ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
เรื่องอนาถบิณฑกคหบดีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรก
[๒๔๑] สมัยนั้น อนาถบิณฑิกคหบดี เป็นน้องเขยของราชคหเศรษฐี ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีไปเมืองราชคฤห์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ฯ [๒๔๒] สมัยนั้น ราชคหเศรษฐีได้นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุข เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น จึงได้สั่งทาสและกรรมกรทั้งหลายว่า พนาย ถ้า เช่นนั้น พวกท่านจงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง จงช่วยกันจัดหา อาหารที่มีรสอร่อย ฯ [๒๔๓] ขณะนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีได้คิดว่า เมื่อเรามาคราวก่อน ท่านคหบดีผู้นี้จัดทำธุระทุกอย่างเสร็จแล้ว สนทนาปราศรัยกับเราผู้เดียว บัดนี้เขา มีท่าทีเปลี่ยนไป สั่งทาสและกรรมกรทั้งหลายว่า พนาย ถ้ากระนั้นพวกท่าน จงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง จงช่วยกันจัดหาอาหารที่มีรสอร่อยๆ บางทีคหบดีผู้นี้จักมีงานอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรือประกอบมหายัญ หรือจัก ทูลเชิญเสด็จพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช พร้อมทั้งกองพลมาเลี้ยงในวัน รุ่งขึ้นกระมัง ฯ [๒๔๔] ครั้นราชคหเศรษฐีสั่งทาสและกรรมกรแล้ว เข้าไปหาอนาถบิณ- *ฑิกคหบดี ได้นั่งสนทนากัน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อนาถบิณฑิกคหบดีได้ ถามว่า ท่านคหบดี คราวก่อนเมื่อฉันมาแล้ว ท่านได้จัดทำธุระทุกอย่างเสร็จแล้ว ก็สนทนากับฉันผู้เดียว บัดนี้ท่านนั้นมัวสาละวนสั่งทาสและกรรมกรว่า ถ้ากระนั้น พวกท่านจงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง จงช่วยกันจัดหาอาหารที่มีรส อร่อยๆ บางทีท่านคหบดี จักมีงานอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรือประกอบ มหายัญ หรือจักทูลเชิญเสด็จพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช พร้อมทั้งกองพล มาเลี้ยงในวันพรุ่งนี้กระมัง ฯ ราชคหเศรษฐีตอบว่า ท่านคหบดี ฉันจะได้มีงานอาวาหมงคล หรือ วิวาหมงคล ก็หาไม่ แม้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช พร้อมทั้งกองพล ฉันก็มิได้เชิญเสด็จมาเลี้ยงในวันพรุ่งนี้ ที่ถูกฉันจะประกอบมหายัญ คือ ฉันได้ นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อเลี้ยงในวันพรุ่งนี้ อ. ท่านคหบดี ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้หรือ ร. ท่านคหบดี ฉันกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้จ้ะ อ. ท่านคหบดี ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้หรือ ร. ท่านคหบดี ฉันกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้จ้ะ อ. ท่านคหบดี ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้หรือ ร. ท่านคหบดี ฉันกล่าวว่า พระพุทธเจ้า ดังนี้จ้ะ อ. ท่านคหบดี แม้เสียงว่า พุทธะ นี้ก็ยากที่จะหาได้ในโลก ท่านคหบดี ฉันสามารถจะเข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ในเวลานี้ได้ไหม ร. ท่านคหบดี เวลานี้ยังไม่ควรที่จะเข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พรุ่งนี้ท่านจึงจะได้เข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ [๒๔๕] หลังจากนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีนอนนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็น อารมณ์ว่า พรุ่งนี้ เราจะได้เข้าเฝ้าเยี่ยมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ข่าวว่า เธอลุกขึ้นในกลางคืนถึงสามครั้งเข้าใจว่า สว่างแล้ว จึงได้ เดินไปโดยทางอันจะไปประตูป่าสีตวัน พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ ขณะเมื่อเดิน ออกจากพระนคร แสงสว่างได้หายไป ความมืดปรากฏแทน ความกลัว ความ หวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้าได้บังเกิดแล้ว เธอได้คิดกลับจากที่นั้นอีก ฯ [๒๔๖] ขณะนั้น สีวกยักษ์ไม่ปรากฏร่าง ให้ได้ยินแต่เสียงโดยคาถา ว่าดังนี้ ช้าง ๑ แสน ม้า ๑ แสน รถม้าอัสดร ๑ แสน สาวน้อยประดับ ต่างหูเพชร ๑ แสนก็ยังไม่เท่า เสี้ยวที่ ๑๖ แห่งการย่างเท้าไป ก้าวหนึ่ง เชิญก้าวไปข้างหน้าเถิด ท่านคหบดี เชิญก้าวไปข้าง หน้าเถิด ท่านคหบดี ท่านก้าวไปข้างหน้าดีกว่า อย่าถอยกลับเลย ฯ [๒๔๗] ทันใดนั้น ความมืดหายไป แสงสว่างได้ปรากฏแก่อนาถ- *บิณฑิกคหบดี ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า อันใดได้มี แล้ว อันนั้นได้สงบแล้ว แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม แสงสว่างหายไป ความมืดได้ปรากฏแก่อนาถบิณฑิก- *คหบดี ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้าได้บังเกิด เธอคิดจะ กลับจากที่นั้นอีก แม้ครั้งที่สาม สีวกยักษ์ไม่ปรากฏร่าง ให้ได้ยินแต่เสียง โดยคาถา ว่าดังนี้:- ช้าง ๑ แสน ม้า ๑ แสน รถม้าอัสดร ๑ แสน สาวน้อย- *ประดับต่างหูเพชร ๑ แสน ก็ยังไม่เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งการ ย่างเท้าไปก้าวหนึ่ง เชิญก้าวไปข้างหน้าเถิด ท่านคหบดี เชิญ ก้าวไปข้างหน้าเถิด ท่านคหบดี ท่านก้าวไปข้างหน้าดีกว่าอย่า ถอยกลับเลย แม้ครั้งที่สาม ความมืดหายไป แสงสว่างได้ปรากฏแก่อนาถบิณฑิกคหบดี ความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้าอันใดได้มีแล้ว อันนั้นได้ สงบแล้ว จึงอนาถบิณฑิกคหบดีเดินเข้าไปยังสีตวันแล้ว ฯ [๒๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมในที่แจ้ง ณ เวลา ปัจจุสสมัยแห่งราตรี ได้ทอดพระเนตรเห็นอนาถบิณฑิกคหบดีนั้นเดินมาแต่ไกล เทียว ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคหบดีว่า มาเถิดสุทัตตะ ทันใดนั้น อนาถบิณฑิกคหบดี เบิกบานใจ ดีใจว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกชื่อเรา แล้วเข้าไปเฝ้าซบเศียรลง แทบพระบาทพระผู้มีพระภาค ทูลถามว่า พระองค์ประทับสำราญ หรือ พระ- *พุทธเจ้าข้า ฯ [๒๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบโดยคาถา ว่าดังนี้:- พราหมณ์ผู้ดับทุกข์ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุขแท้ทุกเวลา ผู้ใดไม่ ติดในกาม มีใจเย็น ไม่มีอุปธิ ตัดความเกี่ยวข้องทุกอย่างได้ แล้ว บรรเทาความกระวนกระวายในใจ ถึงความสงบแห่งจิต เป็นผู้สงบระงับแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฯ [๒๕๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถาแก่อนาถบิณฑิก- *คหบดี คือ บรรยายถึงทาน ศีล สวรรค์ อาทีนพ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง ของกามทั้งหลาย แล้วทรงประกาศอานิสงส์ในการออกจากกาม ขณะที่พระองค์ ทรงทราบว่า อนาถบิณฑิกคหบดีมีจิตควรแก่การงาน มีจิตอ่อน มีจิตปราศจาก นิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตเลื่อมใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า ทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
อนาถบิณฑิกคหบดีได้ดวงตาเห็นธรรม
ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่อนาถบิณฑิก- *คหบดี ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อม ฉะนั้น ฯ [๒๕๑] ครั้นอนาถบิณฑิกคหบดี ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจาก ถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของ พระศาสดา ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมี จักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระ- *สงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิต ถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรง รับภัตตาหาร เพื่อเจริญบุญกุศล ปีติและปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ของข้าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนา โดยดุษณีภาพ ครั้นอนาถบิณฑิกคหบดีทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้วจึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคม ทำประทักษิณ กลับไป ฯ [๒๕๒] ราชคหเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า อนาถบิณฑิกคหบดีนิมนต์พระ- *สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ จึงได้ถามอนาถบิณฑิกคหบดี ว่า ท่านคหบดี ข่าวว่าท่านได้นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันใน วันพรุ่งนี้ แลท่านก็เป็นแขกแรกมา ฉันจะให้ยืมทรัพย์ที่จะจับจ่ายสิ่งของแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้จัดทำอาหารเลี้ยงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า ไม่ต้อง ท่านคหบดี ทรัพย์สำหรับที่จะจับจ่าย สิ่งของเป็นเครื่องทำอาหารถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้น ของฉัน- *มีแล้ว ฯ [๒๕๓] ชาวนิคมเมืองราชคฤห์ได้ทราบข่าวว่า อนาถบิณฑิกคหบดี นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ จึงได้ถามอนาถ- *บิณฑิกคหบดีว่า ท่านคหบดี ข่าวว่าท่านได้นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุขเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ แลท่านก็เป็นแขกแรกมา ฉันจะให้ยืมทรัพย์ที่จะจับจ่าย สิ่งของแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้จัดทำอาหารเลี้ยงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า ไม่ต้อง ท่านผู้เจริญ ทรัพย์สำหรับที่จะจับจ่าย สิ่งของเป็นเครื่องทำอาหารถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้น ของฉัน- *มีแล้ว ฯ [๒๕๔] พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชได้ทรงสดับข่าวว่า อนาถ- *บิณฑิกคหบดี นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ จึงตรัสถามอนาถบิณฑิกคหบดีว่า ดูกรคหบดี ข่าวว่า ท่านนิมนต์พระสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุขเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ แลท่านก็เป็นแขกเมือง ฉันจะให้ ยืมทรัพย์ที่จะจับจ่ายสิ่งของแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้จัดทำอาหารเลี้ยงพระสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุข อนาถบิณฑิกคหบดีกราบทูลว่า ขอเดชะ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่าง ล้นเกล้า ทรัพย์ที่จะจับจ่ายเป็นเครื่องทำอาหารถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น- *ประมุขนั้น ของข้าพระพุทธเจ้ามีแล้ว ฯ
อนาถบิณฑิกคหบดีถวายภัตตาหาร
[๒๕๕] หลังจากนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีสั่งให้ตกแต่งอาหารของเคี้ยว ของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของราชคหเศรษฐี โดยล่วงราตรีนั้น แล้วให้กราบทูล ภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้า นิเวศน์ของราชคหเศรษฐี ครั้นแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดถวายพร้อมกับ- *ภิกษุสงฆ์ จึงอนาถบิณฑิกคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วย อาหารของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือตนเอง จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ลดพระหัตถ์จากบาตร ห้ามภัตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล ว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พร้อมกับภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่จำพรรษา ในเมืองสาวัตถีของข้าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรคหบดี พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมยินดีใน สุญญาคาร อนาถบิณฑิกคหบดีทูลว่า ทราบเกล้าแล้ว พระผู้มีพระภาค ทราบเกล้าแล้ว พระสุคต ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อนาถบิณฑิกคหบดีเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ฯ
อนาถบิณฑิกคหบดีสร้างพระเชตวัน
[๒๕๖] สมัยนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเป็นคนมีมิตรสหายมาก มีวาจา ควรเชื่อถือ ครั้นเสร็จกิจนั้นในเมืองราชคฤห์แล้ว กลับไปสู่พระนครสาวัตถี ได้ ชักชวนชาวบ้านระหว่างทางว่า ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันสร้างอาราม จงช่วยกัน สร้างวิหาร เริ่มบำเพ็ญทาน เพราะเวลานี้พระพุทธเจ้าอุบัติในโลกแล้ว อนึ่ง พระ- *องค์อันข้าพเจ้าได้นิมนต์แล้ว จักเสด็จมาโดยทางนี้ ครั้งนั้น ชาวบ้านเหล่านั้น ที่อนาถบิณฑิกคหบดีชักชวนไว้ ต่างพากันสร้างอาราม สร้างวิหาร เริ่มบำเพ็ญทาน แล้ว ครั้นอนาถบิณฑิกคหบดีไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว เที่ยวตรวจดูพระนคร สาวัตถีโดยรอบว่า พระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่ที่ไหนดีหนอ ซึ่งเป็นสถานที่ ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จากหมู่บ้าน มีคมนาคมสะดวก ชาวบ้านบรรดาที่มีความ ประสงค์ไปมาได้ง่าย กลางวันมีคนน้อย กลางคืนเงียบ มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากกลิ่นไอของคน เป็นสถานควรแก่การประกอบกรรมในที่ลับของมนุษย์ชน สมควรเป็นที่หลีกเร้น อนาถบิณฑิกคหบดีได้เห็นพระอุทยานของเจ้าเชตราชกุมาร ซึ่งเป็นสถานไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากหมู่บ้าน มีการคมนาคมสะดวก ชาวบ้าน บรรดาที่มีความประสงค์ไปมาได้ง่าย กลางวันมีคนน้อย กลางคืนเงียบ มีเสียง อึกทึกน้อย ปราศจากกลิ่นไอคน เป็นสถานควรแก่การประกอบกรรมในที่ลับของ มนุษย์ชน สมควรเป็นที่หลีกเร้น ครั้นแล้ว จึงเข้าเฝ้าเชตราชกุมาร กราบทูลว่า ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงประทานพระอุทยานแก่เกล้ากระหม่อม เพื่อจัดสร้างพระ- *อาราม พระเจ้าข้า เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่า ท่านคหบดี อารามเราให้ไม่ได้ แต่ต้องซื้อด้วย ลาดทรัพย์เป็นโกฏิ อ. อาราม พระองค์ทรงตกลงขายหรือ พระเจ้าข้า ช. อาราม ฉันยังไม่ตกลงขาย ท่านคหบดี เจ้าชายกับคหบดี ได้ถามมหาอำมาตย์ผู้พิพากษาความว่า เป็นอันตกลงขาย หรือไม่ตกลงขาย มหาอำมาตย์ผู้พิพากษาตอบว่า เมื่อพระองค์ตีราคาแล้ว อาราม เป็นอันตกลงขาย จึงอนาถบิณฑิกคหบดี สั่งให้คนเอาเกวียนบรรทุกเงินออกมาเรียงลาด ริมจดกัน ณ อารามเชตวัน เงินที่ขนออกมาคราวเดียว ยังไม่พอแก่โอกาสหน่อย หนึ่งใกล้ซุ้มประตู จึงอนาถบิณฑิกคหบดี สั่งคนทั้งหลายว่า พนาย พวกเธอจง ไปขนเงินมาเรียงในโอกาสนี้ ขณะนั้น เจ้าเชตราชกุมารทรงพระรำพึงว่า ที่อันน้อย นี้จักไม่มีเหลือ โดยที่คหบดีนี้บริจาคเงินมากเพียงนั้น จึงเจ้าเชตราชกุมารตรัสกะ อนาถบิณฑิกคหบดีว่า พอแล้ว ท่านคหบดี ท่านอย่าได้ลาดโอกาสนี้เลย ท่าน จงให้โอกาสนี้แก่ฉัน ที่ว่างนี้ฉันจักยกให้ ดังนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีใคร่ครวญว่า เจ้าเชตราชกุมารนี้ ทรงเรืองพระนาม มีคนรู้จักมาก อันความเลื่อมใสในพระธรรม- *วินัยนี้ ของคนที่มีคนรู้จักมากเห็นปานนี้ ยิ่งใหญ่นักแล จึงได้ถวายที่ว่างนั้นแก่ เจ้าเชตราชกุมาร เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งให้สร้างซุ้มประตูลงในที่ว่างนั้น ส่วน อนาถบิณฑิกคหบดีได้ให้สร้างวิหารหลายหลัง ไว้ในพระเชตวัน สร้างบริเวณ สร้างซุ้มประตู สร้างศาลาหอฉัน สร้างโรงไฟ สร้างกัปปิยกุฎี สร้างวัจจกุฎี สร้างที่จงกรม สร้างโรงจงกรม สร้างบ่อน้ำ สร้างศาลาบ่อน้ำ สร้างเรือนไฟ สร้างศาลาเรือนไฟ สร้างสระโบกขรณี สร้างมณฑป ฯ [๒๕๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระ- *พุทธาภิรมย์ แล้วได้เสด็จจาริกทางพระนครเวสาลี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึง พระนครเวสาลีแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขต- *พระนครเวสาลีนั้น ฯ [๒๕๘] ก็สมัยนั้น ชาวบ้านตั้งใจทำการก่อสร้าง แลอุปัฏฐากภิกษุผู้ อำนวยการก่อสร้างด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็น ปัจจัยของภิกษุอาพาธ โดยเคารพ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๑๙๕๐-๒๑๔๐ หน้าที่ ๘๑-๘๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=1950&Z=2140&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=7&A=1950&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=32              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=241              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=7&A=2034              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=7362              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=7&A=2034              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=7362              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/brahmali#pli-tv-kd16:4.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/horner-brahmali#Kd.16.3.11

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]