณะกรรมเป็นธรรม ๑๒ หมวด
หมวดที่ ๑
[๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำต่อหน้า ๑ สอบถามก่อน แล้วทำ ๑ ทำตามปฏิญาณ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๒
[๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะต้องอาบัติ ๑ ทำเพราะอาบัติเป็นเทสนาคามินี ๑ ทำเพราะอาบัติยังมิได้แสดง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๓
[๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ โจทก่อนแล้วทำ ๑ ให้จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ปรับอาบัติแล้วทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๔
[๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำต่อหน้า ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๕
[๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ สอบถามก่อน แล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๖
[๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำตามปฏิญาณ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๗
[๑๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะต้องอาบัติ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็น กรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๘
[๑๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะอาบัติ เป็นเทสนาคามินี ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๙
[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ทำเพราะอาบัติ ยังมิได้แสดง ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๑๐
[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ โจทก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๑๑
[๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ให้จำเลยให้การก่อน แล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
หมวดที่ ๑๒
[๑๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ แม้ อื่นอีก เป็นกรรมเป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว คือ ปรับอาบัติแล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิสารณียกรรมที่ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล เป็นกรรม เป็นธรรม เป็นวินัย และระงับดีแล้ว ฯ
ลักษณะกรรมเป็นธรรม ๑๒ หมวด ในปฏิสารณียกรรม จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ บรรทัดที่ ๑๕๐๐-๑๗๗๓ หน้าที่ ๖๕-๗๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=6&A=1500&Z=1773&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=6&A=1500&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=6&siri=7              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=6&i=129              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=6&A=1157              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=5722              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=6&A=1157              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=5722              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_6              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd11/en/brahmali#pli-tv-kd11:18.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd11/en/horner-brahmali#Kd.11.18.2

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]